ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. ควัก 9.6 พันล้านจ่ายค่าโง่คลองด่าน เห็นชอบกรอบรถไฟไทย-จีน 2 เส้นทาง “ประยุทธ์” ย้ำ สอบอุทยานราชภักดิ์ “ผิดต้องลงโทษ”

ครม. ควัก 9.6 พันล้านจ่ายค่าโง่คลองด่าน เห็นชอบกรอบรถไฟไทย-จีน 2 เส้นทาง “ประยุทธ์” ย้ำ สอบอุทยานราชภักดิ์ “ผิดต้องลงโทษ”

18 พฤศจิกายน 2015


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าสั้นกว่าปกติ เนื่องจาก พล.อ. ประยุทธ์ต้องเดินทางไปที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2558

เล็งหารือผู้นำเอเปก 5 เรื่อง หวังอาเซียนรวมเป็นหนึ่ง–พร้อมไปประชุมโลกร้อนที่ฝรั่งเศส

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่จะพูดคุยใน APEC คงจะมี 5 ประเด็นหลัก ทั้งเรื่องสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความเชื่อมโยงเป็นเศรษฐกิจเดียว โรคระบาด การก่อการร้ายของพวกสุดโต่ง และการค้าการลงทุน คาดว่าตนจะได้พบปะกับผู้นำหลายประเทศ โดยจะมีการประชุมกลุ่มย่อยเยอะแยะไปหมด นอกจากภายในอาเซียน ยังมีอาเซียนบวก 3 บวก 6 และการพบปะกันแบบพหุภาคีและทวิภาคี เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็น โดยตนตั้งหลักไว้ว่า การพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นลักษณะของไทยบวก 1 เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่นๆ ก็จะต้องเป็นประเทศนั้นๆ บวกไทยเช่นกัน เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนเข้มแข็งต่อไป

“ในการประชุมเอเปก ผมคงจะไม่พูดถึงผลประโยชน์ของไทยอย่างเดียว คงต้องพูดถึงความเข้มแข็งของอาเซียนด้วย ถ้าเราเข้มแข็งได้ก็จะไม่เจอปัญหาต่อไปในอนาคต ถ้าเรารวมกันไม่ได้ก็จะมีปัญหาอยู่อย่างนี้ ต่างคนต่างไม่ไว้วางใจ ผลประโยชน์ไม่ทัดเทียมกันอยู่อย่างนี้ แล้วอาเซียนจะเป็นปึกแผ่นได้อย่างไร”

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงกำหนดการเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำยูเอ็นว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน–1 ธันวาคม 2558 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่า หากเขาไม่เลื่อนการประชุม ตนก็จะไปเข้าร่วม การเดินทางไปประชุมแสดงให้เห็นถึงความผูกพันกับเขา เราเชื่อมั่นเขา ให้กำลังใจเขา เหมือนเวลาที่เราเกิดเหตุแบบนั้นบ้าง เราก็ขอร้องให้คนของเขามาประเทศไทย ก็เหมือนกัน ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา

“เขาอยากให้คนนั้นคนนี้ไป เขาก็ต้องดูแลเป็นพิเศษ ถ้ามันจะเกิดอะไรก็ต้องเกิด เกิดมาครั้งเดียวตายครั้งเดียว จะอะไรกันนักกันหนา” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ปรับโครงสร้างการทำงานแนวดิ่งใหม่ – แบ่ง 6 กลุ่มงาน มี “รองนายกฯ” คุม

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ใหม่ทั้งหมด โดยจะให้องค์กรแม่น้ำ 5 สาย ได้แก่ ครม. คสช. กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำงานร่วมกันข้างบน จากนั้นก็ลงล่างไปสู่การปฏิบัติโดยจะมี 6 กลุ่มงานใหญ่ แต่ละกลุ่มงานจะมีรองนายกฯ รับผิดชอบ และมีคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) คอยตรวจสอบความโปร่งใสควบคู่ไปด้วย และมีคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบาย โดยมีนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คอยช่วยขับเคลื่อนงานของแต่ละกระทรวงอยู่ตรงกลาง และ คสช. จะมาช่วยเป็นอีกเครื่องมือในการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดและอำเภอ

“เมื่อเราตั้งรองนายกฯ ขับเคลื่อน 6 กลุ่มงานในการแก้ปัญหาต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น ดังนั้น รองนายกฯ ทุกคนจะต้องคุยกัน เมื่อถ่ายทอดไปข้างล่างสู่ประชาชนจะได้เข้าใจตรงกัน โดยเมื่อลงไปสู่พื้นที่จะต้องดึงภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ตามนโยบายประชารัฐ” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ดึงภาคอุตฯ ช่วยเพิ่มรายได้ภาคเกษตร–กระตุ้นผลิตสินค้าให้ตรงความต้องการตลาด

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงผลการลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ว่า ขอชื่นชมทุกฝ่ายที่ร่วมกันทำงาน แต่มีบางอย่างที่ต้องปรับปรุง คือ การส่งเสริมอาชีพเกษตรกร หรืออาชีพค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เสื่อ ผ้าไหม ฯลฯ ที่ผ่านมาเราส่งเสริมแบบเดิมมากไปจนทำให้เกิดปัญหาด้านการตลาด ตนจึงให้แนวคิดไปว่า จากนี้ ทุกอำเภอ ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ต้องคิดกันว่าจะแปรรูปอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าสูงขึ้น อะไรที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นให้รักษาไว้ แต่ต้องประยุกต์สิ่งของให้ตรงกับความต้องการของตลาดโดยใช้วัตถุดิบจากในพื้นที่ นี่คือเศรษฐกิจใหม่ที่ตนต้องการ คราวหน้าถ้าตนไปลงพื้นที่ต่างจังหวัดก็อาจจะเห็นในลักษณะกลุ่มจังหวัด 10 กลุ่ม มีกิจกรรม 10 อย่าง ในแต่ละกลุ่มก็ให้รวมผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันจากหลายๆ จังหวัด เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกัน

“ถ้าเราไม่ดู ปรับปรุง และคิดใหม่ก็จะเป็นแบบเดิม อยากให้เชื่อมโยงแบ่งหน้าที่แบ่งงานกันทำเพื่อยกขึ้นมาทุกจังหวัด”

ส่วนการแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร ปัจจุบันยังมีพบว่าต้นทุนการผลิตสูง ทั้งเรื่องเครื่องจักร เมล็ดพันธุ์ ราคาปุ๋ย ฯลฯ จึงต้องหาวิธีลดต้นทุนในส่วนนี้ให้ได้ และเท่าที่ทราบ รายได้ต่อหัวของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่เพียง 50,000 บาท/ปีเท่านั้น ถือว่าน้อยมาก อยู่แบบนี้ไม่ไหว แต่เขาก็ต้องทำ รัฐบาลจึงต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ภาคอุตสาหกรรมเข้าไปในพื้นที่ เพื่อนำสินค้าเกษตรมาเพิ่มมูลค่า สร้างเป็นนวัตกรรม ดึงราคากลับที่ภาคการผลิต ภาคการเกษตรให้ได้

“ถ้าเขาไม่ทำ ไม่ร่วมมือ ก็จะไม่มีทางที่ราคาจะขึ้นมาได้ แล้วเกษตรกรก็จนลงทุกวัน คนพวกนี้มีเกือบ 40 ล้านคน มีพื้นที่การเกษตร 43 ล้านไร่ เมื่อคนเหล่านี้เป็นคนมีรายได้น้อย ส่งผลให้เข้าระบบภาษีไม่ได้ ประเทศก็ขาดรายได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องแก้ทั้งระบบให้ได้” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

สั่งเร่งตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า ได้สั่งการในที่ประชุมเร่งรัดการจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ infrastructure fund เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งเราไม่ได้ต้องการผลประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ตรงนี้ต้องมีผลตอบแทนให้ผู้ร่วมลงทุนที่เหมาะสม มิเช่นนั้นเขาก็จะไม่ร่วมลงทุน เหตุที่ต้องมีกองทุนเหล่านี้เพราะคนไทยที่มีรายได้มากยังมีอีกเยอะ จึงต้องหาวิธีดึงคนเหล่านี้ให้มาร่วมลงทุนกับรัฐ แล้วให้ได้ผลประโยชน์ตอบแทนที่เหมาะสมกลับไป ไม่ว่าจะในรูปกำไรหรือหุ้น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย และไม่เอื้อประโยชน์ใครทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังอาจมีกองทุนประเภทอื่นๆ อีก เช่น กองทุนสื่อสาร กองทุนสาธารณสุข เป็นต้น เพื่อดำเนินการลงทุนคู่ขนานกันไป

“ประวิตร” แย้มสอบราชภักดิ์ 7 วันอาจไม่พอ ย้ำพบคนผิดต้องถูกลงโทษ

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจมีการทุจริต ว่า กองทัพบก (ทบ.) ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว วางกำหนดไว้ว่าให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน ส่วนตัวคิดว่าอาจจะทำไม่ทัน แต่จะขยายระยะเวลาหรือไม่ ต้องไปถามกับ พล.อ. ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก เอาเอง เพราะเป็นเรื่องภายใน ทบ. ไม่จำเป็นต้องรายการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงรับทราบ ทั้งนี้ หากพบว่ามีความผิดทางวินัยก็ต้องดำเนินการลงโทษ แต่หากพบว่ามีความผิดทางอาญา ก็ต้องส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อไป ยืนยันว่าโครงการนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณปกติ แต่มาจากเงินบริจาคจากภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป ส่วนตัวมองว่ากรณีนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แตกต่างกับคดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ

เมื่อถามว่าการที่ให้ ทบ. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบภายในกันเองอาจถูกวิจารณ์ได้ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้หน่วยงานภายนอกเข้าไปตรวจสอบ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปมโน ควรจะรอให้ผลสอบจาก ทบ. ออกมาก่อน ยืนยันว่าหากมีความผิดทางอาญา ก็ต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการ

ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวถึงการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ว่า เป็นเรื่องที่ ทบ. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบอยู่ เพราะโครงการนี้ใช้เงินสูงพอสมควร จึงต้องไปดูว่ามีการรั่วไหลหรือไม่ ผิดก็ว่าไปตามผิด ซึ่งไม่ต่างกับขั้นตอนปฏิบัติหากกระทรวงอื่นๆ เกิดเรื่องลักษณะเดียวกัน หากมีการกระทำผิดไม่ว่าทางวินัยหรือทางอาญาก็ต้องดำเนินการ ทั้งนี้ ขอร้องว่าอย่านำไปเป็นประเด็นทางการเมือง

สมช. ยันไม่มีกลุ่มก่อการร้ายเคลื่อนไหวในไทย–จับตา 3 กลุ่มพยายามอิง IS

พล.อ. ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงข่าวถึงความเสี่ยงที่กลุ่มก่อการร้ายจะมาก่อเหตุในประเทศไทยว่า หลังกลุ่มไอเอส (Islamic State of Iraq and Greater Syria: IS) เข้าไปก่อเหตุในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2258 จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง ก็สั่งการให้หน่วยงานด้านความมั่นคงติดตามสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบว่า ในภูมิภาคนี้มีกลุ่มก่อการร้ายอยู่ 6 กลุ่ม แต่ที่ต้องจับตามีอยู่เพียง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอัลไคดา กลุ่มอาบูไซยาฟ และกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยะห์ หรือเจไอ ที่พบว่ามีความพยายามเข้าไปพิงกับกลุ่ม IS เพื่อให้สามารถดึงมวลชนมาสนับสนุนได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบว่ากลุ่ม IS จะส่งคนหรืออาวุธเข้ามาก่อเหตุภายในภูมิภาคนี้ เนื่องจากไม่ตรงกับเป้าหมายของกลุ่ม IS ที่ต้องการสร้างรัฐอิสลามขึ้นในพื้นที่ประเทศซีเรียและอิรักตามชื่อกลุ่มเท่านั้น ขณะที่ยังไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับกลุ่ม IS เนื่องจากมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน เบื้องต้น ทางการไทยได้ประสานกับทางการมาเลเซียและทางการอินโดนีเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวกรอง และหากมีกลุ่มก่อการร้ายพยายามจะเข้ามาก่อเหตุภายในประเทศไทยจะมีการแจ้งเตือนทันที

“ขณะนี้ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าจะมีกลุ่มก่อการร้ายใดเข้ามาเคลื่อนไหวในประเทศไทย แต่เราก็ยังไม่ประมาทโดย พล.อ. ประวิตร ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลสถานที่เสี่ยงอย่างเข้มข้น”

ส่วนกรณีชาวอุยกูร์ที่เคยเป็นต้นเหตุให้เกิดเหตุระเบิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 คน พล.อ. ทวีป กล่าวว่า หลังเกิดเหตุ สมช. ก็ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ อยู่ตลอด ขณะนี้มีชาวอุยกูร์อยู่ในความดูแลของรัฐไทย 55 คน เป็นชายทั้งหมด หากพบว่าไม่มีประวัติด้านอาชญากรรม ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) สามารถติดต่อประเทศที่ 3 ให้ได้ และถ้าเจ้าตัวยินยอม ก็จะดำเนินการส่งตัวไปให้ประเทศที่ 3

ครม. ไฟเขียว 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต หวังกระตุ้น ศก. ระยะยาว

สำหรับวาระการประชุมอื่นที่น่าสนใจ มีอาทิ

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) รวม 10 อุตสาหกรรม ตามข้อเสนอของกระทรวงอุตฯ หลังมีการศึกษาและเห็นว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวสามารถใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต

แบ่งเป็น อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) รวม 5 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย

  1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next–Generation Automotive)
  2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics)
  3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism)
  4. การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnolgy)
  5. อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future)

และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ประกอบด้วย

  1. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics)
  2. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)
  3. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals)
  4. อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)
  5. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)

นางอรรชกา กล่าวว่า อุตสาหกรรม 10 ประเภทนี้ หากเทียบกับคลัสเตอร์ทั้ง 6 กลุ่มที่ ครม. ได้ออกมาตรการไปแล้ว จะพบว่ามีทั้งอุตสาหกรรมที่อยู่และไม่อยู่ในคลัสเตอร์ โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะต้องนำไปพิจารณาและเสนอให้มาอยู่ในคลัสเตอร์ต่อไป เพราะอุตสาหกรรมใหม่ก็มีรากฐานมาจากอุตสาหกรรมเดิม เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ก็มีโอกาสพัฒนามาจากอุตสาหกรรมยานยนต์หรืออิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

สำหรับการส่งเสริมการลงทุน ตนเห็นว่าการให้สิทธิประโยชน์ของบีโอไออย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องปรับวิธีการมาสู่การเจรจากับนักลงทุนรายสำคัญ เพราะสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถชักจูงนักลงทุนได้เหมือนประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากขาดการเจรจาต่อรองที่จะให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนโดยตรง โดยการปรับตัวครั้งนี้จะมีคณะทำงานเข้าไปเจรจากับนักลงทุนเป้าหมายเป็นรายๆ ไป

“นอกจากนี้ ยังอาจเพิ่มสิทธิประโยชน์นอกเหนือจากบีโอไอ เช่น ตั้งกองทุนสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน หรือใช้มาตรการการคลัง อาทิ เพิ่มระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10-15 ปี หรือลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ลงทุน รวมกับมาตรการสนับสุนนพิเศษเฉพาะเจาะจงแต่ละอุตสาหกรรม”

นางอรรชกา ยังกล่าวถึงการเร่งรัดการลงทุนในคลัสเตอร์ทั้ง 6 กลุ่ม ที่ ครม. เห็นชอบแล้วว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการลงทุน โดยจะมีคณะทำงานย่อยออกเป็น 6 กลุ่ม เพื่อชี้เป้าว่านักลงทุนรายสำคัญในแต่ละคลัสเตอร์ทั่วโลกที่ไทยต้องการให้มาลงทุนเป็นใคร รวมถึงต้องทำแผนเพื่อเข้าไปชักจูง โดยอาจจะมีกลไกในการเจรจาที่สูงขึ้นอีกระดับ คือมีรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจเป็นประธาน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการบีโอไอ เป็นกรรมการ เป็นต้น

ควัก 9.6 พันล้านจ่ายค่าโง่คลองด่าน

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้นำเบิกจ่ายงบประมาณ รวมเป็นเงินกว่า 9.6 พันล้านบาท ไปชำระค่าเสียหายให้กับบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียใน อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ โดยจะแบ่งการชำระออกเป็น 3 งวด ดังนี้

– งวดแรก ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 ชำระ 40% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงินกว่า 3,174 ล้านบาท และกว่า 21.71 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะใช้งบกลางของปีงบประมาณ 2559 มาจ่าย

– งวดที่ 2 ภายในวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ชำระ 30% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงิน 2,380 ล้านบาท และกว่า 16.88 ล้านเหรียญ โดยจะใช้งบกลางของปีงบประมาณ 2559 มาจ่าย

– งวดที่ 2 ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 ชำระ 30% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงิน 2,380 ล้านบาท และกว่า 16.88 ล้านเหรียญ โดยจะใช้งบของ ทส. ในปีงบประมาณ 2560 มาจ่าย

“นอกจากนี้ยังมอบหมายให้องค์การจัดการน้ำเสีย รัฐวิสาหกิจสังกัด ทส. เป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสภาพงานก่อสร้างและองค์ประกอบต่างๆ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการนำพื้นที่โครงการดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนการดำเนินคดีที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการ ยังเป็นความรับผิดชอบของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)” นายสมศักดิ์กล่าว

ผ่านมาตรการภาษี หวังดันไทยเป็นศูนย์กลาง “วิจัย-พัฒนา” ยานยนต์

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะยานยนต์ต้นแบบในภูมิภาค ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยจะมีการลดต้นทุนการดำเนินการให้กับผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับผู้ที่จะนำรถยนต์เข้ามาวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะ

ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ที่จะได้ อาทิ ได้รับการยกเว้นภาษีอากรขาเข้า ยกเว้นภาษีสรรพสามิต ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ ยังสามารถนำทุนที่ใช้ไปมาหักออกจากกำไรเพื่อไปลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้อีก

“ได้รายงานต่อ ครม. ว่า มาตรการนี้จะทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์เล็กน้อย แต่สิ่งที่ได้รับตอบแทนกลับมาคือการลงทุนและการจ้างงาน รวมถึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในระยะยาวด้วย” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

เห็นชอบกรอบการสร้างรถไฟไทย-จีน 2 เส้นทาง

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-รัฐบาลจีน ว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งของไทย ปี 2558-2565 โดยทั้ง 2 ฝ่ายเห็นร่วมกันว่าก่อสร้างโครงการรถไฟขนาดมาตรฐานสายแรกของไทย รวม 2 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. หนองคาย–โคราช–แก่งคอย–ท่าเรือมาบตาพุด และ 2. แก่งคอย–กรุงเทพฯ โดยจะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (SPV) เพื่อลงทุนในด้านต่างๆ เช่น ระบบรถไฟการเดินรถและซ่อมบำรุง งานโยธาบางส่วน ฯลฯ

“ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ รวมไปถึงการสำรวจและออกแบ ส่วนไทยจะรับผิดชอบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนการขอความเห็นชอบ และการเวนคืนที่ดิน โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมกันพิจารณาและปรับปรุง “รายงานการศึกทางเทคนิคและเศรษฐกิจ” ที่จัดทำโดยฝ่ายจีน จนกว่าจะเป็นที่พึงพอใจ”

สำหรับแหล่งเงินทุน จะมาจากหลายแหล่ง ทั้งงบของรัฐบาลไทย แหล่งเงินกู้ภายในประเทศ และแหล่งเงินกู้อื่นๆ เช่น เงินกู้จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีน (CEXIM) โดยมีเงื่อนไขว่าดอกเบี้ยเงินกู้จากต่างประเทศจะต้องไม่สูงกว่าเงินกู้ภายในประเทศ ส่วนงานซ่อมบำรุง มีข้อกำหนดว่า ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบการเดินรถและซ่อมบำรุง ในช่วง 3 ปีแรกหลังจากโครงการเสร็จ ส่วนระหว่างปีที่ 3-7 ทั้งสองฝ่ายจะร่วมรับผิดชอบการเดินรถและซ่อมบำรุง และตั้งแต่ปีที่ 7 เป็นต้นไป ฝ่ายไทยจะรับผิดชอบการเดินรถและซ่อมบำรุงทั้งหมด โดยฝ่ายจีนเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยการขนส่งปักกิ่ง สถาบันวิจัยรวมถึงบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องของจีน มาช่วยฝึกอบรมบุคลากรให้กับฝ่ายไทย

ผ่านเอ็มโอยู ให้ ICAO เข้ามาตรวจมาตรฐานการบินไทยได้

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยสากล โดยวิธีการเฝ้าตรวจตราอย่างต่อเนื่อง (Universal Security Audit Programme–Continuous Monitoring Approach: USAP–CMA) ระหว่างองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และไทย

“การลงนามในครั้งนี้จะทำให้คณะผู้ตรวจสอบสามารถเข้าถึงข้อมูลเอกสาร พื้นที่ต่างๆ ของสนามบิน และสามารถสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และหลังการลงนามในเอ็มโอยูแล้ว ทาง ICAO จะแจ้งล่วงหน้าให้ทราบ 120 วัน ก่อนเดินทางมาตรวจสอบ เมื่อตรวจสอบเสร็จใน 60 วันทาง ICAO จะจัดทำรายงานสรุปผลการตรวจสอบส่งมาให้ไทย หากต้องแก้ไขไทยจะต้องส่งแผนปฏิบัติการแก้ไขข้อบกพร่องให้ ICAO ใน 60 วัน” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบความพร้อมด้านการกำกับดูแล ด้านการรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือน ใน 8 องค์ประกอบ (Critical Elements) ตามแนวทางการตรวจสอบของ ICAO และแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ