จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร ปี 2557 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป มีทั้งสิ้น 54.8 ล้านคน เป็นคนไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มสุรา 33.7 ล้านคน (ร้อยละ 61.5) เป็นคนสูบบุหรี่และดื่มสุรา 8 ล้านคน (ร้อยละ 14.6) เป็นคนสูบบุหรี่อย่างเดียว 3.4 ล้านคน (ร้อยละ 6.2) เป็นคนดื่มสุราอย่างเดียว 9.7 ล้านคน (ร้อยละ 17.7)
แต่ถ้าดูแนวโน้มสำหรับผู้สูบบุหรี่อย่างเดียว ในปี 2554 (ร้อยละ 6.1) ลดลงจากปี 2550 (ร้อยละ 6.6) แต่ปี 2557 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 เล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 6.2 ส่วนแนวโน้มผู้ดื่มสุราอย่างเดียว ในปี 2554 (ร้อยละ 16.3) เพิ่มจากปี 2550 (ร้อยละ 14.6) และในปี 2557 เพิ่มจากปี 2554 เป็นร้อยละ 17.7
รายงานระบุว่า หากดูในภาพรวมของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ปี 2547-2552 อัตราการสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลง (ร้อยละ 23 และร้อยละ 20.7 ตามลำดับ) ปี 2554 อัตราการสูบหรี่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 21.4 ลดลงเหลือร้อยละ 19.9 ในปี 2556 ผลสำรวจล่าสุดปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20.7
และเมื่อเปรียบเทียบคนสูบบุหรี่ทั้งผู้ชายและผู้หญิงในปี 2556 และปี 2557 พบว่าเพิ่มขึ้นทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยผู้ชายเพิ่มจากร้อยละ 39 เป็นร้อยละ 40.5 ส่วนผู้หญิงเพิ่มจากร้อยละ 2.1 เป็น 2.2
นอกจากนี้จำนวนมวนที่สูบ ผู้สูงอายุมีการสูบบุหรี่ต่อวันลดลงจาก 10.7 มวนเป็น 10.5 มวน กลุ่มเยาวชนเพิ่มจากวันละ 9.1 มวนเป็น 10.2 มวน กลุ่มวัยทำงาน จาก 11.2 มวนเป็น 11.9 มวน โดยผู้สูบบุหรี่ที่เป็นกลุ่มคนทำงานมีค่าใช้จ่าย 470 บาทต่อเดือน กลุ่มเยาวชน 409 บาทต่อเดือน ผู้สูงอายุ 208 บาทต่อเดือน โดยเฉลี่ยผู้สูบบุหรี่จ่ายเงิน 403 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ในส่วนคนกรุงเทพฯ จ่ายสูงกว่า คือ เฉลี่ยสูงสุด 810 บาทต่อเดือน
สำหรับการสำรวจการดื่มสุราของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่า ในช่วงปี 2547-2550 อัตราการดื่มสุราลดลงจากร้อยละ 32.7 เป็นร้อยละ 30 ในปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 32 ลดลงเหลือร้อยละ 31.5 ในปี 2554 และล่าสุด ปี 2557 เพิ่มเป็นร้อยละ 32.3
อนึ่งการสำรวจในปี 2557 สํานักงานสถิติแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรครั้งแรกในปี 2519 ส่วนการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มสุราเริ่มตั้งแต่ปี 2544 และได้สำรวจมาแล้ว 16 ครั้ง การสำรวจในปี 2557 นี้เป็นครั้งที่ 17 โดยเก็บรวบรวมข้อมูลในเดือนมิถุนายน 2557 และสุ่มเลือกผู้ตอบสัมภาษณ์อายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป ที่เป็นสมาชิกในครัวเรือนละ 1 คน โดยมีจำนวนครัวเรือนทั้งที่อยู่ในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาลทั่วประเทศ 25,758 ครัวเรือน โดยการสำรวจครั้งนี้แตกต่างจากการสำรวจก่อนหน้านี้ที่ตัวแทนในครอบครัวจะเป็นผู้ให้ข้อมูลทั้งหมด
ทั้งนี้ข้อมูลการจัดเก็บของสำนักงานสถิติฯในครั้งนี้จัดเก็บตามมาตรฐานสากล เมื่อเปรียบเทียบกับรายงานประจำปีของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ระบุในรายงานประจำปี 2557 ได้หมายเหตุว่าขอมูลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบของประชากรไทย ของสำนักงานสถิติแหงชาติปี 2557 นั้น สำนักงานสถิติแหงชาติไดเปลี่ยนแปลงวิธีการสุมตัวอยางของการสำรวจปี 2557 จึงไมสามารถเปรียบเทียบกับผลสำรวจปี 2556 ได และควรแปลผลดวยความระมัดระวัง
ทั้งนี้สอดรับกับที่ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้จัดการ สสส. และ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. ในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นผู้จัดการ สสส.) ได้เคยชี้แจงเรื่องตัวเลขผู้สูบบุหรี่และดื่มสุราว่า “ก่อนเกิด สสส. กราฟการเพิ่มขึ้นของการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ มันชันมาก นับตั้งแต่ปี 2502-2544 ตัวเลขเพิ่มขึ้น 33 เท่า ใน 43 ปี หลังเกิด สสส. ยังคงเพิ่มขึ้น เพียงแต่ความชันเริ่มแบนลง แต่ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา มีข้อมูลหลายด้านแสดงว่าการบริโภคบุหรี่ สุรา ลดลง ในรายงานของเราก็สะท้อนข้อมูลนี้”
และ ดร.สุปรีดาเคยอธิบายในครั้งนั้นว่า “ในการสำรวจ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) ประมาณในปี 2547-2548 ทางเราหารือว่าตามมาตรฐานสากลในการสำรวจ เป็นการสัมภาษณ์เจ้าตัว ไม่มีตัวแทนในการตอบ(คำถาม)แทน ทาง สสส. ก็หารือสำนักงานสถิติฯ ว่า การสำรวจเหล้าบุหรี่เราอยากให้เหมือนสากล เราก็ให้เขาทำ ปีนั้นก็มีการเปลี่ยนวิธีการสำรวจ ผลก็คือตัวเลขมันสวิงหมดเลย คือตัวเลขเพิ่มขึ้นหมด อ้างอิงฐานเก่าไม่ได้ เราจึงตัดสินใจว่า ถ้าเราเปลี่ยน เราไม่มีข้อมูลอ้างอิงเก่าๆ เลย เพราะข้อมูลเก่ามันใช้วิธีการแบบเดิมๆ มาตลอด เราตัดสินใจขอถอน แล้วขอให้เขากลับไปใช้อย่างเดิมในปีถัดไป และข้อมูลในปีนั้นเราก็ไม่ใช้อ้างอิง เพราะมันคนละอย่างกัน
หลังจากนั้นไม่ได้หารือกันอีกเลย จนมาปีล่าสุด (2557) ทางสำนักงานสถิติฯ นำเสนอข้อมูลว่าจะใช้วิธีการสำรวจ กลับไปถามเจ้าตัวอีก เราก็บอกว่า อ้าว… ไม่คุยกันเลย ซึ่งแนวโน้มตัวเลข (คนสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า) ก็จะสูงขึ้นจากที่เราเรียนรู้จากปี 2547 ขณะที่ global survey ที่ทำในระยะหลัง ซึ่งทำคู่ขนานกับสำนักงานสถิติ พบว่าตัวเลขการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ อัตราจะสูงกว่าการถามตัวแทนครอบครัว”
ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า รายงานข้อท้วงติงของ สตง. ซึ่งเป็นการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของ สสส. ปี 2557 นั้นมีรายงานสำนักงานสถิติแห่งชาติที่เป็นข้อสรุปสำหรับผู้บริหารแนบอยู่ด้วย แต่ตีตราว่าเป็นเอกสารลับ ซึ่งรายงานดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ยืนยันว่าสถิติคนสูบบุหรี่และดื่มเหล้าเพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดลงอย่างที่ สสส.พยายามให้ข้อมูลสาธารณะ
อ่านเพิ่มเติม ผลงาน สสส. กับข้อมูล “เหล้า-เบียร์-บุหรี่ ” รายยี่ห้อ ทั้ง “ปริมาณ-ภาษีที่จ่าย” ปี 2550-2558