ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ แจงย้ายผู้ว่าฯ กทพ.เป็นเรื่องปกติ ยังไม่ตั้งคนใหม่ มติ ครม.จัดงบฯ 1.3 หมื่นล้าน เติมเงินบัตรคนจน-เพิ่มลดหย่อนภาษี กระตุ้น ศก.

นายกฯ แจงย้ายผู้ว่าฯ กทพ.เป็นเรื่องปกติ ยังไม่ตั้งคนใหม่ มติ ครม.จัดงบฯ 1.3 หมื่นล้าน เติมเงินบัตรคนจน-เพิ่มลดหย่อนภาษี กระตุ้น ศก.

30 เมษายน 2019


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงข่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประชุม คสช.ที่ทำเนียบรัฐบาล มีรายละเอียดดังนี้

กำชับเจ้าหน้าที่ดูแลภาคใต้ช่วงเดือนรอมฎอน

พล.อ. ประยุทธ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ดูแลความสงบเรียบร้อยพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงเดือนรอมฎอนให้เข้มงวดยิ่งกว่าเดิม ทั้งในเรื่องการตั้งจุดตรวจสกัดควบคู่ไปกับงานด้านการข่าว เพื่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน

“เรื่องการดูแลความสงบเรียบร้อยพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในเดือนรอมฎอนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว ในเรื่องการดูแลความปลอดภัย ชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน แต่ก็ได้สั่งการเพิ่มเติมให้เพิ่มความเข้มงวดให้มากขึ้นกว่าเดิม ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนทุกคนด้วย เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีความเข้มงวดก็อาจได้รับผลกระทบบ้างพอสมควร แต่เพื่อความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม”

แจงย้ายผู้ว่า กทพ.เป็นเรื่องปกติ ยังไม่แต่งตั้งใหม่

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีสั่งย้ายนายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไปปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า เป็นเรื่องปกติในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงความรับผิดชอบ แต่ก็ยังไม่มีการแต่งตั้งใหม่ ให้รองผู้ว่าฯ กทพ.รักษาการไปก่อน

  • นายกฯ สั่งย้าย “สุชาติ” ผู้ว่าฯ กทพ. นั่งสำนักนายกฯ คาดเคลียร์ปมค่าโง่ทางด่วน ขั้นที่ 2 ล่าช้า
  • จ่อยกเลิกคำสั่ง-ประกาศ คสช.ที่ไม่จำเป็น

    พล.อ. ประยุทธ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม คสช.มีการหารือเรื่องสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยในช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งได้รับการรายงานว่าทุกอย่างเตรียมการไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้กำลังให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณายกเลิกคำสั่งและประกาศ คสช.ตั้งแต่ปี 2557 ที่ได้ปฏิบัติไปแล้วและไม่มีความจำเป็น ส่วนกฎหมายที่จำเป็นต้องใช้อยู่ จะปรับปรุงเป็นกฎหมายปกติต่อไป

    “ในส่วนคำสั่งและประกาศ คสช.ตั้งแต่ปี 2557 ตอนนี้ผมได้ตั้งคณะทำงานให้ดูในรายละเอียดว่าคำสั่งใดได้มีการปฏิบัติไปแล้ว และมีกฎหมายปกติอยู่ ก็จะให้ยกเลิก บางกฎหมายที่มีความจำเป็นอยู่ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ไปปรับปรุงเป็นกฎหมายปกติต่อไป คำสั่งใดที่ประกาศไปแล้วไม่มีความจำเป็น เราก็จะยกเลิกให้หมด”

    อย่ากังวลคัดสรร 250 ส.ว. ชี้เสนอชื่อทูลเกล้าฯ หลัง กกต.รับรอง ส.ส. 3 วัน

    พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าการพิจารณาแต่งตั้งสมาชิกวุติสภา (ส.ว.) ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการคัดเลือกและตรวจสอบคุณสมบัติให้ถูกต้องโดยคณะกรรมการคัดสรร มีทั้งอดีตข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร และพลเรือนปัจจุบัน โดยทุกอย่างยังอยู่ในกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด ขอให้เชื่อมั่นกระบวนการคัดสรร

    “ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดสรร มีการหารือเรื่องกำหนดการ เรื่องของการตรวจสอบคุณสมบัติให้ชัดเจนถูกต้อง อย่าไปกังวล ก็มีทั้งอดีตข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหารส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็เป็นพลเรือน ซึ่งสัดส่วนพลเรือนต้องมากกว่าอยู่แล้ว แสดงให้เห็นว่าเราต้องการให้มันเป็นมาตรฐานให้ได้ ทุกอย่างอยู่ในกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งต้องเสนอชื่อเพื่อทูลเกล้าฯ หลังจากการรับรอง ส.ส. 3 วัน ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนคัดกรองอยู่ ขอให้เชื่อมั่นครับ”

    ส่วนกรณีมีการยื่นการเลือกตั้งให้เป็นโมฆะ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอให้เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย อย่ายึดแต่ความต้องการของตัวเองเป็นหลัก ต้องนำกฎหมายมาประกอบการพิจารณา และควรทำงานการเมืองโดยคำนึงถึงสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้ประเทศชาติมีความสงบ

    “เรื่องการยื่นเลือกตั้งโมฆะ ก็ได้ยินข่าวมาตลอด ขอให้เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตยก็แล้วกัน อย่ายึดแต่ความต้องการ ความถูกต้องของตัวเองเป็นหลัก ต้องเอากฎหมายมาพิจารณาดูแล ถ้าเราคิดกันคนละทางสองทางมันก็เลอะเทอะ เลือกตั้งแล้ว นับใหม่ก็นับให้แล้ว ก็ไม่พอใจอีก ก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะนี่เป็นคะแนนเสียงของประชาชน เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนอย่าคำนึงถึงแต่ตัวเอง ควรทำงานการเมืองยึดถือ 3 สถาบันหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประเทศชาติโดยรวมก็จะมีความสงบสุข”

    ยันไม่เกิดม็อบการเมือง

    พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีมีการประเมินว่าจะมีม็อบทางการเมืองเกิดขึ้นหรือไม่จากความไม่แน่นอนทางการเมืองโดยระบุว่า ไม่น่าจะเกิดม็อบทางการเมือง เพราะกำลังเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยตามที่กฎหมายกำหนด มุ่งหวังประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก

    “ความไม่แน่นอนก็คือพวกเรากันเองนั่นแหละที่พูดกันไปกันมาจนมันเสียหาย รัฐบาลยืนยันว่ารัฐบาลแน่นอน เพราะรัฐบาลมีกำหนดกฎกติกา กำหนดห้วงวันเวลาต่างๆ ไว้ทั้งหมด ในการเดินหน้าประเทศตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง เพราะฉะนั้นนี่คือความแน่นอนของรัฐบาล แสดงให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพของรัฐบาลในการกำหนดโรดแมป และเป็นไปตามความต้องการของประชาชน”

    พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็ทำให้ทุกอย่างแล้ว เพราะฉะนั้นถ้ามันไม่แน่นอนเกิดขึ้นมา ก็เนื่องจากพวกเราหลายๆ คนก็พูดจากันคนละทางสองทาง บางทีก็ไม่ได้ยึดกฎหมายยุติธรรมเป็นหลัก หรือคิดกฎหมายเข้าข้างตัวเองตลอด มันก็ไปไม่ได้หมด เพราะฉะนั้นผมคิดว่าม็อบทางการเมืองไม่น่าจะเกิดขึ้น เรากำลังเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย ทำไมเราไม่ทำประชาธิปไตยให้เข้มแข็งตั้งแต่เริ่มแรกล่ะ โดยมุ่งหวังเอาประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก”

    เผยพยุงเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

    พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 ว่า จะมีมาตรการเพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและมาตรการทางภาษีเป็นระยะๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ มาตรการที่ใส่ไปในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ได้ซื้อสินค้าได้เฉพาะร้านธงฟ้าอย่างเดียว แต่สามารถซื้อสินค้าได้จากร้านค้าที่มีคิวอาร์โค้ด หรือร้านที่ติดเครื่องอ่านบัตร

    สิ่งที่เราจะต้องช่วยกันตอนนี้คือสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจให้ได้ เพราะมันมีผลกระทบหลายประเทศ ผมไปประชุมมาทุกคนก็มีปัญหาหมด ทั้งเรื่องเศรษฐกิจโลก เรื่องความขัดแย้ง มันมีผลกระทบโดยรวมกับทุกประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าข้างนอกมีปัญหาอย่างนี้ แล้วข้างในเรามีปัญหาอีก ไม่มีใครแก้ได้หรอกครับ พวกเราต้องแก้กันเอง ทำให้การใช้จ่ายในประเทศมันสามารถเดินหน้าไปได้ ภาคการผลิตสามารถผลิตสินค้าออกมาได้ หลายอย่างก็มีเพิ่มขึ้น หลายอย่างก็มีลดลง แต่ท้ายที่สุดก็คือความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทั้งประเทศ

    “แต่ถ้าเราว่ากันไปว่ากันมา โจมตีกันไปมา ความน่าเชื่อถือมันก็ลดน้อยลง ผมไปต่างประเทศมาเขาก็แสดงความยินดีในการเลือกตั้งของเราทุกประเทศนั่นแหละ สุดแล้วแต่ใครจะเป็นรัฐบาลก็ว่ากันไป ผมก็บอกเขาอย่างนี้ เป็นเรื่องของประชาชนเลือกมาแล้ว อยู่ในกลไกของรัฐธรรมนูญดำเนินการต่อ” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

    มติ ครม.มีดังนี้

    นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (ซ้าย) และ พล.ต. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขวา)
    ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

    จัดงบฯ 1.32 หมื่นล้าน เติมเงินบัตรคนจน – เพิ่มลดหย่อนภาษี กระตุ้น ศก.

    นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2561 โดยให้เหตุผลว่าจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 พบว่ามีสัญญาณแผ่วตัว อันมีสาเหตุหลักจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจนกระทบกับภาคส่งออกและบริการของไทยที่หดตัวไป -1.6% และจำนวนนักท่องเที่ยว 2 เดือนแรกของปีที่ขยายตัวเพียง 2.5%

    แม้ว่าขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศยังอยู่ในภาวะทรงตัว แต่ในระยะต่อไปที่อยู่ในระหว่างจัดตั้งรัฐบาลใหม่ อาจจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ลดลงสวนทางกับภาระค่าใช้จ่ายที่ยังคงอยู่ในระดับสูง กระทรวงการคลังจึงเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด้วนที่ต้องดำเนินมาตรการดังกล่าว เพื่อป้องกัน ดูแลความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นและผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยการดำเนินนโยบายในระยะนี้จะมีต้นทุนของการดำเนินการที่ต่ำกว่าหากเทียบกับกรณีปล่อยให้เศรษฐกิจต้องเผชิญกับการชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกเพิ่มเติม

  • คลังหั่น GDP ปี 62 ขยายตัว 3.8% เหตุปัจจัยภายนอก กระทบเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ ทุกตัวโตต่ำกว่าประมาณการ
  • นายณัฐพรกล่าวว่า สำหรับมาตรการดังกล่าวจะประกอบด้วย 2 ชุดมาตรการใหญ่ คือ 1) มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 4 มาตรการ โดยวงเงินที่ได้รับเพิ่มจะสามารถใช้จ่ายผ่านเครื่อง EDC แอปพลิเคชั่นถุงเงินประชารัฐ หรือถอนเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็มก็ได้ และ 2) มาตรการภาษี 6 มาตรการ รวมเป็น 10 มาตรการ ดังนี้

  • มาตรการเพิ่มเบี้ยคนพิการ สำหรับผู้พิการที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะเวลา 5 เดือนตั้งแต่พฤษภาคม-กันยายน 2562 และให้ใช้จ่ายผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EDC แอปพลิเคชั่นถุงเงินประชารัฐ หรือถอนเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็มก็ได้ โดยคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 1,160 ล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวน 1.16 ล้านคน
  • มาตรการบรรเทาภาวระค่าครองชีพให้แก่เกษตรกร สำหรับเกษตรกรในการซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และปัจจัยการผลิตอื่นๆที่จำเป็น โดยจะได้รับเงินอุดหนุน 1,000 บาทต่อคนเพียงครั้งเดียว รวมวงเงินงบประมาณ 4,100 ล้านบาท หรือคิดเป็นเกษตรกร 4.1 ล้านคน
  • มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ช่วงเปิดปีการศึกษา เพื่อช่วยเหลือค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การศึกษาช่วงเปิดปีการศึกษา จำนวน 500 บาทต่อบุตร 1 คนเพียงครั้งเดียว โดยให้บุตรทุกคนที่มีจำนวนทั้งสิ้น 2.7 ล้านคน วงเงิน 1,350 ล้านบาท
  • มาตรการพยุงการบริโภคของผู้มีรายได้น้อย เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยและรักษากำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานรากไม่ให้ทรุดตัวมากกว่าที่ควรจะเป็นในช่วงกลางปี โดยเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคจากร้านธงฟ้าประชารัฐเป็น 500 บาทต่อคนต่อเดือนเท่ากันทุกคน ระยะเวลา 2 เดือนตั้งแต่พฤษภาคมถึงมิถุนายน 2562 (จากเดิมที่จะแบ่งเป็น 200 บาทต่อคนและ 300 บาทต่อคนตามคุณสมบัติ) โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณ 6,600 ล้านบาท จากผู้ผ่านคุณสมบัติ 14.6 ล้านคน
  • มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย กำหนดให้ผู้เสียภาษีสามารถนำค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ค่าที่พัก โรงแรม ที่พักแบบโฮมสเตย์ และที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยว ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 มิถุนายน 2562 ไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคน และสำหรับจังหวัดรองให้หักค่าลดหย่อนได้ 20,000 บาท โดยคาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีไป 1,000 ล้านบาท
  • มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าเกี่ยวกับการศึกษาและกีฬา กำหนดให้ผู้เสียภาษีสามารภนำค่าซื้อสินค้าอุปกรณ์การศึกษา แต่ไม่รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องแต่งกายสำหรับการศึกษา อุปกรณ์กีฬา เครื่องแต่งกายสำหรับเล่นกีฬา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2562 ที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคน โดยคาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีไป1,500 ล้านบาท
  • มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย หรือ OTOP กำหนดให้ผู้เสียภาษีสามารถนำค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าจากโครงการหนึ่งตำบลหนึงผลิตภัณฑ์ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2562 ไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคน
  • มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการอ่าน กำหนดให้ผู้เสียภาษีสามารถนำค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือในรูปแบบ e-Book ทุกประเภทที่จ่ายให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2562 ไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคน โดยคาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 2,250 ล้านบาท
  • มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง กำหนดให้ผู้เสียภาษีสามารถนำค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2562 ไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ต้องเป็นผู้ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นที่อยู่และต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีติดต่อกัน และไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายการทำสัญญาซื้อขายที่ดินและสัญญาจ้างปลูกสร้างอาคาร โดยคาดว่าจะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีไป 1,350 ล้านบาท
  • มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและออกหรือรับใบกำกับภาษีหรือใบรับ หักรายจ่ายเพื่อการลงทุนในการพัฒนาระบบ เครื่อคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์จัดเก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อพัฒนาระบบจัดทำหรือส่งมอบหรือรับส่งหรือเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์สำหรับกิจการของบริษัทฯ หรือรายจ่ายเพื่อค่าบริการระบบคลาวด์ ค่าบริการใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ให้บริการจัดทำ หรือส่งมอบหรือเก็บรักษาใบกำกับภาษีหรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร หรือรายจ่ายสำหรับเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่เชื่อมเข้ากับระบบ Point of Sale และโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อระบบ POS ซึ่งเชื่อมกับการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริงโดยไม่กำหนดวงเงินหักค่าใช้จ่ายสูงสุด โดยคาดว่าจะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีไป 2,370 ล้านบาท
  • ทั้งนี้ รวมวงเงินและการสูญเสียรายได้ของมาตรการดังกล่าวทั้งหมดจะเป็นวงเงิน 21,820 ล้านบาท แบ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือฯ 13,200 ล้านบาท และการสูญเสียรายได้ภาษี 8,620 ล้านบาท โดยคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อีก 0.1% จากเดิมที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดการณ์ไว้ที่ 3.8% เป็น 3.9% ในปี 2562

    ประเดิมเก็บค่าทางด่วน “พระประแดง – บางขุนเทียน” 20 พ.ค.นี้

    นายณัฐพรกล่าวว่า ครม.มีมติรับทราบผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2554 เกี่ยวกับการจัดทำข้อตกลง ระเบียบ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการการเบิกจ่ายเงินที่จัดเก็บได้ของทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนพระประแดง-บางแค ช่วงพระประแดง-ต่างระดับบางขุนเทียน ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2554 ที่ให้พิจารณาในรายละเอียดและนำเสนอ ครม.อีกครั้ง โดยจะเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป แบ่งเป็นรถที่มีล้อไม่เกิน 4 ล้อ เก็บ 15 บาท, รถที่มีล้อเกิน 4 ล้อ แต่ไม่เกิน 6 ล้อ เก็บ 25 บาท, และรถที่มีล้อเกิน 6 ล้อ ขึ้นไป 35 บาท

    “เดิมทางด่วนดังกล่าวได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 รวมทั้งกระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงดังกล่าวไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2555 แต่ก็ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางตามนัยกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวแต่อย่างใดจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากกระทรวงคมนาคมเพิ่งได้ข้อยุติเรื่องสัดส่วนปริมาณการจราจรและกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการระหว่างกรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ประกอบกับกระทรวงคมนาคมได้มีการประชาสัมพันธ์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับทางหลวงหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครฯ (ถนนกาญจนาภิเษก) ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ มาโดยตลอด และจะมีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนเพิ่มเติมต่อไปด้วย” นายณัฐพรกล่าว

    เลื่อนจัดงบฯ ปี 63 – รอรับรัฐบาลใหม่

    นายณัฐพรกล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอให้เลื่อนการเสนอรายละเอียดงบประมาณประจำปี 2563 ออกไปจากเดิมที่ต้องรายงานต่อครม.ในวันนี้ เนื่องจากในระยะข้างหน้ากำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งตามธรรมเนียมจะต้องรอให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้เห็นชอบงบประมาณดังกล่าว ทั้งนี้ กรอบระยะเวลาใหม่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะได้จัดตั้งรัฐบาล หากเป็นรัฐบาลเดิมนโยบายต่างๆ จะมีความต่อเนื่องและรวดเร็วกว่า แต่ถ้าเป็นรัฐบาลใหม่อาจจะมีการปรับรายละเอียดเพิ่มเติมอีก อย่างไรก็ตาม งบประมาณประจำปีส่วนใหญ่ 70-80% ถือว่าเป็นงบประจำอยู่แล้วอาจจะเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ส่วนนี้สำนักงบประมาณได้หารือกับหน่วยราชการต่างๆ จัดทำงบประมาณเบื้องต้นเอาไว้แล้ว หากรัฐบาลใหม่มีติดขัดอะไรก็สามารถอนุมัติได้เร็วภายหลังการตั้งรัฐบาล

    ไฟเขียวแผน PDP ปี 2018 ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้า 7.7 หมื่นเมกะวัตต์

    นายณัฐพรกล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (Power Development Plan: PDP 2018) ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญเป็นแผนหลักในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจรวมถึงประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าหมายให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าในปี 2580 จำนวน 77,211 เมกะวัตต์ (ปัจจุบันผลิตได้ 46,090 เมกะวัตต์) ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว จะต้องมีการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจำนวน 56,431 เมกะวัตต์ และปลดกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุในช่วงปี 2561-2580 จำนวน 25,310 เมกะวัตต์ นอกจากนี้จะมีการพัฒนาระบบผลิตและส่งไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อให้สามารถรองรับการซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนที่เพิ่มมากขึ้นและเกิดความมั่นคงทางพลังงานในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทน รวมทั้งพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด (Smart Grid) ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูล ควบคุม และบริหารจัดการการผลิตและจ่ายไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการผลิตไฟฟ้าและใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา

    อนึ่ง แผน PDP 2018 สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (7) ประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล (พ.ศ. 2561-2580) แผนย่อยโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ซึ่งกำหนดให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้มีความมั่นคงในระดับที่เหมาะสม มีการกระจายชนิดของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ส่งเสริมพลังงานทดแทนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีสัดส่วนของเชื้อเพลิงฟอสซิล 65% ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ 53% ถ่านกหิน 12% และเป็นพลังงานสะอาด 35% ได้แก่ พลังงานน้ำ 9% พลังงานหมุนเวียน 20% และพลังงานอนุรักษ์ 6% นอกจากนี้ ยังมีแผนจะจัดทำพลังงานแสงอาทิตย์เข้าสู่ระบบปีละ 10 เมกะวัตต์ รวม 10 ปี 1000 เมกะวัตต์

    อนุมัติงบกลาง 1,226 ล้าน แก้ภัยแล้ง 144 โครงการ

    พล.ต. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติงบกลางประจำปี 2562 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำและเพิ่มน้ำต้นทุน เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และรองรับปริมาณน้ำในฤดูฝนในปีนี้ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพแผนงานบูรณาการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเสนอ

    สืบเนื่องจาก สทนช.ได้มีการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในฤดูแล้ง เพื่อบริหารจัดการเชิงป้องกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปรากฏว่ายังมีพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งอยู่ ทางสทนช.จึงได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายและเชิญ 10 หน่วยงานที่มีภารกิจด้านน้ำมาร่วมกันเพื่อหารือแนวทางบรรเทาปัญหาภัยแล้งเฉพาะหน้าโดยเร่งด่วน รวมถึงในระยะกลาง จึงเป็นที่มาของโครงการเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำและน้ำต้นทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำและเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ รวมถึงเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้บริการน้ำประปาหมู่บ้านในพื้นที่ขาดแคลนให้สอดคล้องตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยพื้นที่เป้าหมายแบ่งเป็น 4 ประเภท

    1. พื้นที่ประกาศภัยแล้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคปี 2561-2562 รวมทั้งสิ้น 5 จังหวัด

    2. พื้นที่ที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ปี 2561-2562 รวม 18 จังหวัด

    3. พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรนอกเขตชลประทานปี 2561-2562 รวม 9 จังหวัด และ

    4. พื้นที่เกิดภัยแล้งซ้ำซาก ซึ่งจะทำให้เกิดความต้องการแหล่งน้ำของชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 11 จังหวัด ทั้งนี้ จะต้องมีระยะเวลาการดำเนินการโครงการให้เสร็จภายใน 90 วัน โดยมีโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินการทั้งสิ้น 144 โครงการ งบประมาณ 1,226 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำได้ 28.12 ล้านลูกบาศก์เมตร มีครัวเรือนได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 85,474 ครัวเรือน แบ่งเป็นโครงการในพื้นที่เป้าหมาย 99 โครงการ งบประมาณ 921 ล้านบาทเศษ และโครงการนอกพื้นที่เป้าหมาย 45 โครงการ งบประมาณ 304 ล้านบาทเศษ

    เตรียมปรับ ม.44 เป็นกฎหมายปกติ

    พล.ต. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงให้ที่ประชุมรับทราบว่าในที่ประชุม คสช.มีการหารือถึงคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ต้องมีการไปทบทวนว่าคำสั่งไหนจบสิ้นแล้ว เช่น การแต่งตั้ง หรือ คำสั่งไหนที่ยังไม่จบโดยให้แต่ละกระทรวงต่างๆ ไปดู ซึ่งเหลือคำสั่งประมาณ 62 คำสั่ง เช่น เรื่องการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม (ไอยูยู) และกรณีขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ที่จะต้องให้แต่ละกระทรวงไปเปลี่ยนแปลงเป็นกฎหมายหรือกฎกระทรวง นอกจากนี้ ยังให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูคำสั่งว่าคำสั่งใดควรยกเลิกหรือควรอยู่ต่อ ซึ่งเมื่อคณะทำงานดังกล่าวประชุมเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงจะออกมาตรา 44 มาอีกฉบับ เพื่อดูรายละเอียดยกเลิกคำสั่งมาตรา 44

    อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 30 เมษายน 2562เพิ่มเติม