ThaiPublica > เกาะกระแส > โมเดลจัดการขยะชะงัก ผู้ว่าปทุมธานีเผยมีทั้งฝ่าย “ร้องเรียนและคัดค้าน” – ขยะล้นเมือง ตกค้าง 2.2 แสนตัน

โมเดลจัดการขยะชะงัก ผู้ว่าปทุมธานีเผยมีทั้งฝ่าย “ร้องเรียนและคัดค้าน” – ขยะล้นเมือง ตกค้าง 2.2 แสนตัน

12 กุมภาพันธ์ 2015


จากสถานการณ์วิกฤติขยะไทยที่ทั้งตกค้างสะสมและกำจัดไม่ถูกวิธีจนสร้างมลพิษและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปทั่วทั้งประเทศ รัฐบาลประกาศให้ขยะกลายเป็นวาระแห่งชาติ มี 6 จังหวัดเป็นโมเดลนำร่อง

จังหวัดปทุมธานีได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวโดยวางแผนการแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า แต่ถูกชาวตำบลเชียงรากใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะคัดค้าน เนื่องจากพื้นที่โครงการอยู่ติดชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม

ล่าสุดนายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างศูนย์จัดการขยะแบบบูรณาการมีความจำเป็น โดยจังหวัดปฏิบัติตามนโยบายวาระขยะแห่งชาติ เนื่องจากปทุมธานีมีปัญหาขยะล้นเมืองทั้งการลักลอบทิ้ง ขยะค้างสะสม และขยะใหม่ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกวันจากประชากรแฝงและการอพยพถิ่นเข้ามาอาศัยใหม่ ย้ำปัจจุบันโครงการยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง

นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี
นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี

นายพงศธรกล่าวต่อว่า ปทุมธานีมีปัญหาการลักลอบทิ้งขยะทั่วทั้งจังหวัด และมีขยะประมาณ 1,800 ตันต่อวัน ซึ่งขยะกว่าร้อยละ 80 นำไปฝังกลบที่บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นการกำจัดที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และบางส่วนทิ้งเทกองไว้ตามบ่อดินในจังหวัด เช่น ที่ลาดสวาย สนั่นรักษ์ และในตัวจังหวัด จนทำให้ปทุมธานีมีขยะสะสมอยู่ถึง 2.2 แสนตัน ซึ่งทางจังหวัดได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาขยะมาโดยตลอด

อีกทั้งปัจจุบันมีคนย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในปทุมธานีมากขึ้นหลังจากมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีแดง โดย 18 เดือนที่ผ่านมามีหมู่บ้านจัดสรรสร้างเพิ่มถึง 40 โครงการ มีสถาบันการศึกษา 11 แห่ง มีประชากรแฝงเกือบ 400,000 คน ในขณะที่มีประชาชนตามทะเบียนราษฎร์ 1.05 ล้านคน ซึ่งทุกคนจะสร้างขยะเพิ่มให้กับปทุมธานีแน่นอน

“จากนโยบายการจัดการขยะของรัฐบาล ปทุมธานีต้องจัดการขยะตกค้างทั้ง 2.2 แสนตัน อย่างเร่งด่วนให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือนนับจากธันวาคม 2557 ซึ่งทางจังหวัดกำจัดได้กว่า 10,000 ตันแล้ว ส่วนที่เหลือกว่าแสนตันนั้นอยู่ระหว่างการตั้งงบประมาณจัดการของเทศบาล อีกทั้งต้องส่งเสริมการบริหารจัดการขยะแบบผสมผสานโดยเน้นการแปรรูปเป็นพลังงานด้วย” นายพงศธรกล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การแปรรูปขยะเป็นพลังงานเป็นวิธีการกำจัดขยะที่จังหวัดปทุมธานีสนใจ เนื่องจากมีปริมาณขยะในจังหวัดมาก ต้องใช้ระบบการจัดการขนาดใหญ่ เฉพาะตลาดสี่มุมเมืองและตลาดไทมีขยะกว่า 400 ตันต่อวัน ในขณะที่ในจังหวัดไม่มีพื้นที่สำหรับทำบ่อฝังกลบอีกแล้ว ส่วนเตาเผาขยะเดิมที่สร้างตั้งแต่ปี 2542 ที่ตำบลคูคต มูลค่า 343.6 ล้านบาท ก็ไม่เคยได้เปิดใช้งานจนปัจจุบันเครื่องจักรพังแล้ว

ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีกล่าวต่อว่า ศูนย์จัดการขยะแบบบูรณาการที่กำลังจะเกิดขึ้นในจังหวัดปทุมธานีนั้น มั่นใจได้ว่าสะอาดและไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เพราะตัวแทนจังหวัดทั้งข้าราชการ หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชน ได้ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกันที่จะนำมาใช้ในปทุมธานีก็พบว่าไม่มีกลิ่นเหม็นและสร้างมลพิษใดๆ ทั้งๆ ที่โรงงานกำจัดขยะตั้งอยู่ร่วมกับชุมชน อีกทั้งยังมีต้นทุนกำจัดขยะที่ถูกที่สุดในประเทศไทยด้วยที่ราคา 243 บาทต่อตัน เป็นระยะเวลา 30 ปี เนื่องจากผู้ลงทุนมีรายได้จากการขายน้ำหมักชีวภาพและการขายไฟฟ้า ในขณะที่ปัจจุบันปทุมธานีจ่ายค่ากำจัดขยะที่ตันละ 666 บาท

“ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่ส่งเสริมภาคเอกชนให้จัดการขยะแบบบูรณาการโดยแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยทำหน้าที่เป็นกลางไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใด และใส่ใจในความกังวลของประชาชนด้วย ซึ่งเอกชนรายใดเข้ามาเสนอโครงการก็รับทราบทั้งหมดแต่ไม่ได้เป็นผู้เลือกบริษัทผู้ลงทุน และหากประชาชนมีข้อร้องเรียนใดๆ ก็ส่งเรื่องต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงและแจ้งให้ประชาชนทราบ” ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีกล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ปัจจุบันโครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะดังกล่าวยังไม่ได้เริ่มนับ 1 ด้วยซ้ำ เพราะยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการขออนุญาตก่อสร้าง ส่วนกรณีที่มีการทำข้อตกลงระหว่างองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นกับภาคเอกชนเมื่อเดือนธันวาคมเป็นเพียงการสร้างความเชื่อมั่นว่าปทุมธานีมีปริมาณขยะมากพอและจะขายให้กับโรงงานดังกล่าวหากก่อสร้างได้จริง แต่ไม่ได้การันตีว่าจะได้สร้างหรือไม่ ทั้งนี้การรับฟังความคิดเห็นที่บริษัทจัดขึ้นนั้นก็เป็นเพียงการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน แต่บริษัทเลือกใช้คำว่าประชาพิจารณ์ ซึ่งอาจจะให้ความหมายที่ผิดเพี้ยนไปได้

นายพงศธรกล่าวอีกว่า พื้นที่ก่อสร้างโรงงานก็ยังไม่แน่นอนว่าจะสร้างที่บริเวณใด ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ แต่เรื่องคมนาคมก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน ซึ่งพื้นที่ตรงตำบลเชียงรากใหญ่นั้นอยู่ติดถนนสายหลักหมายเลข 304 ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งขยะจากปทุมธานีไปอยุธยาในปัจจุบัน

“การคัดค้านการสร้างศูนย์จัดการขยะแบบบูรณาการของชาวบ้าน มั่นใจว่าเกิดจากอิทธิพลท้องถิ่นที่มีผลประโยชน์จากการกำจัดขยะเถื่อนในปัจจุบัน ในขณะที่ผมทำตามนโยบายทุกประการ แต่กลับถูกชาวบ้านที่ไม่ต้องการให้สร้างศูนย์จัดการขยะฯ เรียกร้องให้ไล่ออกจากจังหวัด ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือสร้างความเข้าใจกับประชาชน แต่เชื่อว่าศูนย์จัดการขยะฯ แห่งนี้คงไม่เกิดขึ้นตอนที่ผมยังเป็นผู้ว่าฯ เนื่องจากว่าจะเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคมนี้แล้ว” ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีกล่าว

ด้านนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า แผนการสร้างเตาเผาขยะเพื่อผลิตกระไฟฟ้าแทบจะเรียกได้ว่าบังคับให้ทุกจังหวัดต้องทำ เพราะการเผาขยะเพียงอย่างเดียวไม่ก่อให้เกิดความคุ้มทุนและกำไร อีกทั้งยังเป็นการเสียขยะไปโดยเปล่าประโยชน์ด้วย โดยการก่อสร้างดังกล่าวต้องคำนึงถึง 5 ปัจจัยสำคัญ คือ 1. ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรอบโดยรอบ 2. เทคโนโลยีที่ใช้ต้องไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เตาเผาต้องเผาไหม้สมบูรณ์จนไม่เกิดไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง 3. พื้นที่ก่อสร้างเหมาะสม โดย คพ. แนะนำให้ใช้พื้นที่กำจัดขยะเดิมภายในจังหวัด 4. มีความคุ้มค่าในการลงทุน นั่นคือมีปริมาณขยะ 300 ตันต่อวันขึ้นไป และ 5. ชุมชนมีความพร้อมและยอมรับการดำเนินการหลังจากที่มีการรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่แล้ว

“การลงทุนดังกล่าวต้องทำโดยเอกชน ไม่ใช่ภาครัฐ เพราะเอกชนมีเงินลงทุนและมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานมากกว่าภาครัฐ สังเกตได้จากความล้มเหลวในการจัดการขยะที่ผ่านมาของหน่วยงานท้องถิ่น อย่างไรก็ตามกรณีศูนย์จัดการขยะแบบบูรณาการของจังหวัดปทุมธานียังไม่ถึงขั้นการลงทุน” นายวิเชียรกล่าว

นอกจากนี้ประเทศไทยมีปัญหาขยะมานาน จนกระทั่งขยะกลายเป็นวาระแห่งชาติ ปริมาณขยะก็ยังคงเยอะเหมือนเดิม เพราะมีทั้งขยะค้างสะสมและขยะใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ในขณะที่การกำจัดขยะที่มีอยู่เดิมยังไม่ได้พัฒนา โดยกว่า 2,000 แห่ง เป็นบ่อฝังกลบและมีเพียงประมาณ 600 แห่ง เท่านั้นที่เป็นบ่อฝังกลบที่ถูกสุขลักษณะ ดังนั้นไม่ว่าขยะจะอยู่ที่ไหนจึงกลายเป็นปัญหากับชุมชนไปเสียหมดเพราะชุมชนเห็นและได้รับผลกระทบจากบ่อขยะอยู่เสมอ เช่น ที่แพรกษา ซึ่งปัญหาขยะที่เป็นประเด็นอยู่ในสังคมทำให้ประชาชนตื่นตระหนกว่าถ้ามีการกำจัดขยะอยู่ใกล้บ้านก็จะทำให้ได้รับผลกระทบ

“ปัจจุบันแม้ คพ. กำลังสร้างระบบการจัดการขยะรูปแบบใหม่ แต่ก็มีเสียงคัดค้านจากประชาชนอยู่เสมอไม่ว่าพื้นที่ไหน เพราะประชาชนกลัวว่าขยะจะสร้างมลพิษให้กับชุมชน ซึ่งที่จริงแล้วการจำกัดขยะนั้นมีหลากหลายวิธีและ คพ. ได้ทำแผนกว้างๆ ส่งให้แต่ละจังหวัดแล้วว่าจะต้องวางแผนกำจัดขยะในพื้นที่อย่างไรบ้าง” อธิบดี คพ. กล่าว

การจัดการขยะรูปแบบใหม่

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า โจทย์ที่ คพ. สั่งให้แต่ละจังหวัดนำไปดำเนินการมี 2 ข้อ คือ 1. กำจัดขยะค้างสะสมให้หมด และ 2. วางแผนและดำเนินการกำจัดขยะที่เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน ซึ่งประเทศไทยมีขยะเกิดขึ้นทั่วประเทศถึง 70 ล้านกิโลกรัมต่อวัน อย่างไรก็ตามการ วางแผนจัดการขยะของแต่ละจังหวัดมีกฎที่ต้องปฏิบัติตามคือ 1. ให้แต่ละท้องถิ่นในจังหวัดรวมกลุ่มกันวางแผนการจัดการขยะ เพื่อแก้ปัญหาขาดพื้นที่กำจัดขยะไม่ว่าจะเป็นบ่อฝังกลบหรือเตาเผา ปัญหาหน่วยงานท้องถิ่นขาดงบประมาณจัดการ อีกทั้งยังช่วยให้ควบคุมมลพิษได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 2. แต่ละพื้นที่สามารถใช้วิธีการกำจัดขยะได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งฝังกลบ เตาเผา หรือทำปุ๋ย

อธิบดี คพ. กล่าวต่อว่า หลังจากการดำเนินการจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติ คพ. มีหน้าที่วางกติกาการดำเนินการและกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษของรูปแบบการกำจัดขยะ เช่น การปล่อยฝุ่น สารไดออกซิน ฯลฯ โดยให้ทางจังหวัดเป็นผู้ชี้แจงรายโครงการและการดำเนินการต่างๆ ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบ ซึ่งการลงทุนภายในจังหวัดกระทำผ่านคณะกรรมการของจังหวัด และมีเจ้าหน้าที่ คพ. ส่วนจังหวัดคอยติดตามผล

ทั้งนี้ การจัดการขยะรูปแบบใหม่ที่เน้นผลิตพลังงานตามนโยบายการจัดการขยะซึ่งเป็นวาระแห่งชาตินั้น กำหนดเตาเผาขยะเพื่อผลิตพลังงานเป็น 3 ขนาด คือ ขนาดเล็ก ซึ่งรองรับขยะน้อยกว่า 50 ตันต่อวัน ขนาดกลาง ซึ่งรองรับขยะ 50-300 ตันต่อวัน และขนาดใหญ่ ซึ่งรองรับขยะมากกว่า 300 ตันต่อวัน

จากรายงานสถานการณ์ขยะประเทศไทยพบว่า ทุกจังหวัดในประเทศไทยมีปริมาณขยะมากกว่า 300 ตันต่อวัน ยกเว้น แม่ฮ่องสอน สิงห์บุรี นครนายก สมุทรสงคราม ตราด และระนอง ซึ่งมีปริมาณขยะประมาณ 200 ตันต่อวัน จัดเป็นเตาเผาขยะขนาดกลาง

ล่าสุด จากรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ขยะมูลฝอยประเทศไทยและโรดแมปการจัดการขยะมูลฝอยของ คพ. ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีศักยภาพการแปรรูปขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้ารวม 32 แห่ง ซึ่งเปิดดำเนินการแล้ว 2 แห่ง คือ เทศบาลนครภูเก็ต และเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 แห่ง คือ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลตำบลแม่ขรี จังหวัดพัทลุง และกรุงเทพมหานคร