ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ณรงค์ชัย” เดินหน้าปฏิรูปพลังงานก๊อก 2 ชง กพช. ไฟเขียวแผนลดราคาน้ำมันครั้งใหญ่-ปรับ LPG ราคาเดียว แก้ปัญหาบิดเบือน

“ณรงค์ชัย” เดินหน้าปฏิรูปพลังงานก๊อก 2 ชง กพช. ไฟเขียวแผนลดราคาน้ำมันครั้งใหญ่-ปรับ LPG ราคาเดียว แก้ปัญหาบิดเบือน

15 ธันวาคม 2014


ต่อจากตอนที่แล้ว กระทรวงพลังงาน “ปรับขึ้นราคาแก๊ส-ลดราคาน้ำมัน” เดินหน้าโหมดปฏิรูปราคาพลังงาน แก้ปัญหาโครงสร้างบิดเบือน ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันที่ 2 ธันวาคม 2557 จึงมีมติให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่ขายก๊าซ LPG ให้ภาคครัวเรือนและขนส่งต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มจากกิโลกรัมละ 4.67 บาท เป็น 5.64 บาท ทำให้ราคาขายปลีก LPG ที่ขายให้ภาคครัวเรือนและขนส่งเพิ่มขึ้น จาก 23.13 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 24.16 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับราคาขายปลีก LPG ที่ขายให้กับภาคอุตสาหกรรม

การจัดการและการใช้LPG

ล่าสุด นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังคงเดินหน้าแผนปฏิรูปราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงต่อไป โดยเตรียมนำข้อเสนอปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ ในวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ทั้งนี้เพื่อขออนุมัติหลักการ โดยจะใช้จังหวะสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ฐานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกลับมามีสถานะเป็นบวกสุทธิสูงสุดเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี (10,169 ล้านบาท) และรื้อโครงสร้างราคาพลังงานให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้ทุกกลุ่มให้ได้ใช้ราคาพลังงานที่สะท้อนกลไกตลาดโลก

ที่มาของปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานบิดเบือน ต้นเหตุเกิดจากนโยบายรัฐเข้าไปแทรกแซงราคา LPG ให้มีราคาถูก ฝืนกลไกตลาดโลกมาเป็นเวลานานกว่า 3 ทศวรรษ จน LPG กลายเป็นสินค้าการเมือง ทำให้เกิดปัญหาตามมา อาทิ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ผ่านมาคนใช้เบนซินจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันอุดหนุนคนใช้ LPG ไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท นอกจากอุดหนุนคนไทยแล้วยังไปอุดหนุนประเทศเพื่อนบ้านด้วยการลักลอบนำไปขาย เนื่องจากราคาขายปลีกในประเทศมี 4 ราคา พร้อมกับลักลอบนำแก๊ส LPG ราคาถูกไปขายให้ภาคอุตสาหกรรม หลายครั้งที่รัฐบาลพยายามเข้าไป “รื้อโครงสร้างราคา” ให้เกิดความเป็นธรรม แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะถูกกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ต่อต้าน รัฐบาลปกติจึงไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ ต้องใช้รัฐบาลที่มีอำนาจพิเศษ

การตัดสินใจปรับลดราคาน้ำมัน-ขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติครั้งนี้ ทำให้โครงสร้างราคาขายปลีก LPG เดิมมี 4 ราคา (ไม่รวม LPG ที่ขายให้ครัวเรือนรายได้น้อย) ปัจจุบันลดลงเหลือ 2 ราคา คือราคา LPG ที่ขายให้กลุ่มปิโตรเคมีกับ LPG ที่ขายให้ภาคครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรม เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่ยังถกเถียงกันไม่จบใน “เวทีปฏิรูปพลังงาน” เกี่ยวกับเรื่องความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรก๊าซ LPG ราคาถูกที่ผลิตมาจากอ่าวไทย ระหว่างกลุ่มธุรกิจพลังงานกับภาคประชาชนที่มี น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร เป็นแกนนำ

การจัดหาและการใช้ก๊าซLPG

ทั้งนี้ การจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ (ตัวเลขเฉลี่ยย้อนหลัง 6 ปี) มีอยู่ 3 แหล่งใหญ่ คือ 1. ได้มาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. คิดเป็นสัดส่วน 50% ของปริมาณการจัดหาทั้งหมด 2. จากโรงกลั่นน้ำมัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 29% และที่เหลืออีก 21% นำเข้าจากต่างประเทศ

ส่วนกลุ่มที่ใช้ LPG (ตัวเลขเฉลี่ยย้อนหลัง 6 ปี) แบ่งเป็น 4 กลุ่ม อันดับ 1 คือ ภาคครัวเรือน ใช้ LPG คิดเป็นสัดส่วน 39% ของปริมาณการใช้ทั้งหมด อันดับ 2 ภาคปิโตรเคมี ใช้ LPG ประมาณ 32% อันดับ 3 ภาคขนส่ง ใช้ 16% และอันดับ 4 ภาคอุตสาหกรรม ใช้ 11%

ปริมาณการใช้ LPG ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ภาคปิโตรเคมีใช้ LPG เป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกิดศึกแย่งชิง LPG ราคาถูกจากอ่าวไทย ในสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แก้ปัญหานี้โดยให้ความเห็นชอบ “มติ กพช. ครั้งที่ 3/2551 (ครั้งที่ 122)” กำหนดให้กระทรวงพลังงานจัดสรร LPG ที่ผลิตในประเทศแก่ภาคปิโตรเคมีและภาคครัวเรือนก่อนเป็นลำดับแรก ส่วนที่เหลือจัดสรรให้ภาคขนส่งและอุตสาหกรรม หากไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ก็ให้ภาคขนส่งและอุตสาหกรรมไปใช้ LPG นำเข้าจากต่างประเทศราคาตลาดโลก ต่อมากระทรวงพลังงานออกประกาศกำหนดให้ LPG เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตของธุรกิจปิโตรเคมี ไม่ใช่เชื้อเพลิง จึงไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตและภาษีท้องถิ่น แต่กำหนดให้โรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันกิโลกรัมละ 1 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ของราคาขาย

และจากการที่ภาคปิโตรเคมีใช้ LPG เป็นวัตถุดิบในปริมาณมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากภาคครัวเรือน ประกอบกับนโยบายรัฐที่ให้การสนับสนุนธุรกิจปิโตรเคมีเป็นกรณีพิเศษ ทำให้เกิดประเด็นข้อสงสัยว่าที่ผ่านมาธุรกิจปิโตรเคมีสั่งซื้อ LPG ราคาถูกจากโรงแยกก๊าซของ ปตท. (อ่าวไทย) ในราคาเท่าไหร่

ข้อมูลซื้อขายLPG

วันที่ 11 กรกฎาคม 2556 คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ใช้อำนาจตามกฎหมายทำหนังสือเลขที่ สว. (กมธ.) 0010/3629 และ 0010/3883 ถึงบริษัท ปตท. สอบถามขอข้อมูลราคาซื้อ-ขาย LPG ย้อนหลัง 1 ปี (กรกฎาคม 2555 – มิถุนายน 2556)

วันที่ 31 กรกฎาคม 2556 นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. ทำหนังสือเลขที่ 80000378/129/56 ชี้แจงคณะกรรมาธิการฯ ปรากฏว่าโรงแยกก๊าซของ ปตท. ขาย LPG ให้กับธุรกิจปิโตรเคมีราคาเฉลี่ย 17.17 บาทต่อกิโลกรัม

ขณะที่สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน จัดทำแผ่นพับ “ความจริงวันนี้ของ LPG” ชี้แจงราคาซื้อขาย LPG ที่หน้าโรงกลั่นน้ำมันต่อสาธารณชน เอกสารชุดนี้ระบุว่า กลุ่มปิโตรเคมีซื้อ LPG จากโรงกลั่นน้ำมันราคา 22.30 บาทต่อกิโลกรัม แพงกว่าภาคครัวเรือน ส่วนภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมสั่งซื้อก๊าซ LPG จากโรงกลั่นน้ำมันราคา 10.26 บาทต่อกิโลกรัม

โครงสร้างราคาLPG

วันที่ 4 พฤษภาคม 2557 น.ส.รสนาจัดทำแผนปรับโครงสร้างราคา LPG แนะนำให้รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกเลิกมติ ครม. วันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 พร้อมกับปรับปรุงระเบียบในการจัดสรรก๊าซ LPG ใหม่ โดยให้จัดสรรก๊าซราคาถูกจากอ่าวไทยให้ภาคครัวเรือนได้ใช้ก่อนเป็นอันดับแรก และให้บวกกำไรที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ใช้และผู้ผลิต ส่วนที่เหลือแบ่งให้ภาคอื่นใช้ หากไม่เพียงพอกับความต้องการก็ให้ภาคอุตสาหกรรมทุกประเภทไปใช้ก๊าซนำเข้าจากต่างประเทศ

ด้าน “นายมนูญ ศิริวรรณ” อดีตผู้บริหารบริษัทบางจากปิโตรเลียม ตัวแทนกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีภาคประชาชนเรียกร้องให้จัดสรรก๊าซราคาถูกให้ภาคครัวเรือนก่อนเป็นลำดับแรกและให้ภาคปิโตรเคมีไปใช้ก๊าซนำเข้าจากต่างประเทศว่า “หากภาคประชาชนคิดว่าภาคปิโตรเคมีซื้อ LPG ได้ในราคาถูกเกินไป ทำให้เกิดผลกำไรเป็นจำนวนมาก ก็ควรหาวิธีการคืนกำไรให้กับประเทศในรูปแบบอื่นแทน เช่น บริษัททั่วไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% ของกำไรสุทธิ ก็อาจจะให้ภาคปิโตรเคมีเสียภาษี 50% เหมือนธุรกิจสำรวจ ขุดเจาะน้ำมัน แต่ไม่ควรห้ามไม่ให้ภาคปิโตรเคมีมาใช้ก๊าซLPG ที่ผลิตจากอ่าวไทย ทำให้การจัดสรรทรัพยากรบิดเบี้ยว”