ThaiPublica > คนในข่าว > “วิชัย โชควิวัฒน” ผู้มากตำแหน่ง หลายความเชี่ยวชาญ กับสถานะในตระกูล ส. และมติป.ป.ช.ผิดวินัยอย่างร้ายแรงกรณีใช้รถหลวง เบิกน้ำมันหลวงกว่า 8 หมื่นบาท

“วิชัย โชควิวัฒน” ผู้มากตำแหน่ง หลายความเชี่ยวชาญ กับสถานะในตระกูล ส. และมติป.ป.ช.ผิดวินัยอย่างร้ายแรงกรณีใช้รถหลวง เบิกน้ำมันหลวงกว่า 8 หมื่นบาท

9 มกราคม 2016


หลังจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ ม.44 พักราชการเจ้าหน้าที่รัฐ และกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 7 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีชื่อ นพ.วิชัย โชควิวัฒน บุคคลที่มากตำแหน่ง หลายความเชี่ยวชาญ และอยู่ในวาระที่ต่อเนื่อง แม้เว้นวรรคบ้างแต่ก็กลับมาใหม่ในหน่วยงานตระกูล ส. และมูลนิธิต่างๆที่ส่วนใหญ่จะได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานตระกูล ส. (อาทิ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.), สสส.) [ดูเพิ่มเติมสัญญา สปสช. ปี 2552, สัญญา สปสช. ปี 2554, สัญญา สปสช. ปี 2556, สัญญา สปสช. ปี 2557 และการรับเงินจาก สวรส. รายชื่อปี 2550, รายชื่อปี 2551เป็นต้น]

ผลจากประกาศ ม.44 ดังกล่าว ทำให้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนปกป้องการปฏิรูประบบสุขภาพ ส่งเสริมการกำกับตรวจสอบ สสส. โดยสังคม คัดค้านกลุ่มทุนและผู้มีอำนาจยึดครองกลไกการปฏิรูประบบสุขภาพ ได้ออกแถลงการณ์ รวมทั้ง นพ.วิชัยออกข่าวระบุว่า การให้กรรมการ 7 คนพ้นจากตำแหน่งเป็นการขับเคลื่อนของกลุ่มทุนบุหรี่ ขณะที่ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ระบุว่า การให้พ้นจากตำแหน่งเป็นผลจากการใช้เงินไม่ตรงกับวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุน สสส. หากไม่ดำเนินการจะมีปัญหาในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ไทยพับลิก้าได้เสนอเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานในตระกูล ส. อาทิ การเสนอข่าวในประเด็นเรื่องบอร์ด สปสช. ใช้เงินเหมาจ่ายรายหัวของประชาชนผิดประเภท ผลประโยชน์ทับซ้อน สวมหมวกหลายใบ “นพ.วิชัย-นพ.ณรงค์ศักดิ์-นิมิตร์-สุนทรี” รับเงินจาก สปสช. เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.กองทุนหลักประกัน- กฏหมาย ป.ป.ช. มาตรา 100

เช่นเดียวกับข่าวกรรมการและผู้ทรวงคุณวุฒิ ซึ่งเกี่ยวข้องกับมูลนิธิที่ได้รับการสนับสนุนเงินจาก สสส. ที่เคยนำเสนอข่าวไปแล้ว รวมทั้งข่าว 14 ปี สวรส. ให้ทุนวิจัยไปกว่า 3 พันล้าน ผันจาก สสส.-สปสช.-อื่นๆ กว่า 2 พันล้าน สะพัดสุดช่วงปี 2548- 2550 ปีละกว่า 500-600 ล้าน พร้อมเปิดรายชื่อผู้รับทุนแต่ละปีทั้งหมด

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ที่มาภาพ : http://archive.voicetv.co.th/thumb/1_6624.jpg
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ที่มาภาพ : http://archive.voicetv.co.th/thumb/1_6624.jpg

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าก่อนหน้านี้ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ในช่วงปี 2541-2545 และพวกได้แก่ 1. นางภาวนา คุ้มตระกูล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 6 ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการของเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา 2. นางศุภวรรณ อินทรภาษี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เจ้าพนักงานธุรการ 4 ช่วยปฏิบัติงานฝ่ายช่วยอำนวยการนักบริหาร 3. นางสาวกันยา สุกิจจากร เลขานุการกรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 4. นางศิริรัตน์ แว่วศรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง บุคลากร 8 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าฝ่ายการเจ้าหน้าที่ 5. นางสาวรัชนี โตสงวน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง บุคลากร 6 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าฝ่ายสารบรรณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ถูกร้องเรียนและกล่าวหาต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่านำรถยนต์ของราชการไปใช้ส่วนตัวทั้งที่มีรถยนต์ประจำตำแหน่งอยู่แล้ว โดยทำเรื่องขออนุมัติไปราชการและเบิกค่าน้ำมันและค่าผ่านทางพิเศษ โดยได้มีการเบิกน้ำมันอย่างมิชอบ 197 ครั้ง และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบกว่าทำให้ราชการเสียงบประมาณเป็นเงิน 88,966.65 บาท

จากการพิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ลงมติว่านายวิชัยได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่กระทำการทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์จากการใช้รถยนต์ส่วนกลาง โดยมีการลงชื่อขออนุญาตใช้รถราชการเป็นปกติทุกครั้ง และไม่ปรากฏว่าได้นำไปใช้งานส่วนตัว จึงไม่มีความผิดทางอาญา แต่การกระทำของนายวิชัยมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบราชการ ทำให้รัฐเสียหาย ตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 85 วรรค 2 และการกระทำของนางภาวนา คุ้มตระกูล, นางศุภวรรณ อินทรภาษี, นางสาวกันยา สุกิจจากร, นางศิริรัตน์ แว่วศรี และนางสาวรัชนี โตสงวน มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นคือ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ยังไม่ได้ดำเนินลงโทษทางวินัยใดๆ ทั้งนี้ความผิดวินัยอย่างร้ายแรงโทษคือปลดออกหรือไล่ออก แต่ในช่วงนั้นเป็นจังหวะพอดีที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีข่าวฉาวเรื่อง คลิป จึงไม่ได้ตัดสินในเรื่องนี้

ต่อมาวันที่ 14 มีนาคม 2549 คณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรง นพ.วิชัย โชควิวัฒน ที่มี นพ.ทนงสรรค์ สุธาธรรม เป็นประธาน รายงานการสอบสวนว่า การกระทำของ นพ.วิชัย เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2523 เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง สมควรกำหนดโทษตัดเงินเดือน แต่เคยประกอบคุณงามความดีและยังได้แสดงเจตนาขอรับผิด ขอชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด สมควรลดโทษเป็นภาคทัณฑ์ ต่อมา นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ได้มีหนังสือว่ากล่าวตักเตือน ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2549 ในสมัยที่นายพินิจ จารุสมบัติ เป็น รมว.สาธารณสุข

หลังจากนั้น นพ.วิชัยและพวก ได้รับการล้างมลทินโทษทางวินัย ตาม มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ล้างมลทิน ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550

ต่อมา ทาง ป.ป.ช. โดยนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือ (เลขที่ ปช.0014/5437) ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2553 ถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอให้พิจารณาโทษทางวินัย นพ.วิชัย โดยระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า การที่ผู้บังคับบัญชาจะพิจารณาเห็นว่าผู้ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้ใดที่ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทินดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด หรือผู้บังคับบัญชาสมควรเพิกถอนหรือยกเลิกคำสั่งลงโทษข้าราชการที่ถูกลงโทษทางวินัยตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่นั้น ย่อมอยู่ในอำนาจของผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณาวินิจฉัย จึงมีมติให้ส่งรายงาน เอกสารและความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาลงโทษทางวินัยกับ นพ.วิชัย ตามฐานความผิดดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 ต่อไป และตามมาตรา 93 พิจารณาภายใน 30 วันนับแต่ได้รับเรื่องและต้องแจ้งกลับ ป.ป.ช.

โดยในช่วงที่ ป.ป.ช. ดำเนินการนี้ นพ.วิชัยอยู่ในตำแหน่ง 1. ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม 2. ประธานคณะกรรมการบริหารสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 3. กรรมการกองทุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) 4. กรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 5. ประธานอนุกรรมการกลั่นกรองงานฯ สปสช. และตำแหน่งอื่นๆ

ทั้งนี้ ความผิดดังกล่าวได้มีการเบิกน้ำมันอย่างมิชอบ 197 ครั้ง และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่าทำให้ราชการเสียงบประมาณเป็นเงิน 88,966.65 บาท แม้ต่อมานายวิชัยได้ยอมรับผิดและชดใช้ค่าเสียหายคืนแก่ทางราชการแล้ว

อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2553 มีผู้ร้องทักท้วง โดยการทำหนังสือถึงนายจุลินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ รมว.กระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น ให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยระบุว่า การที่ นพ.วิชัยเบิกเงินค่าน้ำมันและการใช้ในช่วงที่เป็นเลขาธิการ อย. เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ต้องพ้นจากทุกตำแหน่งที่รัฐมนตรีกำกับตามกฎหมาย