ThaiPublica > คนในข่าว > “พล.อ. อนันตพร” สวมโขน 5 หัว ในชนชั้นประชุม 5 ชุด ตัวช่วย “บิ๊กตู่” ในทำเนียบ-รัฐสภา เกาะติดปัญหารัฐวิสาหกิจ 6 ล้านล้าน

“พล.อ. อนันตพร” สวมโขน 5 หัว ในชนชั้นประชุม 5 ชุด ตัวช่วย “บิ๊กตู่” ในทำเนียบ-รัฐสภา เกาะติดปัญหารัฐวิสาหกิจ 6 ล้านล้าน

10 พฤศจิกายน 2014


ชนชั้นประชุม ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นแหล่งรวมบรรดาข้าราชการ นายทหาร และนักธุรกิจ นักการเงิน และนายธนาคาร

เฉพาะนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควบตำแหน่งหัวหน้า คสช. และนั่งเป็นประธานคณะกรรมการระดับชาติด้านเศรษฐกิจ-ความมั่นคง ถึง 14 คณะ

นายพลระดับสูงหลายราย ต้องใส่หมวกฝ่ายบริหาร และในกองทัพ อย่างน้อย 3 ตำแหน่ง

พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ คือหนึ่งในนายพลที่ต้องพกบัตรแสดงสถานะไว้ในรถประจำตำแหน่ง ถึง 5 ใบ แสดงสถานะหัวโขน 5 หัว

บัตรใบแรก ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
บัตรใบที่สอง ตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
บัตรใบที่สาม ตำแหน่งประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.)
บัตรใบที่สี่ ตำแหน่งประธานอนุกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองแผนงานการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ
บัตรใบที่ห้า ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก

และก่อนที่จะมีการรัฐประหาร เขาติดบัตรปลัดบัญชีทหารบก ในยศ “พล.ท.”

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์  ที่มาภาพ : http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000010255701.JPEG
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ที่มาภาพ : http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000010255701.JPEG

ชื่อของเขาถูกสปอตไลท์ฉายส่องตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังรัฐประหาร ในฐานะคนประสานในทีมหัวหน้า คสช. ชี้แจงการแก้ปัญหาโครงการเศรษฐกิจอย่างคล่องแคล่ว ให้ตัวเลขดัชนีลงทุน-งบประมาณ อย่างแม่นยำ

แต่สปอตไลท์ไฟแรง ที่เขาพกแสงมาสาดส่อง โครงการที่ส่อทุจริต ถูกย้อนแย้งสาดแสงกลับไปที่ตัวเขา เมื่อเกิดกรณีจัดซื้อ “ไมโครโฟน” ราคาแพงลิ่ว ติดตั้งในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี บนตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล

เมื่อเขาทำความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรระบุว่า “เห็นชอบตามที่ฝ่ายกิจการพิเศษคณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอ” และแม้เขาจะทำความเห็นแนบท้ายว่า “ควรกำหนดมาตรการควบคุมเพื่อให้การดำเนินงานมีความโปร่งใส” แต่ชื่อ “ พล.อ. อนันตพร” ก็ไม่พ้นบ่วงแหถูกตรวจสอบด้วย

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (ศุกร์ที่ 7 พ.ย. 57) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดอีเวนต์ให้ทีมทำงานการเมืองของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี พบปะกับสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล มีนายพล ข้าราชการการเมือง และข้าราชการระดับสูง ได้รับเทียบเชิญ 24 คน แต่มาร่วมงานตัวจริง เสียงจริง ราว 12 คน

บรรดา “แหล่งข่าว” ที่เข้าร่วมงาน ถูกกลืนหายไปในดงนักข่าว

แต่ทันทีที่บุคคลในข่าวอย่าง พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ ติดบัตรที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีลงจากรถ เขาก็โดดเด่น ดึงความสนใจ เมื่อ “บิ๊กอ้อ” พล.อ. วิลาศ อรุณศรี เพื่อน ตท.12 ของนายกรัฐมนตรี เดินปรี่มาทักทายสั้นๆ

“พล.อ. อนันตพร” ถอดสูทนั่งสนทนากับผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจที่ทำเนียบรัฐบาลอย่างถึงพริกถึงขิงทุกเรื่อง ตั้งแต่การเมืองเรื่อง “ถอดถอน” และน็อตบางตัวที่หายไปในทีมรัฐมนตรี และความจำเป็นที่ต้องมีแผนการประเมินผลงานรัฐมนตรีในช่วงต้นปี 2558 ไปจนถึงเรื่องประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ

เขาไม่อยากเห็นภาพสมาชิก สนช. ที่แสดงท่าทีว่า เป็นสภาที่ “สั่งได้” ซ้าย-ขวาหันพร้อมเพรียงกัน ตามคำสั่ง หรือรับสัญญาณจากผู้บริหารในตึกไทยคู่ฟ้าแล้วยกมือถ้วนหน้าแบบ “ฝักถั่ว”

เมื่อเกิดการพิจารณาลงมติ “ถอดถอน” กรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานรัฐสภาและประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ภาพที่ปรากฏหน้าในสภานิติบัญญัติแห่งชาติคือ ตัวแทน สนช. ฝ่ายทหารหลายคนติดงานทอดกฐิน และฟรีโหวตกรณีถอดถอน

“ผลโหวตจะเป็นอย่างไร ผมรับได้…จะกลับด้าน เป็นรับพิจาณาถอดถอน 87 ต่อ 75 หรือจะเป็นไม่รับพิจารณา 57 ต่อ 75 ก็ไม่มีปัญหา เพราะเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภานิติบัญัติแห่งชาติ เขาลงมติแล้ว” พล.อ. อนันตพรตอบเรื่องการลงมติถอดถอน 2 นักการเมือง

หนึ่งในสามของบทสนทนา เขาแบ่งเวลาให้กับการ “ฟัง” เสียงสะท้อนผลการทำงานของรัฐบาลอย่างตั้งใจ และรับไปเป็นการบ้าน สานต่องานในภารกิจ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่ต้องมีวาระ-ทีมพิเศษ ทำงานฉับไว ไม่ให้นายกรัฐมนตรีต้องแบกปัญหาไว้แต่เพียงผู้เดียว ในทีมนี้เขาคิดว่าควรมีส่วนผสมที่เป็น “นักธุรกิจ” มาช่วยคิด ช่วยทำ แต่ต้องเป็นการแต่งตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เพราะเกรงจะต้านทาน “พิษข้างเคียง” ของการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินไม่ไหว

หนึ่งในสี่ เขาสอบถาม ถึงปัญหา “การข่าว” ของรัฐบาลและงานของรัฐมนตรี

อีกครึ่งของบทสนา เขาแจกแจงการงานภายใต้ความรับผิดชอบของหมวกการเมือง-กองทัพ และงานฝ่ายบริหาร ในฐานะเป็น “special task force” เรื่องการตรวจสอบการคอร์รัปชัน

ความที่ออกจากปาก “พล.อ. อนันตพร” คือ ยุคที่เป็น คสช. งานถูกสั่งการและปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว ต่างไปจากยุคที่เป็นรัฐบาล ที่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอน หลายต่อ หลายทอด ทำให้งานระดับนโยบายหลายเรื่องไม่ออกสู่สายตาประชาชน

เขายอมรับว่า ต้องช่วยสางปัญหาสารพัดงานทั้งด้านบริหารความมั่นคง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่ถูกผูกติดอยู่ที่ตัว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่เพียงผู้เดียว ทำอย่างไรไม่ให้งานเทคนิคด้านเศรษฐกิจต้องเป็นคำถามที่นายกรัฐมนตรีต้องหาคำตอบ

งานระยะสั้นที่รัฐบาลต้องทำทันทีในหน้าที่ของเขา ทั้ง 5 ตำแหน่ง คือ การสะสางหนี้และแก้ปมทุจริต ผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้บริหารในรัฐวิสาหกิจ ทั้ง 58 แห่ง จาก 16 กระทรวง ที่กุมอำนาจทางเศรษกิจไว้ด้วยมูลค่าทรัพย์สินถึง 6 ล้านล้านบาท สร้างรายได้ให้ประเทศ 2.7 ล้านล้านบาท แต่ละปีมีกำไรสุทธิถึง 2.3 แสนล้านบาท ส่วนนี้มีวิกฤติที่ต้องแก้เร่งด่วน 7 แห่ง ต้องเฝ้าระวัง 4 แห่ง และมีปัญหาบางเรื่อง 25 แห่ง

ระหว่างวันที่ 10-14 พฤศจิกายน 2557 คณะอนุกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสหกิจ นำโดย พล.อ. อนันตพร และกรรมการทั้ง 6 เช่น นายบรรยง พงษ์พานิช, นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล, นายวิรไท สันติประภพ, นายภูมิใจ อัตตะนันทน์, นายกษมา บุณยคุปต์ และนายกุลิศ สมบัติศิริ จึงต้องเดินสายลงพื้นที่ 7 รัฐวิสาหกิจ ที่ประสบปัญหา “ขาดทุน” และอยู่ระหว่างส่งแผนฟื้นฟูให้กับคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ “ซูเปอร์บอร์ด”พิจารณา

พล.อ. อนันตพร บอกว่า ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่ คสช. แต่งตั้งเข้าไปใหม่ ได้ส่งแผนฟื้นฟูเข้ามาให้พิจาณาแล้ว แต่คณะกรรมการเห็นว่ายังไม่สมบูรณ์ครบถ้วน ต้องขันน็อตเพิ่มอีกหลายตัว

ดั้งนั้น ทั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) จึงต้องแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการให้เข้าตาคณะกรรมการอีกรอบ

เขานิ่งไปนาน เมื่อถูกถามถึงกรณีคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้มีการ “เจรจาตรง” กับบริษัทบีเอ็มซีแอล ให้สร้างรถไฟฟ้าเชื่อมช่วงบางซื่อ-เตาปูน ระยะทาง 1 กิโลเมตร ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ยุคนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่มารวบรัดเจรจาตรงในยุค คสช. ก่อนที่จะตอบแบบไม่เต็มปากนักว่า “ถึงอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามกรรมการมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุน”

ถึงตรงนี้ มีสัญญาณจากนายทหารคนสนิท ส่งนัยว่า เขาต้องไปประชุมอีกนัดหมาย ก่อนทิ้งท้าย เขาพูดถึงแผนการพัฒนารถไฟในอนาคตว่า “น่าจะต้องมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาบริหารสินทรัพย์ โดยเฉพาะที่ดินของการรถไฟ ให้เกิดกำไรทางธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม” ส่วนกรณี 2 รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศที่ค้างคาพิจารณาชี้ขาดมาตั้งแต่ยุค คสช. เข้าควบคุมอำนาจ 2 เดือนแรก เขารับปากว่าจะเร่งพิจารณาหาคำตอบที่ลงตัวสำหรับทุกฝ่าย

นักข่าวถามความคืบหน้าโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ 3.3 ล้านล้าน ที่นายกรัฐมนตรีค่อนข้างคาดหวังให้มีผลงานที่เป็นรูปธรรมในช่วงปี 2558 พล.อ. อนันตพรตอบแต่เพียงว่า “นโยบายของนายกรัฐมนตรี ต้องการให้ใช้เงินอย่างโปร่งใส การประมูลจัดซื้อจัดจ้างให้ใช้ระบบการประมูลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) 100% ไม่ใช้การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการพิเศษ”

ต้องไม่ลืมว่า เมื่อเขาต้องรับตำแหน่ง เป็นผู้ถือสปอตไลท์ไปฉายส่อง 58 รัฐวิสาหกิจ เขาเคยแสดงวิสัยทัศน์ว่า การแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจในระยะเร่งด่วนมี 4 มิติ คือ มิติที่ 1 ด้านบุคลากร ควรตรวจสอบว่าคณะกรรมการ (บอร์ด) หรือผู้บริหาร มีองค์ความรู้ตรงกับงานรัฐวิสาหกิจและมีประสบการณ์การทำงานกับรัฐวิสาหกิจที่ทำงานอยู่หรือไม่

มิติที่ 2 ด้านการใช้จ่ายงบประมาณ จะต้องมีความโปร่งใสและคุ้มค่า

มิติที่ 3 ด้านการบริการประชาชน ต้องเป็นไปตามมาตรฐานและตรงเป้าหมาย สร้างความพึงพอใจให้ประชาชน

มิติที่ 4 การพัฒนาองค์กร พัฒนาอบรมบุคลากร ปรับปรุงระบบ นำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้

พล.อ. อนันตพร ไม่ลืมสานต่อสัญญาของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องจัดหานโยบายและมาตรการเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน เขาบอกมีแน่ แต่ต้องรอฟังจากปากนายกรัฐมนตรีและทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ

ส่วนทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจคนใด ใครจะได้ไปต่อ ใครจะถูกประเมินผลงาน พล.อ. อนันตพรหัวเราะร่าก่อนตอบสั้นๆ และถามย้อนกลับว่า “ใครจะได้ไปต่อ ใครจะเป็นซุปตาร์ บอกผมด้วย”