ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ไม่ยุ่งการเมืองใน พปชร. เตือนอย่า “ดราม่า”- มติ ครม.ลดภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง 90%

นายกฯ ไม่ยุ่งการเมืองใน พปชร. เตือนอย่า “ดราม่า”- มติ ครม.ลดภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง 90%

2 มิถุนายน 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายกฯ ไม่ยุ่งการเมืองภายใน พปชร. ปรับ ครม. ต้องหารือพรรคร่วมฯ ตอนนี้ขอชี้แจง พ.ร.บ.โอนงบฯ- วอนสื่อลดเสนอภาพความขัดแย้ง มติ ครม.ลดภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง 90% ตั้ง “พิชิต อัคราทิตย์” นั่งประธาน กลต.

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน โดยในวันนี้เป็นวันแรกที่นายกรัฐมนตรีอนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าฟังการแถลงข่าวหลังจากที่งดให้สื่อเข้าฟังเพื่อลดการรวมกลุ่ม ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างเป็นระยะเวลากว่า 1 เดือน

แนะนำหนังสือ อ่านเตรียมพร้อมรับ New Normal

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ในอนาคตโลกอาจเปลี่ยนแปลงไปมาพอสมควร ทั้งในเรื่องของประชาชน ในเรื่องของความเป็นอยู่และในเรื่องของการค้าการลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเตรียมการเข้าสู่โลกใหม่อย่างที่ว่ากัน วันนี้มีเอกสารที่อยากแนะนำให้อ่านซึ่งนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รวมรวมมาเพื่อเผยแพร่ให้ทุกคนได้เข้าใจ และนำมามอบให้กับ ครม.

พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีได้โชว์หนังสือ “โลกเปลี่ยน คนปรับ หลุดจากกับดัก ขยับสู่ความยั่งยืน” และกล่าวต่อไปว่าชื่อนี้จะต้องปรับให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลคือ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” และเดิมไม่มีสถานการณ์โควิด-19 ก็ต้องปรับให้มีความสอดคล้องกับจุดนี้ด้วย เพราะพฤติกรรมคนทั้งโลกเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด

ลดภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง 90% – ขยายเวลาจ่ายภาษีถึง 31 ส.ค.นี้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ในเรื่องของกฎหมายสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่วันนี้มติ ครม. ได้เห็นชอบให้ปรับอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลดลง 90% เฉพาะปีภาษี 2563 นี้ เพราะหากในช่วงนี้เก็บเต็มอัตราประชาชนก็จะได้รับความเดือดร้อน และเพื่อไม่ให้เกิดเป็นปัญหาต่อการจัดเก็บรายได้ต่อไปในอนาคดจึงออกเป็นพระราชกำหนด

ในส่วนของการขยายเวลาในการชำระภาษีได้ขยายเวลาจากเดิมสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2563 ได้ขยายเป็นสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม 2563 ขณะเดียวกันในส่วนของท้องถิ่นอาจมีปัญหาในการจัดเก็บรายได้สำรับเป็นงบประมาณในการใช้จ่าย ส่วนนี้รัฐบาลจะหารือถึงมาตรการในที่เหมาะสมให้ต่อไป

ยันเปิดเทอม 1 ก.ค.นี้ หากสถานการณ์ไม่คลี่คลาย เปิดสอนทางไกล

ได้ให้กระทรวงศึกษาธิการ เสนอมาตรการต่างๆ มา เพื่อไม่ให้เกิดประเด็นขัดแย้งต่อไปในเรื่องของการนับเวลาเรียนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป และจะไปสิ้นสุดในวันที่ 16 พฤษภาคม เป็นเวลาปกติ หากพอหรือไม่พออย่างไรก็เป็นเรื่องของสถานศึกษาในการบริหารจัดการด้วยวิธีการที่เหมาะสม เปิดสอนชดเชยให้ครบตามโครงสร้างเวลาเรียน

ในการสอนชดเชยขอให้มีการบริหารจัดการตามความบริบทและเหมาะสม หากต้องมีการเรียนการสอนทางไกล ก็ต้องกำหนดตารางสอนให้ชัดเจนเพื่อให้สามารถนำมาใช้นับชั่วโมงการเรียนได้ สำรับการอนุมัติจบการศึกษาให้อนุมัติจบได้ภายในวันที่ 9 เมษายน 2564 หากมีผลการศึกษาไม่สมบูรณ์ก็ให้ดำเนินการวัดผลให้เสร็จสิ้น และอนุมัติการจบการศึกษาในวันที่ 15 พฤษภาคม 2564

ในการจัดการเรียนการสอนทางไกลในช่วงการแพร่ระบาดโควิดฯ ได้นำผลในระยะที่ 1-2 ไปปรับปรุง พัฒนาในการดำเนินการระยะที่ 3 ระหว่างเดือน 1 กรกฎาคม ถึง 30 เมษายน 2564 ซึ่งมี 2 สถานการณ์ คือ

  • หากสถานการณ์ไม่คลี่คลาย ก็จำเป็นต้องไปหาวิธีการและการสอนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดินระดบบดิจิทัล ระบบดาวเทียม ระบบเคเบิลทีวีและไอพีทีวี 15 ช่อง

วันนี้เป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อม ทดสอบ ทดลอง สิ่งที่ไม่เคยทำย่อมมีอุปสรรคในสิ่งที่ไม่เคยทำ

  • หากสถานการณ์คลี่คลายก็จะมีการจัดการเรียนการสอนตามปกติในโรงเรียน ในช่วงนี้ยังคงต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม และมีมาตรการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ซึ่งจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด

ในการวัดและประเมินผลต้องร่วมมือกับหลายส่วนหลายฝ่ายด้วยกัน ในหลายมาตรการทั้งการสังเกต สัมภาษณ์ ให้ข้อมูล ตรวจเยี่ยมบ้าน สอบถามจากผู้ปกครอง

ใช้การทดสอบรูปแบบต่างๆ ส่งผลการประเมินทางอีเมล การจัดทำตารางนัดหมายเป็นกลุ่มเล็กๆ แนวทางดังกล่าวนี้ที่ได้เสนอมาโดยกระทรวงศึกษาธิการนั้นทาง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เห็นชอบในการที่เสนอเข้ามาพิจารณาในวันนี้ ในการดำเนินการที่จะเป็นภาระในกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเพิ่มเติมในช่วงนี้ก็จะต้องเพิ่มเติมจากการดำเนินงานตามโครงการ

เตรียมแผนจัดสรรน้ำช่วยเกษตรกร พร้อมรับมือน้ำท่วมในกทม.

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ว่า รัฐบาลได้เตรียมมีแผนบริหารจัดการทั้งระยะสั้น-กลาง-ยาวในทุกกิจกรรม ซึ่งมีการแบ่งเป็นน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อการบริโภค เพื่อการอุตสาหกรรม เพื่อการรักษาระบบนิเวศ และมาตรการที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีน้ำเพียงพอในทุกกิจกรรมเหล่านั้น รวมความไปถึงการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมและฝนแล้งด้วย ซึ่งจากการลงพื้นที่หารือกับสมาคมเกษตรกรต่างๆ ได้รับข้อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาแหล่งน้ำที่ใกล้พื้นที่การเกษตร

“จากที่ผมได้ไปพบกับเกษตรกรโดยตรงและได้ฟังจากปากของบุคคลเหล่านั้นแล้ว ซึ่งเกษตรกรพอใจในการทำงานของรัฐบาลเพียงแต่ขอให้ลงรายละเอียดในเรื่องน้ำให้กับเขา ซึ่งผมได้ให้กลุ่มเกษตรกรส่งข้อมูลมาแล้ว ผมได้สั่งการให้มีการดูว่าสามารถทำได้แค่ไหนอย่างไรแล้ว เพราะในบางครั้งก็ไม่เหมาะสมในการเข้าไปทำในบางพื้นที่ เพราะต้องมีการคำนึงถึงขีดความสามารถในการกักเก็บน้ำของดินด้วย ขอให้ทุกคนเข้าใจ”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของกรุงเทพฯ ตนได้สั่งการให้เตรียมการในเรื่องของการแก้ปัญหาน้ำท่วมเมื่อเข้าสู่หน้าฝนโดยสมบูรณ์แล้ว รวมถึงภาคอื่นๆ เช่นกัน ได้มีการติดตามแผนการต่างๆ ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้วางไว้ในการที่จะให้หน่วยงานต่างๆ ขับเคลื่อนไปในแนวทางเดียวกัน พร้อมย้ำว่าทุกแนวทางจะต้องโปร่งใส ตรงความต้องการของประชาชน

ที่เกี่ยวข้องก็ต้องพิจารณาตรงนี้ในส่วนไหนที่ทำได้ทำไม่ได้ก็ให้มีการชี้แจงกันไปและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการที่จะใช้แหล่งน้ำใกล้พื้นที่ของเขาเขาจะต้องมีพื้นที่ให้เราไปทำตรงนั้น ไม่เช่นนั้นจะต้องใช้พื้นที่ของรัฐซึ่งห่างไกล ก็ขอให้เข้าใจในภาพรวมด้วย

อย่าเพิ่งถามชดเชยวันหยุดสงกรานต์ ขอประเมินคลายล็อก 4 ก่อน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการพิจารณาวันหยุดช่วงสงกรานต์ ที่เลื่อนมาเป็นเดือนกรกฎาคมนี้ ว่า ขอให้อย่าเพิ่งถามในช่วงนี้เลย วันนี้เป็นเรื่องของการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดฯ อยู่ในมาตราการผ่อนปรนระยะที่ 3 ซึ่งตนได้กำชับไปกับทางฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขท้องถิ่น ให้ไปดูว่าในพื้นที่ที่ผ่อนปรนไปแล้วมีความร่วมมือกันแค่ไหนอย่างไร จึงจะมีแนวทางไปสู่ระยะที่ 4 ได้ในอนาคต

“ระยะที่ 4 นั้นอย่าเร่งรัดกันนักเลย ต้องดูว่าระยะที่ 3 นั้นจะไปได้แค่ไหนอย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือจากภาคประชาชน เพราะนั่นคือความปลอดภัยของท่าน ซึ่งรัฐบาลได้มีการผ่อนผันเนื่องจากเห็นถึงความสำคัญของเศรษฐกิจระดับฐานรากอยู่แล้ว ดังนั้นท่านก็ต้องปกป้องตัวของท่านเองด้วย หากสถานการณ์มีการแพร่ระบาดอีกครั้งหนึ่งนั่นคือสิ่งที่น่าเสียใจสำหรับทุกคน ขอเตือนสำหรับผู้ที่ยังไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ท่านถือว่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน เพราะฉะนั้นท่านจะต้องรักผู้อื่นด้วยนอกจากรักตัวเองรักความสนุกสนานของตัวเอง วันนี้ประเทศไทยกำลังรวมกันเป็นหนึ่งให้ได้จากสถานการณ์โควิด”

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า วันนี้เราต้องยอมรับในเรื่องความสามารถทางด้านการสาธารณสุขของพวกเรา ของหมอ แพทย์ พยาบาล และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทุกภาคส่วนที่ได้ลงไปดูแลช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ด้วยความเสียสละ ไม่มีวันหยุดราชการ ดำเนินการทั้งกลางวันและกลางคืน

ในส่วนของจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อตลอด 7 วันที่ผ่านมาแม้จะมีตัวเลขที่ลดลง ส่วนที่พบก็ส่วนใหญ่เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศที่ตรวจพบในสถานที่กักกันของรัฐ ซึ่งแสดงว่ามาตรการต่างๆ ที่ทำมาถือว่าได้ผล ไม่มีการแพร่ระบาดในพื้นที่เปิดที่อื่น โดยผู้อยู่ในสถานกักกันของรัฐอาจได้รับความไม่สะดวกสบายบ้างแต่ตนเห็นว่าเป็นมาตรการที่จำเป็น ซึ่งรัฐบาลก็ต้องใช้งบประมาณจำนวนหนึ่งมาดูแลในส่วนนี้เช่นกัน

สำหรับความก้าวหน้าทางด้านวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ประเทศไทยได้ร่วมมือกับต่างประเทศและภาคเอกชนในการการวิจัยพัฒนายาและวัคซีน ซึ่งตนคิดว่าน่าจะสามารถแก้ปัญหาร่วมกันของคนทั้งโลกได้ในบริบทโดยรวม เพราะฉะนั้นวันนี้อย่าเพิ่งไปยินดีกับความสำเร็จต่างๆ มากนัก เพราะทุกอย่างยังอยู่ในขั้นตอน ทุกอย่างต้องมีขั้นมีตอนของมัน

ต่อคำถาม ความคืบหน้าในการตรวจสอบการทุจริตค่าหัวคิวสถานกักกันตัวของรัฐ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีการปฏิบัติจริงหรือเป็นเพียงแค่พูดกัน ถ้าเกี่ยวข้องกับใครก็เป็นเรื่องรายบุคคล พร้อมยืนยันว่านโยบายไม่ได้มีให้ใครไปเรียกเก็บเงิน และจะไม่มีการละเว้นใครทั้งสิ้น

เตรียมหารือ “ญี่ปุ่น” เปิดท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่ประเทศญี่ปุ่นอนุญาตให้คนไทยเข้าประเทศ ว่า ตนรู้สึกดีใจและยินดี แต่ต้องดูมาตรการที่เหมาะสมด้วยว่าเมื่อมีการเดินทางเข้าไปแล้วคนของเราจะมีการไปแพร่โรคให้กับเขาหรือเปล่า ซึ่งจะต้องมีการหารือทั้งสองฝ่าย แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการพิจารณาเปิดน่านฟ้าต่างๆ ในที่ประชุม ซึ่งต้องหาข้อมูลจากหลายๆ /อย่างเข้ามาประเมินร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง

“ผมบอกแล้วว่าเมื่อไหร่ที่สถานการณ์ดีขึ้นการท่องเที่ยวก็จะเปิดขึ้น คือจะเป็นไปในระดับประเทศต่อประเทศก่อนแล้วจึงเป็นการท่องเที่ยวที่เป็นเชิงคุณภาพควบคุมได้ ต้องมีมาตรการเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ใช่เปิดเสรีอลหม่านไปหมดแล้วก็กลับมาที่เดิม ซึ่งไม่ดีทั้งต้นทางและปลายทาง เราต้องเตรียมตรงนี้ไว้ก่อนให้พร้อม วันหน้าเราอาจจะเปิดประเทศของเราในลักษณะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีการฟื้นฟูและการเปิดให้มารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของเราเช่นเดิม ขอให้เตรียมความพร้อมไว้ก็แล้วกันสำหรับสถานประกอบการต่างๆ”

ไม่ยุ่งการเมืองใน พปชร. เตือนอย่า “ดราม่า”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการลาออกของกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 18 คน เพื่อเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค แทนนายอุตตม สาวนายน ว่า ในเรื่องของการเมืองตนไม่อยากจะพูดถึงตรงนี้มาก เพราะเป็นเรื่องการเมืองในระดับพรรคการเมืองซึ่งก็เป็นทุกพรรค ตนไม่ขอไปชี้แจงแก้ไขหรือแก้ตัวให้ใคร ตนจะยุ่งเกี่ยวเฉพาะในเรื่องของรัฐบาล คือ หน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในฐานะของหัวหน้ารัฐบาล

“ในเรื่องของวันนี้เป็นเรื่องของพรรคการเมืองก็ให้ไปว่ากันมาแต่อย่าไปดราม่ากันเยอะแยะไปหมดทำให้สมองไม่ว่าง”

ต่อคำถามถึงการปรับความเข้าใจระหว่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่า ตนคิดว่าไม่จำเป็น เรื่องของภายในพรรคก็ขอให้ไปคุยกันในพรรค ไม่จำเป็นที่ตนจะต้องไปเรียกใครมาทั้งสิ้น

“สำหรับการผูกโยงเก้าอี้รัฐมนตรีในการปรับ ครม. นั้นจะต้องมีการหารือกันในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคร่วมรัฐบาล นายกรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาในภาพรวมตรงนั้น ในเรื่องของตรงนี้เป็นเรื่องของพรรคการเมืองก็ว่ากันไป ซึ่งท่านก็ทราบดีอยู่แล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของกลไกทางการเมืองในระดับพรรค มันมีในระดับพรรคแต่ละพรรค ระดับพรรคร่วม และระดับรัฐบาล อย่าให้มีปัญหาอย่างอื่นต่อไปอีกเลย เท่านี้ก็มีปัญหาพอสมควรอยู่แล้ว แต่เราสามารถแก้ด้วยความเข้าใจ”

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอร้องสื่อและบรรดา social media ให้ช่วยกันนำเสนอในเรื่องความสำเร็จความก้าวหน้าที่ทำให้เกิดความรักความสามัคคี ตนไม่สามารถที่จะบังคับให้ใครมารักได้ทุกคน ยอมรับว่าต้องมีคนรักคนเกลียด แต่ขออย่าเกลียดประเทศของท่านเท่านั้นเอง

เดินหน้าแจง พ.ร.บ.โอนงบฯ- วอนสื่อลดเสนอภาพความขัดแย้ง

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 4 มิถุนายน 2563 นี้ จะมีการพิจารณาพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายฯ และหลังจากนี้จะมีวาระพิจารณาอีกวาระหนึ่งคือ พระราชบัญญัติงบประมาณปี 2564 ซึ่งตนจะเข้าไปแถลงต่อสภาฯ ด้วยตนเอง

“ผมให้ความสำคัญ ให้เกียรติสภาผู้แทนราษฎร ให้เกียรติสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ทุกคนต่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน มีอีกหลายวาระด้วยกันที่จะได้พบกันในสภาก็ขอให้ใจเย็นๆ อย่าใจร้อน ผมก็ใจเย็นอย่างที่สุดแล้วเพราะว่ามันไม่เกิดประโยชน์ที่ผมจะไปโมโหใคร”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในการพิจารณาอนุมัติเรื่องใดๆ ทุกเรื่องมีรายละเอียดมากมาย มีรายละเอียดที่นอกจากวาระการประชุม มีรายละเอียดที่ตนเก็บมาจากข้างนอกบ้าง ในที่ประชุมบ้าง มีคนเสนอเข้ามาบ้าง ที่ตนนำไปสั่งการใน ครม. ไม่ได้ทำงานเฉพาะที่เสนอมา ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นมาจากหลายเรื่องด้วย การทำงานถึงจะขัดแย้งกันน้อยลง

“ขอให้ช่วยขยายในสิ่งที่ดี คือเราต้องไม่ให้พื้นที่ด้านการข่าวของสื่อไปในเรื่องที่ขัดแย้งกันจนมากเกินไปผมไม่ว่าท่านแต่ว่าถ้ามากเกินไปสิ่งดีๆ ก็ไม่ได้รับการรับรู้รับทราบขอให้ทุกคนได้ช่วยกันด้วย เพราะในเมื่อทุกคนก็บอกว่าทุกคนรักชาติรักแผ่นดิน อย่าลืมโลกเปลี่ยนคนปรับหลุดพ้นจากกับดักสู่ความยั่งยืน หลุดพ้นจากกับดักของตนเองให้ได้ทั้งหมดทุกคนทุกภาค ส่วนผมเองก็ต้องปรับตัวเองเหมือนกัน”

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้ายไปขวา) ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

ผ่อนปรนต่างด้าวทำงานถึง 31ก.ค.นี้

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึง 31 กรกฎาคม  2563 เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย รวมทั้งช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการ เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

“เนื่องจากตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงาน ที่ผ่อนผันให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาวและเมียนมาจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 พฤษภาคม 63  แต่มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในประเทศไทยยังมีแนวโน้มอยู่อย่างต่อเนื่องอีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงเห็นควรผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงาน”

ทั้งนี้ แรงงานจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มเป้าหมาย 1) แรงงานกัมพูชา ลาวและเมียนมา ที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานไทย ภายใต้ MoU ด้านแรงงาน 2) แรงงานกัมพูชาและเมียนมา ที่ถือบัตรผ่านแดน ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามมาตรา 64

นายกฯ ขอบคุณครม. – พรรคร่วมฯ ทำงานครบ 1 ปี

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ขอบคุณคณะรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาลทุกท่านที่ทำงานร่วมกันมาตลอดระยะเวลา 1 ปี และช่วยกันชี้แจงความจำเป็นและประโยชน์ของร่าง พ.ร.ก.การเงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ทั้ง 3 ฉบับ ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ที่ประชุมฯ มีมติผ่าน พ.ร.ก. ดังกล่าว

ทั้งนี้ ขอให้ระมัดระวังการใช้จ่ายงบประมาณ และเงินจาก พ.ร.ก.การเงินทั้ง 3 ฉบับ ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบ เกิดเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด สำหรับวันที่ 4 มิถุนายน 2563 จะเป็นการชี้แจงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ทุกคนช่วยกันชี้แจงประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อที่ประชุมฯ เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและประโยชน์ของประเทศชาติ

สำหรับเรื่องการศึกษา นายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยสั่งการให้กระทรวงอุดมศึกษา ไปพิจารณาแผนการรับนักศึกษาของสถานศึกษาให้สอดคล้องกับจำนวนและความต้องการของตลาดแรงงานด้วย พร้อมกับฝากให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณา เรื่องการบรรจุบุคลากรทางการแพทย์ที่จะทำเป็น 3 ระยะว่า หากเป็นไปได้ ขอให้พิจารณาสัดส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ทุกประเภทในแต่ละรอบที่จะทำการบรรจุให้ครอบคลุมอย่างเหมาะสม ในส่วนของการดูแลผู้พิการ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้บริการอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมต่อไป

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงต่างๆ ร่วมกันประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานของทุกกระทรวงให้สาธารณชนได้รับรู้ อย่างชัดเจน และสั่งการให้สร้างการรับรู้เรื่องของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ประชาชนได้เข้าใจ พร้อมกับทำกรณีศึกษาของโรคดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ขอให้ช่วยกันระมัดระวังเรื่องของการให้ข่าวที่อาจนำไปสู่การปลุกปั่น สร้างความขัดแย้งในสังคม

แจงหนี้สาธารณะ มี.ค. 63 อยู่ที่ 41.7% ของจีดีพี

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบสถานะหนี้สาธารณะ รอบเดือนตุลาคม 2562 ถึงเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งกระทรวงการคลังต้องรายงานให้คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังทราบทุก 6 เดือน ทุก 6 เดือน และต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบ รวมถึงเผยแพร่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 51

ในรายละเอียด ปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 41.69% ต่ำกว่ากรอบการบริหารหนี้สาธารณะ 60% โดยมีหนี้สาธารณะ 7,018,731.44 ล้านบาท, มีสัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ที่ 28.26% ต่ำกว่ากรอบบริหารฯ 35% โดยมีภาระหนี้ของรัฐบาล 720,407 ล้านบาท, มีสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด 2.73% ต่ำกว่ากรอบบริหารฯ ที่ 10% โดยมีหนี้ต่างประเทศ 191,394.12 ล้านบาท และมีสัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการที่ 0.18% ต่ำกว่ากรอบริหารฯ ที่ 5% โดยมีภาระหนี้ต่างประเทศ 17,696.5 ล้านบาท

“ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะดังกล่าวยังไม่รวมเงินกู้จากพ.ร.ก.ซึ่งจะรายงานในอีก 6 เดือนข้างหน้าตามกรอบการรายงานปกติ นอกจากนี้ ขอเรียนย้ำว่ารัฐบาลกู้เงินเพียง 1 ล้านล้านบาทเท่านั้น ส่วน พ.ร.ก. อีก 2 ฉบับเป็นการให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยบริหารสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีและการดูแลตลาดตราสารหนี้เอกชน”

ไฟเขียว “บีบีเอส” คว้าสัมปทานสนามบินอู่ตะเภา นัดเซ็นสัญญา 19 มิ.ย.นี้

รศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. รับทราบผลการคัดเลือกบริษัทเอกชนที่ได้รับสิทธิสัมปานและเป็นผู้ร่วมลงทุน คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ซึ่งเป็นบริษัทที่เสนอเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำให้แก่รัฐได้สูงที่สุด โดยให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับนิติบุคลลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยเอกชนที่ได้รับคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

พร้อมกันนี้ได้อนุมัติให้กองทัพเรือดำเนินกระบวนการหรือขั้นตอนเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนที่จะเป็นผู้รับงานโครงการก่อสร้างทางวางวิ่งที่ 2 และทางขับไปพลางก่อน ระหว่างรอผลการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่จะยังลงนามในสัญญาว่าจ้างกับผู้รับจ้างที่ได้รับการคัดเลือกไม่ได้จนกว่ารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

และยังเห็นชอบการขอจัดสรรงบประมาณจากกองทัพเรือ รวม 889.2 ล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการดังต่อไปนี้

  • กรอบวงเงิน 390 ล้านบาท สำหรับโครงการพัฒนาการให้บริการอุตุนิยมวิทยาการบิน ดำเนินการปี พ.ศ. 2564-2566
  • งบประมาณ กรอบวงเงิน 31.2 ล้านบาท จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการรื้อย้ายระบบสายไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน
  • กรอบวงเงินไม่เกิน 468 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการนำสายไฟลงใต้ดินเพื่อเส่งเสริมสภาพพื้นที่สำหรับเมืองงการบินภาคตะวันออก

นางสาวรัชดากล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ จำนวน 6,500 ไร่ มีทั้งศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งสินค้า ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เขตประกอบการค้าเสรี ศูนย์ฝึกอบรมการบิน โดยมีผลตอบแทนด้านการเงิน มูลค่าปัจจุบัน 3.05 แสนล้านบาท (เป็นเงินรวม 1.326 ล้านบาท ใน 50 ปี) เมื่อสิ้นสุดสัญญา ทรัพย์สินจะตกเป็นของรัฐ ซึ่งโครงการนี้จะเป็นโยชน์ในการสร้างรายได้จากภาษี ประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท มีการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปี ภายใน 5 ปีแรก

มีรายงานเพิ่มเติมว่า การลงนามของ สกพอ. กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ซึ่งประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และมีนาริตะ อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้รับจ้างบริหารสนามบิน ในเบื้องต้นได้กำหนดไว้ในวันที่ 19 มิถุนายน 2563 เวลา 9.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยคาดว่าจะก่อสร้างและเปิดให้บริการได้ในปี 2566

อนุมัติกฎกระทรวงจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา และการกำหนดมาตรการส่งเสริม สนับสนุน ประเมินคุณภาพกำกับดูแล และการจัดสรรงบประมาณ แก่กลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

กำหนดให้มีการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านต่างๆ โดยสถาบันอุดมศึกษาจะต้องดำเนินการตามพันธกิจหลักของกลุ่มควบคู่ไปกับภารกิจของสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง ซึ่งประกอบด้วย

  1.  กลุ่มมุ่งยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาวิจัยระดับแนวหน้าของโลก เน้นการวิจัยขั้นสูงและผลิตบัณฑิตนักวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษา สร้างความโดดเด่นด้านการวิจัยและมีวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยระดับนานาชาติในหลายสาขาวิชา พร้อมทั้งมุ่งค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างความรู้ ทฤษฎี และข้อค้นพบใหม่ๆ ในสาขาวิชาต่างๆ
  2. กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม มุ่งสร้างและพัฒนาศักยภาพผู้เรียนที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม ให้สามารถนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์
  3. กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ เน้นการพัฒนาชุมชน วิจัยและพัฒนา และผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถในการขับเคลื่อนพัฒนาท้องถิ่นและภูมิภาค รวมถึงการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น
  4. กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์ด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ เน้นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ทักษะ ทัศนคติสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ เสริมสร้างสมรรถนะความเป็นมืออาชีพให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงในการประกอบอาชีพ

ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาที่ยังไม่ได้รับการจัดกลุ่ม ให้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์และภารกิจของสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งรวมถึงการดำเนินการอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศ

นอกจากนี้ กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่และอำนาจในการจัดการศึกษา วิจัย และสร้างนวัตกรรม บริการวิชาการแก่สังคม ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม พัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการ สุดท้าย กำหนดให้คณะกรรมการอุดมศึกษาประกาศกำหนดตัววัดศักยภาพองค์กรและตัววัดผลการดำเนินงานตามแต่ละกลุ่ม และให้สำนักงานปลัดกระทรวงดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้สถาบันอุดมศึกษาได้รับทราบอย่างทั่วถึง ติดตามผลการดำเนินการและประเมินผลความสำเร็จของงานตามกลุ่ม

“การจัดสถาบันอุดมศึกษาเป็นกลุ่ม โดยมุ่งเน้นยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกัน จะทำให้สถาบันอุดมศึกษามีความโดดเด่นเฉพาะทางตามจุดมุ่งหมาย   พันธกิจ ยุทธศาสตร์ ศักยภาพ และผลการดำเนินการของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา ส่งผลให้การส่งเสริม สนับสนุน ประเมินคุณภาพ กำกับดูแล และการจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันอุดมศึกษาทั้งหลายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่ประสิทธิผลในการสร้างความเข้มแข็งทางการศึกษาของประเทศ”

ลดภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง 90%

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. … โดยให้ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 เพื่อบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี 2353 และได้ขยายเวลาในการชำระจากเดิมภายในเดือนเมษายน เป็นเดือนสิงหาคม ดังนี้

  • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เพื่อการประกอบเกษตรกรรม ถ้าเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา บทเฉพาะกาลของแห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 ได้กำหนดให้ 3 ปีแรก (ปี 2563-2565) จะได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษี แต่ถ้าเจ้าของเป็นนิติบุคคล สำหรับที่ดินมีมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราการใช้ประโยชน์ประกอบเกษตรกรรม ร้อยละ 0.01 คิดเป็นค่าภาษี 500 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินฯ จะชำระภาษีเพียง 50 บาท
  • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย สำหรับบ้านหลังหลักที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นบุคคลธรรมดาและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท และกรณีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 10 ล้านบาท สำหรับบ้านหลังอื่นหากมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย ร้อยละ 0.02 คิดเป็นค่าภาษี 1,000 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินฯ จะชำระภาษีเพียง 100 บาท
  • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่น นอกจาก 1)-2)
  • ที่ดินหรือสิ่งปลุกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ มูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรารกร้างว่างเปล่า/อัตราการใช้ประโยชน์อื่น ร้อยละ 0.3 คิดเป็นค่าภาษี 15,000 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินฯ จะชำระภาษีเพียง 1,500 บาท เป็นต้น

ทั้งนี้ การลดจำนวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินฯ จะส่งผลกระทบต่อรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศที่จะนำไปดำเนินภารกิจในปีงบประมาณ 2563 ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ คือ จำนวน 39,420 ล้านบาท แต่จะเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่ในช่วงเวลานี้ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการบรรเทาผลกระทบ เช่น มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการนำส่ง และชำระภาษี มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โครงการสินเชื่อเพื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น ที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและมีรายได้ดังเช่นปกติ

อนึ่ง ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย และเรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างลักษณะใดเป็นการใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย และลักษณะใดใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม เพื่อให้ อปท. สามารถดำเนินการจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และแก้ไขข้อบกพร่องของภาษีบำรุงท้องที่เดิม ลดการใช้ดุลยพินิจ และทำให้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีความชัดเจน โปร่งใส เป็นมาตรฐาน และสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของการทำประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรมในปัจจุบัน

ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

  •  ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ได้แก่ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง บ้านหลังที่ 2 ให้ญาติพี่น้องอยู่อาศัย ให้เช่าเพื่ออยู่อาศัยแบบรายเดือน (เช่น บ้านเช่า อพาร์ตเมนต์ หอพัก คอนโด เป็นต้น) และโฮมสเตย์ ให้เสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย
  • ให้ครอบคลุมถึงช่วงเวลาระหว่างการก่อสร้าง หรือปรับปรุงต่อเติมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัยด้วย เช่น บ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการตกแต่ง เป็นต้น
  • ไม่รวมถึงโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่าง การพัฒนา หรือสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ขายตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

  • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้หมายความรวมถึงการปลูกพืช การเลี้ยงปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำนาเกลือสมุทร การทำสวนป่า การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค หรือจำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม และให้รวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ต่อเนื่องที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมนั้นด้วย
  • สำหรับระยะเวลาในการประกอบเกษตรกรรมให้รวมถึงช่วงเวลาพักการเกษตร เพื่อฟื้นฟูสภาพที่ดิน หรือการพักที่ดินระหว่างฤดูกาลผลิต หรือการตัดวงจรโรคด้วย

ขยายเวลาลดหย่อนภาษีหนุนการศึกษาอีก 2 ปี

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเป็นการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัท ออกไปอีก 2 ปี สำหรับการบริจาคเงินผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ออกเป็นตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564

ทั้งนี้ การบริจาคที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้แก่ การบริจาคให้แก่สถานศึกษาของรัฐ สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน โรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และสถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทวบงชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ

โดยกรณีบุคคลธรรมดาสามารถนำเงินที่บริจาคมาหักเป็นค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายสำหรับการบริจาคตามพระราชกฤษฎีกาอื่นๆ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้เพิ่งประเมินหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนอืนๆ แล้ว

สำหรับกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นำเงินหรือทรัพย์สินมาหักเป็นรายได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาค แต่เมือรวมกับรายจ่ายในการจัดสร้างและบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ สนามกีฬาของเอกชนหรือราชการ และรายจ่ายสำหรับการบริจาคตามพระราชกฤษฎีกาอื่นๆ แล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะและรายจ่ายเพื่อการศึกษาเพื่อการกีฬา

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.ฎ. นี้จะมีผลทำให้จัดเก็บภาษีลดลง จำนวน 440 ล้านบาท แต่จะมีส่วนช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในด้านการศึกษา และเป็นประโยชน์ในการจูงใจให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมสนับสนุนในการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผ่านร่างกม.ลูก สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการ-ผู้สูงอายุ

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548 ให้ครอบคลุมประเภทและขนาดของอาคารซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายประเภท และกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา สังคมไทย ขณะนี้มีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้มเป็น 20.42 ล้านคน ในปี 2583

โดยมีสาระสำคัญในการกำหนดให้  1) อาคารที่ให้บริการสาธารณะ เช่น โรงมหรสพ หอประชุม โรงแรม สถานศึกษา หอสมุด  อาคารประกอบของสนามกีฬากลางแจ้งหรือสนามกีฬาในร่ม 2) สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 3) อาคารที่ทำการของราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น

1. กำหนดให้มีที่จอดรถยนต์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ดังนี้

    • อาคารที่มีที่จอดรยนต์ไม่เกิน 25 คัน ต้องมีที่จอดรถยนต์คนพิการและผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 1 คัน
    • อาคารที่มีที่จอดรยนต์ตั้งแต่ 26-50 คัน ต้องมีที่จอดรถยนต์คนพิการและผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 2 คัน
    • อาคารที่มีที่จอดรยนต์ตั้งแต่ 51-75 คัน ต้องมีที่จอดรถยนต์คนพิการและผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 3 คัน
    • อาคารที่มีที่จอดรยนต์ตั้งแต่ 76-100 คัน ต้องมีที่จอดรถยนต์คนพิการและผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 4 คัน
    • อาคารที่มีที่จอดรยนต์ตั้งแต่ 101-150 คัน ต้องมีที่จอดรถยนต์คนพิการและผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 5 คัน
    • อาคารที่มีที่จอดรยนต์ตั้งแต่ 151-200 คัน ต้องมีที่จอดรถยนต์คนพิการและผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 6 คัน

ทั้งนี้ ที่จอดรถยนต์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุต้องจัดให้ใกล้ทางเข้าออกอาคารมากที่สุด มีพื้นผิวเรียบ มีระดับเสมอกันและมีสัญลักษณ์รูปคนพิการนั่งวีลแชร์ (wheelchair) อยู่บนพื้นของที่จอดรถ

2. กำหนดให้มีทางลาด โดย 1) มีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร กรณีทางลาดแบบสวนกันได้ ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร 2) มีความลาดชันไม่เกิน 1:12 และมีความยาวแต่ละช่วงไม่เกิน 9 เมตร หากทางลาดยาวเกิน 9 เมตร ต้องให้มีชานพักขนาดไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร คั่นระหว่างแต่ละช่วง 3) ทางลาดที่ไม่มีผนังกั้นให้ยกขอบสูงไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร และทางลาดที่มีความยาวตั้งแต่ 1.8 เมตรขึ้นไป ต้องมีราวจับทั้งสองด้าน สำหรับทางลาดที่มีความกว้างตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป ต้องมีราวจับห่างกันไม่เกิน 1.5 เมตร โดยทำจากวัสดุผิวเรียบ ลักษณะกลม มีความมั่นคงแข็งแรงและไม่เป็นอันตรายต่อการจับ

3. กำหนดให้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องจัดให้มีห้องสุขาสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา ที่เข้าใช้ได้ตลอดเวลาทำการอย่างน้อย 1 ห้อง มีโถชนิดนั่งราบที่สูงจากพื้นไม่เกิน 40 เซนติเมตร มีที่ปล่อยน้ำเป็นคันโยกหรือปุ่มกดขนาดใหญ่ที่สะดวกต่อการใช้งาน

4. กำหนดให้โรงมหรสพหรือหอประชุม ต้องจัดให้มีพื้นที่สำหรับวีลแชร์ อย่างน้อย 2 ที่นั่ง ต่อจำนวนไม่เกิน 100 ที่นั่ง และเพิ่มขึ้น 1 ที่นั่ง ต่อจำนวนทุก 50 ที่นั่ง โดยต้องเป็นพื้นราบอยู่ในตำแหน่งที่เข้าออกได้สะดวก

5. กำหนดให้โรงแรม ต้องจัดให้มีห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกชั้น ชั้นละไม่น้อยกว่า 1 ห้อง  สำหรับโรงแรมที่เป็นอาคารชั้นเดียวต้องจัดให้มีห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่น้อยกว่า 1 ห้อง ต่อจำนวนห้องพักไม่เกิน 10 ห้อง และเพิ่มขึ้นอีก 1 ห้อง ต่อจำนวนห้องพักทุก 10 ห้อง โดยต้องอยู่ใกล้บันไดหรือทางหนีไฟหรือลิฟต์ดับเพลิง และต้องมีสัญญาณเตือนภัยทั้งที่เป็นเสียง แสง และระบบสั่น

6. กำหนดให้อาคารชุด หอพัก อาคารอยู่อาศัยรวม ต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณพื้นที่ส่วนกลางตลอดจนพื้นที่บริการสาธารณะ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร นอกจากนี้ ศาสนสถานหรือฌาปนสถานอย่างน้อยต้องมีทางลาดหรือลิฟต์หรืออุปกรณ์ขึ้นลงทางลาดที่ทุกคนสามารถเข้าใช้ได้สะดวก

นางสาวรัชดากล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของคนพิการและผู้สูงอายุ ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในอาคาร สถานที่ และบริการต่างๆ รวมทั้งมีส่วนร่วมกิจกรรมในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเสริมสร้างให้คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำให้สามารถเข้าถึงบริการของรัฐอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม

เสนอชื่อ “อุตตม” นั่งกมธ.พิจารณา พ.ร.บ.โอนงบ

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติที่เห็นชอบการตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย เพื่อให้การโอนงบประมาณรายจ่ายดำเนินการแล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด โดยกำหนดคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาจำนวน 43 ราย ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรีที่เสนอชื่อจำนวนไม่เกิน 1 ใน 4 ของคณะกรรมาธิการหรือไม่เกิน 10 คน ในส่วนของพรรคการเมืองจำนวน 33 คน ซึ่งจะประกอบด้วยฝ่ายรัฐบาล 18 คน และฝ่ายค้าน 15 คน

โดยในส่วนคณะรัฐมนตรีได้มีการเสนอชื่อคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง และยังเหลืออีก 7 คน ที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมต่อไป

ตั้ง “พิชิต อัคราทิตย์” นั่งประธาน กลต.

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน จำนวน 5 คน ตามมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562) ดังนี้ 1. นายอนุชิต อนุชิตากูล 2. นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร 3. นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม 4. นายอภิชาติ ชินวรรโณ 5. นายเข็มชัย ชุติวงศ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

พร้อมกันนี้ ได้เห็นชอบแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งนายพิชิต อัคราทิตย์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้ส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร 44 อัตรา และสำนักนายกรัฐมนตรี ในส่วนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 94 อัตรา รวมทั้งสิ้น 138 อัตรา โดยจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นงบประมาณด้านบุคลากร 32.7 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ครม. จะบรรจุให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 2 มิถุนายน 2563 เพิ่มเติม