ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วาระร้อน 17 อรหันต์ “ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ” สังคายนาขุมทรัพย์ 6.6 ล้านล้าน 58 รัฐวิสาหกิจ ล้างบางบอร์ดการเมือง ล้างท่องบลงทุนเกือบ 2 ล้านล้าน

วาระร้อน 17 อรหันต์ “ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ” สังคายนาขุมทรัพย์ 6.6 ล้านล้าน 58 รัฐวิสาหกิจ ล้างบางบอร์ดการเมือง ล้างท่องบลงทุนเกือบ 2 ล้านล้าน

18 กรกฎาคม 2014


ด้วยภาครัฐวิสาหกิจที่มีขนาดใหญ่กว่าภาครัฐบาลหลายเท่า สินทรัพย์รวมของรัฐวิสาหกิจไทยทั้ง 58 แห่ง จาก 16 กระทรวง รวมสถาบันการเงินของรัฐ มีมูลค่าถึง 6 ล้านล้านบาท สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ถึง 2.7 ล้านล้านบาท แต่มีกำไรสุทธิปีละ 2.3 แสนล้านบาท

ทำให้รัฐบาล ทั้งแบบที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้ง ทั้งฝ่ายประชาธิปัตย์ เครือข่ายฝ่ายเพื่อไทย และว่าที่รัฐบาล ที่จะแต่งตั้งด้วยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในอีก 2 เดือนข้างหน้า ต่างจัดลำดับความสำคัญในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพราะด้วยขนาดสินทรัพย์และบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญด้วยงบลงทุนจำนวนมากมาย

ยุครัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่มีเสียงสนับสนุนเต็มสภาผู้แทนราษฎร 377 เสียง เคยเตรียมเสนอกฎหมายบริหารสินทรัพย์รวมของรัฐวิสาหกิจ ด้วยระบบ “โฮลดิ้ง คอมพานี” (Holding company) เหมือนกองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์และจีน โดยกระทรวงการคลังจะถือหุ้นใหญ่ในบริษัทโฮลดิ้ง คอมพานี แล้วสามารถนำรายได้ไปลงทุนในกิจการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศได้

แนวคิดนี้ก็ถูกปัดฝุ่นอีกครั้ง ในยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ทั้งรัฐบาล 2 พี่น้อง “ชินวัตร” ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้

กระนั้น ยุครัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจสำเร็จ 5 แห่ง เช่น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) เป็น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) เป็น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) เป็น บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) เป็น บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) อีกทั้งยังมีความพยายามที่จะแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แต่ไม่เป็นความสำเร็จ

ทั้งรัฐวิสากิจที่แปรรูปแล้วและยังไม่แปรรูป ต่างเป็นที่หมายปอง เป็นขุมทรัพย์ ของฝ่ายผู้มีอำนาจทางการเมือง เพื่อเข้าไปบริหารผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ผ่านการแต่งตั้งประธานบอร์ด แต่งตั้งกรรมการ ทุกยุคทุกสมัย

เมื่อ คสช. เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้สำเร็จ ในช่วง 3 สัปดาห์แรก จึงมีการเช็คบิลผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่มาจากเส้นสายนักการเมืองเป็นลำดับแรก

จากนั้นมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสังคายนารัฐวิสาหกิจทั้ง 58 แห่ง จำนวน 17 คน เป็นคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือ “ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ” โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. นั่งเป็นประธานด้วยตัวเอง ร่วมด้วยคณะกรรมการที่มาจากนักธุรกิจสายตลาดเงินและตลาดทุน อาทิ นายบัณฑูร ล่ำซำ, นายบรรยง พงษ์พานิช, นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล, นายรพี สุจริตกุล และนายวิรไท สันติประภพ และปลัดกระทรวงด้านเศรษฐกิจ และฝ่ายเสนาธิการด้านเศรษฐกิจอย่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ฯ ร่วมเป็นกรรมการ

โครงสร้าง 3 อนุกรรมการรัฐวิสาหกิจ

นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้ง “อนุกรรมการ” ขึ้นมาอีก 3 ชุด เพื่อสะสางปัญหาและวางยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจใหม่ทั้ง 58 แห่ง

คณะอนุกรรมการทั้ง 3 ระดับ 3 ชุด ชุดละ 9-11 คน จากผู้เชี่ยวชาญด้านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อดีตข้าราชการ นักวิชาการ ประกอบด้วย 1. อนุกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ มี พล.ท. อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก เป็นประธาน

คณะที่ 2 อนุกรรมการกำหนดแผนและยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจประเทศ มีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และคณะที่ 3 อนุกรรมการกำกับและพัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจ มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธาน

พล.ท. อนันตพร กาญจนรัตน์ แสดงวิสัยทัศน์ว่า การแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจในระยะเร่งด่วน มี 4 มิติ คือ มิติที่ 1 ด้านบุคลากร ควรตรวจสอบว่าคณะกรรมการ (บอร์ด) หรือผู้บริหาร มีองค์ความรู้ตรงกับงานรัฐวิสาหกิจ และมีประสบการณ์การทำงานกับรัฐวิสาหกิจที่ทำงานอยู่หรือไม่

มิติที่ 2 ด้านการใช้จ่ายงบประมาณ จะต้องมีความโปร่งใสและคุ้มค่า

มิติที่ 3 ด้านการบริการประชาชน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน และตรงเป้าหมาย สร้างความพึงพอใจให้ประชาชน

มิติที่ 4 การพัฒนาองค์กร พัฒนาอบรมบุคลากร ปรับปรุงระบบ นำเทคโนโลยีใหม่ๆ

ภารกิจของอนุกรรมการชุดที่ 1 จึงเตรียมวาระ “ผ่าตัด” รัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาขาดทุน เช่น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) องค์การคลังสินค้า (อคส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)

แหล่งข่าวในคณะกรรมการซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ เปิดเผยว่า ประเด็นปัญหาของ 2 รัฐวิสาหกิจ ในกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งบริษัททีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม เคยถูก 1 ในคณะกรรมการที่ปรึกษา คสช. สายเศรษฐกิจ ชงขึ้นโต๊ะเป็นวาระเพื่อพิจารณาในคณะกรรมการที่ปรึกษา คสช. ที่มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งหัวโต๊ะมาแล้ว โดยมีรายละเอียดให้คณะ คชส. ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับการต่อสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ แต่วาระนี้ถูกปัดออกจากห้องประชุม แล้วเสนอให้นำวาระนี้เข้าสู่การพิจารณาของซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจแทน

ดังนั้น ทั้งซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ และอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด จะต้องสะสางปัญหาของรัฐวิสากิจ คือ 1. ปัญหา “กำไรหด” ของรัฐวิสาหกิจ ในปี 2557 ซึ่งคาดว่ารัฐวิสาหกิจทั้ง 53 แห่ง (ไม่รวมสถาบันการเงิน) จะกำไรเพียง 76,443 ล้านบาท ลดลงจากปี 2556 ร้อยละ 19.8 เป็นการลดลงของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพราะสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และมีการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมที่รุนแรงมากขึ้น

ปัญหาข้อที่ 2. การปรับปรุงรูปแบบการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนจำกัดให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแข่งขัน เช่น บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ปัญหาข้อที่ 3 ปีที่ผ่านมามี 10 รัฐวิสาหกิจที่มีงบการลงทุนสูง และส่งผลต่อระบบเศรฐกิจ แต่การเบิกจ่ายลงทุนต่ำว่าเป้าหมาย (ร้อยละ 95) เพราะปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง ปัญหาการประกวดราคา ความไม่พร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการทบทวนแผนลงทุน เช่น บริษัท ปตท., บริษัทการบินไทย, การรถไฟแห่งประเทศไทย, บริษัททีโอที, บริษัทท่าอากาศยานไทย, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, การประปานครหลวง, บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย, โรงงานยาสูบ และการท่าเรือแห่งประเทศไทย

ปัญหาข้อที่ 4 รัฐวิสาหกิจที่จำเป็นต้องทบทวนบทบาท ว่าจะยังคงสภาพรัฐวิสาหกิจต่อไปหรือไม่ เช่น องค์การตลาด องค์การสะพานปลา เป็นต้น

ปัญหาข้อที่ 5 มีประเด็นที่ “ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ” ต้องสั่งการในเชิงนโยบายให้ชัดเจน กรณีที่ไม่มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติเงินกู้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน แต่มีโครงการที่ต้องเดินหน้าลงทุน ที่สำคัญ คือ โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณทล ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ โครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง (High speed rail) และติดตั้งรั้วสองข้างทางตามแนวเขตรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมจำนวน 11,419 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีเขียว ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย วงเงินรวม 24,931 ล้านบาท(คลิ๊กเพื่อขยายภาพ)

ประเด็นปัญหารัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้ง 53 แห่ง ในปี 2557 มีวงเงินดำเนินการ 1,823,415 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุนจำนวน 576,888 ล้านบาท คาดว่าจะมีรายได้รวม 1,916,989 ล้านบาท ยอดรายจ่ายรวม 1,840,546 ล้านบาท กำไรสุทธิ 76,443 ล้านบาท ใช้เงินกู้ในประเทศ 58,681 ล้านบาท และเงินกู้ต่างประเทศ 22,338 ล้านบาท

งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2558 มีวงเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท มีรายได้รวม 2 ล้านล้านบาท ยอดรายจ่าย 1.9 ล้านล้านบาท กำไรสุทธิประมาณ 90,000 ล้านบาท

จากการคาดการณ์ของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ คาดว่า แนวโน้มการดำเนินงานในปี 2558-2560 จะมีกำไรสุทธิ 271,987 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 90,662 ล้านบาท