ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. เห็นชอบ กม.จัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ1หมื่นล้าน อัดกองทุนหมู่บ้านฯ อีก 1.3 พันล้าน ให้คนกรุง – ตั้งศาลอาญาคดีทุจริต

ครม. เห็นชอบ กม.จัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ1หมื่นล้าน อัดกองทุนหมู่บ้านฯ อีก 1.3 พันล้าน ให้คนกรุง – ตั้งศาลอาญาคดีทุจริต

22 ธันวาคม 2015


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

หวังแถลงผลงาน ช่วย ปชช. เข้าใจ-ยันไม่ตกลงปมพลังงานกับกัมพูชา

พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ถึงการแถลงผลงานของรัฐบาลในวันที่ 23 ธันวาคม 2558 นี้ ว่า ไม่อยากให้เป็นแค่การชี้แจงว่ารัฐบาลทำอะไรไปบ้าง แต่อยากให้เกิดการรับรู้และความเข้าใจถึงสิ่งที่รัฐบาลทำมา ตั้งแต่หลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ว่ามีความจำเป็นอย่างไร และจะทำอะไรต่อในระยะเวลาที่เหลืออยู่ 1 ปีเศษก่อนการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งคาดว่าน่าจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2560 โดยอยากให้สิ่งที่รัฐบาลนี้ทำเป็นตัวอย่าง ว่าการทำงานของรัฐบาลชุดต่อไปควรจะมียุทธศาสตร์ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว รวมถึงต้องทำงานเชิงบูรณาการ ไม่ใช่แค่ต่างคนต่างทำ แต่หลังจากได้ส่งมอบต่อแล้วรัฐบาลชุดต่อไปจะทำหรือไม่ ตนไม่อาจจะไปทราบได้

“เรื่องที่หลายคนสงสัยอย่างโครงการน้ำหรือโครงการรถไฟ ก็อยากให้ถามในการแถลงข่าวเลยว่า เหตุใดตัวเลขของรัฐบาลชุดนี้กับชุดก่อนถึงแตกต่างกัน สาเหตุเพราะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ว่าจะเอาแค่ตัวเลขไปเปรียบเทียบอย่างเดียว หากถามผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้ชี้แจง” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม. ไทย-กัมพูชา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า อยากให้ทุกฝ่ายสบายใจ ยืนยันว่าไม่มีการตกลงเรื่องพลังงาน มีแต่หารือเรื่องความร่วมมือด้านต่างๆ ทั้งนี้ ตนได้หารือกับสมเด็จฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา เรื่องการตั้งโรงไฟฟ้าชายแดน โดยอาจใช้แหล่งน้ำในการผลิตไฟฟ้าที่กัมพูชา แต่ตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ไทย แล้วไทยจะขายไฟฟ้าให้กับกัมพูชา

ปัดเอื้อเอกชนบางรายประมูล 4G – เมินข้อเสนอ รบ.แห่งชาติ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 4G ที่ได้เงินประมูลรวมกันสูงถึง 2 แสนล้านบาทว่า อย่าเพิ่งกังวลว่ารัฐบาลนี้จะนำเงินไปใช้ทำอะไร เพราะเงินที่ได้จะไม่ได้มาเป็นก้อน แต่มาเป็นงวดๆ กว่าจะครบก็ใช้เวลาหลายปี ที่มีคนเสนอให้นำเงินนี้ไปสร้างรถไฟจึงเป็นไปไม่ได้ และที่คนบางกลุ่มหาว่าตนจะไปเอื้อให้กับบริษัทเอกชนรายใด ถ้าเอื้อจริงเหตุใดเงินประมูลจึงสูงถึง 2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ตนอยากให้ข้อสังเกตว่า ในรัฐบาลก่อนประมูล 3 ใบอนุญาต ได้เงินประมูลแค่ 4 หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลนี้ ประมูล 4 ใบอนุญาต กลับได้เงินประมูลสูงถึง 2 แสนล้านบาท จึงอยากขอบคุณคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ทำให้การประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้จบลงได้ด้วยดี

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดย คสช. คัดกรองนักการเมืองเข้ามาเป็นรัฐมนตรี และให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เหมือนเดิมว่า สมัยก่อน พท. ก็ไม่เคยเสนอแบบนี้เลย เมื่อมีคนเสนอมาแล้ว พท. ตอบรับหรือเปล่า แล้วตนจะไปเป็นนายกฯ ให้นักการเมืองทำไม เป็นแล้วสั่งให้ทำอะไรก็ไม่ได้ ไปอยู่บ้านเลี้ยงหลานจะดีกว่า

“อุดมเดช” รอฟังผลสอบราชภักดิ์ของกลาโหม – วอนช่วยเปิดข้อมูลการเงินทั้งหมด

ด้าน พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ในพื้นที่โรงเรียนนายสิบทหารบก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของกระทรวงกลาโหม (กห.) ที่มี พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัด กห. เป็นประธาน เตรียมสรุปผลการตรวจสอบและจะเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบภายในสิ้นปี 2558 นี้ว่า ตนยังไม่เห็นผลสอบเลย รอฟังอยู่เหมือนกัน ที่ผ่านมาก็ยืนยันหลังครั้งว่าทำด้วยเจตนาดี ต้องการสร้างสิ่งดีๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง ให้มีสิ่งที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ

“หลายเรื่องผมได้ชี้แจงไปมาก ทั้งค่าตอบแทน ต้นไม้ ตอบได้ทุกเรื่อง ยืนยันมาตลอดว่ามันไม่มีอะไร แต่ก็พยายามจะให้มีขึ้นมา ที่บอกว่าลานปูนมีร้อยราว ก็ไม่มีสาระอะไร น่าจะเป็นแค่การหดตัวของปูน ไม่ใช่เรื่องฐานรากทรุด เขาทำแน่นหนา ทหารช่างเป็นผู้ดำเนินการ เขาทำด้วยความระมัดระวังอยู่แล้ว”

พล.อ. อุดมเดชยังกล่าวว่า ส่วนตัวเรียกร้องให้มีการเปิดเผยรายละเอียดโครงการนี้ทั้งหมด ทั้งบัญชีรับเงินบริจาค ค่าใช้จ่าย อยากให้ขยายได้มากกว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ชุดของกองทัพบก (ทบ.) ครั้งนี้ต้องเปิดเผยได้ทุกอย่าง ไม่มีปิดบัง

เมื่อถามว่าผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ กห. จะมีผลต่อการตัดสินใจใดๆ หรือไม่ พล.อ. อุดมเดช กล่าวว่า “ไม่มีผลอะไร ก็คงต้องรอฟัง”

ตั้งโต๊ะแจงระบายข้าวเสื่อมคุณภาพ 3.7 หมื่นล้าน

วันเดียวกัน นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ พล.ต.ต. ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) นายสกล หาญสุทธิวารินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการตรวจข้าว สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวชี้แจงถึงกรณีที่มีข้อสงสัยว่า ข้าวเสื่อมคุณภาพจำนวน 3.7 หมื่นตัน ที่รัฐบาลเปิดประมูลให้บริษัทเอกชน อาจไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่ออุตสาหกรรมอย่างแท้จริง แต่มีการนำมาเวียนขายเพื่อบริโภคด้วย

นางสาวชุติมากล่าวว่า หลังจากรัฐบาล คสช. เข้ามา ก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบจำนวนและคุณภาพของข้าวที่อยู่ในสต็อกของรัฐบาล โดยแบ่งข้าวเป็นประเภทต่างๆ ตามคุณภาพ ได้แก่ ข้าวที่ได้มาตรฐาน (P) ข้าวที่ไม่ตรงตามมาตรฐานเกรดต่างๆ A B C และข้าวผิดมาตรฐาน ทั้งผิดชนิดจากที่ระบุไว้หรือข้าวผิดประเภท เช่น จากข้าวเหนียวเป็นข้าวขาว รวมถึงข้าวเสื่อมคุณภาพ ซึ่งข้าวประเภทหลังสุดนี้จะมีการระบายไปใช้ในอุตสาหกรรม ทั้งทำเป็นอาหารสัตว์ หรือนำไปผลิตพลังงาน เช่น ปุ๋ย

“ปัจจุบัน เหลือข้าวในสต็อกของรัฐบาลราว 13 ล้านตัน โดยข้าวที่ดีสามารถระบายเพื่อบริโภคได้ แต่ข้าวที่เสื่อมมากๆ จะระบายเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเท่านั้น ยืนยันว่าทุกกระบวนการมีมาตรการป้องกันอย่างรอบคอบ รัดกุม และโปร่งใส ไม่ให้วนกลับมาบริโภคได้อีก” นางสาวชุติมากล่าว

พล.ต.ต. ไกรบุญ กล่าวว่า หลังจากได้ผู้ชนะการประมูลข้าวเสื่อมคุณภาพ จำนวน 3.7 หมื่นล้านตัน เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรม คือปุ๋ย ในวันที่ 25 ธันวาคม 2558 อคส. จะเชิญผู้ชนะการประมูลมาทำความเข้าใจถึงขั้นตอนต่างๆ ในการปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้ ทั้งการให้ตำรวจทางหลวงช่วยกำหนดเส้นทางจากคลังไปยังโรงงานผลิตปุ๋ย โดยจะมีการกำหนดจุดเช็คพอยต์ไว้ทุกๆ 50 กิโลเมตร และเมื่อไปถึงโรงงานแล้วจะติดกล้องวงจรปิดดูไว้ตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าจะผลิตปุ๋ยเสร็จสิ้น

“บริษัทเอกชนใดที่ทำผิดสัญญา ไม่ใช่แค่ถูกปรับเพียง 0.2% ตามระเบียบที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่จะถูกปรับถึง 25% และยังจะถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาอีกด้วย” พล.ต.ต. ไกรบุญ กล่าว

นางดวงพรกล่าวว่า การระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ ทั้ง 12 ครั้งที่ผ่านมาไม่เคยมีข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใส การระบายข้าวเสื่อมคุณภาพลอตนี้เป็นเพียงการทดลองระบายสู่อุตสาหกรรมในจำนวนเพียงเล็กน้อย จากการคัดแยกคุณภาพข้าวในสต็อกของรัฐบาลเวลานี้ 13 ล้านตัน มี 1 ล้านตันที่ได้มาตรฐาน (P) สามารถระบายเพื่อการบริโภคได้ทันที และอีก 1 ล้านตันที่ผิดมาตรฐานสามารถระบายสู่อุตสาหกรรมได้ ที่เหลืออีกกว่า 10 ล้านตัน เป็นข้าวประเภทต่างๆ ปะปนกัน ซึ่งต้องคัดแยกกันต่อไป การระบายข้าวมีความซับซ้อนและมีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่ยืนยันว่าผู้เกี่ยวข้องทุกคนได้ทำด้วยความรอบคอบ

(จากซ้ายไปขวา) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และนายอุตตมา สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
(จากซ้ายไปขวา) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เห็นชอบ กม.ตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ – เพิ่มเงินกู้ SMEs อีก 5 หมื่นล้าน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกันแถลงมาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญส่งท้ายปี 2558 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. แล้วประกอบด้วย

  1. ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. …. โดยมีวงเงินตั้งต้น 10,000 ล้านบาท เพื่อใช้กับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
  2. แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)
  3. อนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพิ่มเติมอีก 50,000 ล้านบาท

นายสมคิดกล่าวว่า การตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันสำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย วงเงินตั้งต้น 1 หมื่นล้านบาท ถือเป็นอาวุธสำคัญที่จะเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมไทย เนื่องจากมาตรการต่างๆ ที่ออกมาจะช่วยจูงใจนักลงทุน ทำให้ประเทศสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยจะมีคณะกรรมการบริหารกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมีนายกฯ เป็นประธานกรรมการ เป็นส่วนที่ทำหน้าที่อนุมัติเงินทุนให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ

สำหรับ National e-Payment Master Plan นายสมคิดระบุว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการที่สำคัญมากเนื่องจากปัจจุบันทุกๆ อย่างเคลื่อนสู่สังคมดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ซึ่งโครงการนี้จะช่วยให้เกิดการพัฒนาทางการเงิน เนื่องจากระบบข้อมูลต่างๆ จะมีการเชื่อมโยงเข้าสู่ส่วนกลางทั้งหมด และจะทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงธนาคารพาณิชย์เข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น

“โครงการนี้อาจไม่เห็นผลเลยใน 1 ปี แต่จะมีการดำเนินการเป็นขั้นๆ พอทำระดับหนึ่งประเทศจะได้ประโยชน์มาก โดยเฉพาะเรื่องภาษี การพัฒนาประสิทธิภาพของภาครัฐต่อการบริการ รวมไปถึงการจัดระบบสวัสดิการให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง จะทำให้ประเทศประหยัดงบประมาณไปถึง 7 หมื่นล้านบาท โดยจะลดต้นทุนด้านการทำธุรกรรมทางธนาคารประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และลดภาระการเงินภาคธุรกิจได้กว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเราจะใช้จังหวะนี้ในช่วงที่รัฐบาลบริหารประเทศอีกประมาณปีครึ่งทำทุกอย่างให้สำเร็จ และเตรียมความพร้อมสำหรับเดินต่อไปข้างหน้าให้ได้” นายสมคิดกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการ National e-Payment Master Plan จะประกอบด้วยแผนงานสำคัญ 5 โครงการ ได้แก่

– โครงการระบบการชำระเงินแบบ Any ID (นานานาม) ที่อาจเป็นเลขประจำตัวประชาชน หรือหมายเลขโทรศัพท์ มาเป็นสิ่งผูกโยงข้อมูลของผู้ถือบัตร

– โครงการการขยายการใช้บัตร ที่จะขยายระบบของบัตรเครดิตไปสู่ร้านค้าขนาดเล็กเพิ่มขึ้น และพร้อมที่จะปรับอัตราต้นทุนการใช้งานให้เป็นศูนย์

– โครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

– โครงการ e-Payment ภาครัฐ จัดระบบการจ่ายค่าบริการต่างๆ ของรัฐให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด รวมไปถึงการจัดทำบันทึกผู้มีรายได้น้อย เพื่อที่รัฐบาลจะทำการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้กับผู้มีรายได้น้อยได้อย่างตรงเป้าหมาย

– โครงการการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนโครงการทั้ง 5 จะดำเนินการผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment คาดว่าส่วนแรกจะเริ่มใช้ได้กลางปี 2559 โดยเฉพาะ Any ID ที่น่าจะเกิดได้ภายในไตรมาสที่ 2-3 ของปี 2559 ส่วนโครงการอื่นๆ น่าจะทำคู่ขนานกันไป

ด้านนายอภิศักดิ์กล่าวว่า เหตุที่ต้องเพิ่มเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับ SMEs อีก 5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเงินกู้เดิม 1 แสนล้านบาท ได้รับการจัดสรรจนครบแล้ว ทั้งนี้ จะให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ดำเนินการเช่นเดิมโดยใช้เงื่อนไขเดิม แต่จะกำหนดวงเงินกู้ต่อรายให้เหลือไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อให้กระจายสู่ SMEs รายย่อยมากขึ้น

ไฟเขียว 24 โครงการหนุนเศรษฐกิจดิจิทัล

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล 24 โครงการที่ไอซีทีเสนอ โดยใช้งบประมาณ 3,755 ล้านบาท ที่โยกมาจากโครงการคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ของรัฐบาลชุดก่อน

ทั้งนี้ ใน 24 โครงการดังกล่าว สามารถจัดกลุ่มได้เป็น 8 แผนงานใหญ่ๆ ประกอบด้วย 1. การพัฒนาเครือข่ายศูนย์ดิจิทัลชุมชน วงเงิน 717 ล้านบาท 2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์และโครงข่าย วงเงิน 1,356 ล้านบาท 3. การสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล วงเงิน 239 ล้านบาท 4. การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในธุรกิจ SMEs วงเงิน 540 ล้านบาท 5. การพัฒนาบริการดิจิทัลในภาครัฐ วงเงิน 219 ล้านบาท 6. การพัฒนาทุนมนุษย์สำหรับโลกยุคดิจิทัล วงเงิน 268 ล้านบาท 7. การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ วงเงิน 234 ล้านบาท และ 8. สนับสนุนการบริหารจัดการโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล วงเงิน 182 ล้านบาท

เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริต

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. .… โดยมีสาระสำคัญคือ การยกฐานะแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญาขึ้นเป็นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยให้มีฐานะเทียบเท่ากับศาลยุติธรรมชั้นต้น และให้มีอำนาจในการพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งนี้ ให้ส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเพื่ออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

“การเขียนร่าง พ.ร.บ. นี้ขึ้นมา ก็เพื่อให้การพิจารณาคดีทุจริตเป็นไปรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีการนำคดีทุจริตไปรวมกับคดีทั่วไป ทำให้เกิดความล่าช้า จนอาจเรียกได้ว่ากรรมไม่ติดจรวด” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

อัดเงินกองทุนหมู่บ้านฯ อีก 1.3 พันล้าน ให้คนกรุง

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบอนุมัติงบกลาง รวม 1,300 ล้านบาท ให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สำหรับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านกองทุนหมู่บ้านฯ ในพื้นที่ของ กทม. จำนวน 958 กองทุน และกองทุนชุมชนทหารใน กทม. อีก 180 กองทุน ในสัดส่วนกองทุนละ 1 ล้านบาท รวม 1,138 บาท และค่าบริหารจัดการอีก 162 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้สร้างถนน สร้างรายได้ พัฒนาสินค้า และอาชีพ อย่างเป็นรูปธรรม

“ที่ประชุมยังเห็นชอบโครงการตลาดประชารัฐเพื่อประชาชนในพื้นที่ กทม. โดยจะให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ ร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐ และสำนักงานพระพุทธศาสนา (พศ.) จัดตลาดประชารัฐสี่มุมเมืองในพื้นที่ กทม. ลักษณะเดียวกับตลาดคลองผดุงกรุงเกษม โดย พศ. จะอนุเคราะห์สถานที่ของวัดซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวในการให้ชาวบ้านนำสินค้าออกร้านร้าน” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบอนุมัติงบกลางสำหรับเป็นเงินสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยาง (ไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกินครอบครัวละ 15 ไร่) เพิ่มเติมอีก 318 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิอีกกว่า 1.7 หมื่นราย แต่ใช้เอกสารอื่น เช่น ภ.บ.ท.5 ภ.บ.ท.6 และ ภ.บ.ท.11 มาขึ้นทะเบียน