ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ
โดยปกติ เวลาเราดูกีฬาฟุตบอลลีกต่างประเทศในทีวี ก็จะดูเพราะต้องการความสนุกสนานเพลิดเพลิน เชียร์นักเตะที่เราชอบ ส่งกำลังใจไปให้ทีมที่เรารัก แต่มีทีมฟุตบอลทีมหนึ่งที่มีความหมายต่อชาวเมืองของเขามากกว่าความสนุกสนานเพลิดเพลิน เป็นทีมฟุตบอลที่มีความหมายต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง และเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของชาวเมืองของพวกเขา ทีมที่ว่านี้คือ สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา แห่งแคว้นคาตาโลเนีย ในประเทศสเปน
สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา (บาร์ซา) มีความน่าสนใจหลายอย่างที่แตกต่างจากสโมสรยักษ์ใหญ่อื่นๆ ในยุโรป ผู้เขียนขอพูดถึงสิ่งน่าสนใจ 4 ข้อหลักๆ ที่อาจจะเป็นบทเรียนของภาครัฐและทีมสโมสรฟุตบอลในประเทศไทยบางสโมสรก็เป็นได้
1. เป็นทีมฟุตบอลที่ความหมายทางการเมืองต่อชาวคาตาลัน
บาร์ซาเป็นสโมสรฟุตบอลที่ถูกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1899 โดย นายโจน แกมเปอร์ พ่อค้าชาวสวิตเซอร์แลน และมีผู้ควบคุมทีมคนแรกเป็นชาวอังกฤษ การเข้ามาของกีฬาฟุตบอลในยุคนั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการพัฒนาทางสังคมและการเมืองในเมืองบาร์เซโลนา ฟุตบอลถูกมองว่าเป็น “ของนอก” เป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย ความเป็นยุโรป ความพร้อมในการแข่งขันยุคใหม่ ประจวบเหมาะกับในยุคนั้น เป็นยุคที่ความเป็นชาตินิยมของแคว้นคาตาโลเนียเพิ่มสูงขึ้น มีการก่อตั้งพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ชาตินิยมของชาวคาตาลันเพื่อต่อสู้ในเกมการเมืองสเปน
ทำให้สโมสรบาร์ซาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงความทันสมัย (modernity) ของเมืองบาร์เซโลนาในฐานะเมืองท่าสำคัญของยุโรปและของแคว้นคาตาโลเนีย ทั้งในด้านการเมืองและสังคม
นอกเหนือจากนั้น นายโจน แกมเปอร์ ผู้ก่อตั้งสโมสรชาวสวิตเซอร์แลนด์ ก็เล็งเห็นโอกาสในการระดมเงินทุนจากชนชั้นกลางชาวคาตาลัน หากเขาสามารถสร้างบาร์ซาให้กลายเป็นตัวตน (identity) ของชาวคาตาลันได้ เขาเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นภาษาคาตาลัน เปลี่ยนตราสโมสรจากตราเมืองบาร์เซโลนาไปเป็นตราที่มีธงของแคว้นคาตาโลเนีย เขาเปลี่ยนภาษาทางการของสโมสรบาร์ซาจากภาษาสเปนไปเป็นภาษาคาตาลัน มีการเปิดโรงเรียนสอนภาษาคาตาลันให้กับผู้เล่นและสมาชิกสโมสร มีการจัดแคมเปญเพื่ออิสรภาพของชาวคาตาลัน
สองเหตุผลที่ว่ามานี้ (การที่ฟุตบอลถูกมองเป็นสิ่งทันสมัย เพราะมาจากต่างประเทศ และโอกาสทางการเงินของสโมสร) ทำให้เกิดห่วงโซ่ปัจจัยในเชิงบวก ที่ผลักดันให้สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาเกิดเป็นตัวตนและสัญลักษณ์ทางการเมืองของชาวคาตาลัน จะแตกต่างจากทีมฟุตบอลอื่นๆ จากแคว้นคาตาโลเนีย เช่น ทีม อาร์เอสดี เอสปัญญอน ซึ่งเป็นทีมที่มีฐานแฟนบอลเป็นชาวสเปน และมีความใกล้ชิดกับชาตินิยมสเปนมากกว่า
2. เป็นทีมฟุตบอลที่เป็นเครื่องมือต่อสู้กับเผด็จการ
ในปี 1925 ความเป็นตัวตนของชาวคาตาลัน ที่ผูกติดกับการประสบความสำเร็จของบาร์ซา ทำให้รัฐสเปน ซึ่งในขณะนั้นซึ่งนำโดยเผด็จการทหาร นายพล พรีโม ริเวรา ได้สั่งแบนสโมสร ห้ามแข่งขันเป็นเวลา 6 เดือน เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ใกล้กับสนามเหย้าของบาร์ซา กระนั้น หลังจากพ้นการถูกห้ามแข่ง นายพลริเวราได้มีการสั่งห้ามใช้ธงของแคว้นคาตาโลเนียในสนามฟุตบอล มีการขึ้นทะเบียนแฟนบาร์ซาทุกคนกับตำรวจ การประกาศต่างๆ ในสนามแข่งขันถูกบังคับให้ใช้ภาษาสเปน แต่ดูเหมือนว่าการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเป็นตัวตนของชาวคาตาลันในสนามฟุตบอลนั้น จะทำให้ความสัมพันธ์ของสโมสรกับความเป็นชาตินิยมของชาวคาตาลันแน่นแฟ้นกว่าเดิม
ต่อมาในช่วงปี 1939-1975 ในยุคของเผด็จการทหาร นายพลฟรานซิสโก ฟรังโก บาร์ซาและแฟนฟุตบอลชาวคาตาลันก็โดนจำกัดสิทธิ์หนักหน่วงกว่าเดิม นายพลฟรังโกพยายามอย่างมากในการสร้างค่านิยมความเป็นชาติสเปน รัฐบาลลัทธิฟาสซิสต์ของนายพลฟรังโกพยายามควมคุมกิจกรรมทางกีฬาทุกอย่าง มีการบังคับให้ในสนามแข่งขันแสดงสัญลักษณ์และกิจกรรมของลัทธิฟาสซิสต์ บาร์ซาถูกเปลี่ยนชื่อให้มีความเป็นสเปนมากขึ้น มีการเอาคนใกล้ชิดของนายพลฟรังโกเข้าไปอยู่ในบอร์ดบริหารเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของสโมสรและแฟนบอล
กระนั้น สนามฟุตบอลของบาร์ซาก็เป็นที่ชุมนุมเดียวของชาวคาตาลัน เป็นที่ที่พวกเขาสามารถพูดภาษาของตนเองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง ที่เหนือไปกว่านั้น ชัยชนะทุกๆ ครั้งที่ทีมของพวกเขามีต่อทีมเรอัล มาดริด จากเมืองหลวง ชาวคาตาลันในยุคนั้น จะรู้สึกเหมือนชัยชนะของประชาธิปไตยที่มีต่อระบอบเผด็จการของนายพลฟรังโก จนเป็นที่มาของปรัชญาของทีมคือ “บาร์ซาเป็นมากกว่าสโมสร”
3. เป็นทีมฟุตบอลที่มอบสิทธิให้แฟนบอลมีส่วนร่วมกับอนาคตของสโมสร
บาร์เซโลนาเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร(เช่นเดียวกับทีมเรอัล มาดริด) และเป็นทีมที่มีสมาชิกเป็น “เจ้าของ” ปัจจุบันบาร์ซามีสมาชิกมากกว่า 177,264 ราย โดยภายในจำนวนนี้ 36% เป็นชาวเมืองบาร์เซโลนา 49% เป็นชาวแคว้นคาตาโลเนีย และเป็นชาวต่างแคว้นหรือต่างชาติอีก 15% สมาชิกของบาร์ซา จะต้องจ่ายเงินบำรุงทุกปี เป็นเงินจำนวน 132 ยูโรสำหรับสมาชิกเก่า และ 176 ยูโรสำหรับสมาชิกใหม่ แลกกับสิทธิ์ในการเลือกตั้งผู้บริหารที่นำโดยประธานของสโมสร รวมถึงร่วมโหวตในนโยบายสำคัญต่างๆ ทุกๆ สี่ปี เช่น ในปี 2007 มีการโหวตในหมู่สมาชิกเพื่อให้บาร์ซาสามารถมีโลโก้ผู้สนับสนุนบนเสื้อแข่งขันเป็นปีแรกของประวัติศาสตร์สโมสร นอกเหนือจากนั้น ระบบการบริหารของบาร์ซายังมีระบบตัวแทนที่ช่วยกำหนดนโยบายต่างๆ ด้วย โดยมีการสุ่มตัวแทน 3,000 คนจากจำนวนสมาชิกทั้งหมดเพื่อเป็นผู้มีอำนาจจะหว่างบอร์ดผู้บริหารและสมาชิกทั้งหมด
บาร์ซาเป็นสโมสรที่มีมากกว่ากีฬาฟุตบอล ทีมกีฬาอาชีพอื่นๆ มีทั้ง บาสเก็ตบอล ฮ็อกกี้ แฮนด์บอล ฟุตซอล และมีทีมสมัครเล่น อาทิ รักบี้ จักรยาน กรีฑา วอลเลย์บอล และเบสบอล การที่มีทีมฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จทำให้สโมสรมีเงินอุดหนุนทีมกีฬาอื่นๆ เหล่านี้ได้ การบริหารแบบที่ว่ามานี้ จะไม่เหมือนกับวงการกีฬาในอังกฤษหรืออเมริกา ที่จะเป็นการบริหารในเชิงธุรกิจ และมีผู้ถือหุ้นคุมอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ
สำหรับบาร์ซานั้น การที่สมาชิกมีสิทธิ์เลือกตั้งบอร์ดผู้บริหาร ทำให้การตัดสินใจต่างๆ ต้องตอบโจทย์ความต้องการของแฟนบอลเป็นหลัก และทำให้แฟนบอลรู้สึกมีส่วนร่วมต่อความสำเร็จของทีมเป็นอย่างมาก นอกเหนือจากนั้น การที่สโมสรมีเครื่อข่ายกีฬาและกิจกรรมต่างๆ นอกเหนือจากฟุตบอล ทำให้สโมสรมีความหมายต่อความเป็นตัวตนและชาตินิยมของชาวคาตาลันเพิ่มขึ้นไปอีก
4. เป็นทีมฟุตบอลที่แฟนบอลเชื่อมั่นในระบอบการบริหารภายในที่เป็นประชาธิปไตย
ถ้าบาร์ซาเหมือนประเทศเล็กๆ ที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย ก็แน่นอนว่าการเติบโตของสโมสรนั้นไม่ได้มีความราบรื่นเสมอไป อย่างเช่น ในยุคของประธาน นายโจเซฟ นูเนส ผู้ซึ่งได้รับการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1978 และครองอำนาจเป็นเวลา 22 ปี นายนูเนสได้รับเลือกเข้ามาในตอนยุคที่ทีมมีปัญหาเรื่องการเงินและผลงาน เขาชนะการเลือกตั้งด้วยนโยบายที่เรียกได้ว่า “คิดใหม่ทำใหม่” เขาสัญญากับสมาชิกว่าจะปลดแอกบาร์ซาจากการเมืองเดิมๆ และการเมืองท้องถิ่น
แต่หลังจากได้รับการเลือกตั้ง และถึงแม้บาร์ซาประสบความสำเร็จอย่างมากในเรื่องชัยชนะการแข่งขัน นายนูเนสกลับใช้อำนาจการบริหารที่มีความเป็นประชาธิปไตยลดลง กึ่งเป็นเผด็จการกลายๆ เขาใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการตัดสินใจต่างๆ นูเนสมีปัญหาหลายอย่างกับทั้งโค้ช ผู้เล่น และแฟนบอล
ในช่วงแรกๆ เขาได้รับความไว้วางใจจาก โยฮัน ครัฟ ซึ่งเป็นอดีตซูเปอร์สตาร์ระดับตำนานของทีมที่ผันตัวมาเป็นโค้ช แต่ภายหลัง ครัฟกลับกลายเป็นผู้นำกลุ่มต่อต้านนายนูเนส ทำให้นายนูเนสต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานในที่สุด หลังจากพ้นตำแหน่ง นายนูเนสและลูกชายของเขาก็ถูกสอบสวนเรื่องคอร์รัปชัน และต้องถูกจำคุกเป็นเวลา 26 เดือนในที่สุด
แน่นอนว่า ความเชื่อมั่นในระบอบการบริหารที่เป็นประชาธิปไตยของชาวคาตาลันนั้นไม่ได้หายไปกับยุคของนายนูเนส จุดเปลี่ยนที่สำคัญของบาร์ซาหลังจากนั้นคือการได้รับการเลือกตั้งของประธานคนใหม่ นาย โจน ลาปอร์ตา ในปี 2003 นายลาปอร์ตา และทีมบริหารชุดใหม่ในยุคนั้นเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของสมาชิกสโมสร นายลาปอร์ตาและทีมงานทำให้เห็นว่าความเป็นประชาธิปไตยกับความสำเร็จในการแข่งขันและทางด้านการเงินนั้นสามารถไปด้วยกันได้
หลังจากเข้ารับตำแหน่ง นายลาปอร์ตาได้ออกมาตรการเพิ่มความโปร่งใสในการบริหารของสโมสรในทันที โดยการเพิ่มช่องทางการสื่อสารกับสมาชิก ทุกๆ สองเดือนทางสโมสรจะตีพิมพ์นิตยสารเป็นภาษาคาตาลันและภาษาสเปน ส่งถึงสมาชิกเพื่ออัปเดตข้อมูลความเคลื่อนไหวต่างๆ ของสโมสร ใครที่ใช้อีเมลก็จะได้รับข่าวสารจากทางสโมสรทุกๆ เดือน นายลาปอร์ตายังใช้ความเป็นประชาธิปไตยของสโมสรเป็นแรงผลักดันเพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกให้กับสโมสร
ทางด้านการบริหาร มีการเปลี่ยนทีมบริหารครั้งใหญ่ เขานำเอานักบริหารธุรกิจ หรือ “เทคโนแครต” ที่ไม่เคยทำงานในวงการฟุตบอลแต่ประสบความสำเร็จจากหลายสาขามาควบคุมงานส่วนต่างๆ ของสโมสร ทางด้านการเงินทีมของนายลาปอร์ตา ประกาศลดเงินเดือนปกติของนักเตะลง และให้ส่วนที่หายไปเป็นโบนัสที่จะอิงกับผลงานของทีมในแต่ละฤดูกาล
ถึงแม้จะมีการลดเงินเดือนนักเตะ แต่ทางสโมสรก็เลือกที่จะทุ่มตัวซื้อนักเตะที่ดีที่สุดในโลกในขณะนั้นหลายคน ลาปอร์ตามองว่าการที่มีนักเตะที่ดีที่สุดและมีดีหลายๆ คนพร้อมๆ กันจะเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรที่ดีของการปรับปรุงทีม และนำไปสู่ฐานแฟนบอลที่กว้างขึ้น นายลาปอร์ตาจึงเน้นการกระจายจุดสนใจของทีมไปอยู่ในนักเตะหลายๆ คน และสร้างความสำเร็จที่มาจากความร่วมมือกันเป็นทีมแน่นอนการลงทุนด้านฟุตบอลของนายลาปอร์ตาที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ฐานะทางการเงินของบาร์ซาดีขึ้นไปอีก แต่สำหรับนายลาปอร์ตา ฐานะทางการเงินและชื่อเสียงดังกล่าวของบาร์ซาก็จะทำให้ความสามารถของสโมสรในการเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวคาตาลัน และเป็นความหมายของการต่อสู้เพื่ออิสระภาพของชาวคาตาลันยิ่งๆ ขึ้นไป
แน่นอน ภายใต้ความสำเร็จของนายลาปอร์ตาในฐานะประธานนั้นยังมีหลายสิ่งที่มีปัญหา เขาถูกกล่าวหาจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะในช่วงหลังๆ ว่ามีความบ้าอำนาจและทำตัวไม่ต่างจากประธานคนก่อนๆ แต่การที่บาร์ซาเป็นทีมฟุตบอลที่แฟนบอลเชื่อมั่นในระบอบการบริหารภายในที่เป็นประชาธิปไตย ทำให้การตรวจสอบและการถูกตัดสินลงโทษต่อผู้บริหาร ทั้งในรูปแบบของการอภิปรายไม่ไว้วางใจและการเลือกตั้ง ทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความสำเร็จของสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาทั้งในด้านกีฬาหรือแม้แต่ด้านสังคมและการเมืองนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรูปแบบการปกครองและบริหารภายในของตัวสโมสรเอง
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนข้อย้ำอีกครั้งว่า ผู้เขียนเลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวของบาร์ซาเพราะเห็นว่า ประเทศไทยและตัวละครหลายๆ กลุ่มของภาคการกีฬาและการเมืองของเรานั้นสามารถเรียนรู้หลายสิ่งๆ จากความสำเร็จของสโมสรฟุตบอลแห่งนี้ และนอกเหนือไปจากฟุตบอล การต่อสู้ของชาวคาตาลันเพื่อเสรีภาพและการจัดการกับเรื่องนี้ของรัฐบาลประเทศสเปนโดยภาพรวมก็ยังน่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดีของหลายๆ ฝ่ายต่อปัญหาสำคัญหลายอย่างของประเทศไทย