ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ถกปฏิรูปพลังงาน รื้อโครงสร้างบิดเบี้ยวทั้ง”ราคาน้ำมัน-ก๊าซ” เสนอ “ประยุทธ์” สิ้น มิ.ย. นี้

ถกปฏิรูปพลังงาน รื้อโครงสร้างบิดเบี้ยวทั้ง”ราคาน้ำมัน-ก๊าซ” เสนอ “ประยุทธ์” สิ้น มิ.ย. นี้

24 มิถุนายน 2014


พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2557 เวลา 8.30 น. ณ หอประชุมกองทัพอากาศ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน อาทิ กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย (จปพ.), สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเครือข่ายมูลนิธิผู้บริโภค, กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน, เครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (กคป.), กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มาประชุมเป็นครั้งที่ 2 โดยมี พล.ร.ต. วินัย กล่อมอินทร์ อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือที่เรียกว่า “หน่วยซีล” เป็นแขกรับเชิญพิเศษ ทั้งนี้เพื่อรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นของกลุ่มต่างๆ จัดทำแผนปฏิรูปพลังงาน หรือ “โรดแมปพลังงานไทย” เสนอ พล.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. พิจารณาภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2557

ทุกกลุ่มที่มาประชุมวันนี้มีความคิดเห็นตรงกัน คือ ต้องปฏิรูปพลังงานไทย และปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบที่ล้าหลังให้มีความทันสมัย แต่รายละเอียดที่จะนำไปสู่เป้าหมาย มีมุมมองแตกต่างกัน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจพลังงาน กับภาคประชาชน

ครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 2 พล.อ.อ. ประจินจึงปรับรูปแบบการประชุมใหม่ โดยให้กลุ่มปฏิรูปพลังงานที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันทยอยเข้ามาแสดงความคิดเห็นและนำเสนอข้อมูลทีละกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 45 นาที การประชุมวันนี้จึงใช้เวลานานถึง 8 ชั่วโมง แตกต่างจากการประชุมนัดแรกที่เปิดให้ทั้ง 2 ฝ่ายประชุมร่วมกัน ซึ่งใช้เวลาแค่ 4 ชั่วโมง

กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย (จปพ.) เป็นกลุ่มแรกที่นำเสนอ โดยภายหลังการหารือ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร แกนนำกลุ่ม จปพ. ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงานว่า กลุ่ม จปพ. เสนอ คสช. ให้ตัดค่าใช้จ่ายเทียมออกจากราคาน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากน้ำมันสำเร็จรูปผลิตในเมืองไทย ขายคนไทย ทำไมต้องให้โรงกลั่นน้ำมันอ้างอิงราคาสิงคโปร์บวกค่าขนส่งและค่าประกันภัยที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงเข้าไปอยู่ในราคาน้ำมัน

โดย น.ส.รสนาอ้างถึงกรณี ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเมื่อปี 2542 ให้กระทรวงพลังงานไปเจรจากับโรงกลั่นน้ำมันที่ผลิตน้ำมันสำเร็จรูปส่วนเกินจากความต้องการใช้ในประเทศประมาณ 5,000 ล้านลิตรต่อปี ขายให้คนไทยโดยใช้ราคาส่งออก (Export priority) แต่หลังจากนั้นได้ไม่นาน โรงกลั่นน้ำมันก็กลับมาใช้ระบบอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์อีก ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกน้ำมันปีละ 11,000 ล้านลิตร น.ส.รสนาจึงเสนอให้ คสช. นำระบบราคาส่งออกมาใช้แทนระบบอ้างอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์ นอกเหนือจากที่ได้เสนอให้ตัดค่าใช้จ่ายเทียมออกจากราคาน้ำมัน

ส่วนโครงสร้างราคา LPG ปัจจุบันมี 4 ราคา คือ ราคาที่ขายให้กับภาคขนส่ง, ภาคครัวเรือน, ภาคอุตสาหกรรมทั่วไป และภาคปิโตรเคมี น.ส.รสนากล่าวว่า “ปัจจุบัน 3 กลุ่มแรก ซึ่งเป็นภาคประชาชน ถูกผลักให้ใช้ LPG ราคาตลาดโลก ขณะที่กลุ่มปิโตรเคมีได้ใช้ก๊าซราคาถูกผลิตจากอ่าวไทยที่ราคาปากหลุมผลิต อีกตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมคือ กรณีบริษัท ปตท. ขายก๊าซ NGV ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยใช้ราคาพูล (Pool gas price) ซึ่งเป็นราคาซื้อ-ขายก๊าซที่คำนวณมาจากแหล่งผลิต 3 แหล่ง ประกอบด้วยก๊าซส่วนที่เหลือจากอ่าวไทย, พม่า และก๊าซนำเข้า (LNG) แต่ธุรกิจปิโตรเคมีซื้อก๊าซจากอ่าวไทยราคาปากหลุม ดังนั้นกลุ่ม จปพ. จึงเสนอให้ คสช. ปรับโครงสร้างราคา LPG เหลือเพียง 2 ราคา โดยจัดสรร LPG จากอ่าวไทยให้ภาคประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรก่อนเป็นอันดับแรก ที่เหลือถึงจะแบ่งภาคปิโตรเคมี หากไม่เพียงพอภาคปิโตรเคมี ต้องนำเข้า LPG มาใช้เอง”

น.ส.รสนากล่าวต่อไปอีกว่า การแก้ปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานบิดเบือน ต้องกลับไปแก้ที่ต้นเหตุปัญหา คือ การให้สัมปทานสำรวจขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียม ปัจจุบัน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 กำหนดให้ใช้ระบบสัมปทานกับจ้างผลิตเท่านั้น ดังนั้น ก่อนที่จะเปิดสัมปทานฯ รอบที่ 21 ควรแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดช่องให้มีการนำระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) มาใช้เหมือนกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ โดยมีรัฐถือหุ้น 100 % ดูแลกิจการด้านพลังงานของประเทศอย่างมืออาชีพ

กรณีกลุ่มภาคประชาชนเสนอให้ตัดค่าใช้จ่ายเทียมออกราคาน้ำมันที่ขายให้คนไทย โดยให้ใช้ราคาส่งออกเป็นราคาอ้างอิงแทนราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ นายมนูญ ศิริวรรณ อดีตผู้บริหาร บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ตัวแทนจากกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ชี้แจงว่า น้ำมันที่ผลิตจากโรงกลั่นส่วนใหญ่นำเข้ามาจากตะวันออกกลาง โดยน้ำมันดิบที่นำเข้ายังไม่ได้รวมค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ขั้นตอนนี้ยังไม่ตั้งราคาขาย จนกว่าโรงกลั่นจะผลิตน้ำมันสำเร็จรูปถึงจะมาตั้งราคาขายอ้างอิงราคาที่สิงคโปร์ เรียกว่า “Reference pricing” โรงกลั่นทุกแห่งที่อยู่ในภูมิภาคนี้ตั้งราคาน้ำมันสำเร็จรูปอ้างอิงราคาที่สิงคโปร์ทุกประเทศ และทั่วโลกก็ใช้ระบบ Reference pricing ไม่มีประเทศไหนตั้งราคาน้ำมันสำเร็จรูปตามราคาต้นทุน “Cost plus pricing”

“ค่าขนส่งและค่าประกันภัยที่โรงกลั่นรวมอยู่ในราคาน้ำมัน ไม่ใช้ค่าใช้จ่ายเทียม แต่เป็นค่าใช้จ่ายจริง เพราะช่วงที่โรงกลั่นสั่งน้ำมันมาจากตะวันออกกลาง ผ่านช่องแคบมะละกา ยังไม่ได้บวกค่าขนส่ง ค่าประกันภัยเข้าไปเลย ส่วนค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันจากยูโร 2 เป็นยูโร 4 เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง โดยมีต้นทุนอยู่ 0.50 บาทต่อลิตร นอกจากนี้โรงกลั่นต้องสำรองน้ำมันตามกฎหมาย 6% ของปริมาณการผลิตคิดเป็นต้นทุน 0.10 บาทต่อลิตร ยังไม่รวมค่าขนส่งจากตะวันออกกลาง โรงกลั่นมีต้นทุนอยู่ที่ 0.60 บาทต่อลิตร หากตัดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ออก ส่งผลกระทบต่อโรงกลั่นแน่นอน” นายมนูญกล่าว

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ หัวหน้าคสช. เชิญหน่วยงานด้านพลังงานประชุมจัดทำแผนปฏิรูปพลังงานไทย ครั้งที่ 2 วันที่ 22 มิถุนายน 2557 ณ หอประชุมกองทัพอากาศ
พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เชิญหน่วยงานด้านพลังงานประชุมจัดทำแผนปฏิรูปพลังงานไทย ครั้งที่ 2 วันที่ 22 มิถุนายน 2557 ณ หอประชุมกองทัพอากาศ

นายมนูญกล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนข้อเสนอให้โรงกลั่นน้ำมันตั้งราคาน้ำมันที่ขายในประเทศอ้างอิงราคาส่งออกแทนราคาน้ำมันประเทศสิงคโปร์ ข้อเท็จจริงในการตั้งราคาส่งออกน้ำมันสำเร็จขึ้นอยู่กับว่าโรงกลั่นน้ำมันส่งน้ำมันไปขายประเทศไหน ยกตัวอย่าง ประเทศลาว ปกติสั่งซื้อน้ำมันจากสิงคโปร์ ต้องมาดูว่าค่าขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปไปลาวรวมราคาน้ำมันอ้างอิงราคาสิงคโปร์ หากขนส่งน้ำมันจากสิงคโปร์ไปลาวมีราคาถูกกว่า โรงกลั่นไทยต้องการขายน้ำมันให้ได้ ก็ต้องลดราคาลงมา นี่คือเหตุผลที่ทำไมราคาน้ำมันส่งออกมีราคาถูกกว่าขายในประเทศ

ด้าน นพ.ระวี มาศฉมาดล แกนนำเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (กคป.) เปิดเผยว่า ข้อเสนอของกลุ่ม กคป. ใกล้เคียงกับกลุ่ม จปพ. และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือ 1. ทยอยยกเลิกการใช้กองทุนน้ำมันเป็นเครื่องมือกำหนดราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่ต้องปรับโครงสร้างราคา LPG ให้เสร็จเรียบร้อย 2. ให้โรงกลั่นตัดค่าใช้จ่ายเทียมออกไปจากราคาน้ำมัน 3. ยกเลิกการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 4 และให้กลับไปใช้ยูโร 2 เหมือนกับประเทศอื่นๆ เป็นมาตรการระยะสั้น น่าจะช่วยให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมาได้เล็กน้อย จากนั้น พล.อ.อ. ประจิน ขอให้ พล.ร.ต. วินัย กล่อมอินทร์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลักลอบขุดเจาะปิโตรเลียมช่วงที่รับผิดชอบกองเรือสูบคอนเดนเสทจากแหล่งผลิตใส่เรือส่งขายต่างประเทศทำอย่างไร

ผลจากการประชุมทั้ง 2 ครั้ง พล.อ.อ. ประจินให้สัมภาษณ์ว่า ฝ่ายเศรษฐกิจจะนำข้อมูลทั้งหมดไปสรุปเป็นแผนปฏิรูปพลังงานไทยเสนอ พล.อ. ประยุทธ์ก่อนสิ้นเดือนมิถุนายน 2557 และเริ่มดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมภายใน 3-6 เดือน ในระยะสั้นมีเรื่องเร่งด่วนคือการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค แต่ควรตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ราคา 30 บาทต่อลิตร จนกว่าจะมีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซเสร็จสิ้น รวมไปถึงการทบทวนบทบาทของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การปฏิรูประบบสัมปทานสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียม สนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้ทันสมัย เป็นต้น