ThaiPublica > เกาะกระแส > คตง. ยื่นหนังสือถึงรมต.คลัง-อธิบดีกรมสรรพากร ใช้บัญชีทรัพย์สิน ป.ป.ช. ตรวจสอบภาษีนักการเมือง-ข้าราชการร่ำรวยผิดปกติ

คตง. ยื่นหนังสือถึงรมต.คลัง-อธิบดีกรมสรรพากร ใช้บัญชีทรัพย์สิน ป.ป.ช. ตรวจสอบภาษีนักการเมือง-ข้าราชการร่ำรวยผิดปกติ

2 กุมภาพันธ์ 2015


นอกจากภารกิจตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินแล้ว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยังมีหน้าที่ตรวจสอบงานจัดเก็บภาษีแต่ที่ผ่านมาเน้นตรวจสอบเฉพาะงานจัดซื้อจัดจ้างเป็นหลัก โดยสตง. ได้เพิ่มน้ำหนักงานตรวจสอบกรมภาษีคู่ขนานไปกับงานตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของส่วนราชการ นอกจากจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น-ลดการขาดดุลงบประมาณแล้ว ยังช่วยป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันได้ด้วย เป็นนโยบายที่ “ศาสตราจารย์พิเศษชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม” ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มอบหมายให้ข้าราชการ สตง. รับไปดำเนินการในช่วงที่นายชัยสิทธิ์ตำแหน่งประธาน คตง. อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557

หลังจากที่่นายชัยสิทธิ์สั่งการให้นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทำหนังสือถึงนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2558 เสนอให้กรมสรรพากรใช้อำนาจตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงที่ร่ำรวยผิดปกติ โดยนำรายการบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาสอบยันกับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้ง ภ.ง.ด.90-91 ของกรมสรรพากร หากพบรายการใดยังไม่ได้เสียภาษีให้ใช้อำนาจตามมาตรา 49 ประเมินภาษีและจัดเก็บภาษีส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอธิบดีกรมสรรพากรไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ คตง. จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ถือว่ามีความผิดทางวินัย ซึ่ง คตง. จะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 157

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร

ต่อเรื่องนี้นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่าตนได้ทำหนังสือชี้แจง คตง. ว่ากรมสรรพากรยินดีและพร้อมให้ความร่วมมือ เพราะเป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรที่ต้องตรวจสอบผู้เสียภาษีทุกรายอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลผู้เสียภาษีให้บุคคลภายนอกล่วงรู้ได้ เป็นความลับ หาก สตง. มีข้อสงสัยนักการเมืองหรือข้าราชการคนใดเสียภาษีไม่ถูกต้อง ขอให้ สตง. ส่งข้อมูลรายละเอียดมาให้กรมสรรพากรเป็นรายบุคคลเช่นเดียวกับกรณีที่ส่วนราชการอื่นส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรตรวจสอบ อาทิ ป.ป.ช., คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) รวมทั้งประชาชนทั่วไปด้วย

“ผมเข้าใจเจตนารมณ์ของ สตง. ซึ่งกรมสรรพากรก็ทำหน้าที่ตรวจสอบภาษีผู้เสียภาษีทุกรายอยู่แล้ว แต่ประมวลรัษฎากร มาตรา 10 ห้ามไม่ให้เปิดเผยข้อมูลผู้เสียภาษีกับบุคคลภายนอก หาก สตง. พบเบาะแสผู้เสียภาษีรายใดเสียภาษีไม่ครบถ้วน ขอให้ส่งข้อมูลมาที่กรมสรรพากร การตรวจสอบภาษีนักการเมือง โดยตรวจสอบจากรายงานบัญชีทรัพย์สินของ ป.ป.ช. บางกรณีก็ใช้มาตรา 49 ในการประเมินภาษีไม่ได้ ยกตัวอย่าง นาย ก. เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แจ้ง ป.ป.ช. มีที่ดินมูลค่า 20 ล้านบาท ปรากฏว่ามีถนนตัดผ่านทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มเป็น 200 ล้านบาท ดังนั้น ข้อมูลที่ปรากฏในบัญชีทรัพย์สินของ ป.ป.ช. ยังไม่สามารถระบุได้ว่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมาเสียภาษีหรือยัง กรณีที่ดินมีมูลค่าเพิ่มขึ้น หากยังไม่ขาย กรมสรรพากรประเมินภาษีไม่ได้” นายประสงค์กล่าว

ด้านนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธาน คตง. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมสรรพากรไม่ได้ใช้มาตรา 49 ประเมินภาษีนักการเมืองที่ร่ำรวยผิดปกติมานานแล้ว จึงทำข้อเสนอดังกล่าวนี้ให้กรมสรรพากรเร่งดำเนินการ ยกตัวอย่าง นักการเมืองหรือนักธุรกิจรับเงินเดือน 1-2 แสนบาท/เดือน สร้างบ้านพร้อมที่ดินมูลค่า 100 ล้านบาท มีรถหรู คนกลุ่มนี้มีรายได้จากแหล่งไหน กรมสรรพากรใช้มาตรา 49 ประเมินภาษีหรือยัง ซึ่ง สตง. ไม่มีหน้าที่ออกไปเดินสำรวจหรือตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนักการเมืองส่งให้กรมสรรพากรตรวจสอบเป็นรายบุคคลตามที่อธิบดีกรมสรรพากรร้องขอ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากกรมสรรพากร แต่ทันที่ที่ได้รับหนังสือตอบกลับมาอย่างเป็นทางการ ตนจะนำประเด็นนี้เข้าที่ประชุมบอร์ด คตง. เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป