รายงาน…อิสรนันท์
สำนักข่าวดีพีเอของเยอรมนีได้เสนอรายงานพิเศษชิ้นหนึ่งในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ว่าปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่สภาพภูมิอากาศโลกอยู่ในภาวะวิกฤติ หรืออาจจะถือเป็นปีที่โลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 14 ปีนับตั้งแต่เปลี่ยนมาเป็นศตวรรษที่ 21 และแม้ว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 190 ประเทศจะพยายามแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็ยังไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกได้ในระดับที่น่าพอใจ
จากผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศโลกพบว่าโลกมีเวลาราวหนึ่งชั่วอายุคนเท่านั้นที่จะใช้โควต้าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับปลอดภัย 1.2 ล้านล้านตัน หลังจากนั้นอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ผลตามมาก็คือ ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับอันตราย ดังนั้นเพื่อจะช่วยต่ออายุของโลกให้ยั่งยืนยาวตลอดไป ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงราวปีละ 7 เปอร์เซ็นต์
ในรายงานพิเศษของสำนักข่าวดีพีเอชิ้นนี้ได้เน้นประเด็นสำคัญว่า ระหว่างการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศโลกแห่งสหประชาชาติครั้งล่าสุดเพื่อผลักดันให้จัดทำสนธิสัญญาต่อสู้โลกร้อนฉบับใหม่ภายในสิ้นปี 2558 ได้มีการเสนอให้ประกาศรายชื่อประเทศที่ให้ความร่วมมือและประจานประเทศที่ไม่ค่อยมีความคืบหน้ามากนัก นอกจากนี้ ที่ต่างไปจากพิธีสารโตเกียวซึ่งมุ่งการบังคับและลงโทษประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่เป็นตัวการหลักก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน แต่สนธิสัญญาฉบับใหม่จะขยายการบังคับใช้ไปยังประเทศกำลังพัฒนา ด้วยการขอให้สมัครใจประกาศมาตรการช่วยลดโลกร้อนลงด้วย เนื่องจากมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นตามการพัฒนาของเศรษฐกิจ
โดยตามที่ตกลงกันนั้น แต่ละประเทศจะต้องประกาศเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2563 ตามด้วยการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาว่าจะเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและหยุดการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2573 สุดท้ายก็คือเพิ่มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในเมืองคิดเป็นสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573
แต่ประเทศที่น่าเป็นห่วงและกำลังเป็นที่จับตามองมากขึ้นแทนจีนก็คืออินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 3 ตามหลังจีนและสหรัฐฯ เพราะขณะที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งแดนมังกรจีนประกาศจับมือร่วมกันลดโลกร้อน โดยสหรัฐฯ จะลดการปล่อยคาร์บอนระหว่าง 26-28 เปอร์เซ็นต์ จากระดับการปล่อยก๊าซเมื่อปี 2548 ให้สำเร็จภายในปี 2568 ส่วนจีนจะทำตามเป้าหมายเดียวกันภายในปี 2573 โดยอาจจะเร็วขึ้นกว่ากำหนดก็ได้ แต่อินเดียกลับสวนทาง ประกาศจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นอีกหลายร้อยแห่ง โดยไม่สนใจที่จะศึกษาบทเรียนในแดนมังกรจีนที่สามารถลดปริมาณการใช้ถ่านหินลงในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ก่อนที่มาตรการห้ามเปิดโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินจะมีผลบังคับใช้ในอีก 3 ปีข้างหน้า พร้อมกับขยายโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำแทนมากขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตปีละ 9.7 เปอร์เซ็นต์
ฝรั่งเศสเมืองมลพิษ เร่งเพิ่มเลนจักรยาน
ดีพีเอได้เสนอรายงานพิเศษชิ้นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตระหนักดีว่านับวันปัญหาโลกร้อนและมลภาวะทางอากาศยิ่งเป็นปัญหาใกล้ตัวไม่ใช่เรื่องไกลตัวเหมือนเมื่อกำลังพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในจีนอีกต่อไป เพราะตอนนี้หลายประเทศในทวีปเก่ายุโรป โดยเฉพาะแดนปารีเซียงฝรั่งเศส ซึ่งต่างมัวแต่ “ดูหนังดูละคร” และสมคบกันกดดันผู้นำจงหนานไห่ให้เร่งแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ โดย “ลืมย้อนดูตัว” กว่าจะรู้ตัวก็เกือบสายเกินการณ์กลายเป็น “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง” เมื่อต่างเผชิญกับปัญหามลภาวะทางอากาศสูงเกินกว่าระดับความปลอดภัยขึ้นที่กรุงปารีสและปริมณฑลนานติดต่อกันร่วมหนึ่งสัปดาห์เมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาเหมือนกับที่เกิดขึ้นในแดนมังกรไม่มีผิด
โดยค่าอนุภาคที่เป็นมลภาวะหรือพีเอ็ม 10 สูงถึง 180 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าระดับมาตรฐานความปลอดภัยกว่า 2 เท่า สาเหตุมาจากท่อไอเสียรถยนต์ที่ภาครัฐให้เงินอุดหนุนน้ำมันดีเซล ทำให้ปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้น ผสมผสานกับควันพิษจากอุตสาหกรรมหนัก ประกอบกับอากาศอุ่นขึ้นมีแสงแดดสาดส่องทำให้กลายเป็นปัญหากลุ่มหมอกควันพิษปกคลุมไปทั่ว
ร้อนถึงอานน์ อิดัลโก นายกเทศมนตรีหญิงแห่งกรุงปารีส ต้องรีบแก้ไขสถานการณ์ทั้งระยะสั้นและระยาว ด้วยวิธีเดียวกับที่แดนมังกรทำมาก่อน ไม่ว่าจะด้วยการเสนอแผนจำกัดรถยนต์ที่จะเข้ามาใน 4 เขตเมืองเก่าใจกลางเมืองหลวง ซึ่งจะกลายเป็นพื้นที่สงวนไว้สำหรับรถจักรยาน รถยนต์โดยสารและแท็กซี่ ตลอดจนรถยนต์ของผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ รถส่งของและรถฉุกเฉินเท่านั้น
ในส่วนของแผนระยะยาวนั้น นายกเทศมนตรีหญิงแห่งกรุงปารีสก็มีนโยบายจะกำจัดรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลให้หมดไปจากกรุงปารีสในอีก 6 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2560 และหากเป็นไปได้คำสั่งห้ามอาจรวมถึงพื้นที่วงแหวนรอบนอกด้วย
ทั้งนี้ กรุงปารีสเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ที่แก้ไม่ตกกับปัญหาการจราจรติดขัดจนทำให้ปัญหามลภาวะทางอากาศพุ่งพรวดเป็นบางครั้ง เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางไปชมสถานที่สำคัญต่างๆ กระทั่ง อานน์ อิดัลโก นายกเทศมนตรีหญิง ได้กำหนดมาตรการทดลองหลายหลายมาตรการ อาทิ การจำกัดอัตราความเร็วรถยนต์เป็นการชั่วคราว นอกเหนือจากให้ประชาชนงดใช้รถยนต์เป็นบางวัน หรือสงวนถนนบางสายที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุด เช่น ถนนฌ็อง เอลิเซส์ อันโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วไว้สำหรับ “รถยนต์พลังงานสะอาด” เท่านั้น และในส่วนของถนนสายหลักที่มีการจราจรคับคั่ง ก็จะสงวนไว้สำหรับรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซไอเสียในระดับต่ำที่สุด อีกทั้งเตรียมจะขยายพื้นที่จำกัดความเร็วรถยนต์ไว้แค่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นายกเทศมนตรีหญิงแห่งปารีสยังขายฝันด้วยว่า จะเพิ่มช่องทางสำหรับรถจักรยานเป็น 2 เท่าภายใน 6 ปีข้างหน้า โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเส้นทางจักรยานมูลค่า 100 ล้านยูโร เพื่อโน้มน้าวประชาชนให้หันมาขี่จักรยานแทนการขับรถยนต์ เพื่อสนองนโยบายนี้ เธอจึงวางแผนจะสร้างระบบรถจักรยานพลังไฟฟ้าขึ้น โดยยึดเส้นทางเดียวกับ “เวลิบ” เครือข่ายให้เช่าจักรยานชั่วคราวอันมีชื่อเสียงในกรุงปารีส เชื่อว่าการรณรงค์นี้จะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เนื่องจากขณะนี้มีชาวกรุงปารีสมากขึ้นถึง 60 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ขับรถยนต์เทียบกับ 40 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2555 มาตรการระยะสั้นและระยะยาวของนายกเทศมนตรีหญิงแห่งปารีสมีขึ้นหลังจากเมื่อกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลได้สั่งจำกัดจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลที่วิ่งเข้ามาในกรุงปารีสและปริมณฑล ด้วยการกำหนดวันขับรถยนต์ส่วนตัวตามเลขทะเบียนนอกเหนือจากสั่งจำกัดความเร็วของรถและการเลือกใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่ก่อมลภาวะ ตลอดจนรณรงค์ให้ชาวปารีเซียงใช้บริการรถขนส่งมวลชนฟรีทุกประเภท
มาตรการเหล่านี้มีขึ้นหลังจากปารีสเผชิญปัญหาหมอกควันพิษที่พุ่งสูงขึ้นเกินระดับความปลอดภัยนานติดต่อกันร่วมสัปดาห์ โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศสยอมรับว่าคุณภาพของอากาศอยู่ในระดับเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ใกล้เคียงกับระดับมลภาวะทางอากาศที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในกรุงปักกิ่ง เป็นเหตุให้ประชาชนป่วยเป็นโรคหอบหืดและโรคมีผลต่อระบบหายใจและหัวใจ มากขึ้น นับเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลตัดสินใจทำเช่นนี้หลังจากเคยทำครั้งแรกเมื่อปี 2540
โครงการผันน้ำจีน1,200 กม.
อันที่จริง มาตรการเหล่านี้ก็เป็นมาตรการที่เดินตามหลังแดนมังกรซึ่งกรุยทางไว้ก่อนหน้า รวมไปถึงการออกกฎหมายเมื่อช่วงกลางปีนี้เพื่อคุมเข้มตัวการปล่อยมลภาวะทางอากาศ อย่างไรก็ดี ยังไม่ทันที่ปัญหาหมอกควันพิษจะคลี่คลายลง แดนมังกรก็สร้างปัญหาใหม่ อันจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตซ้อนขึ้นมาอีก
โดยเมื่อช่วงวันคริสต์มาสที่ผ่านมา ทางการได้เริ่มปล่อยน้ำหยดแรกจากโครงการผันน้ำ จากพื้นที่อุดมสมบูรณ์แถบลุ่มน้ำฉางเจียงหรือแยงซีที่ยาวที่สุดในประเทศ บริเวณมณฑลหูเป่ย ทางภาคกลางสู่พื้นที่แห้งแล้งในภาคตะวันตกเฉียงเหนือและภาคเหนือ รวมไปถึงให้ 2 เมืองเศรษฐกิจสำคัญคือกรุงปักกิ่งและนครเทียนสิน ระยะทางกว่า 1,200 กิโลเมตร หรือเท่ากับระยะทางจากกรุงมาดริดในสเปนไปยังกรุงลอนดอนในอังกฤษ หลังจากโครงการนี้ชะลอมานาน 5 ปี จากเดิมที่กำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2553
นับเป็นอภิมหาเมกะโปรเจกต์ล่าสุดของแดนมังกรที่จะผันน้ำมากถึงปีละ 44.8 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา 26 สายรวมกัน สู่พื้นที่ภาคเหนือที่มีประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ แต่กลับมีปริมาณแหล่งน้ำจืดเพียงหนึ่งในห้าของประเทศ โดยกรุงปักกิ่งจะได้รับน้ำปีละกว่าหนึ่งพันล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่น้ำอีก 8,500 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับน้ำในสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิก 3.4 ล้านสระจะส่งไปยังมณฑลต่าง ๆ ที่ประสบวิกฤติแล้งซ้ำซากเช่นกัน
แม้ว่าโครงการนี้ถือเป็นโครงการทางวิศวกรรมที่ใช้เงินมากที่สุดในโลกด้วยงบประมาณในการขุดคลองทั้งสิ้น 81,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.67 ล้านล้านบาท) ไม่นับรวมไปถึงการส่งผลกระทบต่อลูกหลานมังกรไม่ต่ำกว่า 330,000 คน ที่ต้องย้ายถิ่นฐานตามนโยบายของอภิมหาโครงการยักษ์นี้ อีกทั้งยังได้ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด แทบไม่ผิดแผกไปจากอภิมหาเขื่อนยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลก “ซานเซี้ยต้าป้า” หรือเขื่อนสามโตรกหรือเขื่อนไตรผาที่กำลังสร้างปัญหาที่แก้ไม่ตกนี้อยู่ในขณะนี้
อย่างไรก็ดี โครงการผันน้ำจากใต้สู่เหนือนี้ก็เหมือนกับยิงกระสุนนัดเดียวได้นก 2 ตัว หรืออีกนัยหนึ่งเป็นโครงการ “ทูอินวัน” ส่วนหนึ่งจะช่วยแก้ปัญหาของภาคใต้ที่มีน้ำมากเกินไปจนเกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่า ไปป้อนให้กับภาคเหนือที่ประสบปัญหาแล้งซ้ำซากโดยเฉพาะที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งประสบปัญหาแล้งติดต่อกันมานานกว่า 10 ปี แล้ว
อันที่จริง โครงการขุดคลองผันน้ำไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในแดนมังกร เพียงแต่ครั้งนี้อาจจะส่งผลกระทบมากกว่าโครงการคลองขุดที่ใหญ่ที่สุดในสมัยโบราณ ไม่ว่าจะเป็นคลองขุดในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้หรือคลองขุดต้ายุ่นเหอ ในสมัยพระเจ้าสุยหยางตี้แห่งราชวงศ์สุยเมื่อกว่าพันปีมาแล้วเพื่อเชื่อมการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวระหว่างดินแดนภาคเหนือและใต้เข้าด้วยกัน ปรากฏว่าต้องเกณฑ์คนกว่า 6 ล้านมาช่วยขุดคลองนี้และต้องใช้เวลาขุดคลองความยาวกว่า 2,500 กิโลเมตร นานกว่า 30 ปี จนเป็นที่มาของสมญาว่า “ลำนำเลือด” นำมาซึ่งการล้มราชวงศ์นี้ในที่สุด
แน่นอน โครงการผันน้ำจากใต้สู่เหนือนี้อาจจะไม่เป็นชนวนการล้มผู้นำจงหนานไห่เหมือนการโค่นฮ่องเต้ทรราชย์ในอดีต เนื่องจากเป็นโครงการในฝันแต่ทำไม่สำเร็จของประธานเหมา เจ๋อตุง ที่ได้เอ่ยปากขณะทอดมองแม่น้ำฮวงโหหรือแม่น้ำเหลืองเมื่อปี 2495 ว่า ทางเหนือขาดแคลนน้ำ ขณะที่ทางใต้มีน้ำมากมาย หากสามารถหยิบยืมกันได้ก็จะเป็นการดี
แม้จะเป็นโครงการในฝัน แต่ประธานเหมาก็ต้องพับโครงการนี้ก่อนเนื่องจากประสบปัญหาทางเทคนิค ยังไม่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยมากพอ ประกอบกับมีปัญหาเงินทุนในยุคที่เพิ่งปลดแอกประเทศได้ไม่นาน แต่โครงการนี้ก็ได้รับการปัดฝุ่นขึ้นมาใหม่เมื่อปี 2545 ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน หลังจากเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่เป็นประวัติการณ์ในรอบร้อยปี
เริ่มด้วยการสร้างเขื่อนตานเจียงโขว่สูง 110 เมตร ในมณฑลหูเป่ย ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลของกรุงปักกิ่ง 120 เมตร จากนั้นก็แบ่งเส้นทางการผันน้ำเป็น 3 สาย ได้แก่ สายตะวันออกที่จะผันน้ำจากปลายแม่น้ำแยงซี ในมณฑลเจียงซู ขึ้นไปจ่ายน้ำให้กับเขตที่อยู่อาศัยและภาคอุตสาหกรรมในมณฑลซานตง อันฮุ่ย เหอเป่ย และเมืองเทียนสิน คิดเป็นระยะทางยาว 1,467 กิโลเมตร
สายที่ 2 เรียกว่าสายกลาง ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำในลำน้ำสาขาของแม่น้ำแยงซี ในมณฑลเหอเป่ย ไปยังให้มณฑลเหอหนานและอันฮุย หรือเรียกรวมกันว่ามณฑลเหออัน กรุงปักกิ่ง และเทียนสิน ระยะทางยาว 1,432 กม. สายสุดท้าย ได้แก่ สายตะวันตก ผันน้ำจากต้นแม่น้ำแยงซีไปยังต้นแม่น้ำฮวงโห ไปยังพื้นที่แห้งแล้งกึ่งทะเลทรายในมณฑลชิงไห่ กานซู่ หนิงเซี่ย มองโกเลียใน ซานซี และส่านซี
ระหว่างการก่อสร้าง หากบริเวณใดที่คลองส่งน้ำต้องตัดผ่านแม่น้ำที่ขวางกั้นอยู่ ก็จะใช้วิธีขุดอุโมงค์ส่งน้ำลอดใต้แม่น้ำ ปรากฎว่ามีอุโมงค์ยาว 7.2 กิโลเมตร ลอดใต้แม่น้ำฮวงโห รวมทั้งมีสะพานส่งน้ำยาว 12 กิโลเมตร ผันน้ำจากแม่น้ำสายหนึ่งในมณฑลเหอหนาน ทางตอนกลางของประเทศ ถือเป็นสะพานส่งน้ำยาวที่สุดในโลก
อย่างไรก็ดี กลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมในแดนมังกรได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า โครงการนี้เป็นโครงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบสุกเอาเผากิน ไม่ใช่โครงการแก้ปัญหาแบบลงรากไปถึงต้นตอของปัญหา และจะบรรเทาภาวะขาดแคลนน้ำของทางเหนือได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบัน กรุงปักกิ่งใช้น้ำปีละ 3,600 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีปริมาณน้ำให้ใช้เพียง 2,100 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับขาดแคลนปีละ 515 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่พื้นที่ทางใต้เองมีแนวโน้มว่าฝนจะตกน้อยลงทุกปี จนอาจเกิดปัญหาภัยแล้งขึ้นได้ในอนาคต
วิกฤติขาดแคลนน้ำในกรุงปักกิ่งเริ่มขึ้นเมื่อนครหลวงแห่งนี้เกิดภัยแล้งนานติดต่อกัน 12 ปี ประกอบกับการขยายเมืองอย่างรวดเร็วโดยไร้การวางผังเมืองให้ดีพอ ทำให้วงจรการจ่ายน้ำมีปัญหา เมื่ออ่างเก็บน้ำมื่อหวินและกวนถิง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับประชากร 20 ล้านคน สามารถรองรับการบริโภคได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น โดยมีน้ำเหลือสำรองอยู่เพียงปีละ 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เทศบาลนครปักกิ่งได้แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำมาตลอด นับตั้งแต่ปี 2542 ได้มีการขุดเจาะน้ำบาดาลมากขึ้น โดยขุดลึกลงไป เฉลี่ยปีละ 1. 20 เมตร แม้จะตระหนักดีว่าจะส่งผลกระทบร้ายแรงในระยาวก็ตาม ตลอดจนสนับสนุนการวิจัยเรื่องการแยกเกลือออกจากน้ำเพื่อให้สามารถดื่มได้
นอกจากนี้ ก็มีโครงการผันน้ำจากแม่น้ำฮั่น ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาหลักของแม่น้ำแยงซี โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถผันน้ำได้ถึง 1 พันล้านลูกบาศก์เมตร แต่โครงการนี้กลับล่าช้าไม่ทันการณ์ ตามด้วยการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งในมณฑลเหอเป่ย และอ่างเก็บน้ำอีก 2 แห่งในมณฑลซานซี ตั้งแต่ปี 2546 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโอลิมปิกเมื่อ ปี 2551 ซึ่งปริมาณการใช้น้ำมากกว่าปรกติไม่รู้กี่เท่า จากตัวเลขทางการระบุว่าในช่วงมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ปักกิ่งได้ผันน้ำจาก 2 มณฑลใกล้ๆ ถึง 400 ล้านลูกบาศก์เมตร
แม้ว่าโครงการผันน้ำจาก 2 มณฑลนี้จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในกรุงปักกิ่งได้ในระดับหนึ่ง แต่กลับสร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสให้กับลูกหลานมังกรใน 2 มณฑลข้างเคียง ที่ต้องแบกรับความทุกข์จากภัยแล้งและภาวะขาดแคลนน้ำ
นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายคนให้ความเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลพึงกระทำทันทีก็คือการรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด รวมไปถึงขึ้นค่าน้ำประปาให้แพงขึ้น จากขณะนี้ที่คิดเพียงลูกบาศก์เมตรละ 4 หยวน (ราว 20 บาท) เท่านั้น ไม่เช่นนั้น บรรดาลูกหลานมังกรก็คงยากที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคน้ำ ทำให้ความต้องการน้ำมีแต่จะสูงขึ้นตลอดเวลา นอกจากนี้ก็ควรจะหวนกลับมาทบทวนนโยบายควบคุมประชากร และการขยายตัวเมือง ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของวิกฤติขาดแคลนน้ำด้วย