ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มลภาวะที่จีน: ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (ตอนที่ 9)

มลภาวะที่จีน: ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (ตอนที่ 9)

30 ตุลาคม 2014


รายงานโดย อิสรนันท์

กลายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีไปเสียแล้ว เมื่อย่างเข้าเดือนสิบ หมอกควันพิษก็เริ่มคุกคามกรุงปักกิ่ง จนกลายเป็น “เมืองในหมอกพิษ” นานติดต่อกันอย่างน้อย 2 วัน แม้ทางการจะเร่งออกมาตรการป้องปรามขนานใหญ่แล้วก็ตาม สุดท้ายก็ต้องประกาศต้องยกระดับการเตือนภัยให้สูงขึ้นจากระดับสีเหลือง หรือระดับกลางของระบบการเตือนภัยมลพิษทางอากาศ ไปเป็นระดับสีส้ม ซึ่งหมายถึง “มีอันตรายต่อสุขภาพ” ก่อนที่อุณหภูมิจะเย็นลงจนกลุ่มหมอกควันพิษค่อยๆ สลายตัวลง

ระหว่างนั้น ทางการได้สั่งปิดถนนและทางหลวง 18 สายที่มุ่งสู่ปักกิ่ง เมืองฮาร์บินและเซี่ยงไฮ้ นอกเหนือจากประกาศให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากกันมลพิษก่อนออกจากบ้าน รวมทั้งจำกัดกิจกรรมนอกห้องเรียน ตลอดจนสั่งการให้โรงงานในเมืองลดการปล่อยควันพิษลง 30 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ดี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีซ ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลปักกิ่งว่าเหตุใดจึงไม่ประกาศมาตรการเตือนภัยมลภาวะทางอากาศในระดับสูงสุดเป็นสีแดง เพื่อปกป้องเด็กๆ ซึ่งเปราะบางต่อมลภาวะทางอากาศ เนื่องจากมาตรการเตือนภัยระดับนี้จะทำให้ต้องปิดโรงเรียนเป็นการชั่วคราวโดยปริยาย รวมไปถึงการปิดถนนหลายสายเกือบครึ่งของเมือง เป็นที่น่าสังเกตว่านับตั้งแต่เริ่มใช้ระบบเตือนภัยมลภาวะทางอากาศเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ปักกิ่งยังไม่เคยใช้การเตือนภัยในระดับสีแดงมาก่อน

ทั้งนี้ ดัชนีคุณภาพอากาศอย่างเป็นทางการของปักกิ่งเมื่อช่วงเย็นวันที่ 9 ต.ค. สูงเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ว่าไม่เกินระดับ 300 และปรากฏว่าผลการวัดระดับฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว หรือพีเอ็ม 2.5 ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อปอดนั้น สูงถึง 455 ไมโครกรัมต่อคิวบิกเมตร หรือสูงกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้ว่าปลอดภัยถึง 18 เท่า

ด้านกรมควบคุมมลภาวะและสิ่งแวดล้อมในปักกิ่งให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ปัญหาของหมอกควันพิษเลงร้ายลง ยังมาจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้อากาศเสียไม่สามารถระบายออกไปได้ จึงลอยไปปกคลุมมณฑลและหัวเมืองรอบๆ กรุงปักกิ่ง โดยเฉพาะในเหอเป่ย, ส่านซี, สิงไถ, สือเจียจ้วง, ติ้งโจว และหยางเฉวียน

ทางการยังได้โทษการเผาฟางข้าวตามชนบทในมณฑลเหอเป่ย เหอหนาน และซานตง ว่ามีส่วนทำให้สถานการณ์หมอกควันเลวร้ายลง โดยเฉพาะที่เหอเป่ย ซึ่งดัชนีคุณภาพอากาศสูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 20 เท่า หรืออยู่ในระดับอันตรายพอๆ กันกับกรุงปักกิ่ง จนต้องยกระดับการเตือนภัยให้อยู่ในระดับสีส้ม เนื่องจากดัชนีคุณภาพอากาศในเมืองสิงไถทางตอนใต้ของมณฑลนี้สูงเกินระดับที่จำกัดไว้

ไม่ใช่แค่คนเท่านั้นที่มีปัญหาด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากมลภาวะทางอากาศ แม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงต่างๆ ก็เริ่มป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเป็นแถวๆ โดยสัตวแพทย์ผู้หนึ่งในเมืองฮาร์บิน เมืองเอกของมณฑลเหยหลงเจียง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า หมอกหนามักจะมาพร้อมกับสารพิษบางอย่าง ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในสัตว์เลี้ยงลดลง โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่มีอายุน้อยหรืออายุมาก ซึ่งมักจะเกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจติดขัดและติดเชื้อ และอาจนำไปสู่การไอเรื้อรังได้

มลภาวะที่ปักกิ่ง ที่มาภาพ : http://media.npr.org/assets/img/2013/05/23/ap746423045717_wide-3072d3f85c937ed282b869f3a929a28213202b20.jpg
มลภาวะที่ปักกิ่ง ที่มาภาพ: http://media.npr.org/assets/img/2013/05/23/ap746423045717_wide-3072d3f85c937ed282b869f3a929a28213202b20.jpg

ปัญหานี้เพิ่งจะสังเกตเห็นได้ชัดขึ้นช่วงที่หมอกพิษหนาได้ปกคลุมเมืองนี้ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. เป็นต้นมา ทำให้สัตว์เลี้ยงต่างล้มป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจไปตามๆ กัน โดยเฉพาะสุนัขซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด สัตวแพทย์ผู้นี้เผยด้วยว่า ก่อนหน้าที่หมอกควันหนาทึบจะปกคลุมเมืองฮาร์บิน มีสัตว์เลี้ยงเข้ารับการรักษาเพียงสัปดาห์ละ 1 ตัวเท่านั้น แต่หลังจาก 20 ต.ค. เป็นต้นมา มีสุนัขเข้ารับการรักษาเนื่องมาจากระบบทางเดินหายใจติดเชื้อมากถึงวันละ 3 ตัว แม้ว่าเจ้าของสุนัขหลายรายจะเปิดเผยว่าช่วงที่เกิดปัญหาหมอกหนา ตัวเองไม่ได้พาสุนัขออกไปเดินเล่นตามปรกติก็ตาม และถึงแม้ว่าจะอยู่แต่ในบ้าน สุนัขก็ยังล้มป่วย หายใจติดขัดตลอดเวลาจนต้องพาไปหาสัตวแพทย์

ไม่เพียงแต่แดนมังกรจีนที่ประสบปัญหามลภาวะทางอากาศรุนแรงขึ้น แดนภารตะอินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประสบปัญหาเดียวกัน โดยเฉพาะหลังเทศกาลดิวาลี หรือดิปาวาลี หรือเทศกาลแห่งแสงไฟ ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวฮินดู จึงมีการเฉลิมฉลองทั่วประเทศนานติดต่อกันถึง 5 วัน ด้วยแสงไฟจากตะเกียงดินเผา เทียน รวมทั้งดอกไม้ไฟ พลุ และประทัดอีกด้วย ปรากฏว่าหลังผ่านพ้นเทศกาลนี้เพียงแค่วันเดียว ค่ามลพิษทางอากาศในกรุงนิวเดลีพุ่งขึ้นจนอยู่ในระดับ “ร้ายแรง” โดยมีค่าพีเอ็ม 2.5 หรือความหนาแน่นของอนุภาคในอากาศ สูงกว่า 250 เกินเกณฑ์ปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ 10 เท่า

ทั้งนี้ คุณภาพอากาศในกรุงนิวเดลีมีแต่เลวร้ายลงตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับการขยายตัวของยวดยานพาหนะเครื่องยนต์ดีเซล มลภาวะจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรม เมื่อนายนเรนทรา โมดี ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก็ได้รณรงค์โครงการ “คลีนอินเดีย” เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ของประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่สกปรกที่สุดในโลก โดยหนึ่งในโครงการนี้ก็คือการติดตั้งระบบวัดคุณภาพอากาศใหม่ที่เพิ่งนำมาใช้เป็นครั้งแรก นอกเหนือจากจัดทำคลิปรณรงค์ “ดิวาลีเขียว” ที่มีภาพเด็กถือป้ายขอร้องผู้ใหญ่ไม่ให้จุดประทัด ปรากฏว่ามีการส่งต่อคลิปนี้ในวงกว้าง หลายคนเชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แม้ว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสังคมได้ภายในชั่วข้ามคืนก็ตาม

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกเพิ่งเผยแพร่ผลศึกษาชิ้นล่าสุด โดยเก็บข้อมูลจากอนุภาคฝุ่นละอองเป็นปัจจัยหลัก ระบุว่ากรุงนิวเดลีเป็นเมืองที่มีมลภาวะทางอากาศรุนแรงที่สุดเมื่อเทียบกับเมืองต่างๆ 1,600 แห่งใน 91 ประเทศทั่วโลก แต่ทางการอินเดียยืนกรานว่าไม่เป็นความจริง พร้อมกับโต้ว่าอากาศในกรุงนิวเดลียังคงดีอยู่แม้ว่าจะค่อนข้างแย่ก็ตาม โดยเฉพาะหลังเทศกาลดิวาลี แต่ส่วนใหญ่ยังถือดีกว่าภาวะหมอกควันพิษที่ปกคลุมนครหลวงของจีน

ในเว็บไซต์ www.mnn.com ว่าด้วย “The 10 cities with the worst air pollution in the world” เปิดเผยว่า ตลอดช่วง 5 ปีของการเก็บข้อมูลอนุภาคฝุ่นละอองตามเมืองใหญ่น้อยเกือบ 1,600 เมืองใน 91 ประเทศ พบว่าคนเมืองทั่วโลกกว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในเมืองที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกถึง 2.5 เท่า โดยมีประชากรเมืองเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่อาศัยในเมืองที่ค่าคุณภาพอากาศอยู่ในมาตรฐาน

ที่น่าสังเกตก็คือ ใน 10 อันดับแรกของเมืองที่มีปัญหามลภาวะทางอากาศรุนแรงที่สุดในโลกนั้นไม่มีเมืองใดๆ ในแดนมังกรจีนติดอันดับต้นๆ แม้แต่เมืองเดียว แม้กระทั่งกรุงปักกิ่งซึ่งทั่วโลกต่างจับตามองเป็นพิเศษก็ตาม ตรงกันข้าม มีเมืองในอินเดียติดอันดับท็อปเท็นเมืองที่มีปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรงที่สุดถึง 6 เมืองด้วยกัน เริ่มจาก 4 อันดับแรกล้วนแต่อยู่ในอินเดีย นับจากกรุงนิวเดลี ตามด้วยเมืองปัตนะ เมืองกวาลิเออร์ เมืองไรปุระ อันดับ 5 ถึงอันดับ 7 อยู่ในปากีสถาน ได้แก่ นครการาจี เมืองเปชาวาร์ และนครราวัลปินดี ตามด้วยเมืองคอร์รามาบัด ประเทศอิหร่าน อันดับ 9-10 ก็อยู่ในอินเดีย ได้แก่ เมืองอาเมดาบัดและเมืองลัคเนาว์

สำหรับเมืองที่ปัญหาคุณภาพอากาศอยู่ในระดับต่ำ อยู่ในประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ และสวีเดน

ในผลการศึกษาฉบับล่าสุดขององค์การอนามัยโลกซึ่งเริ่มทำการสำรวจตั้งแต่ปี 2554 ได้เตือนว่า “มลภาวะทางอากาศ” ได้ติดอันดับท็อปเท็นปัญหาจากสิ่งแวดล้อมที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก และเป็นตัวการทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าจำนวนคนที่เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียและเอดส์รวมกันเสียอีก เฉพาะปี 2555 เพียงปีเดียว มีผู้เสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศถึงเกือบ 7 ล้านคนทั่วโลก สอดคล้องกับผลการสำรวจของสำนักงานเพื่อการวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (ไอเออาร์ซี) ซึ่งเริ่มทำตั้งแต่ปี 2554 พบว่า มลภาวะทางอากาศในที่กลางแจ้งเป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์เป็นมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอดและมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โรคทางหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจมากขึ้น นอกเหนือจากเป็นตัวการหนึ่งในการกระตุ้นให้เด็กมีอาการของโรคออทิสติกด้วย

ขณะที่ผลการศึกษาร่วมกันของสหรัฐฯ อิสราเอล และจีน พบว่ามลภาวะทางอากาศทางตอนเหนือของจีนทำให้คนมีอายุสั้นลงราว 5.5 ปี ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2553 ผลการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งระบุว่ามีลูกหลานมังกรเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลภาวะทางอากาศถึง 1.2 ล้านคน รองจากการตายจากการโภชนาการ จากโรคความดันโลหินสูงและจากการสูบบุหรี่เท่านั้น

ในรายงานขององค์การอนามัยโลกยืนยันด้วยว่าตัวการใหญ่ของมลภาวะทางอากาศมาจากการปล่อยไอเสียจากยานพาหนะและจากโรงงาน รวมถึงจากอาคารบ้านเรือน ซึ่งหลายพื้นที่ยังคงใช้ถ่านหินและฟืน อันเป็นเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดเขม่าละอองพิษสูง เป็นหลักในการปรุงอาหารหรือสร้างความอบอุ่นในบ้าน

ช่วงไล่เลี่ยกันนี้ เว็บไซต์ของกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจีนเพิ่งจะเปิดเผยผลการสำรวจมลภาวะทางอากาศใน 74 เมืองใหญ่ทั่วประเทศเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนวันที่สภาพอากาศแย่ลงถึง 26.9 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับ 19.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปีที่แล้วโดยเฉพาะเมืองทางตอนเหนือของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรุงปักกิ่ง เทียนสิน และอีก 7 เมืองในมณฑลเหอเป่ย ซึ่งรั้งอันดับท็อปเท็นเมืองที่มีอากาศย่ำแย่ที่สุด มีจำนวนวันที่เกิดมลภาวะทางอากาศมากถึง 57.4 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเดือน ก.ค. เทียบกับ 51.4 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว

ส่วนเมืองทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศแม้จะมีปัญหามลภาวะทางอากาศมากขึ้น แต่ก็ยังน้อยกว่าเมืองในตอนเหนือกว่าครึ่งหนึ่ง ขณะที่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี อันประกอบด้วยมหานครเซี่ยงไฮ้และอีก 24 เมือง ต้องเผชิญกับวันที่มีปัญหามลภาวะทางอากาศ 25.31 เปอร์เซ็นต์ของเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 14.2 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ร้อนถึงเทศบาลมหานครเซี่ยงไฮ้ต้องประกาศเพิ่มมาตรการปรับบริษัทที่ละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมอีก 5 เท่าทันที และจะปรับรายวันเช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าบริษัทนั้นๆ จะปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดไว้

ส่วนข้อมูลจากกลุ่มกรีนพีซซึ่งได้ตรวจสอบคุณภาพของอากาศใน 190 เมืองทั่วประเทศกลับพบว่าตลอดช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ค่าพีเอ็ม 2.5 ได้ลดลงถึง 6 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

แต่ข้อมูลไหนก็ไม่น่าสนใจมากเท่ากับข้อมูลของฟาน เสี่ยว วิศวกรจีนคนหนึ่งแห่งสำนักงานธรณีวิทยาและเหมืองแร่แห่งมณฑลเสฉวนที่เตือนว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องเลือกว่าจะยอมเผชิญหน้ากับปัญหามลภาวะทางอากาศหรือต้องรับศึกหนักจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

คำเตือนนี้มีขึ้นหลังจากมีข้อสงสัยมานานว่าสาเหตุแผ่นดินไหวในแดนมังกรซึ่งช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทวีความรุนแรงมากขึ้นและบ่อยครั้งมากขึ้นนั้นอาจมาจาการเร่งสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ หวังจะเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดทดแทนพลังงานถ่านหิน ซึ่งเป็นตัวการก่อมลภาวะทางอากาศ

จากผลการสังเกตของฟาน เสี่ยว พบว่าการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้านั้นอาจเกี่ยวเนื่องกับแผ่นดินไหวในพื้นที่รอบๆ เห็นได้จากแผ่นดินไหวใหญ่หลายครั้งด้วยกัน ก่อนหน้านี้นักวิจัยส่วนใหญ่เชื่อว่าการสร้างเขื่อนไม่ใช่สาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหวแต่อย่างใด แต่ช่วงหลัง เริ่มมีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มใหม่เชื่อว่าผลจากการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจะมีผลกระทบต่อรอยเลื่อน จนทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามมา เช่น

-เหตุแผ่นดินไหวที่เมืองลู่เจี้ยนเมื่อต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 600 คน ซึ่งสาเหตุอาจจะเกี่ยวพันกับการสร้างเขื่อนเซี่ยงเจี๋ยป้ากับซื่อลั่วตู

-ธรณีพิโรธที่เสฉวน เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2556 และเมืองหย่งซานเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ปีที่แล้ว อาจมีสาเหตุโดยตรงมาจากรอยเลื่อนที่อยู่ใต้อ่างเก็บน้ำซื่อลั่วตู นักธรณีวิทยาส่วนใหญ่เริ่มเชื่อว่าเหตุแผ่นดินไหวที่นี่มาจากการสร้างอ่างเก็บน้ำ

-มหาปฐพีพิโรธที่เสฉวนเมื่อกลางเดือน พ.ค. 2551 ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 70,000 คน นักธรณีวิทยากลุ่มหนึ่งเริ่มเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับการสร้างอ่างเก็บน้ำซื่อผิงปู่ในมณฑลเสฉวน ขณะที่นักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าอาจจะเป็นแค่สาเหตุหนึ่งเท่านั้น อีกกลุ่มหนึ่งมองว่าแค่เป็นตัวเร่งการเกิดเผ่นดินไหวให้เร็วขึ้น

-ธรณีพิโรธที่มณฑลเหอเป่ยระหว่างปี 2546-2552 ซึ่งเป็นพื้นที่สร้างเขื่อนไตรผา เหนือแม่น้ำแยงซี อันเป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปรากฏว่าตลอดช่วงการก่อสร้างเกิดแผ่นดินไหว 3,400 ครั้งด้วยกัน

คำเตือนของฟาน เสี่ยว ที่สื่อรัฐในจีนต่างประโคมข่าวใหญ่โตนี้มีขึ้นขณะที่รัฐบาลมีแผนจะสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มอีก 60 เขื่อนภายในปีหน้า ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ตลอดแนวรอยเลื่อนซึ่งยิ่งทำให้กังวลมากขึ้นว่าจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่อีกหลายระลอก