ThaiPublica > เกาะกระแส > 1 ปี “รบ.ประยุทธ์” ส่งกฎหมายให้ สนช. 164 ฉบับ – เตรียมใช้ ม.44 พักงาน ขรก. เพิ่ม ลุยปฏิรูปตำรวจ ดัน กม.เศรษฐกิจดิจิทัล

1 ปี “รบ.ประยุทธ์” ส่งกฎหมายให้ สนช. 164 ฉบับ – เตรียมใช้ ม.44 พักงาน ขรก. เพิ่ม ลุยปฏิรูปตำรวจ ดัน กม.เศรษฐกิจดิจิทัล

23 ธันวาคม 2015


581223วิษณุ2
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรรม กล่าวในงานแถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลรอบ 1 ปี มีสาระสำคัญว่า ในระบอบประชาธิปไตย ถือว่าเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการสร้างผลงานคือกฎหมาย เพราะไม่ว่าจะแก้ปัญหาใดๆ การเมือง เศรษฐกิจ ต่างประเทศ สังคม และความมั่นคง ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับ หรือใช้อำนาจเกินว่าที่กฎหมายบัญญัติ รัฐบาลเหล่านั้นล้วนมีจุดจบที่ศาลทั้งสิ้น จะชอบหรือไม่ชอบก็ต้องมีกฎหมายเป็นเครื่องมือ แล้วประเทศเหล่านั้นถึงจะถือว่าเป็นนิติรัฐ

รัฐบาลนี้มีผลงานด้านกฎหมายหลายอย่าง แต่เป็นผลงานที่แปลก เพราะเป็นเพียงเครื่องมือในการแก้ปัญหาอื่นๆ ต่อ สิ่งที่จะบอกต่อไปนี้ ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลไหนทำมากทำน้อยกว่ากัน รัฐบาลไหนใช้เงินมากหรือน้อยกว่ากัน แต่จะบอกว่ารัฐบาลนี้ทำอะไร เมื่อรู้แล้ว จะให้คะแนนอย่างไร ขึ้นอยู่กับประชาชนทั้งหลาย

ภาพอดีตต้องย้อนไปก่อน วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นความทรงจำที่โหดร้าย และคนไทยจำนวนไม่น้อยเสียดายเวลาและโอกาส มีผู้วิเคราะห์ว่า ถ้าไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น สิ่งที่ค้างคาในวันนั้นจะอยู่มาจนถึงวันนี้

  • พันธะระหว่างประเทศยังค้างคา และภาระที่รอการปฏิบัติที่ยังอยู่ ไทยไปลงสัญญานานาชนิด ซึ่งต้องมาออกกฎหมายลูกเพื่ออนุวัติ เช่น ประมงผิดกฎหมาย IUU มาตรฐานการบิน ICAO เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามา สิ่งที่ให้ความสำคัญอันดับแรกคือเร่งออกกฎหมายให้ครบตามพันธะที่มีอยู่ และบัดนี้ก็ครบแล้ว
  • กฎกติกามารยาททางธุรกิจที่มีมากมาย จนฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของประเทศไม่เข้มแข็ง บางอย่างมีมากมายเกินไป บางอย่างที่ควรมีก็ไม่มี กฎหมายบางฉบับแก้ไขครั้งหลังสุดเมื่อกว่า 50-60 ปีก่อน แล้วจะใช้ในปัจจุบันได้อย่างไร
  • ขาดความสมดุลในการจัดการสิทธิเสรีภาพของประชาชนและความสงบเรียบร้อยของสังคม พอให้น้ำหนักกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาก สังคมก็เดือดร้อน พอให้น้ำหนักกับสังคมมาก ประชาชนก็โอดครวญ รัฐบาลนี้ได้พยายามเข้ามาจัดระเบียบให้สมดุล
  • ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ยังมีอยู่ ชาย-หญิง เจ้าหนี้-ลูกหนี้ คนจน-คนรวย ที่ล้วนต้องเข้าไปจัดการลดช่องว่างไม่ให้ถ่างออกไป
  • ระบบราชการของประเทศ เขาเรียกกันว่าราชการไทยเป็นระบบ “4 ช.” เชย เชื่องช้า ใช้งบมาก และเปิดช่องให้ทุจริต สิ่งที่รัฐบาลนี้พยายามทำคือแก้ปัญหา 4 ช. ให้ได้มากที่สุด หรืออย่างน้อยต้องลดลง
  • โลกเปลี่ยนไป แต่กฎหมายกลับไทยถอยหลัง คำพูดนี้จริงหรือไม่ เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาใหม่ๆ เห็นปัญหานี้ตำตา เช่น กรณีอุ้มบุญที่ไม่มีกฎหมายรองรับ จึงต้องผลักดันออกมาให้ได้เพื่อก้าวตามทันโลก
  • ทรัพยากรธรรมชาติ ที่พอเกิดเรื่องขึ้นมา กลับหากฎหมายมาแก้ปัญหาไม่ได้
  • คดีความรกโรงรกศาล แล้วกระบวนการวิธีพิจารณาคดีล่าช้า ไม่ทันสมัย รัฐบาลในอดีตพยายามแก้ไขแล้ว แต่ก็มีข้อจำกัด เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามา พูดตรงๆ ว่ารัฐบาลนี้ได้เปรียบ ทั้งเหลือสภาเดียว มีอำนาจพิเศษตาม ม.44 แน่นอนว่าความเสียเปรียบก็มี เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็ถูกบอกว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลก็รับสภาพแล้วใช้จุดอ่อนและวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาส ทำในสิ่งที่ควรทำ ในเวลาที่จำกัด เสร็จแล้วก็จากไป ส่งต่อให้คนอื่นที่ไม่มีจุดอ่อนนี้เข้ามา

นายวิษณุยังยกตัวอย่างกฎหมายสำคัญที่ออกมาในสมัยรัฐบาลนี้ อาทิ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558, พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ที่ถือเป็นนวัตกรรม ปฏิรูปการทำงานของส่วนราชการ

“ถึงวันนี้ รัฐบาลนี้เสนอร่าง พ.ร.บ. ไปทั้งสิ้น 164 ฉบับ พิจารณาเสร็จประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 138 ฉบับ ค้างอยู่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวม 26 ฉบับ พ.ร.บ. กว่าครึ่งออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 บางส่วนออกมาเพื่อรองรับสิ่งที่รัฐบาลนี้ตั้งใจทำ ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้เคยกล่าวไว้ว่า กฎหมายใดที่รัฐบาลเลือกตั้งออกมายาก เพราะติดข้อจำกัดบางอย่าง ก็ให้เราออกมา ส่วนกฎหมายใดที่ออกมาง่ายหน่อย ก็ให้รัฐบาลเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณา”

นายวิษณุกล่าวว่า นอกจากเรื่องกฎหมาย รัฐบาลยังได้ดำเนินการทางปกครองหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการต่อต้านการทุจริต ที่องค์กรอิสระต่างๆ ทั้ง ป.ป.ช. ปปท. สตง. ฯลฯ ระบุว่าเหตุที่คดีทุจริตต่างๆ ดำเนินการได้ล่าช้าเพราะส่วนราชการไม่ให้ข้อมูล หรือไม่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทางวินัย รัฐบาลจึงได้แก้ปัญหานี้โดยการใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนมูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. พักงานหรือระงับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 100 ราย ตำแหน่งสูงสุดคือปลัดกระทรวง ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ยังมีการส่งรายชื่อใหม่มาให้นายกฯ อีก 50 ราย คาดว่าจะมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อระงับการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลกลุ่มนี้ ภายใน 3-7 วันนี้ นี่คือบัญชีรุ่นที่ 2 ซึ่งมีทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้บริหารสถาบันการศึกษา รวมไปถึงผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ขอพูดเร็วๆ ถึงคดีสำคัญที่รัฐบาลเป็นทั้งโจทย์และจำเลย รวม 12 คดี มีการเรียกเงินเป็นจำนวนมาก มากคดีถ้าแพ้จะต้องเสียเงิน 2-3 หมื่นล้านบาท แต่บางคดีถ้ารัฐชนะก็อาจจะได้เงินเป็นหลักแสนล้านบาท แม้รัฐบาลนี้จะไม่ได้เป็นผู้ก่อคดี แต่ถ้าเดินออกไปโดยไม่ทำอะไรก็จะถูกต่อว่า เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาก็ถามว่าคดีต่างๆ เหล่านี้ ใครเป็นผู้ดูแล ปรากฏว่าหาผู้ดูแลไม่ได้ บางคดีอยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการ แต่ข้าราชการไม่รู้เรื่อง บางคดีอยู่ในชั้นศาลแล้ว ก็ปล่อยให้อัยการว่าไป บางคดีอัยการมาบอกว่าแพ้แน่ๆ เพราะขอเอกสารมา ส่วนราชการก็บอกว่าไม่รู้อยู่ที่ไหน ขอให้เรียกพยานที่เกษียณอายุไปแล้วมาให้ปากคำ ก็บอกว่าไม่รู้อยู่ที่ไหนแล้ว

สำหรับคดีสำคัญทั้ง 12 คดี มี 6 คดีที่รัฐเป็นโจทย์ ประกอบด้วย คดีที่ 1 เรื่องจำนำข้าว มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นผู้ถูกกล่าวหา ยังอยู่ที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง คดีที่ 2-4 เรื่องขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) มีผู้ถูกกล่าวหา 3 กลุ่ม คือนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และบริษัทเอกชน คดีมีความคืบหน้ามากกว่า อยู่ที่คณะกรรมการตรวจสอบความรับผิดทางแพ่งแล้ว คดีที่ 5 การเลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่ของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) จำกัด และคดีที่ 6 เรียกค่าเสียหายจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เป็นเงิน 7 หมื่นล้านบาท

และมีอีก 6 คดีที่รัฐเป็นจำเลย คดีที่ 7 บริษัท วอเตอร์บาว จำกัด ฟ้องไว้ที่ศาลเยอรมัน เรียกเงิน 9 พันล้านบาท คดีที่ 8 แก้สัญญาโทลเวย์ อยู่ที่ศาลปกครองสูงสุด คดีที่ 9 ค่าโง่คลองด่าน ซึ่งศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้รัฐชดใช้ค่าเสียหาย 1.1 หมื่นล้านบาท แต่ได้เจรจาขอลดหนี้ได้ส่วนหนึ่งโดยไม่เอาดอกเบี้ย และมีมติ ครม. ให้จ่ายเงินแก่บริษัทเอกชนแล้ว คดีที่ 10 เรียกค่าเสียหายจากสถานีโทรทัศน์ไอทีวี วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท คดีอยู่ที่อนุญาโตตุลาการ คดีที่ 11 โฮปเวลล์ เรียกค่าเสียหาย 1.2 หมื่นล้านบาท คดีอยู่ที่ศาลปกครองสูงสุด และคดีที่ 12 ทางด่วนบางนา-บางปะกง เรียกค่าเสียหาย 5 พันล้านบาท คดีอยู่ที่ศาลฎีกา

“นี่คือคดีสำคัญ ที่มีการเรียกค่าเสียหายหลายหมื่นหลายพันล้านบาท ส่วนคดีที่ไม่เกี่ยวกับเงิน นายกฯ กำชับให้เร่งเข้าสู่ศาลให้ได้ภายใน 1 ปีครึ่งที่เหลืออยู่ โดยไม่เสียความเป็นธรรม ส่วนจะใช้เวลาพิจารณาในศาลนานเท่าใด ขึ้นอยู่กับศาล ทั้งนี้เพื่อไม่ให้คนรู้สึกว่ารัฐบาลนี้ดองคดี”

นายวิษณุกล่าวว่า ถามว่าที่ผ่านมา รัฐบาลปฏิรูปอะไรบ้าง

  1. พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ ที่ช่วยปฏิรูประบบราชการของส่วนราชการกว่า 7,000 หน่วย ที่ถือกฎหมาย 500 ฉบับ ไม่ให้พิจารณาล่าช้าอีกต่อไป
  2. พรฎ.การทบทวนความเหมาะสมของการออกกฏหมาย พ.ศ. 2558 เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย โดยให้ทุกกระทรวงดูกฎหมายของตัวเองแล้วทบทวนทุก 5 ปี ว่ามีกฎหมายใดควรเลิก-ควรแก้ ให้ทำทุก 5 ปี ถ้าไม่ทำ จะมีคนอื่นไปทำให้ แล้วคนที่ไม่ทำจะมีความผิด รวมถึงให้แปลกฎหมายทุกฉบับเป็นภาษาอังกฤษ
  3. ก่อนหน้านี้ มีเสียงวิพากษ์คดีทุจริตดำเนินการล่าช้า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ที่ประชุม ครม. ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. .… และส่ง สนช. ทราบว่าจะบรรจุวาระต้นปี 2559 ซึ่งการจะเปิดศาลต้องมีการเปิดพระราชกฤษฎีกาอีกครั้ง
  4. ออก พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ที่มีการเรียกร้องมานาน
  5. สังเกตไหมว่า เวลาคนจนถูกฟ้องมักจะเสียเปรียบ จึงมีการออก พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 สนับสนุนค่าทนาย ค่าขึ้นศาล ให้ขึ้นศาลสู้คดีได้อย่างเป็นธรรม
  6. เวลามีข้อขัดแย้ง มักจะไปจบที่การฟ้องร้อง ทำให้คดีรกโรงรกศาล แทนที่จะได้พิจารณาคดีสำคัญ กลับมาดูคดีมโนสาเร่ นำไปสู่แนวคิดในการออกกฎหมายไกล่เกลี่ยประนีประนอม ชะลอการฟ้อง ให้ประนีประนอมกันก่อนว่าจะฟ้องร้องจริงหรือไม่ บัดนี้ตัวร่าง พ.ร.บ. เสร็จแล้ว เตรียมส่งไปที่ สนช.
  7. การพิจารณาคดีในศาลมักจะล่าช้า รัฐบาลจึงออกกฎหมายแก้ปัญหาทั้งระบบ อาทิ ให้โอนคดีจากศาลหนึ่งไปสู่อีกศาลได้ จะทำให้เร็วกว่า, ให้ฟ้องคดีเป็นกลุ่มได้, ให้ใช้อุปกรณ์ติดตามตัวคนที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไม่ให้หลบหนีได้ ฯลฯ เป็นต้น
  8. รัฐบาลนี้ยังได้เสนอร่างกฎหมายอีกหลายฉบับเข้าสภา เพื่อให้สามารถบังคับคดีได้รวดเร็วกว่าเดิม ไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุด ทั้งหมดคือภาพอดีตและปัจจุบัน

นายวิษณุกล่าวว่า ถามว่าแล้วอนาคตจะทำอะไร ยังมีอีกมาก 2559 มีก้าวต่อไปที่นายกฯ บังคับให้ก้าวต่อไป ขยักไว้

  • วางระบบประเมินปลัดกระทรวงใหม่หมด จะเริ่มในวันที่ 1 ต.ค. 2559
  • วางระบบประเมินคุณภาพหน่วยงานและผู้บังคับบัญชา ทั้ง 20 กระทรวง 148 กรม 50 รัฐวิสาหกิจ และ 40 องค์การมหาชน แบบใหม่ ทำได้ตามภารกิจ ตามพื้นที่ ที่วางเป้าไว้ไหม จะใช้กับการแต่งตั้งโยกย้ายใน 6 เดือนข้างหน้า ก.พ. ก.พ.ร. กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ (สงป.) กำลังวางหลักเกณฑ์ร่วมกัน
  • ปฏิรูปตำรวจ ที่แล้วมาอาจจะอ้อมแอ้ม พูดได้ไม่เต็มปาก แต่วันนี้จะพูดได้เต็มปาก ทั้งเรื่องการแต่งตั้ง การบริหารงานบุคคล การกระจายอำนาจจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ไปสู่ผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ สวัสดิการต่างๆ กัน อำนาจและอุปกรณ์ของตำรวจ ฯลฯ
  • ปฏิรูปเศรษฐฏิจแบบประชารัฐ ให้ภาคเอกชนมาร่วมคิดด้วย เพราะเขาทำธุรกิจมานาน แล้วรู้ดีว่าปัญหาคืออะไร แล้วภาครัฐจะมากลั่นกรองดูว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร
  • จะลดการเรียกเอกสารจากประชาชน วันนี้เริ่มจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และคาดว่าภายใน 1 ปีครึ่ง จะลดครบหมดทุกส่วนราชการ
  • การป้องกันและปราบปรามการทุจริต จะเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ ด้วยการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริต
  • นำเทคโนโลยีมาใช้ในการพิจารณาคดีในศาล ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

นายวิษณุ กล่าวว่า ในปี 2559-2560 รัฐบาลตั้งใจจะมีกฎหมายเชิงนโยบายที่จะส่งเข้า สนช. หลายฉบับ แต่กฎหมายที่รัฐบาลถือเป็นกฎหมายชิ้นเอก มีการจัดลำดับความสำคัญแล้ว และจะนำเข้า สนช. ในเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่นายกฯ เร่งรัด ประกอบด้วย

  1. กลุ่มกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล
  2. กฎหมายแก้ปัญหาเศรษฐกิจตามที่ภาคเอกชนเสนอ
  3. กฎหมายวิธีพิจารณาคดีทุจริต เพื่อให้ดำเนินการในศาลได้เร็ว
  4. กฎหมายคนเข้าเมืองฉบับใหม่ เพราะปัญหาคนเข้าเมืองเปลี่ยนไป ไม่ได้มาคนเดียว แต่มาเป็นกลุ่ม
  5. กฎหมายบูรณาการเพื่อการทำงานข้ามกระทรวง ให้กระทรวง ก. ข. ค. ที่รัฐมนตรีอาจจะมาจากคนละพรรค ทำงานด้วยกันได้
  6. กฎหมายปฏิรูปการศึกษา
  7. กฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญ ที่หากตามที่คาด ภายในเดือนมีนาคม 2559 ร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จ จากนั้นภายใน 3-4 เดือนจะต้องทำประชามติ ซึ่งหากเป็นไปตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บอกมาตลอดว่า ร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะสั้น จึงจำเป็นต้องมีการออกกฎหมายลูกหลายสิบฉบับ

“ทั้งหมดเหมือนราคาคุย แต่มันไม่คุย เพราะต้องมีตัวชี้วัดความสำเร็จ รัฐบาลตั้งใจมีตัวชี้วัด 2 ตัวใหญ่ 1. ต่างประเทศ โดยยึดการประเมินของหน่วยงานระหว่างประเทศต่างๆ เช่น การฟอกเงิน ใช้ FATF, การปราบปรามการทุจริตและความโปร่งใส จะใช้ผล CPI ขององค์กรความโปร่งใสสากล, ความสะดวกในการทำธุรกิจ จะใช้ผลของธนาคารโลก, ความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ จะใช้ IMD WEF และ 2. ในประเทศ ก.พ. ก.พ.ร. สศช. และ สงป. จะมีส่วนประเมินส่วนราชการทั้งหมด ว่าได้ทำตามที่ว่ามานี้หรือไม่”

“การพัฒนาประเทศก็เหมือนกับการปั่นจักรยานเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย คือ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน แต่เราจะไปถึงเป้าหมายได้ เราต้องมีกฎหมายเป็นเครื่องมือเหมือนกับจักรยานที่เราใช้ปั่น รัฐบาลปั่นอยู่คนเดียวก็ได้จักรยานคันเดียว ไม่สนุก ไม่น่าดู มันต้องเป็นขบวน ฉะนั้น องค์กรแม่น้ำ 5 สาย ข้าราชการกว่า 2 ล้านคน และประชาชนต้องอยู่ในขบวนนี้เพื่อช่วยให้ไปถึงเป้าหมายได้ ทั้งหมดคือความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ทำมาแล้ว 15 เดือน และจะทำต่อไปอีก 1 ปีเศษ” นายวิษณุกล่าว