ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 14 ปีห้วยคลิตี้ เมืองกาญจน์ฯ สารตะกั่วยังสูง แม้กรมควบคุมมลพิษจะยืนยันว่า “น้ำ” ดื่มได้ แต่ “สัตว์น้ำ” ยังกินไม่ได้

14 ปีห้วยคลิตี้ เมืองกาญจน์ฯ สารตะกั่วยังสูง แม้กรมควบคุมมลพิษจะยืนยันว่า “น้ำ” ดื่มได้ แต่ “สัตว์น้ำ” ยังกินไม่ได้

31 พฤษภาคม 2012


นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ
นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งแม้ว่าจะผ่านมา 14 ปีแล้ว แต่ปัญหาที่เกิดจากการปนเปื้อนของสารตะกั่วในห้วยคลิตี้ยังคงมีอยู่

การเดินทางมายังหมู่บ้านคลิตี้ค่อนข้างลำบากด้วยระยะทางที่ไกลและถนนลูกรังที่ขรุขระ คดโค้ง และลาดชันตามภูเขา มุ่งเข้าสู่หมู่บ้านเล็กๆ ของชาวกะเหรี่ยง ที่ตั้งอยู่บนต้นน้ำของแม่น้ำแม่กลอง ณ ที่นี้ หากมองเพียงตาเปล่าเราจะเห็นธรรมชาติยังคงอุดมสมบูรณ์ทั้งต้นไม้ ลำธาร และสิ่งมีชีวิต

จุดแรกที่ได้ไปดูคือบริเวณคลิตี้บน ที่ตั้งของโรงแต่งแร่ของบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่บริเวณต้นลำห้วยคลิตี้ ต้นกำเนิดของสารตะกั่วตัวปัญหาในปัจจุบัน โรงงานแห่งนี้มีไว้เพื่อลอยแร่ตะกั่ว โดยแร่ตะกั่วจะถูกขนส่งทางรถมาจากเหมืองบ่อหินงาม

การลอยแร่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก ดังนั้นจึงตั้งโรงงานที่นี่เพราะอยู่ใกล้ลำห้วย ปัจจุบันโรงแต่งแร่แห่งนี้อยู่ในสภาพรกร้าง เนื่องจากปิดโรงงานมาตั้งแต่พ.ศ.2542 และเหมืองแร่ปิดถาวรในปีพ.ศ. 2544 หลังจากที่เปิดทำการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2510

ปัญหาสารตะกั่วปนเปื้อนน้ำในลำห้วยคลิตี้ เกิดจากการลักลอบปล่อยน้ำทิ้งจากบ่อกักเก็บตะกอนหางแร่ของโรงงานลงสู่ลำห้วย โดยเจ้าของโรงงานอ้างภายหลังว่า บ่อกักเก็บนั้นไม่สามารถรองรับตะกอนทั้งหมดไว้ได้ จึงต้องปล่อยทิ้งโดยตรงสู่ลำห้วย จนสารตะกั่วสะสมเป็นจำนวนมาก กระทั่งน้ำเปลี่ยนสีและมีกลิ่นเหม็นเป็นระยะทาง 20 กิโลเมตร จากโรงแต่งแร่ ทางศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนาจึงร้องเรียนมายังกรมควบคุมมลพิษในเดือนเมษายน พ.ศ. 2541 เพื่อเร่งจัดการแก้ไข

ลำห้วยคลิตี้ กรมควบคุมมลพิษระบุว่าน้ำนำไปใช้ดื่ม แต่สัตว์น้ำยังห้ามนำไปรับประทาน
ลำห้วยคลิตี้ กรมควบคุมมลพิษระบุว่าน้ำนำไปใช้ดื่ม แต่สัตว์น้ำยังห้ามนำไปรับประทาน

จากนั้นได้เดินทางต่อมายังหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนของสารตะกั่วอย่างหนัก แม้ว่าที่นี่จะกลายเป็นที่รู้จักของคนไทยทั้งประเทศ ผู้คนมากมายเดินทางมายังหมู่บ้านแห่งนี้ แต่สะพานข้ามลำห้วยก็ยังคงเป็นสะพานไม้เก่าๆ ที่ลาดเอียงเทไปข้างหนึ่ง

ผ่านมา 14 ปี จากการลงพื้นที่ตรวจสอบทุกๆ 3 เดือน สถานการณ์ล่าสุดในการติดตามแก้ไขปัญหาลำห้วยคลิตี้ของกรมควบคุมมลพิษพบว่า คุณภาพน้ำในลำห้วยคลิตี้มีการฟื้นตัวตามธรรมชาติ มีปริมาณสารตะกั่วในน้ำไม่เกินมาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำผิวดิน คือ 0.05 มิลลิกรัมต่อลิตร มาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ประชาชนสามารถใช้ได้ แต่หากจะดื่มควรผ่านการกรองและต้มฆ่าเชื้อโรคก่อน ส่วนสัตว์น้ำยังคงไม่สามารถนำมากินได้เพราะมีความเกี่ยวข้องกับตะกอนดินอยู่ ซึ่งปูคือสัตว์น้ำที่พบสารตะกั่วปนเปื้อนอยู่มากที่สุด

สำหรับตะกอนดินท้องน้ำยังพบสารตะกั่วในปริมาณที่สูง โดยปี พ.ศ. 2550 พบสารตะกั่วปนเปื้อนต่ำสุดอยู่ที่กว่า 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สูงสุดอยู่ที่ 39,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ลดลงจากช่วงปีแรกๆ ที่ตรวจพบการปนเปื้อนสูงสุดถึงหลักแสนมิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

กรมควบคุมมลพิษรายงานผลการตรวจสอบสารปนเปื้อนในน้ำและดินมาติดประกาศข้างฝาผนังโรงเรือน
กรมควบคุมมลพิษรายงานผลการตรวจสอบสารปนเปื้อนในน้ำและดินมาติดประกาศข้างฝาผนังโรงเรือน

ส่วนตะกอนดินที่ปนเปื้อนในท้องน้ำนั้น กรมควบคุมมลพิษเลือกที่จะไม่ขุดลอกหรือตักดินขึ้นมา เพราะป้องกันการฟุ้งกระจายของสารตะกั่ว อีกทั้งบริเวณห้วยคลิตี้มีประวัติการทำเหมืองแร่มาแต่อดีต ชั้นดินตามธรรมชาติด้านล่างก็มีสารตะกั่วอยู่แล้ว ซึ่งความหนาระหว่างชั้นดินตามธรรมชาติที่มีสารตะกั่วและชั้นดินที่ปนเปื้อนใหม่นั้นมีประมาณ 50 เซนติเมตรเท่านั้น

นอกจากนี้ การขุดลอกดังกล่าวต้องใช้แรงงานคนด้วย เพราะสภาพพื้นที่ไม่สามารถนำเครื่องจักรใดๆ มาช่วยได้ จึงยากต่อการกะระยะความลึกในการขุดลอก ดังนั้นจึงเลือกปล่อยให้ลำห้วยฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติ โดยให้ตะกอนดินใหม่ๆ มาทับถมชั้นดินที่ปนเปื้อนลงไปเรื่อยๆ

ทั้งนี้ ในการประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในห้วยคลิตี้ ครั้งที่ 3/2554 มีความเห็นชอบให้ออกแบบและปรับปรุงฝายดักตะกอน 2 แห่ง คือบริเวณ KC4 และ KC4/1 ให้มีประสิทธิมากขึ้น ในงบประมาณ 5,500,000 บาท เนื่องจากฝายเดิมเป็นเพียงการนำหินกรวดไปเทกั้นเป็นสันเขื่อนเท่านั้น ทำให้ในฤดูน้ำหลากน้ำจะไหลแรงและพัดตะกอนดินที่ปนเปื้อนสารตะกั่วลงมาตามลำห้วย จึงเกิดการฟุ้งกระจายของสารตะกั่ว แต่เขื่อนที่จะสร้างใหม่นี้จะมีการสลายพลังงานของสารตะกั่วด้วย ทำให้สารตะกั่วจมลงดินและไม่ฟุ้งกระจายแม้ในฤดูน้ำหลาก

บ่อที่เคยกักเก็บตะกอนสารตะกั่ว
บ่อที่เคยกักเก็บตะกอนสารตะกั่ว

สำหรับข้อซักถามที่ว่าทำไมถึงไม่ให้เขตห้วยคลิตี้เป็นเขตควบคุมมลพิษนั้น นายวรศาสน์กล่าวว่า เป็นเพราะโรงงานแหล่งกำเนิดของสารตะกั่วปิดตัวลงอย่างถาวรแล้ว ส่วนเรื่องคดีที่ถูกชาวบ้านคลิตี้ฟ้องนั้น ศาลได้พิพากษาแล้วว่า ปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ล่าช้าเกินควร

ด้านนายสมพงษ์ ทองผาไฉไล อายุ 47 ปี ชาวบ้านคลิตี้ เล่าว่า ชาวบ้านรับรู้ตั้งแต่แรกแล้วว่ามีโรงแต่งแร่อยู่ที่ต้นน้ำและลักลอบทิ้งน้ำในตอนกลางคืน แต่ไม่รู้ว่าสารตะกั่วคืออะไร จะส่งผลอย่างไรต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมของคลิตี้ จนกระทั่งวันสงกรานต์ในปี พ.ศ. 2541 คนภายนอกก็เข้ามาร่วมงานแล้วก็ถามชาวบ้านว่าทำไมน้ำถึงขุ่น หลังจากนั้นจึงเกิดเป็นข่าวใหญ่โต แล้วหน่วยงาน องค์กร และกลุ่มต่างๆ ก็เข้ามาในชุมนุมมากมาย ทั้งการช่วยเหลือ การเรียกร้อง และการตรวจสอบวิจัยต่างๆ

“แต่เดิมชาวบ้านสามารถกิน-ใช้น้ำ จับปลาจากลำห้วยมากินได้อย่างสบายใจ แต่หลังจากตรวจพบสารตะกั่วในลำห้วยและถูกสั่งห้ามจับสัตว์น้ำ และห้ามกินห้ามใช้น้ำในลำห้วยแล้ว ชาวบ้านหลายคนก็ยังคงใช้วิถีชีวิตเหมือนเดิม เพราะน้ำประปาภูเขาของหมู่บ้านที่สร้างในปี 2551 นั้นไหลไปไม่ถึงบ้านบางหลังที่ปลูกอยู่ในที่สูงๆ ชาวบ้านก็ต้องใช้น้ำจากห้วย หลายคนก็ยังคงจับสัตว์กินเพราะความยากจนที่ทำให้ไม่มีเงินไปซื้ออาหารจากแหล่งอื่น”

นายสมพงษ์ ทองผาไฉไล
นายสมพงษ์ ทองผาไฉไล

ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของชาวบ้านก็แปลกมากขึ้นและไม่ทราบสาเหตุ เช่น แท้งลูกกันหลายคน เด็กๆ โตมาปัญญาอ่อน อยู่ดีๆ ก็ตาบอด ชาตามแขนขา เจ็บข้อ ปวดหัว ปวดท้อง ซึ่งทางสาธารณสุขก็เข้ามาดูแลสุขภาพอยู่เป็นประจำ โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แบ่งครัวเรือนกันดูแล

“สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือกำจัดสารตะกั่วออกไปด้วยวิธีใดก็ได้ให้เร็วที่สุด เช่น เอาตะกอนดินไปทิ้ง เพราะมันคือต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด แต่สิ่งที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ ก็แค่เข้ามาตรวจและเก็บตัวอย่างเท่านั้น” นายสมพงษ์กล่าว

“เรื่องราวสารตะกั่วที่ห้วยคลิตี้”

บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสัมปทานเหมืองแร่ในปี 2510 และสิ้นสุดในปี 2539 ส่วนโรงแต่งแร่คลิตี้ได้รับสัมปทานตั้งแต่ปี 2530 และสิ้นสุดในปี 2543

เมื่อ 22 เมษายน 2541 บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ถูกกรมทรัพยากรธรณีสั่งระงับชั่วคราว (120 วัน) และปรับ 2,000 บาท ต่อมาได้บริจาคเงินให้ชาวบ้านมาตั้งเป็นเงินกองทุน 1 ล้านบาท โดยระบุว่าไม่ใช่การยอมรับผิดและชดใช้ค่าเสียหาย

30 มกราคม 2546 สภาทนายความช่วยดำเนินการให้ชาวบ้านยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวน 119,036,400 ล้านบาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 และศาลแพ่งกาญจนบุรีได้นัดสืบพยานครั้งแรกวันที่ 5 สิงหาคม 2548 ศาลชั้นต้นตัดสินให้ชาวบ้านชนะ โดยบริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้ชาวบ้านประมาณ 4 ล้านบาทเศษ

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547 ชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ 13 ราย ได้ยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ ต่อศาลปกครอง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 214/2547 ในข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่และหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าจนเกินสมควร และเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 ศาลตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษ จ่ายค่าสินไหมทดแทนชาวบ้านห้วยคลิตี้ล่าง จำนวน 22 ราย รายละ 33,783 บาท รวมเป็นเงิน 743,226 บาท จากการละเลยสั่งให้บริษัทตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ฟื้นฟู หรือระงับการปล่อยสารตะกั่วปนเปื้อนลำน้ำห้วยคลิตี้ล่างช้าเกินสมควร จนชาวบ้านได้รับความเสียหาย

วันที่ 19 ตุลาคม 2550 ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.นาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ พร้อมกับชาวบ้านคลิตี้รวม 151 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับพวกรวม 7 คน จำเลย ข้อหาหรือฐานความผิดละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เรียกค่าเสียหายจากาการได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารตะกั่วมานาน 14 ปี เป็นเงิน 1,041,952,000 บาท ซึ่งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553 ศาลจังหวัดกาญจนบุรีตัดสินให้บริษัทเจ้าของโรงแต่งแร่กับพวกรวม 7 คน ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง เป็นเงินรวมกันทั้งสิ้น 35,800,000 บาท และให้ขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไป หากไม่ยอมดำเนินการ ให้ชาวบ้านดำเนินการเอง โดยบริษัทเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ต่อมากุมภาพันธ์ 2555 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

นอกจากนี้ยังมีคดี หมายเลขแดงที่ 34262/2550 ระหว่างนายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ที่ 1 กับพวกรวม 8 คนโจทก์ ส่วนบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์(ประเทศไทย) จำกัด ที่ 1 กับพวก รวม 2 คนจำเลย โดยศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์รวม 29,551,000 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

และคำพิพากษาของศาลปกครองกลางหมายเลขแดงที่ 63/2551 ระหว่างนายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ ที่ 1 กับพวก รวม 22 คน ผู้ฟ้องคดี กรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้อง ศาลพิพากษาว่า กรมควบคุมมลพิษปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ล่าช้าเกินควร ละเลยต่อหน้าที่ในการเรียกค่าเสียหายจากผู้ก่อมลพิษก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ฟ้องคดี ให้ชดใช้เงินให้ผู้ฟ้องคดีคนละ 8,758 บาท รวมถึงค่าเสียหายต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติคนละ 25,025 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด