ด้วยลักษณะของคนไทย ที่ค่อนข้างมีความเชื่อเรื่องโชคชะตา ฟ้าลิขิต อิทธิพลของตัวเลข ใครก็ตามที่เป็นเจ้าของ “เลขสวย” หรือ “เลขมงคล” เชื่อว่าชีวิตจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ร่ำรวย สมหวังในเรื่องความรัก ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ ผู้มีฐานะยอมจ่ายเงินหลักหมื่น หลักแสน หลักล้าน ซื้อหาเลขสวยๆ มาช่วยเสริมดวงชะตาราศี นอกจาก “ธุรกิจขายเบอร์มือถือ” มูลค่าพันล้านบาทที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเคยนำเสนอก่อนหน้านี้ ธุรกิจขายเลขทะเบียนรถยนต์ก็เป็นที่ต้องการของตลาดไม่แพ้เบอร์มือถือเหมือนกัน
เมื่อเร็วๆ นี้มีคนในวงการรถยนต์มาร้องเรียนสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ขอให้ตรวจสอบกระบวนการจองเลขทะเบียนรถยนต์ของกรมการขนส่งทางบก โดยแหล่งข่าวจากวงการรถยนต์รายนี้กล่าวว่า ตนเป็นเจ้าของรถยนต์ยี่ห้อ Porsche รุ่น 911 Carrera มีความประสงค์จะขอป้ายทะเบียนเลขที่ 911 เพราะเป็นความไฝ่ฝันของคนที่เล่นรถยนต์รุ่นนี้ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ตนเดินทางไปขอจองป้ายทะเบียนเลขดังกล่าวกับกรมการขนส่งทางบกมาแล้วหลายครั้ง ปฏิบัติตามขั้นตอนของทางราชการทุกประการ ยังไม่เคยได้รับหมายเลข 911 แต่พอไปตรวจค้นทางอินเทอร์เน็ต พบว่าหมายเลขทะเบียน 911 วางขายในเว็บไซต์หลายแห่งในราคาเกือบ 2 แสนบาท เป็นประเด็นที่คนในวงการรถยนต์เคลือบแคลงสงสัยว่ากรมการขนส่งทางบกปล่อยป้ายทะเบียนรถเลขสวยที่ไม่ใช่เลขประมูลออกมาขายตามเว็บไซต์ได้อย่างไร
ทั้งนี้ ป้ายทะเบียนรถสวยๆ ที่ขายผ่านเว็บไซต์มี 2 ประเภท คือ กลุ่มที่ 1 ป้ายทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกนำมาประมูลขาย พื้นหลังมีลวดลาย คนในวงการเรียกว่า “ป้ายกราฟิก” ทุกๆ หมวดอักษรมีเลขทะเบียนที่กรมการขนส่งนำออกมาประมูลขายทั้งหมด “301 เบอร์” และกลุ่มที่ 2 ป้ายทะเบียนปกติ ตัวหนังสือสีดำ พื้นหลังสีขาว สำหรับรถยนต์ทั่วไป เรียกว่า “ป้ายดำ” กลุ่มนี้กรมการขนส่งทางบกเปิดให้ประชาชนทั่วไป เข้ามาจองเลือกหมายเลขได้ตามความต้องการ โดยใช้วิธีกดบัตรคิวเพื่อจองหมายเลขทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์“http://www.tabienrod.com/m/”
สำหรับป้ายกราฟิกที่กรมการขนส่งทางบกนำมาประมูลขายนั้นไม่ใช่ประเด็นปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาคือ “ป้ายดำ” โดยเฉพาะกระบวนการรับบัตรคิว เพื่อเลือกหมายเลขทะเบียนรถ ซึ่งตาม “ประกาศหลักเกณฑ์ใหม่” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 กรมการขนส่งทางบกเปิดให้ประชาชนกดคิวเพื่อจองหมายเลขทะเบียนผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวก่อนถึงวันจองหมายเลข 1 วัน และให้เริ่มกดบัตรคิวตั้งแต่เวลา 18.00-7.00 น. ของวันถัดไป หากยังไม่ถึงเวลาปุ่มกดจะไม่ทำงาน คอมพิวเตอร์ 1 ตัว (1 IP) กดได้แค่ 1 คิว แต่ที่สำคัญที่สุด “ผู้ยื่นคำขอรับคิวต้องเป็นเจ้าของรถเท่านั้น” กรณีทิ้งคิวจะกดรับคิวใหม่ไม่ได้ 15 วัน สำหรับคิวที่ได้รับคือคิวตรวจสอบเอกสาร ตรวจเสร็จเรียบร้อย ถึงจะมากรอกแบบคำขอจองหมายเลขทะเบียนรถได้
“คิวตรวจเอกสารมีทั้งหมด 900 คิว ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ผมกดคิวผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อยื่นคำขอจองเลขทะเบียนรถหลายครั้ง พอถึงเวลา 6 โมงตรงก็กดปุ่ม “รับคิว” ทันที ส่วนใหญ่ได้คิวลำดับที่ 100-200 แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง กดได้คิวลำดับที่ 50 ตรวจสอบเอกสารเสร็จก็เข้าไปเลือกเลขทะเบียนรถ ปรากฏว่าเลข 911 ที่ผมต้องการถูกเลือกไปแล้ว เป็นเช่นนี้ทุกครั้ง กลุ่มเลขสวยไม่มีได้อย่างไร” แหล่งข่าวจากวงการรถยนต์กล่าว
แหล่งข่าวจากวงการรถยนต์กล่าวต่อไปอีกว่า ข้อสังเกตของตนคือ ในวันที่กดได้คิวลำดับที่ 50 มีนัดหมายรอพบเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจเอกสารช่วงเวลา 7.30-8.10 น. รอบนี้มีคิวรอตรวจเอกสารทั้งหมด 100 คิว (0-100) หากยึดตามหลักการของกรมการขนส่งทางบกที่ระบุว่า “ผู้ยื่นคำขอรับคิวต้องเป็นเจ้าของรถหรือผู้เช่าซื้อเท่านั้น” รอบนี้ต้องมีเจ้าของรถมานั่งรอตรวจเอกสารกับผมทั้งหมด 100 คน แต่ปรากฏว่ามีเจ้าของรถมานั่งรอกับผมแค่ 20 คนเท่านั้น ประเด็นที่ผมสงสัยคือ เจ้าของรถ 80 คนไม่ต้องมายื่นเอกสารได้อย่างไร หรือเจ้าของรถมายื่นเอกสารขอป้ายดำมากกว่า 1 ป้าย
นอกจากนี้ หลักเกณฑ์การจองป้ายทะเบียน ข้อที่ 4 ระบุว่า “เลขทะเบียนที่จองแล้ว ห้ามเปลี่ยนเลข หรือโอนสิทธิ์ เปลี่ยนชื่อ หรือยกเลิก ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น” ตนจึงเกิดข้อสงสัย ทะเบียนป้ายดำเลขสวยๆ ที่ขายกันอยู่บนเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก กรมการขนส่งทางบกปล่อยให้ดำเนินการได้อย่างไร ทั้งๆ ที่หลักเกณฑ์ระบุชัดว่าเจ้าของรถจองทะเบียนรถได้แล้วห้ามโอนสิทธิ์ไปให้ผู้อื่นต่อ
“ในเมื่อตลาดมีความต้องการเลขสวย เลขมงคล ทำไมกรมการขนส่งทางบกไม่คัดเลือกเลขสวยเหล่านี้เข้าไปอยู่ในกลุ่มป้ายประมูล หรือกลุ่มป้ายกราฟิก เพิ่มเติม (301 หมายเลข) นำรายได้ส่งเข้า “กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน” น่าจะดีกว่าปล่อยให้ผลประโยชน์เหล่านี้ไปตกอยู่ในมือพ่อค้าปีละหลายร้อยล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว
ต่อประเด็นนี้ นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า “ใครมาขอจองป้ายทะเบียนรถกับกรมการขนส่งทางบก เราให้ทุกราย เมื่อได้ป้ายไปแล้วจะไปขายบนเว็บไซต์ ตรงนี้เป็นสิทธิเจ้าของป้ายทะเบียน กรมการขนส่งทางบกไม่มีทราบว่าผู้ที่มาจองป้ายทะเบียนกับเราเมื่อได้รับป้ายดำแล้วนำไปขายบนเว็บไซต์ ยกตัวอย่าง นาย ก. ได้รับป้ายทะเบียน 1 หมายเลข นาย ข. จองได้ 1 หมายเลข ทั้งนาย ก. และนาย ข. ตกลงแลกเปลี่ยนหมายเลขกัน ถึงวันจดทะเบียนทั้งคู่มาขอเปลี่ยนชื่อ หากเจ้าของป้ายยินยอม กรมการขนส่งทางบกต้องดำเนินการให้”
นายอัฌษไธด์กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผมกำลังตรวจสอบเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน แต่เลขทะเบียนรถสามารถเปลี่ยนมือได้หลังจากที่ได้รับเลขทะเบียนไปแล้ว เป็นเรื่องของความยินยอมกันทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำการศึกษา หาทางนำเลขทะเบียนสวยๆ เหล่านี้เข้าสู่ระบบการประมูลเพิ่มเติม เพื่อจัดเก็บรายได้เข้ากองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน แต่ในระหว่างนี้กรมการขนส่งทางบกได้นำเลขทะเบียนรถตู้ รถปิ๊กอัพ เข้าสู่ระบบการประมูลเป็นครั้งแรก เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2557 เป็นต้นไป”