ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ดีเอสไอส่งอัยการแล้ว คดี “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” และพวก ยักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯ คลองจั่น – ปปง. ยึดทรัพย์เพิ่ม

ดีเอสไอส่งอัยการแล้ว คดี “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” และพวก ยักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯ คลองจั่น – ปปง. ยึดทรัพย์เพิ่ม

27 กุมภาพันธ์ 2014


สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้เกาะติดกรณีวิกฤติที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นมาตั้งแต่ต้นปี 2556 จนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการสอบสวนนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และพวก จนนำไปสู่การยึดอายัดทรัพย์ และแจ้งข้อกล่าวหานายศุภชัยและพวก เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 และต่อมาดีเอสไอได้ตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับผู้ที่เกี่ยวข้องอีก 2 ราย คือ นายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ และนายจิรเดช วรเพียรกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (สมัยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง)

นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ให้สัมภาษณ์วันที่ 16 สิงหาคม 2556 ที่ดีเอสไอขณะมารับทราบข้อกล่าวหา

ตลอดเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา สมาชิกสหกรณ์ส่วนใหญ่ไม่สามารถถอนเงินในบัญชีของตน หรือลาออกจากสมาชิกเพื่อถอนเงินหุ้น เป็นผลให้มีสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นรวมทั้งสหกรณ์อื่นที่นำเงินมาฝากหลายแห่งเดือดร้อนอย่างมาก สมาชิกหลายรายต้องเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตเพราะไม่มีเงิน ส่วนวงการสหกรณ์ทั้งประเทศภาพลักษณ์เสียหายอย่างรุนแรง เงินไหลออกจากระบบเป็นจำนวนมาก นำไปสู่ฟ้องร้องสหกรณ์ฯ คลองจั่นให้คืนเงิน แต่เมื่อถึงขั้นตอนบังคับคดีกลับไม่ได้ผลมากนัก เนื่องจากสหกรณ์แทบไม่เหลือเงินสำรอง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 ทางดีเอสไอได้สรุปสำนวนคดีนายศุภชัยและพวกส่งให้อัยการเตรียมฟ้องอาญา โดยดีเอสไอทำความเห็นควรฟ้องทั้งหมด 4 คนจากทั้งหมด 6 คนที่เคยแจ้งข้อกล่าวหาไป

นายกิตติก้อง คณาจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามคดีฟอกเงินและยาเสพติด ดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอสรุปสำนวนสั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหาคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นทั้งหมด 4 คน ได้แก่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ คลองจั่น นางสาวศรันยา มานหมัด อดีตรองผู้จัดการฝ่ายการเงิน นายลภัส โสมคำ อดีตกรรมการสหกรณ์ และนายกฤษฎา มีบุญมาก อดีตหัวหน้าฝ่ายสินเชื่อ

ขณะเดียวกัน ดีเอสไอสั่งไม่ฟ้องผู้ถูกกล่าวหาอีก 2 รายในข้อหายักยอกทรัพย์สหกรณ์เช่นกัน ได้แก่ นายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดนครปฐม และนายจิรเดช วรเพียรกุล อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง เนื่องจากมีหลักฐานไม่เพียงพอ

ปปง.แถลงข่าวการยึดทรัพย์นายศูภชัย ศรีศุภอักษรและพวกเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556
พ.ต.อ สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง.(ซ้าย)และนายกิตติก้อง คุณาจันทร์ ผอ.สำนักป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน DSI แถลงข่าวกรณี ปฏิบัติการยึดและอายัดทรัพย์สินนายศุภชัยกับพวกเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556

นอกจากนี้ ทางด้านความเคลื่อนไหวของ ปปง. ซึ่งมีบทบาทในการยึดอายัดทรัพย์สิน และดำเนินคดีในทางแพ่ง ได้ยึดทรัพย์นายศุภชัยและพวกเพิ่มเติมอีก หลังที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมมีมติเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 แบ่งเป็น 2 คำสั่่ง คือ โดยคำสั่งที่ ย. 6/2557 ยึดทรัพย์ 2 รายการ ได้แก่ หุ้นในบริษัทเอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 จำนวน 5 ล้านหุ้น โดยนายบรรลือ กองชัย เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และตั๋วแลกเงินธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เลขที่บัญชี 573167 มียอดเงินคงเหลือประมาณ 32 ล้านบาท ที่บริษัทเอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์

ส่วนคำสั่งที่ ย. 25/2557 ยึดทรัพย์หลายรายการ ได้แก่ หุ้นในบริษัท ยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่ง”ไทยพับลิก้า”เคยนำเสนอความผิดปกติของรายชื่อผู้ถือหุ้นและงบการเงินของบริษัทนี้ เนื่องจากปรากฏรายชื่อเป็น 1 ใน 28 นิติบุคคลที่กู้เงินจากสหกรณ์ฯ คลองจั่นไปกว่า 400 ล้านบาท อีกทั้งรายชื่อผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทนี้เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ฯ คลองจั่นเกือบทั้งสิ้น ทั้งนายศุภชัย กรรมการสหกรณ์ และพนักงานสหกรณ์จำนวนมาก โดย ปปง. ยึดหุ้นทั้งหมดเท่าที่พบว่าเกี่ยวข้องกับการยักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯคลองจั่น

นายนพดล อุเทน ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการงานคดี 1 ปปง. กล่าวว่า สำหรับคดีแพ่งที่ดำเนินการยึดอายัดทรัพย์ผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องเรื่อยมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีก่อน โดยอิงตามพระราชบัญญัติการฟอกเงินฯ ในกรณีนี้ทำความผิดมูลฐานด้านยักยอกทรัพย์ที่เป็นปกติธุระ ปปง. ยังไม่ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เนื่องจากตามกฎหมาย หากศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานฟอกเงินจริง ทรัพย์สินที่ยึดทั้งหมดจะตกเป็นของแผ่นดิน ดังนั้นจึงร่วมมือกับอัยการและดีเอสไอ ตั้งคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดิน โดยได้รับความยินยอมจากเจ้าของทรัพย์ (นายศุภชัย) เพื่อนำเงินมาคืนสหกรณ์ฯ คลองจั่่นใช้หมุนเวียน

นายนพดลกล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนกรณีที่ดีเอสไอสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาอีก 2 รายนั้น หากอัยการมีความเห็นแย้งกับพนักงานสอบสวนก็มีสิทธิสั่งฟ้องได้เช่นกัน แต่พนักงานสอบสวนก็มีสิทธิยื่นให้อัยการสูงสุดชี้ขาดว่าจะฟ้องหรือไม่อีกครั้งเช่นกัน

ความเกี่ยวโยงระหว่างยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัยกับสหกรณ์ฯ คลองจั่น

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 นายศุภชัยและพวกเข้าถือหุ้นใหญ่ บริษัท ธนสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) สัดส่วนประมาณ 80% มูลค่า 324 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียน 405 ล้านบาท โดยอ้างว่ากลุ่มผู้ถือหุ้น เดิมที่มีนายธนัท พรหเมศ ณ อยุธยา เจ้าของบริษัท ทวีเฮ้าส์ แอนด์ บิลดิ้ง คอนสตรัคชั่น จำกัด (ทีเอชบี) เป็นหนี้สหกรณ์ฯ คลองจั่นอยู่จำนวนหนึ่ง จึงแปลงหนี้ของบริษัททวีเฮ้าส์ฯ เป็นหุ้นบริษัทธนสินประกันภัยแทน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ u-inter ในเครือ u-group

แต่การเทคโอเวอร์ครั้งนั้น ชื่อผู้ถือหุ้นกลับเป็นนายศุภชัยและพวก แทนที่จะเป็นในชื่อสหกรณ์ฯ คลองจั่นซึ่งเป็นเจ้าของเงินเหมือนกับบริษัทสหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งนายศุภชัยชี้แจงว่า หากจะใช้ชื่อสหกรณ์ฯ คลองจั่นต้องรอขออนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารก่อน ซึ่งจะไม่ทันเวลา การเข้าไปในนามส่วนตัวจะสะดวกกว่า หากจัดสรรทุกอย่างภายในบริษัทลงตัว ในอนาคตจะเปิดให้สหกรณ์เข้าไปถือหุ้นง่ายกว่า

นอกจากนี้ สหกรณ์ฯ คลองจั่นยังนำเงินสหกรณ์ไปเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 405 ล้านบาทเป็น 505 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้และดำรงเงินกองทุนประกันวินาศภัย โดยปรากฏในรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น บริษัท ยูเนี่ยนอินเตอร์ ประกันภัย ปี 2552 ซึ่งระบุว่า นายศุภชัยและทีมงานเข้าถือหุ้นใหญ่ และนำเงินจำนวน 509 ล้านบาทเข้ามาลงทุนในบริษัท ส่วนหนึ่งนำไปจ่ายชำระค่าสินไหมค้างจ่าย และเพิ่มทุนบริษัทอีก 100 ล้านบาท

จากหลักฐานประกอบจึงมีแนวโน้มว่าบริษัทยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัยเป็นทรัพย์สินของสหกรณ์ฯ คลองจั่น ซึ่งควรจะบันทึกในรายงานการประชุมประจำปีของสหกรณ์ แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลตั้งแต่ปี 2552-2555 ไม่พบบันทึกว่าสหกรณ์ฯ คลองจั่นลงทุนในบริษัทยูเนี่ยนอินเตอร์ฯ แต่อย่างใด โดยเมื่อดูรายงานการลงทุนของสหกรณ์ฯ คลองจั่นปี 2555 และรายชื่อผู้ถือหุ้นของกระทรวงพาณิชย์พบว่า ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นกรรมการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯ คลองจั่น (ดูข่าว “ยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัย สมาชิกสหกรณ์ฯ คลองจั่นถือหุ้นตรึม”)

ขณะที่บริษัท ทวีเฮ้าส์ แอนด์บิลดิ้ง คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้สมทบ กู้เงินจากสหกรณ์ฯ คลองจั่น 71.4 ล้านบาท ได้ปิดกิจการและไม่มีการส่งงบการเงินให้กระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2550 เลขทะเบียนนิติบุคคล 0105534038739 เริ่มกิจการเมื่อ 26 เมษายน 2534 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ที่ตั้ง 101/49 หมู่ที่ 3 ถนนเสรีไทย แขวงคันนายาว เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร 10230 ประกอบกิจการเขียนและวิเคราะห์โครงการ, นายหน้า, ตัวแทนค้าต่างให้กิจการและธุรกิจการลงทุน-บริการ มีกรรมการบริษัท 2 คน ได้แก่ 1. น.ส.สุทิศา เข็มประดับ 2. นายภราดร พรหมเมศร์ (ดูรายชื่อผู้ถือหุ้น) และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บริษัท ทวีเฮ้าส์ แอนด์ บิลดิ้ง คอนสตรัคชั่น จำกัด ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.1526/2555 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2555