เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2558 อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฟูกูโอกะ รองประธานสภาจังหวัดฟูกูโอกะ ผู้แทนจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) และผู้แทนจากสถานทูตประเทศญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เปิดตัวบ่อฝังกลบขยะมูลฝอยแบบกึ่งใช้อากาศของเทศบาลเมืองสีคิ้ว ณ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลเมืองสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือทางเทคโนโลยีระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ที่ กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) ร่วมกับจังหวัดฟูกูโอกะ ศูนย์สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมของประเทศญี่ปุ่น (JESC) ไจก้า สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 (นครราชสีมา) และเทศบาลเมืองสีคิ้ว ร่วมดำเนินโครงการการพัฒนาระบบฝังกลบขยะมูลฝอยชุมชนสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดกลางและขนาดเล็ก ในปี 2555-2558 เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการฝังกลบขยะมูลฝอยแบบกึ่งใช้อากาศ (Semi- Aerobic Landfill) สำหรับปรับปรุงสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยแบบเทกองของไทยให้เป็นรูปแบบที่ถูกต้อง ถูกหลักสุขาภิบาล
นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า ที่ผ่านมาการกำจัดขยะแบบเทกอง หรือหากฝังกลบอย่างถูกวิธีจะฝังกลบแบบถูกลักษณะหรือ Sanitary Landfill ซึ่งมีต้นทุนสูง และมีโอกาสเกิดไฟไหม้หากบริหารจัดการไม่ดี แต่การฝังกลบแบบกึ่งใช้อากาศนั้นเป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับประเทศไทย ซึ่งได้เริ่มที่เทศบาลเมืองสีคิ้วเป็นแห่งแรก โดยเป็นพื้นที่ต้นแบบและขยายผลเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับท้องถิ่นอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า เทคโนโลยีนี้ได้รับการถ่ายทอดจากจังหวัดฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น โดยเจ้าหน้าที่ของเทศบาลเมืองสีคิ้วที่เดินทางไปอบรมหลักสูตรการออกแบบและใช้เทคโนโลยีดังกล่าวที่ประเทศญี่ปุ่นประมาณ 6 สัปดาห์ ซึ่งจากการศึกษาพิจารณาแล้วว่า บ่อฝังกลบขยะแบบกึ่งใช้อากาศเหมาะสมกับขยะของไทย และเหมาะที่จะใช้ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ปริมาณขยะไม่เกิน 50 ตันต่อวัน
“บ่อฝังกลบขยะแบบกึ่งใช้อากาศมีข้อดีกว่าการฝังกลบแบบ Sanitary Landfill เนื่องจากมีออกซิเจนไหลเวียนอยู่ในบ่อขยะ ซึ่งส่งผลให้ลดกลิ่นเหม็นเพราะมีการย่อยสลายได้ดีขึ้นและรวดเร็วขึ้น ขยะยุบตัวเร็วจึงยืดอายุการใช้งานบ่อขยะ อีกทั้งน้ำที่ไหลออกจากบ่อขยะจะไม่เสียและกลิ่นไม่เหม็น เนื่องจากมีออกซิเจนในน้ำ อีกทั้งยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงประมาณ 20 เท่า โดยเฉพาะมีเทน เนื่องจากมีท่อระบายความร้อน รวมถึงดูแลรักษาง่าย และลงทุนต่ำ” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าว
ด้านนายปรีชา จันทรรวงทอง นายกเทศมนตรีเมืองสีคิ้ว กล่าวว่า พื้นที่เทศบาลมีขยะวันละประมาณ 20 ตันต่อวัน กว่า 50 ปีที่ผ่านมาจะกำจัดโดยการทิ้งเทกองในพื้นที่ประมาณ 11 ไร่ ทำให้เกิดน้ำเสียและกลิ่นเหม็น จากปัญหาดังกล่าวทางเทศบาลก็พยายามแก้ปัญหามาตลอดโดยเริ่มจากการลดปริมาณขยะที่ทิ้งเทกองโดยรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนและพื้นที่การค้าต่างๆ ในจังหวัดคัดแยกขยะ ทำให้มีขยะเหลือทิ้งประมาณ 16 ตันต่อวัน ต่อมาเมื่อมีโครงการความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นนี้ขึ้น ทางสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 ได้เสนอชื่อเทศบาลเมืองสีคิ้วไปยัง คพ. เพื่อให้ไจก้าคัดเลือกจนกระทั่งก่อสร้างบ่อขยะฝังกลบขยะแบบกึ่งอากาศได้ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า วิธีการกำจัดขยะแบบกึ่งใช้อากาศนี้ไม่ซับซ้อน คือ เมื่อสร้างบ่อเสร็จแล้วก็สามารถนำขยะเททิ้งได้ทันที โดยทุกๆ ความหนาของขยะที่ 3 เมตร จะกลบทับด้วยดินหนาประมาณ 50 เซนติเมตร หลังจากการออกซิเจนที่ไหลเวียนอยู่ภายในกองขยะจะทำหน้าที่ย่อยสลายเองโดยธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของการกำจัดขยะระบบนี้คือกำจัดขยะชุมชนเท่านั้น นั่นคือ ต้องคัดแยกขยะอันตรายและขยะติดเชื้อออกก่อน
สำหรับพื้นที่สร้างบ่อขยะแบบกึ่งใช้อากาศนี้มีขนาดประมาณ 54×80 เมตร หรือประมาณ 4 ไร่ สร้างอยู่ในพื้นที่ทิ้งเทกองขยะเดิม สามารถจุขยะได้รวมประมาณ 2,700 ตัน ในกรณีที่ยังมีขยะทิ้งปริมาณ 16 ตันต่อวัน บ่อขยะนี้จะมีอายุการใช้งานประมาณ 1-2 ปี ปัจจุบันทางเทศบาลมีโครงการคัดแยกขยะพลาสติกไปผลิตเป็นน้ำมันดีเซลด้วยระบบไพโอไรซิส โดยจะขายขยะให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีไปผลิตน้ำมันเพื่อขายน้ำมันดีเซลให้กองทัพภาคที่ 2 เพื่อใช้ในเครื่องจักรกลหนัก ซึ่งหากการคัดแยกขยะดังกล่าวทำให้เหลือขยะทิ้งร้อยละ 10-30 ก็จะยืดอายุการใช้งานบ่อขยะได้ถึง 3-9 ปี
“บ่อขยะใหม่นี้ช่วยเราได้มากในการแก้ปัญหาขยะของเทศบาลที่ทิ้งเทกองมานาน ความร่วมมือที่ญี่ปุ่นสร้างให้กับเทศบาลเมืองสีคิ้วคือ วิธีคิด วิธีการทำงาน โดยเจ้าหน้าที่ทั้ง 6 คนที่ส่งไปอบรมนั้นได้ความรู้เรื่องหลักการออกแบบระบบ สูตรการคำนวณการก่อสร้าง และการประยุกต์ใช้วัสดุท้องถิ่น ได้ฝึกวิธีคิดและสร้างจิตสำนึกของการทำงานเพื่อการกำจัดขยะอย่างแท้จริง อีกทั้งในทุกๆ ขั้นตอนของกระบวนการออกแบบและก่อสร้างทางญี่ปุ่นได้เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด มีการรายงานผลต่อเนื่องทุกวัน ในระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี ตั้งแต่สิงหาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้เกือบพร้อมใช้งานได้แล้ว เหลือเพียงลาดถนนซีเมนต์บนทางวิ่งลงบ่อเท่านั้น” นายปรีชากล่าว
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า เทศบาลลงทุนประมาณ 9 ล้านบาทในการก่อสร้างบ่อขยะแห่งนี้ ซึ่งถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับการฝังกลบแบบ Sanitary Landfill ที่อาจต้องลงทุนถึง 100 ล้านบาท และหลังจากนี้ก็ต้องประเมินผลการใช้จริงต่อเนื่องอีกระยะซึ่งทางญี่ปุ่นจะติดตามผลนี้ด้วย ส่วนทางเทศบาลเมืองสีคิ้วนั้นตั้งใจไว้แล้วว่าจะทำให้บ่อขยะแห่งนี้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
นายทาเคโนริ ยามาซากิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า จุดเด่นของบ่อขยะฝังกลบแบบกึ่งใช้อากาศคือ 1. ใช้เทคโนโลยีต่ำ (low tech) คือสร้างแบบระบบที่ทำให้ออกซิเจนเข้าไปในขยะได้เท่านั้น แล้วให้ธรรมชาติจัดการขยะนั้นเอง และ 2. ราคาถูก จากพึ่งพาธรรมชาติในการย่อยสลาย นี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้การกำจัดขยะระบบนี้ได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่น เนื่องจากออกแบบมาโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เป็นมาตรฐานให้กับบ่อขยะฝังกลบอื่นๆ ในญี่ปุ่นด้วย โดยสำหรับจังหวัดฟูกูโอกะเองกำจัดขยะระบบกึ่งใช้อากาศถึง 19 แห่งจากบ่อขยะทั้งหมด 21 แห่ง
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ฟูกูโอกะมีปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมมากเนื่องจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เช่น อากาศเป็นพิษ แหล่งน้ำจืดและน้ำเค็มปนเปื้อน ฯลฯ ทำให้ต้องคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากลดปริมาณขยะจากต้นทางซึ่งคัดแยกเป็นขยะที่เผาได้และขยะที่เผาไม่ได้ หลังจากนั้นจึงพิจารณาว่าขยะที่เหลือทิ้งจริงๆ นั้นเหมาะที่จะนำไปฝังกลบแบบไหน ซึ่งสำหรับบ่อขยะฝังกลบแบบกึ่งใช้อากาศนี้เริ่มใช้ในญี่ปุ่นมากว่า 40 ปีแล้ว
นายทาเคโนริกล่าวต่อว่า จังหวัดฟูกูโอกะมีโครงการแลกเปลี่ยนความรู้กับต่างประเทศในโครงการอบรมพัฒนาบุคลากรทางด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2549 โดยปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ผ่านการอบรมแล้ว 47 คน ต่อมาในปี 2552 เจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย ได้เข้าอบรมเรื่องการฝังกลบขยะแบบกึ่งใช้อากาศและนำกลับมาเสนอเพื่อใช้ในประเทศไทย ซึ่งฟูกูโอกะได้ปรึกษากับไจก้าเพื่อขอการสนับสนุนและเริ่มโครงการความช่วยเหลือนี้มาตั้งแต่ปี 2555
ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ประธานชมรมไทย-ฟูกูโอกะ กล่าวว่า บ่อฝังกลบแบบกึ่งใช้อากาศ มีเทคนิคสำคัญคือเลือกใช้ท่อระบายน้ำหลักขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร ที่เจาะรูเพื่อให้อากาศเข้าไปในบ่อขยะได้ ซึ่งออกซิเจนที่ผสมกับน้ำจะทำให้น้ำไม่เน่า และขยะที่ถูกออกซิเจนก็จะย่อยสลายเร็วเพราะแบคทีเรียเติบโตได้ดี ทั้งนี้ ต้องระวังอุณหภูมิบ่อขยะให้อยู่ระหว่าง 50-70 องศาเซลเซียส เนื่องจากอุณหภูมิที่ต่ำกว่านี้จะทำให้แบคทีเรียไม่ขยายพันธุ์ และหากอุณหภูมิสูงกว่านี้จะทำให้แบคทีเรียตาย “ที่ผ่านมาคนไทยไม่สนใจเทคโนโลยีนี้ เพราะว่าคนไทยมองสูงเกินไป ไม่ยอมหันมามองการพึ่งพาธรรมชาติ”