ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “พล.อ. ประยุทธ์” ตั้ง 12 กุนซือนักธุรกิจจรยุทธ์ในทำเนียบ จับมือ 14 นายพลตึกไทยคู่ฟ้า ผนึก 6 พยัคฆ์รัฐมนตรี เบ็ดเสร็จ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ

“พล.อ. ประยุทธ์” ตั้ง 12 กุนซือนักธุรกิจจรยุทธ์ในทำเนียบ จับมือ 14 นายพลตึกไทยคู่ฟ้า ผนึก 6 พยัคฆ์รัฐมนตรี เบ็ดเสร็จ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ

15 พฤศจิกายน 2014


เพราะดัชนีเศรษฐกิจ จะเป็นดัชนีชี้ขาด การอยู่-การไป ของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ดังนั้น ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงโฟกัสเรื่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเป็นหลัก ควบคู่ความมั่นคง วาระการประชุมคณะ คสช. และทีมที่ปรึกษา คสช. จึงเต็มไปด้วยวาระการจัดการเรื่องเศรษฐกิจของประเทศเป็นส่วนใหญ่

เมื่อครั้งที่คณะ คสช. ทำงานครบรอบ 3 เดือน แม้ไม่มีการแถลงผลงาน แต่รูปธรรมก็บังเกิดที่ตัวเลขการอนุมัติงบประมาณ ผ่านมาตรการการช่วยหนี้ชาวนา-ช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง และจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรที่ประสบภัยพิบัติ กว่า 1.02 แสนล้านบาท คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ประชุม 3 ครั้ง อนุมัติ 50 โครงการ งบลงทุน 3.18 แสนล้านบาท มีการพิจารณาอนุมัติกฎหมาย 53 ฉบับ

พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (ฝ่ายข้าราชการประจำ) จึงปรารภว่า “ตอนเป็น คสช. เราทำงานเร็วมาก”

แต่หลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2557 และโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมกับการถวายสัตย์ปฏิญาณตน เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 มาแล้ว การขับเคลื่อนประเทศก็อยู่ในมือคณะรัฐมนตรี และข้าราชการทั้ง 20 กระทรวง

ทำให้ทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีระดับแถวหน้า ในสายเศรษฐกิจ พากันปรารภว่า “สั่งงานไปเยอะมาก แต่งานไม่ออก”

อีกประมาณ 2 สัปดาห์ คณะรัฐมนตรีจะทำงานครบ 3 เดือน ทำให้เสียงเรียกร้องผลงานที่เป็น “รูปธรรม” ยิ่งดังกระหึ่มขึ้น เสียงที่ดังขึ้นนี้ พล.อ. ประยุทธ์ “ฟัง” และ “ได้ยิน” และสะท้อนกระจายไปถึงหูของรัฐมนตรี “ทีมเศรษฐกิจ” ดังนั้น ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (10-14 พ.ย. 57) งานแถลงความคืบหน้าผลงานของกระทรวงการคลังจึงถูกจัดขึ้นถึง 4 งาน ไม่นับรวมการแถลงปิดบัญชีจำนำข้าว

ข่าวการ “ประเมินผลงาน” รัฐมนตรี ที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2558 เร่งเร้าให้ดีกรีการขบเหลี่ยมในทีมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจยิ่งแหลมคมมากยิ่งขึ้น

หลายสำนัก หลายกระทรวง พากันถ่ายทอด “คำสั่ง” ของนายกรัฐมนตรี ที่เร่งรัดให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน แม้กระทั่ง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่รักษาการเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ยังได้มีวาระสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ทุกกระทรวงเร่งดำเนินการใช้เงินตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี

สอดรับกับเสียงของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องออกมายืนยันแข็งขันว่า “ไม่มีความขัดแย้งในคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ไม่ทราบเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี แต่มีการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีเพิ่ม 2 คน คือนายอำนวย ปะติเส เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยเรื่องสินค้าเกษตรตกต่ำ และนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมแล้ว”

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน+3 ครั้งที่ 17 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเมียนมา กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ 13 พฤศจิกายน 2557 ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/131114_as06.html
นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน+3 ครั้งที่ 17 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเมียนมา กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ 13 พฤศจิกายน 2557
ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/131114_as06.html

และทันทีที่นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ เดินทางกลับจากการประชุมกลุ่มเอเปก ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และประชุมกลุ่มอาเซียน ที่เมียนมาร์ การเตรียมการเพื่อการแถลงความคืบหน้าผลงานคณะรัฐมนตรีในรอบ 3 เดือนก็เริ่มขึ้นตามที่ ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกกับนักข่าวว่า “การประชุมหารือร่วมกับผู้แทนกระทรวงเรื่องการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร จะขอความร่วมมือจากโฆษกกระทรวงต่างๆ มาร่วมทำงานกับโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อรวบรวมผลงานของรัฐบาลในรอบ 3 เดือน ก่อนจะเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบประมาณต้นเดือนธันวาคม 2557”

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในวาระครบรอบ 3 เดือน ของคณะรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำทีม 4 รองนายกรัฐมนตรี คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย และนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม แถลงผลงานที่เป็นรูปธรรม ที่ทำเนียบรัฐบาล จากนั้นให้ทุกกระทรวงทยอยแถลงข่าวอย่างต่อเนื่อง

ในระหว่างนี้ ทีมงานในตึกไทยคู่ฟ้า ประจำทีมนายกรัฐมนตรี ที่มีไม่น้อยกว่า 10 คน ต่างเดินเครื่องประสานงาน ขับเคลื่อน ปฏิบัติการให้กับนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มสูบ

อาทิ พล.อ. วิลาศ อรุณศรี เพื่อน ตท.12 ที่ทำหน้าเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, พล.ต.หญิง จันทร์พิมพ์ สิชฌนุกฤษฏ์ ปฏิบัติหน้าที่กลั่นกรองงานให้กับนายกรัฐมนตรี, พ.อ. ณัฐวุฒิ ภาสุวณิชยพงศ์ นายทหารฝ่ายเสนาธิการ ร่วมด้วย พล.ต. วสุ เจียมสุข, พ.อ. นิธิ จึงเจริญ

บุคคลที่ “แขก” สายธุรกิจ ของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความฉลาดเฉลียว และขอนามบัตรเพื่อจารึกชื่อ นั้น เป็น พ.อ. นิมิตต์ สุวรรณรัตฐ์ นายทหารหลานชายองคมนตรี มาประจำการที่ตึกไทยคู่ฟ้า เป็นนายพลข้างกายนายกรัฐมนตรีเสมอ เมื่อต้องมี “แขกพิเศษ”

งานด้านต่างประเทศ นอกจาก ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่นี้แล้วยังมี พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค โฆษก คสช. ภาคภาษาอังกฤษ ทำหน้าที่เป็นล่ามประจำตัวเมื่อมีอาคันตุกะจากต่างประเทศมาเยือน โดยมี พล.ต. ม.ล.กุลชาต ดิศกุล ร่วมเป็นทีมด้วย

งานการเมือง-ความมั่นคง ต้องใช้ทักษะหลายมิติ นายกรัฐมนตรีใช้บริการจาก พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีนายทหารคนสนิท ช่วยประสานงานสารพัดอย่างใกล้ชิด คือ พ.ต. อัครพัฒน์ เทพณรงค์

นอกจากนี้ยังมีบริการเสริมจากที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่แต่งตั้งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี (แต่งตั้งได้ไม่เกิน 5 คน) อีก 4 คน อาทิ พล.อ. สกล ชื่นตระกูล, พล.อ. จีระศักดิ์ ชมประสพ, พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ และนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล

ระหว่างที่ คสช. กำลังจะก้าวเข้าสู่หัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ บริหารประเทศครบ 6 เดือน วาระคณะรัฐมนตรีครบรอบ 3 เดือน ประกอบกับการขับเคลื่อนโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจผ่านการเบิกจ่ายงบประมาณรอบใหม่ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ 3.3 ล้านล้าน, โครงการแก้ปัญหาน้ำ 3 แสนล้าน, แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ, การฟื้นฟูแก้ไขรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง และการเยือนต่างประเทศเพื่อโรดโชว์แผนงานของรัฐบาล กำลังเดินหน้า

มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา หลังจากมีการประชุมร่วม คสช. กับ ครม. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อให้การทำงานตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีและการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนและนโยบายสำคัญของรัฐบาลและ คสช. ได้มีการนำไปปฏิบัติอย่างรวดเร็วและเป็นกลไกในการประสานและขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จ

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

จึงขอแต่งตั้งคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยมีองค์ประกอบ 12 คน ดังนี้
1. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานที่ปรึกษา
2. พล.อ. วิลาศ อรุณศรี รองประธานที่ปรึกษา
3. นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ที่ปรึกษา
4. นายสมพล เกียรติไพบูลย์ ที่ปรึกษา
5. คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ที่ปรึกษา
6. นายบรรยง พงษ์พานิช ที่ปรึกษา
7. นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ที่ปรึกษา
8. นางธันยา เลาหทัย ที่ปรึกษา
9. พ.อ. นิมิตต์ สุวรรณรัฐ คณะทำงาน
10. พ.อ. อภิสิทธิ์ ไชยนุวัติ คณะทำงาน
11. นางสาวรุจิรา ริมผดี คณะทำงานและเลขานุการร่วม
12. นางสาวกุลกานต์ ตันติเตมิท คณะทำงานและเลขานุการร่วม

โดยมีอำนาจหน้าที่ ให้คำปรึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี ประสานงานและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เสนอแนวนโยบายเร่งด่วน และนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล รวมดึงการดำเนินการอื่นๆ ใน “สถานการณ์พิเศษ” ตามที่ได้รับมอบหมาย พร้อมทั้งติดตามและประเมินผลการดำเนินงานด้วย

นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาความเห็นและแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการดำเนินงานของนายกรัฐมนตรี และสามารถแต่งตั้งอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อช่วยในการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น หรืออาจจะเชิญบุคคลหรือขอรับเอกสารที่เกี่ยวข้องจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงาน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงาน และดำเนินการอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

ในคำสั่งนี้ ถูกเวียนถึงหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงทุกกระทรวง ระบุว่า “ให้ส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะที่ปรึกษา ตามที่ร้องขอ และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของคณะที่ปรึกษา”

สำหรับค่าใช้จ่ายเบี้ยประชุม และค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีการเบี้ยประชุม พ.ศ. 2547 หรือตามระเบียบของทางราชการ แล้วแต่กรณี โดยเบิกจ่ายจาก “สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี”

เมื่อเป็นที่เด่นชัดแล้วว่า การกอบกู้ปัญหาเศรษฐกิจ จะเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จ-ล้มเหลวของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ว่ามอบหมายงานด้านเศรษฐกิจไว้ในมือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจไปแล้ว 5 กระทรวง (คลัง-พลังงาน-อุตสาหกรรม-เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

แต่ต้องไม่ลืมว่าในมือของ พล.อ. ประยุทธ์ ยังมีไพ่ไฟอีกหลายใบ ทั้งในตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล และในกองทัพไทย งานใหญ่ในกระทรวงคมนาคม ทั้ง 3.3 ล้านล้าน, งานเศรษฐกิจการค้าในกระทรวงพาณิชย์, ที่มี “เพื่อน” ของนายกรัฐมนตรี อย่าง พล.อ. ประจิน จั่นตอง และ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ นั่งกุมบังเหียนอยู่ ส่วนกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬานั้นมีนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีบอกผ่านสื่อว่าเป็นเหมือน “น้องสาวอีกคน” ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน

อาจไม่ต้องกล่าวถึง พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดว้อม, พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ล้วนเป็น เพื่อน-พี่ และเป็นลมใต้ปีกของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเด็ดเดี่ยวและเด็ดขาด