ThaiPublica > เกาะกระแส > คตช. ดีเดย์ ใช้ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ 21 ก.ค. นี้ ชง 3 มาตรการภาษีปราบคอร์รัปชัน – เร่งเคลียร์คดี ขรก. ถูกมาตรา 44 เด้ง

คตช. ดีเดย์ ใช้ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ 21 ก.ค. นี้ ชง 3 มาตรการภาษีปราบคอร์รัปชัน – เร่งเคลียร์คดี ขรก. ถูกมาตรา 44 เด้ง

13 กรกฎาคม 2015


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานการประชุม คตช. ครั้งที่ 5/2558 ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานการประชุม คตช. ครั้งที่ 5/2558 ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 5/2558 โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

เตรียมจัดคิกออฟใช้ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ 21 ก.ค. นี้

พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ ที่ปรึกษานายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) แถลงว่า นายกฯ ได้กล่าวในที่ประชุม คตร. ว่า อยากหาโครงสร้างหรือรูปแบบที่จะไม่ให้มาตรการต่อต้านการทุจริตต่างๆ ของ คตช. ได้รับการสานต่อ ไม่ได้จบสิ้นภายในรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะเรื่องการใช้มาตรการทางปกครองและทางวินัยกับข้าราชการที่พัวพันกับการทุจริต ซึ่งอาจใส่ไว้ในร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่เตรียมมีการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ จากการประเมินผลว่า การประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านคอร์รัปชันในวันที่ 8 มิถุนายน 2558 มีผลกระทบมาก จึงอยากให้สื่อช่วยกันเผยแพร่ข่าวไปยังต่างชาติ ให้รู้ว่ารัฐบาลไทยกำลังเดินหน้าแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน

“ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 รัฐบาลอาจจะจัด kick-off การบังคับใช้ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตต่างๆ จะต้องจัดทำคู่มือให้ประชาชนรับทราบว่าขั้นตอนต่างๆ ต้องใช้เวลานานเท่าใด เพื่อป้องกันการเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะ ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันดังกล่าว ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบคู่มือการขอใบอนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ ได้ในเว็บไซต์ศูนย์กลางข้อมูลคู่มือสำหรับประชาชน (www.info.go.th)” พล.อ. อนันตพร กล่าว

ศอตช. ชงใช้มาตรการภาษี ปราบทุจริต

นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวว่า ศอตช. ได้รายงานต่อที่ประชุม 3 เรื่อง

1. ขอให้กระตุ้นหัวหน้าส่วนราชการใช้มาตรการทางปกครองและทางวินัย โดยการออกคำสั่งย้ายหรือพักราชการเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตไว้ก่อน เพราะเป็นอำนาจที่หัวหน้าส่วนราชการมีอยู่แล้ว และเป็นการป้องกันการทุจริตที่ดีที่สุดด้วยวิธีตัดไฟแต่ต้นลม

2. ขอให้ใช้มาตรการทางภาษีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด เพราะการทุจริตคอร์รัปชันมักเกิดขึ้นจากแรงจูงใจว่าต้องการมีทรัพย์สินมากขึ้น

– ให้กรมสรรพากรและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เร่งรัดการใช้อำนาจตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/7 ที่กำหนดให้เอกชนที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐส่งบัญชีรายรับรายจ่ายในโครงการให้กรมสรรพากรตรวจสอบ

– เจ้าหน้าที่ของรัฐรายใดที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต ถ้าพบว่ามีทรัพย์สินมากผิดปกติ ก็ให้มีการตรวจสอบเรื่องการเสียภาษีด้วย

– ให้ตรวจสอบเชิงรุกกับส่วนราชการและคู่ค้าที่ร่วมกันทำโครงการที่ถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริต เช่น โครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่พบว่าราคาที่ขายให้กับส่วนราชการแพงกว่าราคาต้นทุนที่คู่ค้าซื้อมาเกือบ 10 เท่า เพื่อดูว่ามีการเสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่

และ 3. ศอตช. จะช่วยให้การบังคับใช้ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยหากประชาชนเห็นว่า หน่วยงานราชการใดไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ หรือรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนมายัง ศอตช.

จี้เร่งเคลียร์คดี จนท.รัฐถูก ม.44 เด้ง – ยังไม่ปลดล็อกใครแม้แต่รายเดียว

ส่วนความคืบหน้าในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกย้ายหรือพักราชการด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 นายประยงค์กล่าวว่า ยังไม่มีการหารือรายชื่อล็อตที่สาม ส่วนรายชื่อล็อตแรก จำนวน 45 คน (คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2558) และล็อตที่สอง (คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2558) จำนวน 71 คน ซึ่งออกไปแล้ว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่มีใครที่ถูกปลดล็อกให้กลับสู่ตำแหน่งเดิม แต่มีบางคนที่ถูกลงโทษไปแล้ว เช่น ในกระทรวงมหาดไทย

เมื่อถามว่า ผู้ที่อยู่ในรายชื่อบางคนออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมเพราะไม่รู้ว่าถูกตรวจสอบเรื่องอะไร เช่น นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายประยงค์กล่าวว่า มีการเชิญ นพ.วินัยมาชี้แจงว่าถูกตรวจสอบเรื่องอะไรแล้ว ซึ่งเลขาฯ สปสช. ก็เข้าใจ ทั้งนี้ นายกฯ ได้สั่งการในที่ประชุม คตช. วันนี้ว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีชื่อในล็อตแรกและล็อตที่สอง อย่าให้ยืดเยื้อยาวนานนัก เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวหา

คาด กม.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ มีผลบังคับใช้ในปีนี้

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการประชาสัมพันธ์ของ คตช. กล่าวว่า มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่จะมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ ประกอบด้วย พ.ร.บ. 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ ที่จะบังคับให้ส่วนราชการเกือบ 40,000 หน่วยงาน ต้องจัดทำคู่มือการขอใบอนุญาตเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ และร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. …. ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. และอยู่ระหว่างให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทาน ก่อนส่งให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา เชื่อว่าจะสามารถออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ภายในปี 2558 นี้

นายกฯ ยังให้ความสำคัญกับการบุกรุกป่าไม้ การเสียภาษี และการซื้อขายตำแหน่ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับหาวิธีแก้ปัญหา

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยังได้รายงานเรื่องความคืบหน้าการขอเข้าเป็นสมาชิกองค์กรความร่วมมือรัฐบาลเปิด (Open Government Partnership: OGP) ซึ่งจะบังคับให้รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลให้มีความโปร่งใสมากขึ้นว่า จะมีการเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาในเร็วๆ นี้ เพื่อให้รัฐบาลชุดต่อไปต้องปฏิบัติตาม

หารือตั้งกองทุนต้านโกง – เล็งดึงเงินหวยเป็นทุนตั้งต้น

พล.อ. อนันตพร ยังกล่าวว่า นางจุรี วิจิตรวาทการ ประธานคณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ ได้ฝากมารายงานความคืบหน้าว่า ขณะนี้มีการอบรมหลักสูตร “โตไปไม่โกง” ให้กับครูไปแล้ว 2 รุ่น จากทั้งหมด 3 รุ่นในปีนี้ ซึ่งจะทำการขยายผลต่อไป ทั้งนี้ นายกฯ ยังได้ขอให้กระทรวงศึกษาธิการหาวิธีบรรจุกลุ่มวิชาเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศ เช่น วิชาหน้าที่หรือสิทธิพลเมือง นอกจากนี้ จะขอให้ดารานักแสดงช่วยสอดคล้องหลักสูตร “โตไปไม่โกง” หรือ “สำนึกไทยไม่โกง” เพื่อปลูกจิตสำนึกเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้กับสังคม

“ที่ประชุม คตช. ยังหารือถึงข้อเสนอในการจัดตั้งกองทุนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะการต่อต้านการทุจริตต้องใช้งบประมาณ โดยอาจจะให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลออกเงินประเดิมจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ต้องไปศึกษาถึงที่มาของเงินและอำนาจหน้าที่ คาดว่าในการประชุม คตช. ครั้งหน้าจะได้ข้อสรุป” พล.อ. อนันตพรกล่าว

หาวิธีเปิดข้อมูลรัฐให้มากขึ้น

ด้านนางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. กล่าวว่า ที่ประชุม คตร. วันนี้ได้ข้อสรุปว่าจะเร่งผลักดันการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของภาครัฐให้มากขึ้น โดย สรอ. จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายเทคนิคในการเปิดข้อมูล ทั้งการออกไกด์ไลน์ให้ปฏิบัติไปในทางเดียวกัน และมีการเปิดเว็บไซต์ www.data.go.th ให้หน่วยงานราชการนำข้อมูลมาเปิดเผย โดยอาจทำเป็นเพียงลิงก์มาไว้บนเว็บ หรือนำข้อมูลมาฝากไว้ในระบบ gcloud

สิ่งที่ สรอ. จะทำต่อไป คือหารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ก.พ.ร. และกระทรวงการคลัง ว่าจะนำข้อมูลข่าวสารของราชการประเภทใดมาเปิดเผยบ้าง เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ คาดว่าจะนัดหารือได้ภายในสัปดาห์หน้า

“เบื้องต้น ข้อมูลที่น่าจะนำมาเปิดเผย มี 3 ประเภท 1. ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด 2. ข้อมูลการใช้งบประมาณของภาครัฐ และ 3. สัญญาการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด โดยอาจมีการนำข้อมูลเหล่านี้ไปทำข้อมูลไว้บนแผนที่เพื่อให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ เช่น ถนนเส้นนี้จะสร้างตั้งแต่ไหนถึงไหน เอกชนรายใดเป็นคู่สัญญา มีเวลาแล้วเสร็จเมื่อใด ฯลฯ ถือเป็นการดึงภาคประชาชนเข้ามาร่วมตรวจสอบ เชื่อว่าจะป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้ดีที่สุด” นางไอรดากล่าว