ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. อัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1 แสนล้านช่วย SMEs “ประยุทธ์” ปัดสั่ง สปช. คว่ำรัฐธรรมนูญ เตรียมเดินหน้า 3 ภารกิจสำคัญ

ครม. อัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1 แสนล้านช่วย SMEs “ประยุทธ์” ปัดสั่ง สปช. คว่ำรัฐธรรมนูญ เตรียมเดินหน้า 3 ภารกิจสำคัญ

9 กันยายน 2015


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ปัดสั่งคว่ำร่าง รธน. – ดึงอดีต สปช.นั่งสภาขับเคลื่อนปฏิรูป

หลังการประชุม พล.อ. ประยุทธ์ แถลงข่าว โดยใช้เวลาส่วนใหญ่กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558 มีมติ 135:105 เสียง ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) เสนอ เป็นเหตุให้โรดแมปสู่การเลือกตั้งเลื่อนออกไปจากปี 2559 เป็นปี 2560 ว่า ตนไม่ได้ดีใจที่ได้เวลามาเพิ่ม เพราะการทำงานจะหนักขึ้น และตนก็ไม่ได้หรือเสียอะไร ถ้าให้วิเคราะห์สาเหตุที่ สปช. ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมีนักการเมืองออกมาพูดว่าต่อให้ผ่าน สปช. ก็จะไปตกในขั้นตอนการทำประชามติ ทำให้เงินที่จะใช้ในการทำประชามติกว่า 3,000 ล้านบาทสูญเปล่า นี่คือสิ่งที่เขากังวล ตนแรกตนก็คือว่าผ่านแน่ แต่พอมีคนมาพูดแบบนี้ ผ่านไปก็เท่านั้น เพราะยังมีความขัดแย้งอยู่

“ที่บอกว่า สปช. สายทหารทำให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป ความจริง สปช. สายทหารมีเพียง 30 คนเท่านั้น และยืนยันว่าผมหรือ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง ก็ไม่เคยสั่งให้ สปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการแต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 21 คน ขึ้นมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาบุคคลที่เหมาะสม เช่นเดียวกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จำนวน 200 คน ที่เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 ได้พิจารณาเรื่องสัดส่วนไปแล้วว่าจะมาจากบุคคลกลุ่มใดบ้าง โดยจะดูว่าใครบ้างที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เบื้องต้นจะมีทั้ง 5 ฝ่าย ได้แก่ ความมั่นคง สังคมจิตวิทยา เศรษฐกิจ ต่างประเทศ และข้าราชการ รวมถึงจะมีอดีต สปช. ทั้งที่ลงมติเห็นชอบและไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นคนที่รู้เรื่องการปฏิรูปดีอยู่แล้ว โดยการแต่งตั้งทั้ง 2 ชุด กฎหมายกำหนดว่าจะต้องแต่งตั้งให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 5 ตุลาคม 2558

เดินหน้า 3 ภารกิจสำคัญ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนได้กล่าวในที่ประชุม ครม. ว่า หลังจากนี้ การบริหารราชการแผ่นดิน จะเน้น 3 เรื่อง คือ 1. การปฏิรูป 2. การปรองดอง และ 3. การขจัดข้อขัดแย้ง โดยจะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของตนลงไปขับเคลื่อนทำให้ปราชนเห็นว่ามีประโยชน์อย่างไร จะมีการนำวาระการปฏิรูป 37 ประเด็นของ สปช. ไปทำต่อ และอาจใช้อำนาจของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 มาขจัดขัดขัดข้องบางประการ โดยการปฏิรูปจะพยายามทำเท่าที่ทำได้ ส่วนการปรองดอง จะไปดูคดีความที่ศาลตัดสินและมีการลงโทษแล้วว่าจะบรรเทาโทษหรือเยียวยาได้อย่างไร โดยจะจัดลำดับความหนักเบา และอาจจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา แต่คงจะไม่นิรโทษฯ ทั้งหมด และจะไม่เข้าไปแทรกแซงคดีที่ยังไม่ตัดสิน หลายประเทศก็ใช้วิธีการเช่นนี้

“งบประมาณทีใช้ สปช. ในการทำงานกว่า 700 ล้านบาท ผมคิดว่าคุ้มค่า เพราะถ้าไม่เริ่มทำ ไม่มี สปช. ก็ไม่มีทางรู้ว่าตอนนี้เราอยู่อย่างไร และจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ท้ายสุดคนที่จะได้ประโยชน์ก็คือประชาชน”

คิ๊กออฟกองทุนหมู่บ้าน 14 ก.ย.

นายกฯกล่าวต่อว่า ในการประชุมวันนี้ ได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเป็นการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อจูงใจให้คนเหล่านั้นมาเข้าระบบ ทั้งนี้ จะมีการนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. ไปแล้วทั้ง 2 ครั้ง ไป kick off ในวันที่ 14 กันยายน 2558 ที่เมืองทองธานี โดยจะมีการเชิญตัวแทนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศมาร่วมงาน เพื่อให้ประชาชนรับรู้ว่านี่คือสิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจระดับฐานรากเข้มแข็ง ไม่ใช่การทำประชานิยม ที่จะนำเงินไปใช้หนี้หรือไม่ซื้อโทรศัพท์ และหากพบว่ามีอะไรติดขัดก็อาจจะใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า อีกเรื่องที่มีความเป็นห่วงคือเรื่องน้ำ เพราะขณะนี้ฝนจะเริ่มหยุดตกแล้ว และปริมาณน้ำในเขื่อนจะมีน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเราก็ได้แจ้งเตือนเป็นระยะ ให้เตรียมพร้อมหากมีการออกมาตรการห้ามใช้น้ำออกมาก็อยากจะให้เข้าใจ เพราะอาจมีผลกระทบต่อการทำการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรัง ส่วนมาตรการประหยัดน้ำในหน่วยงานราชการ ก็ถือว่าได้ผลระดับหนึ่ง มีหน่วยงานที่ลดการใช้น้ำได้ราว 48%

“กอบกาญจน์ ชี้ท่องเที่ยวดีขึ้น ลุยให้ได้ 28 ล้านคนตามเป้า

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงสถานการณ์การท่องเที่ยว หลังคดีวางระเบิดสี่แยกราชประสงค์มีความคืบหน้า ว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวตอนนี้จากการดูตัวเลขการจองที่พัก การจองตั๋วเครื่องบินในระยะยาวค่อนข้างกลับมาคงที่แล้ว มีความมั่นใจมากขึ้น แม้บางประเทศจะยังได้รับผลกระทบอยู่บ้าง อาทิ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และมาเลเซีย ซึ่งตนจะมีการเดินทางไปโปรโมทการท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งในเร็วๆ นี้

“ขณะนี้ยอดนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 21 ล้านคน ตามเป้าจะต้องให้ได้ 28.8 ล้านคน ยอมรับว่าเหนื่อย แต่ก็จะต้องทำให้ได้ตามเป้า ซึ่งต้องดำเนินแผนการสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มกำลังในการรักษาความปลอดภัย หรือการรายงานความคืบหน้าการจับกุมผู้ก่อเหตุ เนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 4 นี้ก็จะเข้าสู่ช่วงไฮซีซันแล้ว” นางกอบกาญจน์กล่าว

ส่วนการแต่งตั้งนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง มาเป็นปลัดกระทรวงท่องเที่ยวฯ คนใหม่ นางกอบกาญจน์กล่าวว่า เป็นการแต่งตั้งเพื่อสานต่อการทำงานของนายอารีพงศ์ ภู่อชุ่ม อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวฯ ที่ถูกแต่งตั้งให้ไปเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน เพราะกระทรวงต้องการคนที่มีความรู้เรื่องบประมาณ เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปได้ด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะได้วางแผนไว้หมดแล้ว ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว โดยเฉพาะการสนับสนุนการท่องถิ้นในท้องถิ่น เหลือแค่การเบิกจ่าย

รมว.ต่างประเทศ หวัง EU ไม่ให้ใบแดงประมงไทย

ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU) ที่สหภาพยุโรป (European Union: EU) ให้เวลาไทยแก้ปัญหาใบเหลืองภายใน 6 เดือน ซึ่งจะครบกำหนดในกลางเดือนตุลาคม 2558 ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ตนคิดว่าความตั้งใจของไทย ทั้งการปรับปรุงกฎหมายและออกมาตรการต่างๆ จะทำให้ EU เข้าใจ และผลที่ออกมาอย่างเลวร้ายที่สุดคือต่ออายุใบเหลือง ไม่ถึงขนาดกับให้ใบแดง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หาก EU ให้ใบแดง อาจส่งผลกระทบต่อการส่งสินค้าประมงไทยไปยัง EU ที่มีมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท/ปี

(จากซ้ายไปขวา) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
(จากซ้ายไปขวา) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

สำหรับวาระการประชุม ครม. ที่น่าสนใจ

ครม. ออกมาตรการอุ้ม SMEs ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ 1 แสนล้าน – เว้นภาษี Startup 5 ปี

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติโครงการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)แบ่งเป็น 2 มาตรการหลัก

1. มาตรการภาษีด้านการเงิน

– ให้ SMEs สามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าตลาด (Soft Loan) โดยจะคิดไม่เกิน 4% ต่อปี รวมวงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินจะมาจากธนาคารออมสิน ระยะเวลากู้เงินไม่เกิน 7 ปี โดยรัฐบาลจะตั้งงบประมาณชดเชยให้กับธนาคารออมสิน 2,800 ล้านบาท/ปี คาดว่า หลังกำหนดระเบียบหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ได้เรียบร้อยจะสามารถปล่อยเงินเข้าระบบได้ภายใน 1 สัปดาห์

– กระทรวงการคลัง โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะไปค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs รวมวงเงิน 100,000 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 7 ปี โดยมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขจากเดิม ที่รัฐค้ำประกัน 70% และให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยค้ำประกันอีก 30% ซึ่งธนาคารพาณิชย์บอกว่า เขารับไม่ได้ มาตรการดังกล่าวจึงไม่ถูกนำมาใช้ ครั้งนี้จึงเปลี่ยนเป็นให้รัฐค้ำประกัน 70% ตามเดิม แต่ในอีก 30% ที่เหลือ 15% แรกจะให้ บสย. รับผิดชอบทั้งหมด ส่วน 15% หลังจะให้ บสย. ร่วมรับผิดชอบกับธนาคารพาณิชย์ เชื่อว่าครั้งนี้ จะทำให้ธนาคารพาณิชย์เร่งปล่อยสินเชื่อให้กับ SMEs มากขึ้น เพราะเงื่อนไขใหม่ทำให้ภาระของธนาคารพาณิชย์ลดลง

– ตั้งกองทุนเข้าไปช่วยเหลือ SMEs ขนาดเล็กที่มีปัญหาด้านเงินทุนให้มีสภาพคล่อง โดยธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และเอสเอ็มอีแบงก์ ร่วมทุนธนาคารละ 2,000 ล้านบาท รวมทั้งหมด 6,000 ล้านบาท และอาจช่วยเหลือเพิ่มเติมโดยให้กองทุนนี้เข้าไปถือหุ้นของ SMEs เหล่านั้นบางส่วน

2. มาตรการด้านภาษี

– SMEs ที่เข้านิยามของกรมสรรพากร จะได้รับการลดหย่อนภาษี 10% ในระยะเวลา 3 ปี หรือ 2 รอบบัญชี

– งดเว้นภาษีเป็นระยะเวลา 5 ปี ให้กับ SMEs ที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ในสาขาที่คิดว่าเป็นประโยชน์แต่มีต้นทุนมาก เช่น เทคโนโลยี นวัตกรรม

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า เหตุที่ยกเว้นภาษีให้กับ SMEs แนวใหม่ หรือ Startup เป็นเวลา 5 ปี เพราะตนเห็นว่าเป็นหลักการแห่งอนาคต ทำให้ธุรกิจเหล่านี้เติบโตสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศได้ ส่วนมาตรการช่วยเหลือ SMEs เดิม ซึ่งที่ประชุม ครม. เคยอนุมัติสมัยที่นายสมหมาย ภาษี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมวงเงิน 20,000 ล้านบาท ก็จะนำมาใช่ร่วมกับมาตรการช่วยเหลือ SMEs ครั้งนี้ด้วย

เมื่อถามว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้แค่ไหน นายสมคิด กล่าวว่า ผมคิดว่ายังไงก็ดีกว่าที่ผ่านมา เพราะว่านายกฯ และคนทำงานมีความตั้งใจสูง จากที่ไม่ค่อยมีอะไรกลายเป็นสิ่งที่มีอะไรบ้างพอสมควรทีเดียว และเป็นแค่จุดเริ่มต้น ถ้าสถานการณ์บ้านเมืองไม่อยู่ในภาวะอย่างนี้ผมเชื่อว่าหุ้นขึ้นไปแล้ว ซื้อไว้ก่อนนะ หุ้นขึ้นแล้วจะซื้อไม่ทัน ทุกคนมีสิทธิ์คาดหวัง ผมและคณะทำงานจะทำในสิ่งที่ควรจะทำและต้องทำ

ธ.ออมสินยันมีสภาพคล่องพอรับนโยบาย รบ.

ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ยืนยันว่าธนาคารออมสินมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะดำเนินการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งมาตรการให้ SMEs กู้ดอกเบี้ยต่ำ 100,000 ล้านบาท และมาตรการเพิ่มทุนให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง อีก 30,000 ล้านบาท เพราะธนาคารออมสินมีเงินฝากรวม 2,000,000ล้านบาท มีสภาพคล่องประมาณ 300,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ธนาคารออมสินเองก็มีโครงการย่อยอีก 5 โครงการ ในการช่วยเหลือ SMEs ประกอบด้วย โครงการแก้ไขปัญหาประมง (วงเงิน 1,000 ล้านบาท) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ SMEs (วงเงิน 1,000 ล้านบาท) โครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวและบริหาร (วงเงิน 1,000 ล้านบาท) โครงการส่งเสริมผู้รับเหมารายย่อยรายละ 1 ล้านบาท (วงเงิน 2,000 ล้านบาท และโครงการเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs (วงเงิน 3,000 ล้านบาท)

สงป. ลุยจัดสรรงบตำบลละ 5 ล้าน 15 ก.ย.นี้

สำหรับความคืบหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตแรก ซึ่งมีประชุม ครม. เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 ทั้งเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้าน ให้งบตำบลละ 5 ล้าน และเร่งรัดเบิกจ่ายโครงการขนาดเล็ก รวมวงเงิน 1.36 แสนล้านบาท

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (สงป.) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้ ได้อนุมัติวงเงินเพิ่มเติมสำหรับมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ให้งบตำบลละ 5 ล้านบาท) รวม 1,638 ล้านบาท จากเดิม ที่เคยอนุมัติไปแล้ว 36,257 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 37,913 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายให้กับตำบลกว่า 7.2 พันแห่งทั่วประเทศ ว่าตำบลใดเคยได้รับจัดสรรงบจากมาตรการอื่นไปแล้ว ให้นับรวมในมาตรการนี้ด้วย และให้เพิ่มเติมวงเงินได้จนถึง 5 ล้านบาท ส่วนที่ได้เกิน 5 ล้านบาทแล้วจะไม่ได้รับการจัดสรรอีก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2558 สงป. จะเริ่มจัดสรรงบลงสู่พื้นที่

ส่วนมาตรการเร่งรัดเบิกจ่ายโครงการขนาดเล็ก รวมวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ที่ใช้งบของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 กว่า 2.4 หมื่นล้านบาท และปี 2559 อีกกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องเสนอโครงการมาภายในวันที่ 22 กันยายน 2558 เบื้องต้นมีการเสนอโครงการเข้ามาแล้ว รวม 1.7 หมื่นล้านบาท ยังเหลืออีก 3.3 หมื่นล้านบาท

“เมื่อรวมทั้ง 2 มาตรการเข้าด้วยกัน คาดว่าภายในเดือนธันวาคม 2558 จะมีเงินเข้าสู่ระบบถึง 7.7 หมื่นล้านบาท” ผู้อำนวยการ สงป. กล่าว

ตั้ง “พงษ์ภาณุ” เป็นปลัดท่องเที่ยว เด้งอธิบดีกรมชลฯ – โยก 58 ผวจ.

พล.ต. วีรชน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้งโยกยายข้าราชการระดับสูงจำนวนมาก ใน 5 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ทท.) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.)

มีตำแหน่งสำคัญอาทิ ให้นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นปลัด ทท., ให้นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กษ. เป็นรองปลัด กษ., ให้ น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก เป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน พณ. สลับตำแหน่งกับนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร, ให้ พ.ต.อ. ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยธ. ซึ่งเดิมมีข่าวว่าเป็นแคนดิเดตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยธ. เป็นอธิบดีกรมคุมประพฤติ ยธ. สลับตำแหน่งกับนางกรรณิการ์ แสงทอง เป็นต้น

ที่ประชุม ครม. ยังมีมติแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด รวม 58 ตำแหน่ง อาทิ นายศักดิ์ สมบุญโต ผู้ว่าฯ แพร่ เป็นผู้ว่าฯ กาญจนบุรี, นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าฯ อ่างทอง เป็นผู้ว่าฯ เชียงใหม่, นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯ ชัยภูมิ เป็นผู้ว่าฯ นครราชสีมา, นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา รองผู้ว่าฯ นครปฐม เป็นผู้ว่าฯ ภูเก็ต เป็นต้น

“นอกจากนี้ ยังมีมติรับทราบคำสั่งนายกฯ ที่ 1/2558 ที่ให้นายขวัญชัย วงศ์นิติกร อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มท. และนายชูศักดิ์ ตั้งศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ปราจีนบุรี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเคยถูกพักราชการตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 44 กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม หลังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจสอบปัญหาการทุจริต แล้วไม่พบว่ามีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา โดยบุคคลทั้ง 2 จะเกษียณอายุราชการในปีนี้” พล.ต. วีรชนกล่าว

เตรียมรายงานคืบแก้ปัญหางาช้างต่อ CITES

พล.ต. วีรชน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังมีมติรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการงาช้าง ที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) ครั้งที่ 66 ในวันที่ 15 กันยายน 2558 นี้ โดนแผนปฏิบัติการดังกล่าว มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้างาช้าง ทั้งการออกกฎหมายและระเบียบในการแก้ไขปัญหา รวม 22 ฉบับ พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการในการแก้ไขปัญหา รวม 4 ชุด มีการจัดทำระบบทะเบียนข้อมูลการครอบครองงาช้าง ซึ่งพบว่า ปัจจุบัน มีผู้ครอบครองงาช้างกว่า 3 หมื่นราย และมีผู้นำเข้า 247 ราย มีงาช้างอยู่ในการครอบครองของหน่วยงานรัฐอยู่ 17.2 ตัน นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มสายตรวจร้านค้างาช้างจาก 22 สายเป็น 79 สาย โดยมีการจับกุมผู้กระทำผิด ระหว่างเดือนเมษายน-กันยายน 2558 รวม 5 คดี