หลังการเข้ายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในระยะแรกมีการเชิญทูตของประเทศต่างๆ เข้าพบ และที่ผ่านมาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ หลังรัฐประหารเป็นไปทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ มีทั้งฝ่ายคณะผู้บริหาร คสช. ต้องการไปเจรจากับประเทศต่างๆ และฝ่ายประเทศต่างๆ ที่ต้องการ “เข้าถึง” คณะนายทหารจากกองทัพ
ในขณะนั้นองค์กรเหนือรัฐและรัฐบาลต่างประเทศมีปฏิกิริยาเอนเอียงไปในทางลบต่อการทำรัฐประหารของ คสช. ทั้งยังแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยอีกด้วย การโจมตีจากต่างชาตินั้นมุ่งไปในประเด็นการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและการลิดรอนสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ดังจะเห็นได้จากความเห็นจากสหภาพยุโรป (EU) สหประชาชาติ (UN) รัฐบาลออสเตรเลีย กัมพูชา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี มาเลเซีย รัสเซีย สิงคโปร์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา
ในช่วงที่ผ่านมา 43 ประเทศทั่วโลกแจ้งเตือนประชาชนของตนเอง “ให้ใช้ความระมัดระวังในการเดินทางในประเทศไทยโดยให้เฝ้าติดตามสถานการณ์ และหลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมนุม” ในระดับ “สีเหลือง” (warning/exercise caution/monitor situation/avoid certain sites) ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก บราซิล ชิลี อังกฤษ ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม สวีเดน เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ลิทัวเนีย นอร์เวย์ โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก โรมาเนีย ลัตเวีย เอสโตเนีย สโลวัก ลักเซมเบิร์ก ตุรกี อินเดีย คูเวต กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เคนยา ไนจีเรีย อิสราเอล คาซัคสถาน มัลดีฟส์ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน มาเก๊า อินโดนีเซีย บรูไน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
หลังการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา การไปร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรป หรืออาเซม ระหว่างวันที่ 16-17 ตุลาคม 2557 ที่กรุงมิลาน ประเทศอิตาลี นับเป็นการออกงานในเวทีระดับโลกครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทย
แม้ว่าก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรปหรืออียู (EU) จะเคยออกแถลงการณ์ประณามกองทัพไทยที่ทำรัฐประหาร ยกเลิกการมาเยือนของเจ้าหน้าที่ ระงับการลงนามข้อตกลงความเป็นพันธมิตรและความร่วมมือ และเรียกร้องให้กองทัพไทยรีบคืนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว แต่ในพิธีการทางการทูตระหว่างประเทศ การประชุมอาเซม ชื่อผู้นำประเทศไทยเป็น 1 ในสมาชิกที่ได้รับเชิญอย่างเป็นทางการ
ระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2557 สื่อต่างประเทศอย่างเว็บไซต์ นิเคอิ เอเชียน รีวิว พาดหัวเมื่อวันที่ 14 ต.ค. ว่า “Thailand’s coup leader works to win over EU’s diplomats” สื่อแห่งนี้ยังคงใช้คำว่า “ผู้นำคณะรัฐประหาร” แทนที่คำว่า “นายกรัฐมนตรี” ตามด้วยเว็บไซต์ เอ็นเอชเค ใช้คำว่า “รักษาการนายกฯ” (Thailand’s interim prime minister) แทนที่คำว่า “นายกรัฐมนตรี” เช่นกัน
นอกจากนี้ สื่อเยอรมันอย่างเว็บไซต์ Badische-Zeitung พาดหัวการเยือนยุโรปของ พล.อ. ประยุทธ์ว่า “Putschist Prayuth Chan-ocha umwirbt die EU” ซึ่งคำว่า Putschist หมายความถึงการเข้าเปลี่ยนรัฐบาลโดยผิดกฎหมายหรือโดยใช้กำลัง เป็นคำเดียวกันกับที่ใช้กับการเข้าควบคุมอำนาจของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเผด็จการของนาซีเยอรมนี ระหว่าง ค.ศ. 1933 ถึง 1945 ด้วย
แม้ว่าปฏิกิริยาของสมาชิกอาเซมในขณะนี้จะเป็นไปในทางบวก จากการหารือทวิภาคีระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์ กับนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น หรือสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซนนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา และกับนายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์
พล.อ. ประยุทธ์ ยังได้หารือทวิภาคีกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีรายงานว่า พล.อ. ประยุทธ์ได้ขอบคุณจีนที่เข้าใจสถานการณ์การเมืองไทยและเชื่อมั่นในแนวทางปฏิรูป นอกจากนี้จีนและไทยยังจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในเรื่องการเกษตรกรรมและโครงสร้างพื้นฐานอีกด้วย
แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนมีข้อคิดเห็นที่ต่างออกไปอย่างชัดเจนถึงการใช้อำนาจอย่างเกินขอบเขตของ คสช. นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชีย ได้เขียนจดหมายเปิดผนึก ถึงรัฐมนตรีต่างประเทศ 50 ชาติที่ไปร่วมประชุมอาเซม (AESM)โดยระบุ ว่า พล.อ. ประยุทธ์ควรกลับจากมิลานด้วยความเข้าใจอย่างชัดเจนว่า บรรดาผู้นำยุโรปไม่ยอมรับให้ทหารปกครองประเทศไทยอีกต่อไป และควรเข้าใจด้วยว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับยุโรปจะไม่กลับมาเป็นดังเดิมได้อีก นอกจากไทยจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งที่เป็นธรรมและโปร่งใส
จดหมายเปิดผนึกระบุว่า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ มีอำนาจมหาศาลโดยปราศจากการตรวจสอบ ห้ามประชาชนรวมตัวกันเกิน 5 คน รวมถึงกิจกรรมการต่อต้านรัฐประหารก็ถูกสั่งห้ามเช่นกัน ผู้ที่แสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับทหารถูกจับ ขณะเดียวกัน คสช. ยังห้ามสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน มีการปิดเว็บไซต์ 200 กว่าแห่ง รวมถึงเว็บไซต์ฮิวแมนไรท์วอทช์ประเทศไทยด้วย โดยให้เหตุผลที่ว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคง นายอดัมส์เห็นว่า หากรัฐบาลชาติยุโรปและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจร่วมกันกดดันไทย ก็น่าจะช่วยให้ไทยกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยได้เร็วขึ้น”
ข่าวการเยือนยุโรปของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีทั้งข่าวกลุ่มคนไทยที่สนับสนุนได้เดินทางไปให้กำลังใจและมอบช่อดอกไม้ให้ พล.อ. ประยุทธ์ถึงหน้าโรงแรมที่พัก และข่าวฝ่ายต่อต้าน ร่วมขบวนประท้วง ตามที่เว็บไซต์ประชาไท รายงานว่า สื่อต่างประเทศได้นำเสนอภาพและข่าวกลุ่มผู้ชุมนุมที่มารวมตัวเพื่อประท้วงการประชุมอาเซม โดยมีประเด็นการประท้วงในหลายด้านด้วยกัน ทั้งต่อการประชุมดังกล่าวเอง ประท้วง นายวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และรวมถึงประท้วง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย
รัฐประหารผ่านไป 5 เดือน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังต้องเผชิญหน้ากับแนวร่วม แนวต้าน และมวลม็อบ ทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ