นายกฯยันเคารพคำตัดสินศาล รธน. กรณีบ้านพักทหาร -ย้ำตัวแทน คกก.สมานฉันท์ ควรคำนึงถึงประเทศมากกว่าใช้อารมณ์ – มติ ครม.จัดงบฯ 3 หมื่นล้าน หนุน บสย.ค้ำเอสเอ็มอี 1.5 แสนล้าน—เพิ่มวงเงินประกันรายได้ชาวนาปี 63/64 กว่าหมื่นล้าน
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน
ชวน ปชช.รับเสด็จฯ 5 ธ.ค.นี้-ขอความร่วมมือ งดใส่สีดำ
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลขอเชิญชวนชาวไทยทุกหมู่เหล่าเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธาน ในพิธีจุดเทียนมหามงคล เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันพ่อแห่งชาติ และวันชาติ ท่ามกลางมหาสมาคมของประชาชนทุกหมู่เหล่า
ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยในวันที่ 5 ธันวาคม 2563 เวลา 19:19 น ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง สำหรับส่วนภูมิภาคจัดพิธีพร้อมกับส่วนกลาง ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม โดยขอให้ช่วยกันทำความดีในวันสำคัญดังกล่าวด้วย และสำหรับในต่างประเทศนั้นสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลพิจารณาจัดพิธีตามที่เห็นสมควรในสถานที่ที่เหมาะสม สีตามอัธยาศัย โดยขอความร่วมมืองดใส่สีดำ เพื่อความเป็นศิริเป็นมงคล
ชี้เกษตรกรปัญหาใหญ่ “ใช้งบเยอะ–ต้องค่อยๆ แก้”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการประชุม ครม. และการทำงานของรัฐบาลว่า สิ่งที่ ครม. มีมติอนุมัติหลายอย่างตนรับฟังข้อเรียกร้องมาจากกลุ่มนั้นกลุ่มต่างๆ และนำไปสู่การแก้ไขนำเข้าสู่การพิจารณาใน ครม. มีการจัดทําแผนงานโครงการมีการอนุมัติงบประมาณต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความเดือดร้อนของประชาชนโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกรแต่ละกลุ่ม
“มีปัญหาเยอะไปหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ก็มีปัญหาอยู่แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือเราจะแก้ปัญหาทั้งหมดให้ครบวงจรได้อย่างไร ทุกคนคงทราบดีว่าเราใช้งบประมาณที่มากพอสมควรในการดูแลเกษตรกรในแต่ละปีแต่ละปี ตราบใดที่ยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ ขีดความสามารถในการแข่งขันยังไม่ได้และปัญหาหนี้สินอีกมากมายรัฐบาลก็ต้องค่อยๆ แก้ไปทีละก้อน”
ย้ำตัวแทน คกก.สมานฉันท์ ต้องเป็นกลาง ควรคำนึงถึงประเทศ
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการส่งตัวแทนเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ และคาดหวังในเรื่องนี้อย่างไร ว่า เรื่องของตัวแทนกำลังอยู่ระหว่างการหารือว่าจะส่งใครเข้าไป ซึ่งเมื่อตั้งคณะกรมการฯได้แล้วตนสนับสนุนให้มีการแสวงหาทางออกให้ได้ คราวนี้จะทำอย่างไรก็อยู่ที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ ซึ่งตนต้องการให้มีการหารือกันให้ครบทุกมิติ เพราะถ้าเอาความขัดแย้งที่เห็นไม่ตรงกันมากๆ มาสู้กันตั้งแต่ตอนแรกมันก็ไปต่อไม่ได้
“ผมว่าคนที่เข้าไปหาเลยจะต้องเป็นกลางต้องทำตัวให้เป็นกลางให้ได้และยกปัญหานู้นปัญหานี้มาถกแถลงกันว่าจะแก้กันอย่างไรมาตรการระยะสั้นระยะปานกลางและระยะยาวจะทำอย่างไร ผมสนับสนุนในเรื่องเหล่านี้ ขอให้ครบทุกมิติก็แล้วกันคำนึงถึงประเทศชาติมากกว่าใช้อารมณ์”
โดยนายกรัฐมนตรีได้ยกตัวอย่างตนเองเป็นแบบอย่างว่า ในการประชุมตนไม่เคยใช้อารมณ์ ตนอารมณ์ดีทุกครั้ง มุ่งแต่เอาชนะกันทั้งสองฝ่ายจะทำให้เดินหน้าไม่ได้ ดังนั้นจะใช้ความรู้สึกส่วนตัวไม่ได้ ต้องบริหารทุกประเด็นอย่างละเอียด พร้อมย้ำว่าสิ่งใดที่รัฐบาลสามารถที่จะดำเนินการได้ก็พร้อมให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการดังกล่าวเสมอ
โอดเหตุโควิดฯ เชียงใหม่ รัฐบาลทำเต็มที่แล้ว
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่มีการขอให้รัฐบาลทบทวนการผ่อนผันมาตรการกิจการ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าวภายหลังจากเกิดเหตุการแพร่ระบาดของโควิดฯ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงรายว่า ประเด็นดังกล่าวตนเคยสื่อสารไปแล้วว่ารัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ไม่ให้คนเข้าออกนอกประเทศในช่องทางที่ไม่ถูกต้อง แต่ก็ยังมีการลักลอบอยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อมีการลักลอบและมีการแพร่ระบาดก็ต้องมาดูว่าควบคุมได้ไหม สามารถติดตามตัวบุคคลเหล่านั้นรวมถึงติดตามบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคนเหล่านั้นได้หรือไม่ ก็มีกระบวนการอยู่
“กรณีที่เกิดตรงนี้หาคนที่เกี่ยวข้องและทยอยดำเนินการตรวจสอบให้ครบ ตอนนี้ก็ยังไม่มีใครติด (แรงงานข้ามชาติ) ผู้ติดเชื้อ คือ ผู้หญิง (ไทย) คนนี้เขาไปทำอาชีพที่ประเทศเพื่อนบ้านก็รู้อยู่แล้ว แล้วกลับมาก็มีการพบปะคนอีกเยอะแยะพอสมควร นี่คือสิ่งที่ทุกคนและสังคมต้องช่วยกันดูแลสิ ช่วยกันดูแลท้องถิ่นหรือไม่ ซึ่งอันนี้ก็ต้องมีการดำเนินคดีด้วยเพราะมีการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเพราะฉะนั้นอย่าตื่นตระหนกกันจนเกินไป”
นายกฯ ยังกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ อย่าลืมว่าวันนี้ที่เชียงราย และเชียงใหม่ช่วงนี้เป็นช่วงไฮซีซัน เมื่อตื่นตระหนกกันการจองโรงแรมอะไรต่างๆ ก็ลดลง แล้วใครเสียประโยชน์ใครได้ประโยชน์ รัฐบาลไม่ได้ปิดข่าวเพียงแค่รอให้เขาชี้แจงข้อมูลมา และกระทรวงสาธารณสุขก็มีมาตรการรองรับอยู่แล้ว ดังนั้นขอให้ทุกคนอย่าตื่นตระหนกก็ช่วยกันเป็นหูเป็นตา โดยช่วยกันแจ้งข้อมูลแจ้งเบาะแสให้แก่เจ้าหน้าที่ แต่ตนก็บังคับใครไม่ได้อยู่แล้วก็แล้วแต่ท่าน
“มันคนละเรื่องกันหมด มีทั้งเรื่องการลักลอบข้ามแดน การติดเชื้อ การป้องกัน การแพร่ระบาด การตรวจสอบ รัฐบาลทำแทบทุกอย่างแล้วในตอนนี้ ก็เขาไม่ผ่านด่าน แล้วถามว่าชายแดนมันกี่กิโลเมตร เจ้าหน้าที่เขาก็ดูแลเต็มที่อยู่แล้ว แต่บางทีคนคนเดียวหรือสองคนก็แอบเข้ามาได้ ก็ฝากไปดูชายแดนให้ผมด้วยแล้วกันพวกเราน่ะไปอยู่ที่ชายแดนดูซิ ไปกินนอนแบบทหารชายแดนสักวันซิ ไปอยู่กับเขาจะได้รู้ว่าเขาทำงานอย่างไรไม่อย่างนั้นก็ไม่เข้าใจกันอยู่อย่างนี้”
ยันเคารพคำตัดสินศาล รธน.คดีบ้านพักทหาร
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการส่งตัวแทนฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่นายกรัฐมนตรีอาศัยอยู่ในบ้านพักทหาร ว่า ตนไม่รู้ว่าใครเป็นตัวแทนไปฟัง แต่ฝ่ายกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ว่าเขาจะตัดสินมาอย่างไรมากกว่าไม่ต้องสนใจว่าตนจะส่งใครไป
“ให้เขาเข้าไปฟังเขาก็ทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว เรื่องนี้มันอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แยกหน้าที่กันให้ดีหน่อย”
ต่อคำถามการลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามเป็นการสร้างกำลังใจให้ตนเองก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “มันเกี่ยวอะไรกัน ถ้าทำงานแบบนี้ก็ทำงานกันไม่ได้ ที่ผ่านมาตนก็มีคดีความ ก็ชี้แจงไปก็เท่านั้น ผิดก็คือผิดไม่ผิดก็ไม่ผิดก็จบ ก็เหมือนคดีทั่วๆ ไป (ถอนหายใจ) ผมก็เคารพ (คำตัดสิน) นะ”
นายกรัฐมนตรีชี้แจงต่อไปว่า เรื่องการลงพื้นที่นั้นเป็นการวางกำหนดการไว้ล่วงหน้าแล้ว เวลามีกำหนดการลงพื้นที่เหล่านี้ตนจะวางแผนล่วงหน้าไว้ประมาณ 2–3 สัปดาห์เพราะต้องมีการลงในตารางการทำงานของตนว่าตนว่าจะต้องทำอะไรที่ไหนอย่างไรบ้าง
วันนี้มีตรงนี้ เดี๋ยวบ่ายผมก็มีอย่างอื่น เอกสารผมก็มีอีกรออยู่ข้างบน คนนู้นคนนี้เข้ามาปรึกษาหารือว่าจะทำอย่างไรกันต่อ หน่วยงานมาพบผม ผมมีงานทั้งวันอยู่แล้วกลับบ้านก็มีการติดต่อทางโทรศัพท์ ทางไลน์บ้าง ผมไม่ได้เคยหยุดทำงานไม่อย่างนั้นทุกคนเข้าไปมองว่าวันนี้นายกฯ อยู่ที่ไหนมันก็ไม่ใช่ มันมีวิธีการทำงานต้องหลายอย่าง”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างทางเดินกลับไปยังตึกไทยคู่ฟ้านายกฯ ได้กล่าวกับสื่อที่อยู่บริเวณนั้นว่า “ถามอะไรกัน ถามไม่สร้างสรรค์เลย”
มติ ครม. มีดังนี้
นายกฯ ชวนคนไทยร่วมสวดมนต์วันเสาร์
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. วันนี้ นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมบูทนิทรรศการทั้งหมด 3 บูท โดยบูทแรกเป็นการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องของการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-learning ในเรื่องของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถได้รับข้อมูลข่าวสารของทางราชการอย่างกว้างขวาง และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของทางราชการอย่างถูกต้อง โดยไม่จำกัดสถานที่ และเวลา โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมในเรื่องของการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนว่าเป็นสิ่งที่ดี และขอให้ดำเนินการต่อไป ซึ่งหน่วยงานนี้อยู่ในสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
บูทที่ 2 เป็นของคณะผู้บริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้นำนายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมนิทรรศการพระบารมีปกเกล้ารัชกาลที่ 9 “คนไทยกับในหลวง” เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมเชิญชวนเข้าร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล ทุกวันเสาร์ เนื่องในโอกาสวันชาติและวันพ่อแห่งชาติในวันที่ 5 ธันวาคม 2563 ที่วัดบวรนิเวศน์วิหารกรุงเทพมหานคร และในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยนายกรัฐมนตรีได้ร่วมรับฟังขับเสภา และกล่าวขอบคุณสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาเถระสมาคมที่จัดกิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นการสวดมนต์เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล และยังเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ ทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันหลัก คือ ชาติศาสนาและพระมหากษัตริย์ด้วย
บูทสุดท้าย นายกรัฐมนตรีได้ร่วมพูดคุยกับเด็กนักเรียนในระดับชั้นอนุบาล นักเรียนของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โครงการพัฒนาสื่อเสมือนจริง (AR) เพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และโครงการพัฒนานวัตกรรมสื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยการอ่านการเขียนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยผ่านการสื่อสารที่ทันสมัย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำความสำคัญถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ว่าเป็นการถ่ายทอดให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของประเทศชาติ ทำให้เกิดความรัก ความกตัญญูต่อประเทศชาติ สร้างความเป็นปึกแผ่นของประเทศ เพราะเยาวชนคืออนาคตสำคัญของชาติ ตอนท้ายนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงเครื่องแบบนักเรียนด้วยว่ามีวัตถุประสงค์หลายประการ อาทิ เครื่องแบบนักเรียนเป็นที่สังเกตได้ง่าย หากเกิดเหตุอันตรายแก่เด็กนักเรียนในที่สาธารณะจะให้ความช่วยเหลือได้ง่าย นอกจากนี้เครื่องแบบนักเรียนยังมีความสิ้นเปลืองน้อยกว่าสวมใส่ชุดไปรเวท ซึ่งอาจจะต้องเตรียมไว้หลายชุด จากนั้น นายกรัฐมนตรีถ่ายรูปเซลฟี่ร่วมกับนักเรียน พร้อมชูสัญลักษณ์ ไอเลิฟยู ให้กำลังใจให้ทุกคน “สู้ สู้”
สั่ง สทนช.ประสานทุกหน่วยงาน รับมือภัยแล้ง
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า ก่อนเริ่มประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรองรับกับปัญหาภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการป้องกันภัยแล้งปี 2564 ไปบางส่วนแล้ว เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ,ที่บึงราชนก จังหวัดพิษณุโลก และ บึงหนองหาร จังหวัดศรีสะเกษ รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำในเขตพื้นที่ EEC ให้เพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และ ประชาชน
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการการทำงานร่วมกัน โดนเร่งกักเก็บน้ำ , จัดหาแหล่งน้ำดิบสำรองและวางแผนการจัดสรรน้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
เปิดบริการเรือโดยสารไฟฟ้าสายสายเจ้าพระยาสิ้นปีนี้
นายอนุชา กล่าวว่า จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เล่าให้ที่ประชุม ครม. ทราบถึงการที่นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดให้บริการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าที่คลองผดุงกรุงเกษมเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการเปิดให้บริการเดินเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม เริ่มจากท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพงไปถึงท่าเรือตลาดเยาวราช ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือทางน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันมีความหนาแน่นของการจราจรสูง ดังนั้น ในระยะต่อไปได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม , กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการขยายผลการให้บริการเรือพลังงานไฟฟ้าในเส้นทางอื่นๆ ตามความเหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชนโดยให้เปิดให้บริการเดินเรือพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยาภายในสิ้นปี จากนั้นให้ศึกษาการเปิดให้บริการเดินเรือพลังไฟฟ้าในคลองแสนแสบต่อไป
ดึงร้านค้ากองทุนหมู่บ้านเข้าโครงการ “คนละครึ่ง”
นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการใช้จ่ายเงินกู้เพิ่มเติม 2 โครงการ เพื่อรองรับแรงงานภาคเกษตร และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ดังนี้
1.โครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ของกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ งบประมาณ 1,601 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงเครื่องจักรปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ โดยเพิ่มเติมชุดเครื่องชั่งบรรจุพร้อมระบบจัดเรียงแบบอัตโนมัติ จำนวน 20 ชุด และระบบไฟฟ้าควบคุมเครื่องจักร จำนวน 18 ชุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการชั่งบรรจุ จัดเรียงให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (โรงงาน A2) และการเพิ่มศักยภาพโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว โดยการจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ทดแทนของเดิมของโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว (โรงงาน A1) จำนวน 5 ศูนย์ และก่อสร้างอาคารพร้อมติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ประจำโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์โรงงานใหม่รวม 5 ศูนย์ ที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2519 ให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น
2.โครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (Community Cultural Product of Thailand : CCPOT) ของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม งบประมาณ 176 ล้านบาท โดยมีกิจกรรม เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนโดยใช้ทุนชุมชน สำหรับประชาชนทั่วไป (CCPOT ระดับโท) 5,000 รายการ สำหรับตลาดระดับพรีเมียม (CCPOT ระดับเอก) 76 รายการ ศึกษาข้อมูลทุติยภูมิและลงพื้นที่เก็บข้อมูลปฐมภูมิชุมชนวัฒนธรรม 30 ชุมชน เพื่อพัฒนาคุณค่าวัฒนธรรม (abstract value) เป็นผลิตภัณฑ์ศิลปะมรดกวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage Art Made Product: ICHAMP) คัดเลือกคุณค่าวัฒนธรรมจาก 30 ชุมชน ชุมชนมรดกวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ICHAMP ระดับเพชร รวม 10 รายการ และระดับทอง 240 รายการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนมรดกทางวัฒนธรรมโดยกิจกรรมประกวด 30 ชุมชนมรดกวัฒนธรรมเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ ICHAMP ระดับเพชร รวม 10 รายการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนมรดกวัฒนธรรมโดยผู้เชี่ยวชาญพิเศษสู่ ICHAMP ระดับทอง รวม 240 รายการ
นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงรายละเอียดวิธีดำเนินการ “โครงการคนละครึ่ง” เพื่อขยายขอบเขตประเภทร้านค้าให้รวมถึง ร้านค้าของกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมือง ตามพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 หรือวิสาหกิจชุมชนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อครอบคลุมผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยที่มีความสำคัญต่อวงจรเศรษฐกิจฐานราก ได้แก่ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และร้านค้าชุมชน และส่งเสริมให้มีการใช้จ่ายไปยังชุมชนเพิ่มขึ้น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจนถึงระดับฐานราก
อนุมัติงบฯ 3 หมื่นล้าน หนุน บสย.ค้ำหนี้เอสเอ็มอี 1.5 แสนล้าน
นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMES) ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 (โครงการ PGS ระยะที่ 9) วงเงินงบประมาณรวมไม่เกิน 24,000 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 (โครงการ Micro ‘Entrepreneurs ระยะที่ 4) วงเงินงบประมาณรวมไม่เกิน 5,750 ล้านบาท รวม 2 โครงการ ในงบประมาณ 29,750 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เสนอมาตรการ 2 มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs รายละเอียดดังนี้
1.โครงการ PGS ระยะที่ 9 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป สร้างความมั่นใจให้แก่สถาบันการเงินในการให้สินเชื่อ รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพที่ต้องการสินเชื่อแต่หลักประกันไม่เพียงพอให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้ รวมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ที่มีปัญหาด้านสภาพคล่องให้สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ วงเงินค้ำประกันโครงการรวม 150,000 บาท วงเงินค้ำประกันต่อราย ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย (รวมทุกสถาบันการเงิน) ที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของหลักเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อต่อรายและต่อกลุ่มลูกค้า (Single Guarantee Limit : SGL) ของ บสย. การยื่นขอให้ค้ำประกัน ขั้นต่ำครั้งละไม่น้อยกว่า 200,000 บาท โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อในแต่ละปีตามที่ บสย. กำหนด ทั้งนี้ รัฐบาลรับภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อแทนผู้ประกอบการ SMEs ปีละไม่เกินร้อยละ 1.75 เป็นระยะเวลา 2 ปี หรือไม่เกินร้อยละ 3.5 ตลอดอายุการค้ำประกัน
ผลเชิงเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับ มีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 42,500 ราย (เฉลี่ย 3.5 ล้านบาทต่อราย) ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินไม่ต่ำกว่า 225,000 ล้านบาท (1.5 เท่าของวงเงินค้ำประกันโครงการ) มีสัดส่วนผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อไม่ต่ำกว่าร้อยละ 35
2.โครงการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ผู้ประกอบอาชีพอื่นที่มีสถานประกอบการชัดเจน และประกอบธุรกิจจริงให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินเป็นการลดต้นทุนการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการรายย่อยและช่วยแก้ไขปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบ มีวงเงินค้ำประกันโครงการรวม 25,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันต่อราย ไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย (รวมทุกสถาบันการเงิน) ทั้งนี้ อยู่ภายใต้ข้อกำหนด SGL ของ บสย. การยื่นคำขอค้ำประกันขั้นต่ำครั้งละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท ค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน ไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อปีตลอดอายุการค้ำประกันโครงการ โดยรัฐบาลรับภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อแทนผู้ประกอบการรายย่อยปีละไม่เกินร้อยละ 1.5 เป็นระยะเวลา 2 ปี หรือไม่เกินร้อยละ 3 ตลอดอายุการค้ำประกัน
ผลเชิงเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับ ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ราย (เฉลี่ย 250,000 บาทต่อราย) ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 25,000 ล้านบาท (1 เท่าของวงเงินวงเงินค้ำประกันโครงการ)
ทั้ง 2 โครงการ ระยะเวลารับคำขอค้ำประกัน 2 ปี นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ อายุการค้ำประกัน ไม่เกิน 10 ปี โดย บสย. สามารถกำหนดเงื่อนไขและวงเงินค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อยแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละสถาบันการเงิน หรือโครงการย่อยแต่ละโครงการได้ตามความเหมาะสม “ทั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อเสริมสภาพคล่อง สร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID–19 หรือมีความเสี่ยงในการชำระหนี้คืน ให้สามารถเข้าสินเชื่อ เพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปได้
นายกฯลงพื้นที่สมุทรสงคราม ขับเคลื่อนท่องเที่ยวชุมชน
นายอนุชา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี เตรียมเดินทางไปตรวจราชการจังหวัดสมุทรสงครามในวันที่ 2 ธันวาคม 2563 มีเป้าหมายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชนในท้องถิ่น การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ต่อยอดศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งของชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจระดับพื้นที่ สร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ภายใต้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนแบบมาตรฐานใหม่ (New Normal) รองรับการเปลี่ยนแปลงหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต
โดยนายกรัฐมนตรีและคณะ จะเยี่ยมชมการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มวิสาหกิจ 2 แห่ง ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนริมคลองโฮมสเตย์ ต.บ้านปรก อ.เมืองสมุทรสงคราม เพื่อติดตามการเที่ยวชุมชน กิจการภายใต้โคกหนองนาโมเดล ชมฐานการเรียนรู้การปลูกผักปลอดสารพิษ กิจกรรมทำเกลือสปา การทำน้ำหวานจากดอกมะพร้าว (SYRUP) การบริหารจัดการน้ำสะอาดคลองผีหลอก บ้านริมคลองโฮมสเตย์ จักสานทางมะพร้าวและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนริมคลองโฮมสเตย์ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ฟื้นฟู มะพร้าวครบวงจร ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา ซึ่งเป็นหมู่บ้านรางวัลพระราชทานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” พร้อมเยี่ยมชมกิจกรรมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ฟื้นฟูมะพร้าวครบวงจร ได้แก่ การแปรรูปกล้วยหักมุก การทำน้ำมันมะพร้าวอโวคาโด การเพาะเลี้ยงชันโรง การทำมะพร้าวแปรรูปครบวงจร โดยนายกรัฐมนตรี จะได้กล่าวกับประชาชนผ่านหอกระจายข่าว ซึ่งเป็นการสร้างการรับรู้ระดับชุมชนด้วย ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานครในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน
ทั้งนี้ จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีศักยภาพรองรับการเปลี่ยนแปลง มีทรัพยากรทางธรรมชาติและการท่องเที่ยวหลายรูปแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น การท่องเที่ยวป่าชายเลนคลองโคลน รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เชิงอนุรักษ์ เชิงวัฒนธรรม การบริการที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์ที่ได้มาตรฐาน เช่น วิสาหกิจชุมชนริมคลองโฮมสเตย์ ซึ่งได้รับรางวัลมาตรฐานโฮมสเตย์ รางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 8 และได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 20 ชุมชนสร้างสรรค์ของประเทศ โดยหนังสือ Creative Tourism มีผลผลิตทางการเกษตรขึ้นชื่อ เช่น ส้มโอขาวใหญ่ ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม มะพร้าวน้ำหอม เป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลและการเกษตรปลอดภัย และมีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
ชะลอโครงการ “รถเก่าและรถใหม่”
นายอนุชา กล่าวต่อว่า วันนี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงในที่ประชุม ครม. ถึงมาตรการรถเก่าแลกรถใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ที่ประชุมได้ขอให้ชะลอมาตรการนี้ออกไปก่อนเนื่องจากในรายละเอียดมีค่อนข้างมาก ก่อนนำเสนอต้องไปปรึกษาหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง ผู้ประกอบการ รวมไปเรื่องรายละเอียดของรถที่จะเข้าร่วมโครงการควรเป็นรถแบบไหน และศึกษาลงรายละเอียดไปจนถึงประมาณการจำนวนรถยนต์ที่จะเข้าร่วมโครงการ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนสามารถตัดสินใจนำรถเก่ามาแลกรถใหม่ จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสากรรมชะลอเรื่องนี้ออกไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติในเบื้องต้น
“ส่วนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายรถยนต์ในช่วงนี้ ก็ขอให้ประชาชนไปร่วมงานมอเตอร์โชว์ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีโครงการดังกล่าวนี้จะออกภายในเร็วๆ ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอชะลอโครงการนี้ออกไปแล้ว” นายอนุชา กล่าว
สั่งทุกกระทรวง เตรียม “ของขวัญปีใหม่” เสนอ ครม. สัปดาห์หน้า
นายอนุชา กล่าวว่า สัปดาห์หน้านายกรัฐมนตรีเชิญชวนคณะรัฐมนตรี เยี่ยมชมสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเตรียมตัวจะเปิดเป็นสถานีขนส่ง ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟระหว่างเมือง และเป็นศูนย์กลางการขนส่งเดินทางในอนาคต โดยนายกรัฐมนตรีจะไปดูความคืบหน้าของโครงการสถานีกลางบางซื่อ ส่วนรายละเอียดจะแจ้งให้สื่อมวลชนทราบอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ช่วงก่อนปิดการประชุม นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงเรื่องในอนาคตอยากให้มีการจัดตั้งกองเรือพาณิชย์นาวีของประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว (นบข.) ได้มีการนำเสนอว่า หากเราจะส่งออกผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ใช่ข้าวเพียงอย่างเดียว สินค้าอื่นด้วย ก็มีความจำเป็นที่จะต้องลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เราสามารถดำเนินการได้ หากเรามีกองเรือพาณิชย์นาวีที่สามารถขนส่งผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยออกไปสู่ตลาดโลก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของสินค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้
และเรื่องสุดท้าย นายกรัฐมนตรีได้ฝากทุกกระทรวงกลับไปคิดโครงการ หรือ มาตรการช่วยเหลือประชาชน เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ กลับมาเสนอต่อที่ประชุม ครม. สัปดาห์หน้า
เพิ่มวงเงินประกันรายได้ชาวนากว่าหมื่นล้าน
ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 28,711.29 ล้านบาท เป็นการเพิ่มเติมจากเดิมที่ ครม. อนุมัติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 18,096.06 ล้านบาท โดยวงเงินเพิ่มเติมที่ ครม. อนุมัติ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
- ค่าดำเนินการชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาเกณฑ์อ้างอิง วงเงินเพิ่มเติมจำนวน 28,078.44 ล้านบาท จากเดิม 17,676.54 ล้านบาท รวมเป็น 45,754.98 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายในการชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 2.25 วงเงินเพิ่มเติมจำนวน 631.76 ล้านบาท จากเดิม 397.72 ล้านบาท รวมเป็น 100 29.4 9 ล้านบาท
- ค่าบริหารจัดการ ธ.ก.ส. วงเงินเพิ่มเติมจำนวน 1.09 ล้านบาท จากเดิม 21.8 ล้านบาท รวมเป็น 22.88 ล้านบาท
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวอีกว่า เกษตรกรจะได้รับเงินชดเชย ซึ่งมาจากกรอบวงเงินเพิ่มเติมที่ ครม. อนุมัติ แบ่งเป็น เกษตรกรที่ระบุวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 15–29 พฤศจิกายน 2563 (งวดที่ 2 บางส่วน และงวดที่ 3–4) วงเงิน 26,605.61 ล้านบาท และเกษตรกรที่ระบุวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวหลังวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 (งวดที่ 5–30) วงเงินงบประมาณ 3,888.82 ล้านบาท
อนุมัติงบฯ 1,600 ล้าน หนุนกรมข้าวหาเครื่องจักรปรับปรุงเมล็ดพันธุ์
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. ได้อนุมัติงบประมาณอีก 1,600 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพและปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทุกศูนย์ทั่วประเทศ
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวอีกว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดการประชาสัมพันธ์และการดำเนินมาตรการคู่ขนานที่ควบคู่ไปกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี63/64 รวม 3 โครงการคือ
- โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ระยะเวลาดำเนินการ 1 พฤศจิกายน 2563–29 กุมภาพันธ์ 2564
- โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564
- โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ระยะเวลาดำเนินการ 1 พฤศจิกายน 2563 – 31 มีนาคม 2564 ให้ผู้ประกอบการเก็บข้าวไว้ระยะเวลา 2–6 เดือน และจะได้รับชดเชยดอกเบี้ย 3%
เห็นชอบผลประชุมรมต.ลุ่มน้ำโขง ญี่ปุ่นเพิ่มเงินช่วยเหลือ 2 พันล้าน
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 13 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
- ประเทศญี่ปุ่นได้ปรับเพิ่มจำนวนเงินช่วยเหลือจากเดิม 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,680 ล้านบาท) ขยายความร่วมมือด้านวิชาการแก่บุคลากรทางการแพทย์และการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลในประเทศลุ่มน้ำโขง
- อาเซียนได้มีข้อริเริ่มการจัดตั้งกองทุนเพื่อรับมือกับโควิด-19 และการจัดตั้งคลังสำรองระดับภูมิภาคสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์
- ประเทศไทยมีข้อเสนอเรื่อง “Project on sharing experiences and knowledge transfer through cross-border medical networking system” เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้และการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือกับโรคระบาด
- บรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อกลุ่มผู้เปราะบาง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามหลักการ G20 ว่าด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ
- ญี่ปุ่นได้มีข้อริเริ่ม KUSANONE Mekong SDG Initiative โดยจะสมทบเงิน 1,000 ล้านเยน (ประมาณ 300 ล้านบาท) สำหรับปี ค.ศ. 2020 เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ของชนบทและหมู่บ้านทั่วภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ผ่านแผนกำกับกิจการพลังงานปี 64 วงเงิน 892 ล้าน
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบแผนการดำเนินงาน งบประมาณรายจ่าย และประมาณการรายได้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำนวน 892.37 ล้านบาท
สาระสำคัญของแผนการดำเนินงาน เช่น ศึกษาแนวทางการใช้ไฟฟ้าจากนวัตกรรมใหม่ ทบทวนข้อกำหนดการเชื่อมต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้เป็นมาตรฐานเดียว ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในสถานศึกษาและหน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐ เป็นต้น
ส่วนประมาณการรายได้ คาดว่าจะจัดเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมการอนุญาตและการประกอบกิจการพลังงานรายปี จำนวน 932.41 ล้านบาท
แก้กม.กำหนดความเร็วรถไม่เกิน 120 กม./ชม.
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดความเร็วของยานพาหนะ โดยร่างกฎกระทรวงฉบับนี้เป็นการกำหนดความเร็วในการขับรถในทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท ที่มีทางเดินรถแบบจัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 2 ช่องเดินรถ มีเกาะกลางถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้น (Barrier Median) และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้กำหนดความเร็วของรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 2,200 กิโลกรัม รถบรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน ให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถบรรถทุกคนโดยสารเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 15 คน ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนรถในขณะที่ชักจูงรถอื่น รถยนต์สี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ส่วนรถจักรยานยนต์ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือรถจักรยานยนต์ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ขึ้นไป หรือมีขนาดความจุของกระบอกสูบรวมกันตั้งแต่ 400 ลูกบาศก์เซนติเมตรขึ้นไปให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถโรงเรียนหรือรถรับส่งนักเรียนให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนรถยนต์อื่นที่ไม่อยู่ในข่ายข้างต้นให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
กรณีที่มีเครื่องหมายจราจรกำหนดอัตราความเร็วขั้นสูงต่ำกว่าที่กำหนดไว้ข้างต้น ให้ผู้ขับขี่รถทุกประเภทขับไม่เกินอัตราความเร็วขั้นสูงที่กำหนดไว้ในเครื่องหมายจราจรนั้น ยกเว้นในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติได้เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องปริมาณรถ
ไฟเขียวบัตรชดเชยภาษีอิเล็กทรอนิกส์
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบ ลักษณะ ราคา และรายละเอียดของบัตรภาษี ซึ่งเป็นการกำหนดให้บัตรภาษีมีแบบ ลักษณะ ราคา และรายละเอียดเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรฐานที่กำหนดในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Tax Compensation :DTC) ของกรมศุลกากร เพื่อใช้แทนบัตรภาษีในรูปแบบกระดาษตามที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ได้กำหนดให้บัตรภาษีอิเล็กทรอนิกส์มีรายละเอียดประกอบด้วย ชื่อและเลขทะเบียนผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากร, เลขที่บัตรภาษีอิเล็กทรอนิกส์, จำนวนเงินชดเชยค่าภาษีอากร, วันที่ออกบัตรภาษีอิเล็กทรอนิกส์, วันที่บัตรภาษีอิเล็กทรอนิกส์หมดอายุ และรายละเอียดอื่นตามที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด อย่างไรก็ตามกำหนดให้บัตรภาษีที่ออกให้ก่อนวันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ ผู้มีชื่อในบัตรภาษีอาจยื่นความจำนงขอเปลี่ยนเป็นบัตรภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ตามระเบียบที่กรมศุลกากรกำหนด
เห็นชอบสานความร่วมมือ “ไทย–เมียนมา” ป้องกันยาเสพติด
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับเมียนมา ว่าด้วยความร่วมมือโครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน ปีงบประมาณ 2564–2569 กรอบวงเงินจำนวน 320 ล้านบาท และให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.)เป็นผู้แทนฝ่ายไทยในการลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว เพื่อบรรบุเป้าหมายอาเซียนปลอดยาเสพติดปี 2568 และแก้ปัญหาการปลูกพืชเสพติด
โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะดำเนินโครงการใน 2 พื้นที่ได้แก่ พื้นที่หนองตะยา อ.พินเลา จ.ตองยี รัฐฉานใต้ และพื้นที่ตอนเหนือของท่าขี้เหล็ก อ.ท่าขี้เหล็ก รัฐฉานตะวันออกจะเน้นการพัฒนาระบบน้ำ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี ตั้งแต่ปี 2564–2569 งบประมาณรวม 320 ล้านบาท
ทั้งนี้ หน่วยงานดำเนินการของฝ่ายไทยคือ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ส่วนของเมียนมาคือ กรมความก้าวหน้าพื้นที่ชายแดนและชาติพันธุ์
ตั้ง “เจียรนัย” นั่งประธานการเคหะฯ –โยก “จุฬา” กลับผู้ตรวจฯ
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหลายตำแหน่ง ดังนี้
- เห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอแต่งตั้ง นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน
- เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้ง พันเอก (พิเศษ) เจียรนัย วงศ์สอาด เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป
- อนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ จำนวน 3 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้
- นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาชญาวิทยา
- ศาสตราจารย์อุดม รัฐอมฤต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย
- ว่าที่พันตรี สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารงานยุติธรรม
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป
- อนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอบรรจุและแต่งตั้ง นายจุฬา สุขมานพ ผู้ไปปฏิบัติงานตามมติคณะรัฐมนตรีกลับเข้ารับราชการให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2563เพิ่มเติม