ThaiPublica > คอลัมน์ > ไฟป่าและหมอกควัน: ทางออกด้วยเทคโนโลยีที่เพียงพอ

ไฟป่าและหมอกควัน: ทางออกด้วยเทคโนโลยีที่เพียงพอ

5 เมษายน 2020


ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ
สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นักศึกษาปริญญาเอก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

ไฟไหม้ป่า ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ วันที่ 29 มีนาคม 2563 ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก เชียงใหม่นิวส์ Chiang Mai News

ปัญหาหมอกควันและไฟป่าในภาคเหนือเกิดขึ้นเป็นประจำและหนักขึ้นทุกปี ชาวเหนือต้องทนอยู่กับปัญหานี้มานานไม่ต่ำกว่า 10 ปี เป็นปัญหาที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผมนั่งดูเหตุการณ์ไฟป่าและปัญหาหมอกควันด้วยความหดหู่ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นเมื่อรวมกับวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่มาพร้อมกับปัญหาเศรษฐกิจ ชาวเหนือต้องเจอกับ 3 วิกฤตการณ์พร้อมๆ กัน มิหนำซ้ำมีงานวิจัยที่พบว่ามลภาวะทางอากาศทำให้ไวรัส COVID-19 นั้นสามารถแพร่กระจายและเป็นอันตรายต่อมนุษย์มากขึ้นไปอีก

ต้นตอของปัญหานั้นมีความซับซ้อน มีเหตุที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์และก็มีเหตุที่เกิดตามธรรมชาติ ห่วงโซ่อุปทานทำให้คนเมืองนั้นมีส่วนร่วมกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง อาหารที่เราเลือกทาน ยานพาหนะที่เราใช้ มลพิษต่างๆ ที่มีผลต่อสภาวะโลกร้อน ทำให้เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ทุกคนมีส่วนร่วมสร้าง การแก้ไข้ปัญหาจึงต้องการความร่วมมือสูง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีมิติของการเมืองระหว่างประเทศที่เราไม่ได้เห็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบมากนัก

แต่กระนั้นการพยายามแก้ปัญหาที่ต้นเหตุก็ไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวที่ควรทำ การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำควบคู่กันไป

เราทุกคนโดยเฉพาะรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับปัญหานี้เป็นวิกฤตการณ์ การ “existential threat” หรือการคุกคามความเป็นอยู่ของชาติไทย และการแก้ไขต้องการความเชื่อมโยงแบบบูรณาการ รัฐบาลต้องมีการผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระภัยพิบัติแห่งชาติ กองทัพไทยและผู้เกี่ยวข้องควรมองเรื่องนี้เป็นปัญหาความมั่นคงที่ยิ่งใหญ่ในระดับที่ไม่ต่างจากปัญหา COVID-19 หรือปัญหาการถูกคุกคามจากศัตรูที่เป็นรัฐ และต้องระดมทรัพยากรของรัฐที่เพียงพอต่อระดับของปัญหาที่ใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์

ในบทความนี้ผมอยากพูดถึงเครื่องมือและเทคโนโลยีที่มีอยู่ในระดับสากล ที่รัฐบาลไทยสามารถนำมาใช้หรือจัดซื้อใหม่ ซึ่งสามารถนำมาช่วยลดความรุนแรงของไฟป่าและปัญหาหมอกควัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน ถึงแม้เทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่เป็นวิถีทางแนวคิดที่จำเป็นต่อการช่วยบรรเทาวิกฤตการณ์ที่รุนแรงขึ้นทุกปีของประเทศเรา

1. การค้นหา “Hot Spot” แบบ Real Time ด้วยอากาศยานไร้คนขับ (UAV)

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้กับไฟป่าก็คือการสร้างความตระหนักรู้ให้รวดเร็วและจัดการได้อย่างทันท่วงทีก่อนไฟป่าจะลุกลาม ในประเทศไทยเองเรามีการเข้าถึงข้อมูลนี้ค่อนข้างดีในระดับดาวเทียมจากอวกาศ (space observation) เพราะมีการแชร์ฐานข้อมูลมาจากดาวเทียม 4 ตัวและเซ็นเซอร์ 2 ชนิดที่มีรายละเอียดแตกต่างกันของ NASA ในแบบ near real time อัปเดตทุกประมาณ 3 ชั่วโมง ข้อมูลตรงนี้ถูก GISTDA นำมาประมวลผลและรายงานสถานการณ์รายวัน

แต่กระนั้นข้อมูลในระดับดาวเทียมก็ยังไม่เร็วพอ ที่จะสามารถนำไปสื่อสารกับหน่วยงานในระดับปฏิบัติการหรืออาสาสมัครจากหมู่บ้านใกล้เคียงที่มาช่วยเหลือ จึงจำเป็นที่จะต้องใช้การตรวจจับในระดับอากาศยาน (airborne observation) มาช่วยเสริม ในต่างประเทศมีการใช้โดรนกันอย่างค่อนข้างแพร่หลาย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของนักผจญเพลิงและอาสาสมัคร มีโดรนที่ถูกพัฒนามาเพื่อการต่อสู้กับไฟป่าโดยการติดกล้องอินฟราเรดเพื่อจับความร้อนและรายงานผลกลับไปยังศูนย์ควบคุม

โดรน Hermes 450 ของกองทัพบก ที่มาภาพ: https://aagth1.blogspot.com/2018/06/hermes-450-uav.html

หนึ่งในโดรนสมรรถภาพสูงที่ใช้กันในหลายประเทศคือ Hermes 450 ผลิตโดย Elbit Systems ของประเทศอิสราเอล โดรนตัวนี้กองทัพบกไทยเพิ่งซื้อมาจำนวน 4 ลำ เมื่อปี พ.ศ. 2561 คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 900 ล้านบาท โดยประจำอยู่ที่ศูนย์การบินทหารบก จังหวัดลพบุรี มีจุดประสงค์เพื่อใช้ในภารกิจเกี่ยวกับการชี้เป้าหมาย, ข่าวกรอง, ตรวจการณ์ และลาดตระเวน (ISR) สมรรถนะของโดรนตัวนี้สามารถบินอยู่ได้ในอากาศนานถึง 18 ชม. ที่ความสูง 18,000 ฟุต

จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยจะต้องจัดหาโดรนที่มีประสิทธิภาพในระดับเดียวกัน (หรือแปลงหน้าที่ของ Hermes 450 ที่มีอยู่แล้ว และย้ายศูนย์ควบคุมมาอยู่ภาคเหนือ) ให้กับหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการควบคุมไฟป่า

นอกเหนือจากนั้นกองทัพบกไทยยังมีโดรน Searcher Mk II อีก 4 ลำที่ซื้อมาในวงเงิน 500 ล้านเมื่อปี พ.ศ. 2552 น่าจะพอแบ่งปันมาใช้งานในวิกฤตการณ์ดับไฟป่าได้

ในส่วนของกองทัพอากาศไทย มีโดรนสัญชาติไทยที่สามารถนำมาช่วยงานดับไฟป่าได้อยู่อย่างน้อย 2 ชนิด เรามีโดรน U1 ที่ผลิตโดยบริษัทไทย จำนวนตามสัญญาจัดซื้อ 17 ลำ มีสมรรถนะบินได้ 10 ชม. และมีระยะบินกว่า 100 กม. และมี TEagle Eye IIเป็น UAV ขนาดเล็กที่พกพาและเคลื่อนที่ได้ง่าย ได้รับการพัฒนาโดยโรงเรียนนายเรืออากาศ

โดรนอีก 4 ชนิดของกองทัพอากาศ เป็นโดรนที่เรานำเข้ามาจากต่างประเทศ คือ Dominator, Aerostar, และ Orbiter II จากบริษัท Aeronautics ประเทศอิสราเอล และ Raven ซึ่งเป็น UAV ขนาดเล็กติดกล้องอินฟราเรดจากสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันกองทัพใช้ปฏิบัติการใน 3 จังหวัดภาคใต้ (มีการอัปเดตข้อมูลหลังจากบทความนี้ถูกส่งไปยังกองบรรณาธิการแล้วว่า ทางกองทัพอากาศได้ส่ง U1 จำนวน 1 ลำไปช่วยค้นหา hot spot ในจังหวัดเชียงใหม่)

U1 ของกองทัพอากาศไทย

โดรนที่กล่าวมาทั้งหมดจะเป็นกลุ่ม fixed-wing ที่มีสมรรถนะการบินได้นานหลายชั่วโมง ซึ่งจะต่างจากโดรน rotary-wing ที่มีความคล่องตัวแต่ใช้งานได้ในรัศมีแคบ ปัจจุบันมีการใช้งานกับปฏิบัติการดับไฟป่าอยู่บ้างแล้ว

ด้วยเหตุนี้เองกองทัพไทยมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่จะต้องนำทรัพยากรทางการบินที่มีอยู่แล้ว มาช่วยเหลือหน่วยงานอื่นๆ ในการจัดการกับวิกฤตการณ์ไฟป่า หรือมิเช่นนั้นรัฐบาลก็ต้องจัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อมาจัดซื้อโดรนสมรรถนะสูงเหล่านี้ ในการนำไปใช้ค้นหา hot spot ได้อย่างทันท่วงที และที่สำคัญ ต้องประสานงานกับนักต่อสู้เพลิงป่าภาคพื้นดิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการต่อสู้กับไฟป่าและลดความเสี่ยงสูญเสียชีวิตให้มากที่สุด

2. เครื่องบินทิ้งระเบิดน้ำ (Water Bomber)

เมื่อสามารถค้นหา hot spot ในแบบ real time ได้แล้ว เครื่องบินทิ้งระเบิดน้ำในแบบ fixed-wing เป็นตัวเลือกที่สำคัญในการจัดการกับไฟป่าขนาดใหญ่ ในระดับที่ชาวเหนือกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

ภารกิจนี้ในต่างประเทศมีเครื่องบิน ตัวอย่างเช่น Viking Canadiar CL-515 Amphibious Water Scooping Aircraft ซึ่งเป็นเครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบก สามารถขึ้นลงในแหล่งน้ำได้ เครื่องบิน CL-515 สามารถตักน้ำได้ 7,000 ลิตร ภายในเวลา 14 วินาที จากแหล่งน้ำที่ใช้บินขึ้นลงและยังสามารถบรรทุกสารเคมีหน่วงไฟได้อีกด้วย

ในแถบอาเซียน มาเลเซียมีเครื่องบิน CL-415 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นเก่า ประจำการอยู่ 2 ลำ อินโดนีเซียก็เพิ่งสั่งซื้อรุ่นใหม่ CL-515 จำนวน 6 ลำ มาใช้ดับไฟป่าตามเกาะต่างๆ ของประเทศ

ประเทศอื่นๆ ที่เกิดเหตุไฟป่าบ่อยครั้ง ก็เลือกใช้เครื่องบินในซีรีส์นี้อยู่หลายประเทศด้วยกัน เช่น แคนาดามีอยู่ 64 ลำ สเปน 21 ลำ อิตาลี 19 ลำ และกรีซ 18 ลำ รวมทั้งหมดเกือบ 200 ลำทั่วโลก

CL-515 ที่มาภาพ: https://www.flightglobal.com/business-aviation/paris-viking-air-wins-launch-order-for-cl-515-water-bomber/133210.article

มีการประเมินการว่าเครื่องบิน CL-515 1 ลำ สามารถบรรทุกน้ำได้ทั้งหมด 700,000 ลิตรต่อวัน (ซึ่งคิดเป็นประมาณ 100 เที่ยวต่อวัน) หากมีแหล่งน้ำที่ใกล้พอ หรือเทียบเท่าปริมาณน้ำสูง 1 ซม. บนพื้นที่กว่า 45 ไร่ ในกรณีนี้ หากเรามีการจัดซื้อเครื่องบิน CL-515 1 ฝูงบินเป็นจำนวน 10 ลำ จะสามารถครอบคลุมพื้นที่ในการช่วยดับไฟได้มากถึง 450 ไร่ต่อวัน

ราคาประเมินของเครื่องบิน CL-515 จะอยู่ที่ประมาณ 900 ล้านบาทต่อลำ

หากเราจัดซื้อ 10 ลำจะคิดเป็นราคารวม 9,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วยังมีราคาที่ต่ำกว่าเรือดำน้ำ 2 ลำจากประเทศจีน ที่กองทัพเรือสั่งซื้อไปในราคารวม 22,500 ล้านบาท

ระยะความยาวของรันเวย์บนน้ำที่เครื่องบิน CL-515 ต้องใช้คือ 1.05 กิโลเมตร ในกรณีที่รัฐบาลไทยจัดซื้อเครื่องบินชนิดนี้ และให้ประจำการอยู่ที่ภาคเหนือ ก็จะสามารถใช้แหล่งน้ำหลายที่เป็นจุดประจำการ เช่น เขื่อนแม่กวง ที่จังหวัดเชียงใหม่ เขื่อนภูมิพลที่จังหวัดตาก อ่างเก็บน้ำแม่ต๊าก จังหวัดเชียงราย หรือกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา รวมถึงที่อื่นๆ ในภูมิภาคที่มีความเหมาะสม

นอกเหนือไปกว่านั้น ในช่วงนอกฤดูกาลไฟป่า เครื่องบิน CL-515 นั้นสามารถนำไปปรับใช้ได้ในหลายบทบาท ตั้งแต่การทำหน้าที่ลาดตระเวนในน่านน้ำทะเลไทย กู้ภัยทางทะเล หรือตอบสนองภัยพิบัติด้านต่างๆ ทำให้ตัวเลือกนี้มีความน่าสนใจในการจัดซื้อของรัฐบาลไทยเป็นอย่างมาก

เครื่องบินดับเพลิงแบบ fixed-wing นั้น ยังมีอีกหลายรูปแบบที่เราควรศึกษาถึงสมรรถนะและความเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น เครื่องบินน้ำ Beriev Be-200 ของรัสเซีย ที่สามารถบรรจุน้ำหรือสารหน่วงไฟได้ 12,000 ลิตร หรืออาจจะเป็นการปรับเปลี่ยนเครื่องบิน C-130 จำนวนหนึ่ง ของกองทัพอากาศไทย (จากทั้งหมด 12 ลำ) มาใส่อุปกรณ์โปรยน้ำ Modular Airborne FireFighting System (MAFFS)เพื่อนำมาบรรทุกน้ำหรือสารหน่วงไฟที่ความจุ 15,000 ลิตร ซึ่งผมทราบมาว่ากองทัพอากาศไทยมีอุปกรณ์ MAFFS นี้ของ C-130 ใช้อยู่บ้างแล้ว และสามารถประสานงานกับกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อขอมาใช้เพิ่มเติมเป็นการชั่วคราว (ปัจจุบันเรามีเครื่องบิน BT-67 จำนวน 2 ลำที่ติดอุปกรณ์ MAFFS บรรจุน้ำหรือสารหน่วงไฟได้ 3,000 ลิตรต่อเที่ยว ใช้งานอยู่แล้ว)

ระบบ Modular Airborne FireFighting System (MAFFS) ติดตั้งบนเครื่องบิน C-130 ของกองทัพสหรัฐฯ เพื่อใช้ช่วยดับไฟป่า ที่มาภาพ: https://www.airforcemag.com/article/fighting-the-california-fires/

นอกเหนือจากนั้น ในสหรัฐฯ ยังมีการพัฒนาระบบที่เรียกว่า Precision Container Aerial Delivery System (PCADS) ซึ่งใช้วัสดุพลาสติกชีวภาพโพลียูรีเทนและกล่องกระดาษรีไซเคิลในการบรรจุน้ำหรือสารหน่วงไฟ และโปรยมาจากเครื่องบิน ทำให้เราสามารถดัดแปลงเครื่องบินลำเลียงหลายชนิดมาเป็นอุปกรณ์ช่วยดับไฟป่า (สำหรับ C-130 ของไทยจะบรรทุกน้ำด้วยระบบ PCADS ได้ประมาณ 15,000 ลิตรต่อเที่ยว) ทราบมาว่ากองทัพอากาศมีความพยายามนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในประเทศไทย แต่เรายังไม่เห็นการใช้งาน PCADS อย่างเป็นรูปธรรม เราจึงควรเร่งรัดการจัดหาและจัดซื้อเครื่องมือพวกนี้อย่างเร่งด่วนและเพียงพอต่อระดับของปัญหา และในขณะเดียวกันเราควรทำงานวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์เสริมเหล่านี้ให้สามารถผลิตได้เองภายในประเทศ

ระบบ Precision Container Aerial Delivery System (PCADS) ที่มาภาพ: http://www.flexattack.com/the-wildfire-crisis-solution/

การจัดซื้อเครื่องบินใหม่หรือปรับเปลี่ยนหน้าที่ของทรัพยากรของกองทัพที่มีอยู่แล้ว โดยคำนึงถึงความเพียงพอต่อขนาดของปัญหา เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรไตร่ตรองเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังต่อการบรรเทาทุกข์ของประชาชนต่อวิกฤตการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ตอนนี้

และท้ายที่สุด รัฐบาลควรคำนึงว่าการจัดซื้อเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อภารกิจดับไฟป่า ไม่จำเป็นต้องดำเนินการผ่านกองทัพ ซึ่งไม่ใช่หน้าที่โดยตรง แต่ควรเน้นเสริมสร้างขีดความสามารถต่อภารกิจนี้โดยตรง เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย หรือกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

3. เฮลิคอปเตอร์ดับเพลิง (Helitankers)

ในสถานการณ์ไฟป่าที่เครื่องบิน fixed-wing สามารถเข้าถึงได้ยาก เช่น พื้นที่ลาดชัน หรือระยะขอบเขตระหว่างป่ากับชุมชน อากาศยาน rotary-wing (หรือเฮลิคอปเตอร์) อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะความคล่องตัวในการบิน และความแม่นยำในการทิ้งน้ำ

สถานการณ์ที่เชียงใหม่ในปัจจุบัน เราเห็นการใช้เฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรฯ ในการช่วยดับไฟป่า ด้วยการใช้กระเช้าตักน้ำ “Bambi buckets” ห้อยมาจากตัวเฮลิคอปเตอร์ ข้อดีของกระเช้า Bambi คือการที่เราสามารถแปลงเฮลิคอปเตอร์ประเภทใดก็ได้ ให้เป็นเครื่องมือในการช่วยดับเพลิง แต่ปัญหาที่สำคัญคือ การมีปริมาณความจุน้ำที่น้อย เนื่องจากเฮลิคอปเตอร์ส่วนใหญ่ในบ้านเรามีขนาดเล็ก

แต่เรื่องน่ายินดีก็คือ ในขณะนี้เรามีเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิง “เจ้าปักเป้าสีส้ม” KA-32 อยู่จำนวน 2 เครื่องจากประเทศรัสเซีย และทำการปฏิบัติการอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยแต่ละลำสามารถบรรจุแทงก์น้ำได้ 3,000 ลิตร บวกกับกระเช้าตักน้ำที่สามารถบรรจุได้ถึง 5,000 ลิตร โดย KA-32 ทั้ง 2 เครื่องนี้เป็นทรัพยากรของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และดูแลโดยศูนย์การบินทหารบกของกองทัพไทย

อย่างไรก็ตาม ระดับความวิกฤติของไฟป่าในปัจจุบันทำให้เราทราบว่าทรัพยากรของกองทัพและหน่วยงานต่างๆ ในด้านนี้ก็ยังไม่เป็นที่เพียงพอต่อความต้องการ

KA-32 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย

ในต่างประเทศมีการสร้างและดัดแปลงเฮลิคอปเตอร์สมรรถนะสูงมาเป็นอากาศยานดับเพลิงโดยเฉพาะ ในวิกฤตการณ์ไฟป่าในออสเตรเลียที่ผ่านมา Erikson S64 Skycrane มีบทบาทอย่างสูงในการช่วยดับไฟป่า Skycrane เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ปกติแล้วถูกนำออกมาเพื่อใช้ยกของหนัก และสามารถใส่แทงก์บรรจุน้ำหรือสารเคมีหน่วงไฟได้กว่า 10,000 ลิตรต่อครั้ง และใช้เวลาประมาณ 45 วินาทีในการดูดน้ำเข้าแทงก์จากแหล่งน้ำตื้นได้

Skycrane ยังสามารถติดปืนใหญ่ฉีดน้ำ ทำให้การควบคุมทิศทางในการปล่อยน้ำมีความแม่นยำกว่าเดิม และไม่จำเป็นต้องทิ้งน้ำพร้อมกันหมด นั่นหมายความว่า Skycrane จะสามารถเป็นประโยชน์ต่อการช่วยดับไฟในชุมชน ในเมือง หรือตัวอาคารสูง นอกฤดูกาลไฟป่าได้อีกด้วย นอกเหนือจากนั้น Skycrane สามารถนำไปใช้งานการยกของหนักต่างๆ ได้สูงสุดถึง 10 ตัน ในต่างประเทศยังมีการใช้งานเพื่อการก่อสร้างตึกสูงอีกด้วย แต่จุดอ่อนของ Skycrane เองก็คือไม่สามารถบรรทุกคนได้เกิน 5 คน และไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อลาดตระเวนหรือทำกิจกรรมกู้ภัยต่างๆ

Erikson S64 Skycrane ที่มาภาพ: https://www.fairlifts.com/helicopters/helicopter-specifications-s-64-skycrane/

ราคาประเมินของ Skycrane ต่อลำคือ 900-1200 ล้านบาท หากเรามี Skycrane เป็นฝูงบินจำนวน 10 ลำ (ราคารวมเท่ากันเรือดำน้ำ 2 ลำจากจีน) ภายในหนึ่งวัน เราจะมีกำลังทิ้งน้ำได้ถึง 12 ล้านลิตร หรือเทียบเท่าปริมาณน้ำสูง 1 ซม. บนพื้นที่กว่า 750 ไร่

นอกเหนือไปกว่านั้น ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่าทางบริษัทผู้ผลิตเปิดให้เช่า Skycrane ในราคา 45 ล้านบาทต่อการใช้งาน 3 เดือน วิกฤตการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่ในออสเตรเลียมีการเช่าใช้เป็นจำนวนหลายลำ ส่วนประเทศที่มี Skycrane ประจำการในปัจจุบัน คือ อิตาลี เกาหลี และสหรัฐฯ

4. การใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) สู้กับไฟป่า

ในโลกยุคนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นโลกของข้อมูล หากข้อมูลที่เรามีอยู่แล้วถูกนำมาใช้อย่างถูกวิธี ด้วยการค้นหาแนวโน้ม ความน่าจะเป็นของสถานการณ์ต่างๆ การแก้ไขปัญหาของประเทศเราจะสามารถทำได้แม่นยำและเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

ในต่างประเทศการแก้ไขปัญหาไฟป่าได้เริ่มนำการใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคาดเดาสถานการณ์ ตัวอย่างที่ควรศึกษา คือความพยายามของผู้เกี่ยวข้องในสหรัฐฯ และสเปน

WIFIRE Lab เป็นสถาบันที่สังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตแซนดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของนักวิจัยสาขาวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ที่มาช่วยกันทำงานวิจัยเกี่ยวกับการแก้ปัญหาไฟป่า เป็นวิธีการแก้ปัญหาเชิงบูรณาการ โดยทำการรวบรวมข้อมูลต่างๆ จากกล้องเซ็นเซอร์ภาคพื้นดินและทางอากาศ สถานีตรวจและบันทึกการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และลักษณะภูมิประเทศ เพื่อสร้างฐานข้อมูลใหญ่และโมเดลที่ช่วยในการแก้ปัญหาไฟป่าที่กำลังเกิดขึ้น และคาดเดาสถานการณ์ไฟป่าในอนาคต โดยมีการเชื่อมต่อข้อมูลกับนักผจญเพลิงภาพพื้นดินและเปิดเผยข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน โดยทางการ WIFIRE Lab รายงานว่ามีสถิติการเข้าถึงข้อมูลกว่า 8 ล้านครั้งภายในปี 2017

WIFIRE Lab

ข้อมูลที่ WIFIRE Lab นั้นถูกประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ผ่านพลังการทำงานของ Supercomputer ที่ได้รับการบริจาคจากภาคเอกชน การทำงานวิจัยต่างๆ นั้นได้รับทุนสนับสนุนจาก National Science Foundation (สวทช. ของสหรัฐฯ) และยังเปิดรับบริจาคจากสาธารณชนอีกด้วย

นอกเหนือจากนั้น ยังมีบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศสเปน ได้ทำการสร้างเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Bseed WATCH ซึ่งเป็นระบบที่มีการติดตั้งตัวเซ็นเซอร์ในพื้นที่ป่าเพื่อทำการตรวจสอบข้อมูลสภาวะอากาศ ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อุณหภูมิ ความชื้น ความเร็วลม ในทุกๆ 10 วินาที เพื่อประมวลผลจุดเสี่ยงการเกิดไฟป่าแบบ real time ผ่านแผนที่ในมือถือ ที่สามารถเปิดให้สาธารณชนเข้าถึงได้ และระบบจะทำการแจ้งเตือนผ่านทางข้อความ SMS ถึงนักผจญเพลิงและประชาชนทั่วไปอีกด้วย

การประมวลผลของ Bseed WATCH ที่มาภาพ: http://www.pyro.es/bseed-watch/

ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีที่กล่าวมา ในการแก้ไขปัญหาไฟป่า จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องสนับสนุนงานวิจัยในด้านนี้และใช้ความสามารถด้านข้อมูลของประเทศไทยมาต่อสู้กับวิกฤตการณ์ไฟป่าที่รุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี และหวังว่าภาคเอกชนเองที่เคยได้รับผลประโยชน์จากเศรษฐกิจในภาคเหนือจะร่วมกันช่วยเหลือสมทบทุนในงานวิจัยด้านนี้ ในทางปฏิบัติ ควรมีการตั้งศูนย์วิจัยเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ไฟป่า ประจำมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งใดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล ประมวลผล และต่อยอดงานวิจัยด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ไฟป่า

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น สามารถสรุปเป็นข้อเสนอเร่งด่วนที่รัฐพึงพิจารณาได้ 3 ประเด็น คือ