ครม. ไฟเขียว เซ็น MOI “ไทย-พม่า-ญี่ปุ่น” จับมือพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ตั้ง “อารีพงศ์” นั่งปลัดท่องเที่ยว – “ประยุทธ์” เมินประมงขู่งดออกเรือ ยันไม่ผ่อนผัน ชี้หลัง 1 ก.ค. ถ้าผิด กม. ก็ต้องจับ
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ครั้งที่ 2/2558 มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในการประชุม
พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งว่า วันนี้ได้เน้นเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เหตุที่ฝนไม่มาเพราะป่าน้อย ที่ผ่านมามีการทำฝนเทียมมากกว่า 2,000 ครั้ง แต่ได้ปริมาณฝนไม่มากเพราะเมฆน้อย อากาศยังแห้งแล้งอยู่ วันนี้จะมาเร่งดูที่ต้นน้ำ สิ่งที่ตนคิดได้เร็วๆ คือจะปรับแก้งบประมาณในส่วนไหนได้บ้าง โดยอาจจะมีการปรับเรื่องทำน้ำบาดาลจากขุดเพิ่ม 500 แห่ง เป็น 1,000 แห่ง แต่ขอเตือนว่าน้ำบาดาลไม่ให้ใช้ในการทำเกษตร ยกเว้นพื้นที่ที่เพาะปลูกไปแล้ว ส่วนพื้นที่ซึ่งยังไม่ได้เพาะปลูก เมื่อทำไม่ได้ก็ต้องไปหาอาชีพอื่น วันนี้เขาก็ไปปลูกถั่ว ปลูกงา หวังว่าวิกฤติครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับพืช ซึ่งตนได้สั่งการให้กรมชลประทานเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 10% ในปี 2559
“ฝากชาวเมืองทุกจังหวัดใช้น้ำอย่างประหยัด ต้องนึกถึงเกษตรกร ถ้าผลผลิตที่เป็นพืชเศรษฐกิจของเราถ้าไม่สามารถปลูกได้จะทำให้ยิ่งแย่ไปกว่าเดิม รายได้จากการท่องเที่ยวก็เอาไม่อยู่” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่ผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีอาญาต่อนักศึกษา 14 คนที่ถูกจับกุมข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า กฎหมายก็คือกฎหมาย ประเทศไทยคือประเทศไทย ตนเข้ามาตรงนี้เพราะประเทศเดินไปข้างหน้าไม่ได้ 1-2 วันจะเสร็จได้ไหม ไม่ได้อยากจะมายืนอยู่ตรงนี้ด้วยซ้ำไป พูดหลายครั้งแล้วว่าไม่ได้อยากใช้อำนาจ ตนใช้อำนาจในทางที่ถูกต้อง ไม่ได้ไปละเมิดอะไรใคร เว้นแต่คนไม่ปฏิบัติตามกติกาที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น
เมินประมงขู่งดออกเรือ ยันไม่ผ่อนผันให้
เมื่อถามถึงกรณีที่สมาคมเรือประมงหลายแห่งเตรียมงดออกทะเล ประท้วงการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลต่อกรณีการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing: IUU) ซึ่งอียูส่งคำเตือนมายังประเทศไทยให้รีบแก้ไข พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 รัฐบาลดีเดย์เริ่มตรวจเรือประมงไทย หลังจากหมดเขตมาขึ้นทะเบียนในวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เราดีเดย์กันมาตั้งนานแล้ว แต่สาเหตุเกิดจากความไม่ร่วมมือ แล้วมาบอกว่าทำไม่ได้ แก้ไม่ทัน ขอให้ชะลอ แล้วองค์กรต่างประเทศจะชะลอให้หรือไม่ ใครทำไม่ได้ต้องมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป จะให้ผ่อนผันหรืออย่างไร ถ้าผ่อนผันแล้ว IUU เล่นมาจะทำอย่างไร จะส่งผลกระทบต่อการค้าการประมงทั้งประเทศ
“ที่ยังไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย แล้วมาเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอ ผมบอกว่า ถ้าปิด ไม่ออกก็คือไม่ออก ทำผิดกฎหมายก็ดำเนินคดี ปัญหานี้เราปล่อยกันมานานแล้ว วันนี้ต้องปฏิบัติเหมือนกันหมดทั้งแผ่นดิน กฎหมายไทยต้องเหมือนกัน ไม่ใช่เลือกปฏิบัติ ไม่ใช่ผมไปรังแกเขา ผมให้โอกาสมานานแล้ว” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เตรียมส่งประเด็นปฏิรูปทั้ง 37 ประเด็นต่อ ครม. พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า กำลังหารือกันอยู่ว่าจะบรรจุไว้ในแผนปฏิรูปอย่างไรให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไปขับเคลื่อนต่อ แต่ตนคงไม่ไปควบคุมเขามาก เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาลชุดหน้าที่มาจากการเลือกตั้ง ให้เขาทำไป
ส่วนปัญหาเศรษฐกิจกรณีกรีซ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า กระทรวงการคลังแจ้งว่าคงมีผลกระทบกับไทยไม่มาก เพราะไม่ใช่คู่ค้าโดยตรง เราไม่มีพันธสัญญากับเขามากนัก แต่คงมีผลกับประชาคมยุโรป (อียู) ว่าจะให้กรีซอยู่ต่อหรือเปล่า ถ้าไม่อยู่แล้วกรีซล้มละลายก็อาจส่งผลกระทบกับเราด้วยการค้าขายให้อียู
สำหรับมติ ครม. ที่สำคัญ มีดังนี้
เห็นชอบร่าง MOI ร่วมทุน “ไทย-พม่า-ญี่ปุ่น” ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ “ร่างบันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) สามฝ่าย ระหว่างไทย พม่า และญี่ปุ่น เกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย” ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ โดยสาระสำคัญของร่าง MOI ดังกล่าวมีอาทิ การลงทุนในนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ที่ชื่อ “บริษัท ทวายเอสอีแซท” และจะมีการลงทุนผ่านหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ซึ่งในรายละเอียดของการลงทุนทั้ง 3 ประเทศจะถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยจะมีการสำรวจเส้นทางสายใหม่ให้เชื่อมกับพรมแดนเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และพรมแดนไทย-พม่า
“ร่างบันทึก MOI จะเป็นการแสดงความร่วมใจที่จะให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมมือกับไทยและพม่ามากขึ้น โดยสาเหตุที่เลือกญี่ปุ่นเพราะมีความมั่นใจในศักยภาพของญี่ปุ่น สามารถนำนักธุรกิจเข้ามาลุงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายได้มากขึ้น” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
“บิ๊กตู่” เตรียมบินร่วมประชุมผู้นำ “ปท.ลุ่มน้ำโขง+ญี่ปุ่น”
พล.ต. สรรเสริญ ยังกล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะเดินทางไปร่วมการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 7 (7th Mekong–Japan Summit) จะมีขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2558 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งที่ประชุมจะจึงพิจารณารับรอง “ร่างยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2015 เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น” โดยความร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์ฉบับดังกล่าวแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่
– การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ
– การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านอุตสาหกรรม และการเสริมสร้างความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ
– การพัฒนาที่ยั่งยืนสู่ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสีเขียว
– การประสานงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ เพื่อให้เกิดความช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อความมั่นคงและการเติบโตที่มีคุณภาพในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
“จุดประสงค์หลักของความร่วมมือดังกล่าวก็เพื่อพัฒนาประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ คือกัมพูชา ลาว พม่า ไทย เวียดนาม และญี่ปุ่น ซึ่งประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขงจะทำการพัฒนาตนเองโดยยึดญี่ปุ่นเป็นแนวทาง ซึ่งญี่ปุ่นก็ยินดีให้ความช่วยเหลือเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประเทศสมาชิก ลดช่องว่างความเจริญระหว่างประเทศสมาชิกและภายในภูมิภาคอาเซียน” พล.ต. สรรเสริญกล่าว
เห็นชอบกรอบเจรจาการขนส่งทางถนนกับ 4 ประเทศ
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในการดำเนินการจัดทำความตกลงด้านการขนส่งทางถนนระหว่างประเทศ จำนวน 4 ฉบับ และใช้เป็นท่าทีของไทยในการเจรจา ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ประกอบด้วย 1. ความตกลงทวิภาคีด้านการขนส่งทางถนนระหว่างไทย-กัมพูชา 2. การปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางถนนระหว่างไทย-ลาว 3. การจัดทำความตกลงการเดินรถโดยสารประจำทางระหว่างไทย-เวียดนาม และ 4. การจัดทำความตกลงยานยนต์ระหว่างอินเดีย-พม่า-ไทย สำหรับการกำกับดูแลการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าบรรทุกระหว่างอินเดีย-พม่า-ไทย
โดยสาระสำคัญ อาทิ ขอเพิ่มการขนส่งสินค้ากับกัมพูชา จากเดิมกำหนดให้ทั้ง 2 ฝ่ายเปิดเดินรถขนส่งสินค้าและรถโดยสารไม่ประจำทาง ณ จุดผ่านแดนอรัญประเทศ-ปอยเปต จำนวนฝ่ายละ 40 คัน, ขอเพิ่มจุดผ่านแดนกับลาว เช่น จุดผ่านแดนบึงกาฬ จุดผ่านแดนภูดู่ จ.อุตรดิตถ์ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอของเอกชน, เปิดเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางกับเวียดนาม จำนวน 5 สาย และทำความตกลงด้านการขนส่งผู้โดยสารและสินค้ากับพม่า-อินเดีย ให้ครอบคลุมประเด็นต่างๆ มากขึ้น
เว้นภาษี ขรก. กลับไปใช้สิทธิบำเหน็จบำนาญแทน กบข.
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการ “ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้ขอกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญข้าราชการตาม พ.ร.บ.การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 พ.ศ. 2557)” ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้ที่กลับไปใช้สิทธิบำเหน็จบำนาญข้าราชการแทนการเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่กรมบัญชีกลางประเมินว่าน่าจะมีจำนวนถึง 7.2 แสนคน จากผู้มีสิทธิทั้งหมด 9.7 แสนคน หรือคิดเป็น 75% โดยมีการประเมินว่า หากมีการเก็บภาษีจากเงินส่วนนี้จะทำให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีได้ราว 1.2 พันล้านบาท
“ผู้ที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้คือข้าราชการที่ยังคงรับราชการ ในส่วนที่ข้าราชการได้ผลกำไรงอกเงย หรือเงินสมทบที่รัฐบาลสมทบให้ จากการเป็นสมาชิกของ กบข. จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำเงินส่วนนั้นมาคำนวณภาษี เนื่องจากข้าราชการที่อยู่ในกรณีนี้ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ชั้นปานกลาง เงินไม่มากนัก ประกอบกับเงินส่วนนี้ไม่อยู่ในกรอบการคำนวณภาษีของสรรพากร จึงถือว่าไม่กระทบเป้าที่รัฐบาลวางไว้ จึงยกประโยชน์ให้โดยไม่ต้องเสียภาษี” พล.ต. สรรเสริญกล่าว
ไฟเขียว กม.ล้มละลายฉบับใหม่ อุ้ม SMEs
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ “ร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การฟื้นฟูกิจการ)” ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เพื่อให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถกลับมาฟื้นฟูกิจการ ไม่ต้องตกอยู่ในสภาวะล้มละลาย โดยร่าง พ.ร.บ. นี้ จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs และเจ้าหนี้มีการประสานงานกันมากขึ้น แต่มีข้อแม้ว่าหนี้ที่จะนำมาฟื้นฟูจะต้องเกิดจากการดำเนินกิจการเท่านั้น และ SMEs ที่จะใช้สิทธิตามร่าง พ.ร.บ. นี้จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยมูลหนี้จะต้องไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นมูลหนี้ที่เกิดจากเจ้าหนี้รายเดียวหรือหลายรายก็ตาม หากเป็นบริษัทจำกัด วงเงินของหนี้จะต้องไม่เกิน 10 ล้านบาท
“ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะกำหนดไว้ชัดเจนเลยว่าใครจะเป็นผู้มีสิทธิในการร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการ จะเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ก็มีสิทธิ์ร้องได้ โดยจะมีรายละเอียดของแผนว่าในการร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการนั้นจะต้องระบุเหตุผลที่ฟื้นฟูกิจการ ต้องมีรายละเอียดของทรัพย์สิน รายละเอียดของภาระผูกพันของลูกหนี้ ผ่านขั้นตอนที่ศาลเห็นชอบแล้ว มีการขอรับการชำระหนี้จากเจ้าหนี้ การดำเนินการภายหลังหลังจากที่ศาลเห็นชอบแล้ว และสุดท้ายมีบทลงโทษสำหรับลูกหนี้ เจ้าหนี้ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว
อนึ่ง ที่ผ่านมาผู้ประกอบการ SMEs ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล เป็นห้างหุ้นส่วนที่มีการจดทะเบียนหรือไม่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือจะเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดก็ตาม เมื่อผู้ประกอบการมีหนี้สิน ขาดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ มีหนี้ที่ไม่สามารถชำระไหว ก็มักจะถูกเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินฟ้องล้มละลาย กฎหมายดังกล่าวจึงเป็นไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้ผู้ประกอบการ SMEs ต้องพลั้งพลาด โดยจัดทำแนวทางฟื้นฟูที่ชัดเจน
ตั้ง “อารีพงศ์” นั่งปลัดกระทรวงท่องเที่ยว
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังมีมติแต่งตั้งนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) เป็นปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวคนใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตำแหน่งปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวว่างลง ภายหลังนายสุวัตร สิทธิหล่อ ถูกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2558 ย้ายไปเป็นที่ปรึกษาพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา
ตั้ง กก. จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี – เลขานายกฯ ประธาน
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า ที่ประชุม ครม. วันเดียวกันนี้ ยังเห็นชอบให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี โดยแต่งตั้ง “คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ” ซึ่งมีเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พล.อ. วิลาศ อรุณศรี) เป็นประธาน ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานส่งข้อมูลสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี
โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้นำกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ไปหารือกับ สปช. เพื่อให้แนวทางปฏิรูปดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน และมอบหมายให้ สลค. และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) จัดทำแนวทางการปรับปรุงกลไกการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในรูปของคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลในภาพรวมเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป
อนึ่ง ร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี จะถูกนำไปใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี คือ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” แบ่งแนวทางขับเคลื่อนเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การบริหารงานโดย คสช. ระยะที่ 2 การบริหารงานโดย คสช. และรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ และระยะที่ 3 การปฏิรูปและบริหารงานโดยรัฐบาลต่อไป
ยุทธศาสตร์ดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านความมั่นคง ด้านต่างประเทศ และด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการบริหารราชการแผ่นดิน โดยนำนโยบายรัฐบาล 11 ข้อ ประเด็นปฏิรูปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 11 ด้าน และประเด็นปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ 36 กิจกรรม มาใช้เป็นกรอบในการจัดทำ