ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ
อาร์เจนตินา เป็นประเทศที่มีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยหลายอย่าง มีเมืองหลวงชื่อ กรุงบัวโนสไอเรส ที่มักจะแข่งขันกับกรุงเทพฯ เป็นเมืองขวัญใจของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ประเทศอาร์เจนตินามีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของอเมริกาใต้ คล้ายกับขนาดเศรษฐกิจไทยในบริบทอาเซียน
การเมืองของอาร์เจนตินาก็มีส่วนคล้ายคลึงกับประเทศไทยไม่น้อย และจะถูกเปรียบเทียบกับการเมืองไทยอยู่บ่อยครั้งในวงการวิชาการรัฐศาสตร์ (อีกประเทศที่ถูกเปรียบเทียบกับไทยอยู่บ่อยๆ คือ ตุรกี) ประชาธิปไตยของอาร์เจนตินามีบทเรียนหลายอย่างให้กับการเมืองไทย โดยเฉพาะ 1) บทบาทของพรรคที่มีประชาชนสนับสนุนให้อยู่ในอำนาจเป็นเวลานาน 2) บทบาทและอิทธิพลของฝ่ายทหารในการเมืองพลเรือน 3) ปัญหาคอร์รัปชันที่หยั่งรากลึก
แต่ทั้งสองประเทศก็มีข้อแตกต่างอยู่หลายประการเช่นกัน คือ 1) วิวัฒนาการของฝ่ายอนุรักษนิยม 2) การ “ลด” บทบาทของฝ่ายทหารในการเมืองพลเรือนปัจจุบัน 3) การเดินหน้าทางประชาธิไตยในสถานการณ์ที่ปัญหาคอร์รัปชันรุมเร้า ซึ่งความคล้ายคลึงของการเมืองทั้งสองประเทศ แต่กลับเลือกทางออกของปัญหาทางการเมืองที่แตกต่างกันนั้น ทำให้ประเทศอาร์เจนตินาเป็นกรณีศึกษาที่ดี สำหรับทุกๆ ฝ่ายที่ต้องการให้ประเทศไทยหลุดพ้นวงจรการเมืองที่ล้มเหลว
ความคล้ายคลึงที่ 1: การยึดครองอำนาจผ่านการเลือกตั้งอันยาวนานของพรรคเดียว
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นายเมาริซิโอ มาครี ตัวแทนของพรรคอนุรักษนิยมของอาร์เจนตินา (PRO) ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่อย่างเหนือความคาดหมาย โดยเอาชนะพรรค Justicialist Party ของนางคริสตินา เคิร์ชเนอร์ (Cristina Kirchner) ซึ่งกำลังจะเป็นอดีตประธานาธิบดีที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน พรรคของนางเคิร์ชเนอร์ก่อตั้งขึ้นบนพื้นฐานของความเป็นประชานิยม โดยนายฮวน โดมิงโก เปรอน (Juan Dominco Peron)ในปี 1947 (2491) โดยได้รับชับชนะถึง 9 ครั้งจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาทั้งหมด 12 ครั้ง ก่อนที่จะพ่ายแพ้ครั้งล่าสุด พรรค Justicialist Party ครองอำนาจติดต่อกันมายาวนานถึง 12 ปี ตั้งแต่ปี 2003 โดยนางเคิร์ชเนอร์ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำอาร์เจนตินาแทนสามีนายเนสเตอร์ เคิร์ชเนอร์ ที่ได้เสียชิวิตลง
การขึ้นมาครองอำนาจของพรรค Justicialist Party ในช่วงแรก นอกจากอยู่บนพื้นฐานความเป็นประชานิยมแล้ว ยังใช้ความเป็นชาตินิยมปลุกเร้าประชาชนให้อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง ประเทศอาร์เจนตินาภายใต้การปกครองของพรรค Justicialist Party หรือที่สังคมโลกเรียกกันติดปากว่า “ระบอบ Peronism” เป็นขวัญใจของกลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆ ในอาร์เจนตินา และมีฐานเสียงแข็งแกร่งในชนบท มีมาตรการขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำ และจ่ายเงินเดือนในวันหยุด
“ระบอบ Peronism” ใช้เงินจากภาครัฐอุดหนุนโครงการต่างๆ อย่างกว้างขวาง มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ สภาวะเศรษฐกิจมีทั้งขึ้นทั้งลง มีการพยามยามคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ เป็นเผด็จการแบบที่นักวิชาการเรียกว่า Competitive Authoritarianism คือ มีการแข่งขันเลือกตั้งแต่มีฝ่ายหนึ่งที่มีชัยชนะเกือบจะตลอดเวลา การคุมอำนาจอย่างยาวนานของพรรค Justicialist Party ทำให้ระบอบ Peronism มีศัตรูทั้งจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย นักสิทธิมนุษยชน และฝ่ายค้าน แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือความสำเร็จอย่างยาวนานของระบอบ Peronism ในสนามเลือกตั้ง
ความคล้ายคลึงที่ 2: การ “มี” บทบาทของฝ่ายทหารในการเมืองพลเรือน
ตามประวัติศาสตร์อาร์เจนตินา มีการพยายามทำรัฐประหารทั้งหมด 11 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นการปฏิวัติที่ประสบความสำเร็จ 6 ครั้ง (สำหรับประเทศไทย หลังจากมีการเปลี่ยนการปกครองปี 2475 มีความพยายามทำรัฐประหาร 19 ครั้ง สำเร็จ 12 ครั้ง และอีกข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ ประเทศไทยมีสถิติการพยายามทำรัฐประหารมากที่สุดเป็นที่ 2 ของโลก รองจากประเทศเฮติ ส่วนอันดับที่ 3 คือประเทศกรีซ) การรัฐประหารครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในปี 1955 หลังจากนายเปรอนครองอำนาจมา 8 ปี ปัญหาเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด และการที่ความนิยมในตัวนายเปรอนได้พัฒนากลายเป็นเหมือนลัทธิบูชาบุคคล ทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างกลุ่ม Peronist และกลุ่มอำนาจเดิม ที่นำโดย ผู้นำนิกายคาทอลิก (ซึ่งมีบทบาทคล้ายๆ กับสถาบันพระมหากษัตริย์) และกลุ่มนักธุรกิจภาคเอกชน ส่วนฝ่ายค้านในทางการเมืองในขณะนั้นก็เรียกร้องและต่อต้านรัฐบาลของนายเปรอน โดยที่นักเขียน นักข่าว นักคิดทางสังคม ที่คิดต่างจากนายเปรอนนั้นถูกจับเข้าคุกเป็นว่าเล่น บ้างก็ถูกเนรเทศออกนอกประเทศ
การยึดอำนาจของทหารในครั้งนั้นดูเหมือนจะได้รับแรงสนับสนุนจากหลายๆ สถาบันทางการเมืองและชนชั้นกลางของอาร์เจนตินา หลังจากรัฐประหารครั้งนั้น ตัวนายเปรอนเองก็ถูกเนรเทศออกนอกประเทศ และหลังจากนั้นไม่นาน ในปี 1958 ฝ่ายทหารที่ยึดครองอำนาจก็จัดการเลือกตั้ง โดยพรรค Justicialist Party ของนายเปรอนนั้นถูกห้ามลงแข่งขัน และพรรค Radical Civic Union Party ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการเมืองของกลุ่มนายเปรอนได้ครองอำนาจ นำมาซึ่งความวุ่นวายอย่างต่อเนื่อง และเกิดการรัฐประหารขึ้นอีกในปี 1962, 1966 และ 1976
รัฐประหารในปี 1976 นั้นมีความสำคัญที่ควรถูกพูดถึง กล่าวคือ เป็นรัฐประหารที่ทำการยึดอำนาจจากนางอิสเบล เปรอน ภรรยาคนที่สามของนายเปรอน ที่ขึ้นสู่อำนาจหลังจากนายเปรอนเสียชีวิตลง (นายเปรอนกลับมาครองอำนาจได้อีก 2 ครั้งหลังจากรัฐประหารปี 1955) ถึงแม้ว่ารัฐบาลพลเรือนของนางอิสเบล เปรอน ในช่วงก่อนการปฏิวัติปี 1976 ได้มีการข่มขู่และทำร้ายผู้เห็นต่าง แต่การยึดอำนาจของทหารกลับทำให้เหตุการณ์เลวร้ายยิ่งกว่าเดิมตลอดช่วงปี 1976-1983 ที่กองทัพครองอำนาจ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การท้าทายของกลุ่มคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น ทำให้การปกครองของกองทัพเต็มไปด้วยการใช้กำลังกับผู้ที่กองทัพเห็นว่าอาจฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ กลายเป็นเหตุการณ์ที่อาจเรียกได้ว่า “ขวาพิฆาตซ้าย” ของอาร์เจนตินา
ความคล้ายคลึงที่ 3: ปัญหาคอร์รัปชัน
ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศอาร์เจนตินานั้นย่ำแย่พอๆ กับปัญหาของประเทศไทย หรืออาจจะแย่กว่าด้วยซ้ำ ปัจจุบันอาร์เจนตินาได้ 34 คะแนน อยู่อับดับที่ 104 ของจาก 175 ประเทศจากการจัดอับดับขององค์กรความโปร่งใสสากล ส่วนไทยได้ 32 คะแนนอยู่อันดับที่ 85 ปัญหาคอร์รัปชันในอาร์เจนตินาเกิดในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นในยุคของระบอบ Peronism หรือ รัฐบาลทหาร หรือภายในองค์กรภาครัฐต่างๆ คอร์รัปชันได้หยั่งรากฝังลึกอยู่คู่กับการเมืองอาร์เจนตินาไปแล้ว
ในยุคของครอบครัวเคิร์ชเนอร์ที่กำลังจะหมดลงมีเหตุการณ์น่าสงสัยหลายอย่าง ตลอดระยะเวลาที่นางคริสตินา เคิร์ชเนอร์ และอดีตประธานาธบดี นายเนสเตอร์ เคิร์ชเนอร์ สามีของเธอ ครองอำนาจนาน 12 ปี ทรัพย์สินของเธอเติบโตขึ้น 7 เท่า หรือจาก 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 17.7 ล้านเหรียญสหรัฐ มีคดีอื้อฉาวหลายคดี เช่น การพยายามฟอกเงิน 65 ล้านเหรียญสหรัฐของนายลาซาโร บาเอซ เศรษฐีผู้รับเหมาก่อสร้างที่ตั้งบริษัทรับเหมาก่อนหน้านายเนสเตอร์ขึ้นรับตำแหน่งในปี 2003 เพียงไม่กี่อาทิตย์ แต่หลังจากครอบครัวเคิร์ชเนอร์เข้าสู่ตำแหน่ง บริษัทของนายบาเอซก็ได้สัมปทานมากมาย
ปัญหาคอร์รัปชันทั้งในรัฐบาลของนายและนางเคิร์ชเนอร์แย่เสียจนเคยมีนักข่าวเปรียบเปรยว่า ปรัชญาการจัดการปัญหาคอร์รัปชันของรัฐคือ “ถ้ามีการคอร์รัปชัน ก็ให้กลบเกลื่อนการกระทำนั้นไว้ ถ้ากลบเกลื่อนไม่ได้ ก็อย่าให้มีการพิสูจน์ได้ ถ้าเป็นเรื่องที่สาธารณะรับรู้และสามารถพิสูจน์ได้ ข้าราชการผู้นั้นต้องลาออก แต่ไม่ใช่เพราะความไม่ซื่อสัตย์ แต่เพราะเลินเล่อปิดไม่มิดชิดเอง”
ก่อนหน้านั้น ในยุคที่ฝ่ายทหารเรืองอำนาจในปี 1976-1983 ปัญหาคอร์รัปชันก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่ารัฐบาลพลเรือน คดีคอร์รัปชันอื้อฉาวที่สุดในช่วงนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 1982 ขณะกำลังเกิดสงครามสำคัญระหว่างกองทัพอาร์เจนตินากับกองทัพประเทศอังกฤษ เพื่อแย่งชิงเกาะ Falkland รัฐบาลทหารของอาร์เจนตินาได้เรี่ยไรเงินบริจาคจากสาธารณชนเพื่อซื้ออาวุธยุธโทปกรณ์สนับสนุนกองทัพ การบริจาคจากชาวอาร์เจนตินาในครั้งนั้นได้เงินมากถึง 45 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงทองหลายร้อยกิโลกรัม แต่เรื่องที่ทำให้อื้อฉาวก็คือ กองทัพอาร์เจนตินากลับประกาศยอมแพ้ในไม่กี่สัปดาห์ต่อมา และไม่มีใครทราบว่าเงินบริจาคที่เหลือนั้นหายไปไหน มีการสืบค้นภายหลังว่าเงินส่วนหนึ่งไปอยู่ในบัญชีลับที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ท่านผู้อ่านที่ติดตามการเมืองไทย น่าจะสามารถเปรียบเทียบได้เองถึงความคล้ายคลึง ของการเมืองอาร์เจนตินาและการเมืองไทย แต่ในความคล้ายคลึงนี้ มีหลายประการสำคัญที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าการเมืองของทั้งสองประเทศกำลังเดินหน้าไปคนละทาง ประเทศหนึ่งยังดูเหมือนจะยังไม่เห็นทางออก ส่วนอีกประเทศจะดูมีความสดใสมากกว่า
ความแตกต่าง 1: วิวัฒนาการของฝ่ายอนุรักษนิยม
การที่นายเมาริซิโอ มาครี ตัวแทนพรรคอนุรักษนิยมของอาร์เจนตินา (PRO) สามารถคว้าชัยชนะเหนือตัวแทนจากพรรค Justicialist Party ที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน ทำให้ประชาธิปไตยในอาร์เจนตินานั้นน่าจะให้บทเรียนกับประเทศไทยได้ในหลายๆ เรื่อง ช่วงไม่กี่เดือนก่อนการเลือกตั้งมีผู้สังเกตการณ์ว่า นายเมาริซิโอ มาครี นั้นน่าจะต้องได้รับความปราชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ผลโพลต่างๆ ที่ออกมาก่อนการเลือกตั้งให้คะแนนของนายมาครีตามหลังตัวแทนจากพรรค Justicialist Party แต่เมื่อการเลือกตั้งจริงเกิดขึ้น นายมาครีกลับได้รับชัยชนะไปอย่างฉิวเฉียด เขาได้คะแนนมากกว่าคู่แข่งเพียงแค่ 3% ของผลโหวตทั้งหมด ชัยชนะครั้งนี้คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มีหลายๆ อย่างที่นายมาครีทำระหว่างหาเสียงที่อาจจะเป็นประโยชน์ ให้บทเรียน และการปรับใช้ของฝ่ายต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” ในบ้านเรา
ในบริบทการเมืองขวา-ซ้าย ฝ่ายขวา คือ กลุ่มอนุรักษนิยม มีจุดยืนที่ว่ารัฐบาลไม่ควรเข้าแทรกแซงเศรษฐกิจ หรือบริการทุกๆ อย่างทางสังคมให้กับประชาชน รัฐบาลไม่ควรมีอำนาจมากเกินไป และไม่ควรเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลัน เพราะพวกเขาจะให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางสังคม ประเพณี และวัฒนธรรมต่างๆ ส่วนฝ่ายซ้าย คือ กลุ่มที่ได้รับแรงสนับสนุนจากรากหญ้า มีความเป็นสังคมนิยมและประชานิยม คิดว่ารัฐบาลควรตอบโจทย์ทุกอย่างเพื่อสังคม จะให้อำนาจในการทำทุกอย่างกับรัฐบาลมาก รัฐจะใช้จ่ายมากเพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ จะค่อนข้างไม่ลงรอยกับภาคเอกชนมากนัก
นายมาครีวางตนเองในฐานะนักการเมืองกลางเอียงขวา เขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นลูกของผู้อพยพ นายมาครีเป็นผู้นับถือคริสต์ศาสนาที่เคร่งครัด ในระหว่างการหาเสียงเขาพยายามไม่พูดถึงเรื่องมรดกตกทอดจากยุคของนายเปรอน ผู้เป็นฮีโร่ของของชาวชนบท และกลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆ ในเชิงลบมากนัก มิหนำซ้ำเขากลับพยายามเข้าถึงกลุ่มผู้ที่ยังรำลึกถึงยุคของนายเปรอน เขาเข้าร่วมพิธีร้องเพลงสรรเสริญนายเปรอน และร่วมพิธีเปิดอนุสรณ์สถานของนายเปรอน มีการหาเสียงอยู่ครั้งหนึ่ง นายมาครีพูดกับกลุ่มสหภาพแรงงานซึ่งเป็นฐานเสียงของนางเคิร์ชเนอร์และกลุ่ม Peronist ถึงขนาดว่า เขานั้นเป็น “Peronist 100%”
สโลแกนของนายมาครีในการหาเสียงคือ “Let’s change” แต่เขาก็รู้ตัวดีว่าเขาต้องการการสนับสนุนจากกลุ่มสหภาพแรงงาน ข้อความการหาเสียงจึงเน้นไปทางเชิงปรองดอง กล่าวคือ เขาอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ลดเลิกการขัดแย้ง และเขาไม่ได้เรียกร้องให้มีการ “ปิด” เพื่อเปลี่ยนแปลง วิธีการหาเสียงของนายมาครีดูเหมือนว่าจะสามารถก้าวข้ามความบาดหมางในอดีตและพูดถึงเรื่องอนาคตเสียมากกว่า ในเชิงนโยบาย นายมาครีจะกล่าวย้ำอยู่ตลอดเวลาในช่วงหาเสียงว่า นโยบายอะไรที่ดีของประธานาธิบดีเคิร์ชเนอร์ ที่ดีอยู่แล้วเขาก็จะเก็บไว้และทำให้ดีกว่าเดิม ฐานเสียงของนายมาครีคือคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมาก่อน เขาใช้อาสาสมัครวัยรุ่นที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงและเบื่อหน่ายการเมืองเก่าๆ เป็นคนช่วยหาเสียงผ่านทางโลกโซเชียล ก่อนการเลือกตั้ง พรรค PRO ของนายมาครีได้ประกาศเป็นพันธมิตรกับพรรค Radical Civic Union Party ซึ่งเป็นพรรคกลางเอียงซ้าย (ในอดีตเป็นพันธมิตรกับพรรคในระบอบ Peronism) ทำให้ฐานเสียงของนายมาครีนั้นได้รับการขยายออกจากเมืองใหญ่ไปในชนบทด้วย
ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับศาสตราจารย์สตีเวน เลวิตสกี (Steven Levitsky) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้แต่งหนังสือเรื่อง Competitive Authoritarianism และเป็นผู้เชี่ยวชาญการเมืองอาร์เจนตินา ซึ่งท่านได้ให้ความเห็นว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้นายมาครีได้รับชัยชนะคือการที่เขา “break the polarization” หรือ การทำลายขั้วการเมือง ศาสตราจารย์เลวิตสกีให้ความเห็นว่า ท่านไม่แน่ใจเสียด้วยซ้ำว่านายมาครีนั้นมีความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษนิยมตามประเพณีและฐานเสียงเดิมของพรรคที่เขาสังกัดหรือไม่
นายมาครีมีจุดยืนทางการเมืองแบบทางสายกลางที่มีพื้นฐานมาจากฝั่งอนุรักษนิยม นั่นเป็นทิศทางการเมือง ที่กำลังได้รับความนิยมในหลายๆ ประเทศในอเมริกาใต้ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาฝ่ายค้านของประเทศเวเนซุเอลาก็พึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเหนือฝ่ายซ้ายที่เป็นพรรคที่มีแนวทางประชานิยมและครองอำนาจมายาวนาน นักการเมืองในประเทศชิลี โคลัมเบีย เปรู และบราซิล ที่มีจุดยืนแบบกลางเอียงขวานั้นก็กำลังทำผลงานได้ดีในสนามเลือกตั้ง การที่ประเทศเหล่านี้มีชนชั้นกลางมากขึ้น ทำให้สามารถช่วยตัวเองได้มากขึ้น รัฐจึงมีความจำเป็นต้องอุดหนุนน้อยลง แต่รัฐก็สามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น จึงทำให้ประชาชนจะค่อนข้างใส่ใจกับการใช้จ่ายเงินของรัฐ แต่พรรคการเมืองสายกลางที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ในอเมริกาใต้ก็ต้องหาเสียงเอาใจประชาชนในชนบทและสหภาพแรงงานต่างๆ เช่นกัน
กลับมาดูประเทศไทย ทางออกที่สำคัญของบ้านเราคือการมีพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็งและเป็นตัวเลือกของประชาชนได้ พรรคประชาธิปัตย์ของไทยเป็นพรรคที่ใกล้เคียงกับจุดยืนทางการเมืองของพรรค PRO ของนายมาครีมากที่สุด แต่พรรคประชาธิปัตย์ของเรานั้นยังดูหลงทางอยู่มาก การที่พรรคให้ท้ายผู้สนับสนุนของตัวเองที่มีอุดมการณ์ขวา/อนุรักษนิยมสุดโต่งในการประท้วงตอบโต้กลุ่มฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายผู้สนับสนุนทักษิณ โดยไม่คำนึงถึงและเล็งหาพันธมิตรที่พรรคเองสามารถสร้างได้กับบุคคลเหล่านี้ หรือการที่บุคคลในพรรคยังยึดติดกับการตอบโต้ระบอบทักษิณแบบไม่ลืมหูลืมตา ทำให้พรรคนั้นมองไปข้างหน้าได้ไม่เต็มที่ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการที่พรรคประชาธิปัตย์จะประสบชัยชนะในสนามเลือกตั้ง สิ่งที่สำคัญที่สุดที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องทำก็คือ การ “break the polarization” และสิ่งแรกที่ต้องทำคือการก้าวผ่านจุดมุ่งหมายที่จะโค่นระบอบทักษิณให้หมดสิ้น
ความแตกต่าง 2: การ “ลด” บทบาทของฝ่ายทหารในการเมืองพลเรือน
ผู้เขียนขอย้ำว่าประชาธิปไตยในอาร์เจนตินานั้นยังมีปัญหาอยู่มาก แต่ก็มีหลายๆ สิ่งที่ประสบการณ์ของอาร์เจนตินานั้นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเมืองของประเทศไทย หลังจากรัฐบาลทหารพ้นอำนาจในอาร์เจนตินาเมื่อปี 1983 ได้มีความพยายามก่อรัฐประหารหลายครั้งของกองทัพอาร์เจนตินา ครั้งสุดท้ายนั้นเกิดขึ้นในปี 1990 แต่ก็ไม่มีครั้งไหนประสบความสำเร็จในระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา จุดเปลี่ยนสำคัญก็คือการที่ประชาชนค่อนข้างตื่นตัวกับการบังคับให้ทหารนั้นเล่นเกมการเมืองภายใต้กรอบประชาธิปไตย การตื่นตัวเหล่านี้ทำให้ในปี 1994 รัฐธรรมนูญของอาร์เจนตินานั้นประกาศชัดเจนในหมวดที่ 22 และ 36 ว่าจะไม่ยอมรับการแทรกแซงทางการเมืองโดยการใช้กำลัง และรัฐธรรมนูญนั้นไม่อาจจะถูกฉีกได้และจะยังคงอยู่ต่อไปหากมีการแทรงแซงทางการเมือง
ประเทศอาร์เจนตินามาถึงจุดนี้ได้เพราะประชาชนโดยทั่วไปนั้นไม่ปล่อยและเปิดช่องว่าง ไม่สร้างสถานการณ์ และปัจจัยทางการเมือง เพื่อเชื้อเชิญกองทัพ และไม่สร้างเงื่อนไขความจำเป็นและความชอบธรรมให้กับกองทัพขึ้นมามีอำนาจได้ ประชาชนทั้งฝ่ายซ้ายที่สนับสนุนระบอบ Peronism และฝ่ายขวาที่เป็นพรรคของชนชั้นกลางนั้น ได้สร้างสัญญาประชาคมว่าทุกสถาบันการเมืองต้องเคารพหลักประชาธิปไตย
ย้อนกลับมาดูเมืองไทย ผู้เขียนเชื่อว่าตัวกองทัพเองนั้นไม่ได้อยากเข้ามามีอำนาจ กองทัพไทยมองตนเองเป็นผู้พิทักษ์ความมั่นคงทั้งภายในและภายนอก การสร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย โดยเฉพาะฝ่ายที่ทำการเรียกร้องให้กองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ได้มอบความชอบธรรมให้กับกองทัพ การที่ประเทศของเราจะก้าวข้ามพ้นวงจรทางการเมืองที่แสดงถึงความล้มเหลวนี้ ประชาชนโดยทั่วไปต้องตระหนักเสียก่อนว่าการคงไว้ซึ่งสถาบันประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าจะมีปัญหา หรือไม่สมบูรณ์เพียงใด ก็ดีกว่าไม่มีอยู่เลย
การพัฒนาทางประชาธิปไตยนั้นจะเกิดขึ้นได้ดีกว่าหากใช้การแก้ไข เพิ่มเติม ดีกว่าการล้มหมากทั้งกระดาน ฝ่ายที่เคยคุมอำนาจอยู่ และแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการทำงานบริหารประเทศ ก็ควรจะรับรู้ถึงการที่ฝ่ายตนทำลายความชอบธรรมที่ประชาชนเคยได้ให้ผ่านการเลือกตั้ง ลดความหยิ่งทะนงในอำนาจที่ประชาชนได้มอบให้ลงบ้าง สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลดปัจจัยและข้ออ้างที่จะทำให้กองทัพเข้ามายึดอำนาจได้
ความแตกต่าง 3: ปัญหาคอร์รัปชันไม่เคยเป็นเหตุผลในการ “หยุด” การเมืองอาร์เจนตินา
ดังที่กล่าวมาข้างต้น ปัญหาคอร์รัปชันในอาร์เจนตินานั้นอาจจะเลวร้ายกว่าประเทศไทยเสียอีก ในยุคการครองอำนาจของครอบครัวเคิร์ชเนอร์ 12 ปีนั้นมีเรื่องอื้อฉาวมากมายหลายสิบเรื่อง ประชาชนก็ออกมาประท้วง โดยหลายครั้งพวกเขาได้ใช้ช้อนตีก้นหม้อเพื่อให้เกิดเสียงดังเป็นสัญลักษณ์การประท้วง แต่ที่น่าสังเกตคือชาวอาร์เจนตินาที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบ Peronism นั้นไม่เคยเรียกร้องให้มีการปิดประเทศหรือให้ทหารเข้ามาแทรกแซง พวกเขาดูเหมือนจะทราบดีว่าการพัฒนาการเมืองและการปฏิรูปไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยการหยุดเดินทั้งระบบ
การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในยุคของนางเคิร์ชเนอร์นั้นเกิดขึ้นในเดือนกันยายน ปี 2012 หลังจากนางเคิร์ชเนอร์ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง สภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ปัญหาคอร์รัปชันที่หยั่งลึก และการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เธอกลับมาเลือกตั้งได้เป็นครั้งที่สาม (รัฐธรรมนูญอาร์เจนตินากำหนดให้บุคคลหนึ่งสามารถเป็นนายกฯได้ 2 สมัย) การประท้วงในครั้งนั้นเกิดขึ้นในหลายจังหวัดของอาร์เจนตินาและในหลายประเทศที่มีชาวอาร์เจนตินาอาศัยอยู่ จำนวนประชาชนที่ออกมาประท้วงนั้นประมาณ 500,000-2,000,000 คน (ขึ้นอยู่กับใครเป็นผู้ประมาณการ)
นายเมาริซิโอ มาครี นักการเมืองฝ่ายค้านในขณะนั้น ก็ได้ร่วมประท้วงด้วย ผลสรุปของการประท้วงครั้งนั้นแสดงให้เห็นถึงพลังประชาชนที่พร้อมจะตรวจสอบและเรียกร้องความชอบธรรมจากรัฐบาลของนางเคิร์ชเนอร์ ในที่สุดพรรคของนางเคิร์ชเนอร์ก็ล้มเลิกความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้นางลงเลือกตั้งอีกสมัย การที่ประชาชน ผู้ประท้วง และนักการเมืองฝ่ายค้าน ออกมาชุมนุมประท้วงตามสิทธิที่พึงมีตามประชาธิปไตย และยังยึดมั่นกับหลักการประชาธิปไตย แม้ว่าพวกเขาจะเกลียด โกรธ และไม่พอใจต่อระบอบ Peronism เพียงใด นั่นเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่ทำให้ประชาชนผู้เห็นต่างเหล่านี้ ผู้ซึ่งต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของครอบครัวเคิร์ชเนอร์นานเป็นเวลา 12 ปี สามารถโค่นล้มระบอบ Peronism ผ่านการเลือกตั้งอย่างใสสะอาดได้ในที่สุด
ความอดทนอดกลั้นของชนชั้นกลาง ที่ไม่สิ้นหวังกับกระบวนการประชาธิปไตยและกับการเลือกตั้ง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยของเราก้าวพ้นวงจรที่ล้มเหลวทางการเมืองในปัจจุบันนี้ไปได้ การเก็บพลังไว้เพื่อนำไปใช้ในการปฏิเสธ Competitive Authoritarianism ในสนามเลือกตั้งนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและได้ผลมากกว่า อันเป็นวิธีการที่ถูกพิสูจน์มาแล้วในประเทศอาร์เจนตินาและอีกหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้
ในกรณีนี้ ศาสตราจารย์สตีเวน เลวิตสกี ได้กล่าวกับผู้เขียนว่า “Patience” หรือ “ความใจเย็นทางการเมือง” คือสิ่งที่ชาวอาร์เจนตินามี แต่ชนชั้นกลางของเมืองไทยไม่มี และ “ความใจเย็นทางการเมือง” นั้นคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งสำหรับการทำงานของกลไกระบอบประชาธิปไตย
สิ่งที่ผู้เขียนได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ หวังจะสื่อเพียงว่า ปัญหาของประเทศไทยนั้น ไม่ได้เป็นปัญหาที่เราเผชิญอยู่ประเทศเดียว และเราสามารถจะเรียนรู้สิ่งดีๆ จากประเทศอื่นๆ ที่ (เคย) ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน และเขาดูเหมือนกำลังก้าวพ้นปัญหานั้นไปแล้ว