ในวันจันทร์ที่ผ่านมา สำนักงานนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม กรุงปักกิ่ง (Beijing Municipal Ecology and Environment Bureau) รายงานตัวเลขค่าความหนาแน่นของฝุ่นละออง PM2.5 ในปี 2020 ว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 38 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นค่าที่ต่ำที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2013 และเป็นครั้งแรกที่ค่า PM2.5 ลดลงต่ำกว่า 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ในปี 2020 จำนวนวันที่คุณภาพอากาศของกรุงปักกิ่งอยู่ในเกณฑ์ดี คือ 276 วัน มากกว่าปี 2019 ถึง 36 วัน ขณะเดียวกัน มีเพียง 10 วันที่คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์เลวร้าย ซึ่งน้อยกว่าปี 2013 เป็นจำนวนถึง 48 วัน และเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ความหนาแน่นของฝุ่นละออง PM2.5 ในปี 2020 ลดลงจากปี 2013 ถึง 57.5%
“เป็นครั้งแรกที่ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 รายปีของกรุงปักกิ่งลดลงต่ำกว่ากว่า 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร” นายหลิว เป่าเสียน ผู้อำนวยการแผนกติดตามคุณภาพอากาศ แห่งสำนักงานนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมให้ความเห็น
นายหลี่ เซียง ผู้อำนวยการแผนกคุณภาพอากาศ ระบุว่า ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งได้ปรับใช้ มาตรการการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างครอบคลุมทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชนและประชาชนในการร่วมกันสร้างอากาศที่บริสุทธิ์ โดยกรุงปักกิ่งดำเนินการย้ายบริษัทผู้ผลิตที่สร้างมลพิษทางอากาศจำนวน 113 แห่งออกไปยังนอกเมือง และจัดการกับยานพาหนะที่ปล่อยควันดำเกินค่ามาตรฐานอย่างเข้มงวดมากขึ้น
ในช่วงแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 (2016-20) กรุงปักกิ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในการลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากท่อไอเสีย ซึ่งส่งผลให้จำนวนไนโตรเจนไดออกไซด์ในอากาศลดลงจนต่ำกว่าค่ามาตรฐาน จากข้อมูลของเทศบาลนครปักกิ่งรายงานว่า ปัจจุบันกรุงปักกิ่งมีรถยนต์ที่ใช้พลังงานใหม่เพิ่มขึ้นมากถึง 401,000 คัน โดยส่วนมากเป็นรถยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ กรุงปักกิ่งยังสามารถลดมลพิษจากการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินในชุมชน โดยการติดตั้งระบบก๊าซธรรมชาติทดแทนการใช้ถ่านหินได้สำเร็จ ในส่วนหมู่บ้านที่ยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับที่จะติดตั้งระบบได้ รัฐบาลได้มีการเตรียมถ่านคุณภาพสูงไว้ให้ ซึ่งปล่อยมลพิษออกมาน้อยกว่าถ่านหินปกติ
รัฐบาลจีนกล่าวว่า จะดำเนินการลดการปล่อยมลพิษต่อไปโดยให้ความสำคัญกับแหล่งต้นกำเนิดมลพิษ เช่น การปล่อยมลพิษของรถยนต์ดีเซล และฝุ่นละออง และเสริมสร้างความร่วมมือกับภูมิภาคใกล้เคียงอย่าง มณฑลหูเป่ยและเทศบาลนครเทียนจิน เพื่อฟื้นฟูคุณภาพอากาศร่วมกัน