ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > สปสช.แจง ศบค. 2 ปี ใช้งบฯรักษาโควิดฯกว่าแสนล้านบาท

สปสช.แจง ศบค. 2 ปี ใช้งบฯรักษาโควิดฯกว่าแสนล้านบาท

23 กุมภาพันธ์ 2022


ศบค.ไม่ยกระดับพื้นที่ควบคุม แม้จำนวนผู้ติดเชื้อสูง แต่เสียชีวิตต่ำ-เลขาธิการ สปสช.แจงค่ารักษาโควิดฯ 2 ปี ทะลุแสนล้านบาท-เคาะเปิดเรียน ‘on-site’ ครู-นักเรียนความเสี่ยงต่ำให้จัดการเรียนการสอนตามปกติ-ผ่อนคลายมาตรการดูแลผู้เดินทางเข้าประเทศ จากตรวจด้วย RT-PCR ในวันที่ 5 เป็น ATK ก่อนออกจากสถานที่กักตัว

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธินโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวภายหลังการประชุมศบค.ครั้งที่ 4/2565 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้อยู่ที่ 21,232 ราย เสียชีวิต 39 คน คิดเป็นยอดเสียชีวิตสะสม 0.82% จากยอดผู้ติดเชื้อทั้งหมด และมีผู้ป่วยรักษาอยู่ 173,605 คน

“เวฟของการติดเชื้อไม่ว่าอัลฟ่า เดลต้า หรือ โอมิครอน แต่การเสียชีวิตมีแค่เดลต้าเท่านั้นที่มียอดสูง แต่โอไมครอนแม้จะมียอดผู้ติดเชื้อสูง แต่การเสียชีวิตรายวันยังต่ำอยู่” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึง การแบ่งพื้นที่สีว่า ในที่ประชุมเห็นว่ายังคงเดิม คือพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 44 จังหวัด, พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 25 จังหวัด และพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (สีฟ้า) 8 จังหวัด

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีเปิดเผยข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่ายการรักษาและการบริการโควิด-19 โดยปี 2563 มีค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาโรคโควิดฯ 3,841 ล้านบาท และปี 2564 97,747 ล้านบาท ส่วนปี 2565 สปสช.ได้รับการจัดสรรงบฯมาแล้ว 32,488 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการขอรับการจัดสรรงบฯเพิ่มอีก 51,065 ล้านบาท โดยสถานบริการของรัฐรวม 3,506 แห่ง เบิกจ่ายไปแล้ว 70,994 ล้านบาท และ ยังไม่ผ่านเกณฑ์อีก 3,090 ล้านบาท ส่วนเอกชน 672 แห่ง เบิกจ่ายแล้ว 27,160 ล้านบาท และยังไม่ผ่านเกณฑ์อีก 100 ล้านบาท

ส่วนมาตรการการเปิดเรียน on-site นพ.ทวีศิลป์ ให้ข้อมูลว่า ในที่ประชุมพบข้อเท็จจริงว่าการติดเชื้อในเด็กนักเรียนไม่สูง อยู่ที่ประมาณ 21-22% และมีอัตราการเสียชีวีตในระดับต่ำ ในที่ประชุมจึงได้มีการเสนอมาตรการสำหรับโรงเรียนแต่ละประเภท ได้แก่

  • โรงเรียนประจำ สามารถจัดการเรียนการสอนโดยปกติ กรณีเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ แต่หากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้จัดการเรียนการสอนใน Quarantine Zone เป็นเวลา 7 วัน และถ้านักเรียน ครู หรือ บุคลากรเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้ทำ school isolation ตามแนวทาง sandbox safety zone
  • โรงเรียนไป-กลับ กรณีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้แยกกักตัวที่บ้านเป็นเวลา 7 วัน และถ้านักเรียน ครู หรือ บุคลลากรเป็นผู้ติดเชื้อให้พิจารณาการจัดทำ school isolation และสถานศึกษาจัดการสอน เฉพาะกลุ่มที่ไม่มีอาการ

“ส่วนเรื่องการสอบ ในที่ประชุม ศบค.รับทราบจากการนำเสนอของอธิบดีกรมอนามัยว่าไม่จำเป็นต้องงด เหมือนเป็นไข้หวัด เด็กที่มีอาการน้ำมูกไหลฮึดฮัด ๆ ถ้ามาเรียน ไม่ได้ป่วยอะไรหนัก ก็ให้สอบได้ แต่ขอให้ดูจากสถานที่สอบ หากเป็นที่โล่งโปร่งจะดีมาก” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

สำหรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร จากเดิมต้องตรวจ RT-PCR 2 ครั้งในวันที่ 2 และวันที่ 5 ของการกักตัวนั้น ให้ปรับเป็นทำ RT-PCR ในวันที่เดินทางถึงประเทศ และตรวจ ATK อีกครั้งในวันที่ 5 ของการกักตัว เพื่อลดค่าใช้จ่ายจำนวนวันอยู่สถานบริการแทน นอกจากนี้ ศบค.กำลังพิจารณาการเปิดพื้นที่นำร่องการเดินทางเข้าประเทศทางบก ได้แก่ พื้นที่จังหวัดหนองคาย , อุดรธานีและสงขลา

“นายกรัฐมนตรีฝากขอบคุณ คนทำงานหนักมากๆ โดยเฉพาะคอลเซ็นเตอร์ และให้กำลังใจกับทุกคน ทั้งประชาสังคม และทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพราะบ้านของคนบางคนก็ไม่เหมาะสมที่จะเป็นที่กักตัว ท่านก็บอกให้ภาครัฐร่วมมือกับองค์กรทั้งหลายช่วยกันดูแล พยายามให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดูแลตั้งแต่ตอนติดเชื้อจนหายอย่างดี ขอให้มีความรับผิดชอบร่วมกันให้มาก ๆ การผ่อนคลายนี้กิจการเปิดได้ แต่คนป่วยมากขึ้น ภาครัฐก็เข้ามาดูแลสิ่งต่าง ๆ ต้องให้สมดุล” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว