ThaiPublica > เกาะกระแส > คำต่อคำ “ประยุทธ์ “สวมหมวก 2 ใบ ตอบคำถามหลังประชุมร่วม ครม.-คสช. ครั้งแรก ให้น้ำหนักปัญหามั่นคง-ไม่เลิกกฎอัยการศึก ย้ำส่งออกทรุดเพราะเศรษฐกิจโลก

คำต่อคำ “ประยุทธ์ “สวมหมวก 2 ใบ ตอบคำถามหลังประชุมร่วม ครม.-คสช. ครั้งแรก ให้น้ำหนักปัญหามั่นคง-ไม่เลิกกฎอัยการศึก ย้ำส่งออกทรุดเพราะเศรษฐกิจโลก

7 ตุลาคม 2014


เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 มีการประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 42 ที่กำหนดให้ทั้ง คสช. และ ครม. ประชุมเพื่อปรึกษาหารือการบริหารราชการแผ่นดินร่วมกันเดือนละครั้ง ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 มีการประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 42 ที่กำหนดให้ทั้ง คสช. และ ครม. ประชุมเพื่อปรึกษาหารือการบริหารราชการแผ่นดินร่วมกันเดือนละครั้ง
ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 มีการประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 42 ที่กำหนดให้ทั้ง คสช. และ ครม. ประชุมเพื่อปรึกษาหารือการบริหารราชการแผ่นดินร่วมกัน ทั้งนี้ จะมีการประชุมร่วมเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งในวันนี้เป็นการประชุมนัดแรก มีวาระการรายงานผลการทำงานของ ครม. ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา และการทำงานของ คสช. ในรอบ 4 เดือน หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. แถลงภายหลังการประชุมร่วมระหว่าง ครม. กับ คสช. ครั้งที่ 1 ว่า เป็นการประชุมสานต่อการทำงานของ คสช. และคนที่อยู่ใน ครม. ส่วนใหญ่อยู่ใน คสช. ด้วย จึงมาทบทวนว่าสิ่งที่ผ่านมาแล้วนำไปสู่การบริหารของรัฐบาลระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาต่อเนื่องกันอย่างไร โดยสรุปเป็นไปตามแผนงานของ คสช. และเป็นโรดแมปของ ครม. ทั้ง 5 กลุ่มงาน ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและจิตวิทยา กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และกิจการพิเศษ

“ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า เราต้องเกิดความชัดเจนขึ้นในการทำงาน เพราะสังคมต้องการทราบตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. เราได้ทำงานอะไรไปแล้วบ้าง เพราะบางคนเข้าใจว่าเรายังไม่ได้ทำอะไรเลย หรือทำแต่เรื่องเล็กน้อย มันต้องทำงานคู่ขนานกันไป แนวทางการทำงานของ คสช. ทั้งหมดจนถึงปัจจุบันคือแนวทางการบริหารราชการปกติในภารกิจของรัฐบาล กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ดำเนินการตามปกติในเชิงรุก ไม่ใช่เชิงตั้งรับ หรือรอปัญหา หรือทำไปวันๆ ” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

สำหรับการเร่งรัดการทำงานในเชิงรุก โดยมี คสช. เข้ามาช่วยในเรื่องปัญหาความมั่นคงและเรื่องที่ติดขัดทางกฎหมาย มีการใช้กำลังพลเรือน ตำรวจ และทหาร ในงานด้านความมั่นคง รวมถึงรัฐบาลทำงานโดยการตั้งโจทย์ว่าประเทศไทยมีปัญหาที่ไหนบ้าง เรื่องอะไรบ้าง ในทุกมิติ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องมีโจทย์มาให้แล้วเห็น จากปัญหาในอดีตที่ผ่านมาอะไรที่แก้ไขไม่ได้โดยรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง เอาโจทย์เหล่านั้นมากำหนดทั้งหมด เมื่อได้โจทย์มาแล้วก็กำหนดวิธีการและบูรณาการขึ้นมาทำใหม่เพื่อทำให้เกิดผลโดยเร็ว และขับเคลื่อนทั้งในส่วนของนโยบาย ทั้งผู้ปฏิบัติและการปฏิบัติ

สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญคือ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน รัฐบาลเดินคู่ขนานกันไปทั้งการตรวจสอบ การระงับยับยั้ง การทบทวนใหม่ เรื่องทางกฎหมายต้องส่งให้กระบวนการทางกฎหมายไปพิจารณา คงไม่มีอำนาจทางกฎหมายมากนัก ในทุกมิติ ไม่ได้ทำในแบบรัฐบาลที่ผ่านมา แต่เอาปัญหาทั้งหมดที่หมักหมมมานาน ทั้งเรื่องทุจริต ความเหลื่อมล้ำ อาชีพ รายได้ ความเดือดร้อนประชาชน เอามาเป็นตัวกำหนดว่า ทุก 3 เดือน จะทำอย่างไรในการแก้ปัญหาเร่งด่วนทันทีและเกิดผลสัมฤทธิ์ จัดระเบียบบ้านเมืองให้ได้ แต่ปัญหาที่ตามมาคือเราจะดูแลคนเหล่านี้อย่างไร ซึ่งเป็นปัญหาที่ยากพอสมควร แต่ต้องทำทั้งสองอย่างไปคู่ขนาน

“อย่ามาบอกว่าเราทำเรื่องกระจ๊อกกระแจ๊กมาตลอด ซึ่งไม่ใช่ เราทำทั้งสองอย่างไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านความมั่นคง มิติเศรษฐกิจ การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย มองว่าการส่งออกเป็นอย่างไร อย่ามาบอกว่ามันตกต่ำเพราะรัฐบาลบริหารไม่ดี แต่เป็นเพราะเศรษฐกิจโลกว่าอย่างไร เรามีความเข้มแข็งพอหรือไม่ ต้องมาเสริมภาพความเข้มแข็งของเศรษฐกิจเรา ทั้งอุตสาหกรรมการแปรรูป การสร้างมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ถ้าทุกคนมาร้องเรียนทุกเรื่องมันแก้ไขไม่ได้ เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาชั่วคราว เร่งด่วนทั้งนั้น การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนไม่มีรัฐบาลไหนแก้ไขได้เลย วันนี้เราจะแก้ไขตรงนี้ให้ได้ ทุกอย่างที่หมักหมมมาเป็นเวลานาน ให้เวลาเราหน่อย ตั้งแต่การแก้ปัญหาเร่งด่วนทันที ความเดือดร้อนประชาชน เรื่องกฎหมายจะทำอย่างไรให้ทันสมัยเอื้อประโยชน์ต่อคนมีรายได้น้อยและคนส่วนใหญ่ การดูแลเรื่องรายได้ ภาษี พลังงาน เมื่อทำตรงนี้ได้ก็จะเป็นแผนระยะยาว อะไรที่ปฏิรูปก็ต้องปฏิรูป ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต้องเริ่มภายในเดือนหน้าโดยเร็ว” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

พล.อ. ประยุทธ์กล่าวถึงความคืบหน้าของการทำงานด้านการสร้างสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยเพื่อจะเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปว่า อย่าเพิ่งมาถามตนเรื่องกฎหมายพิเศษต่างๆ ให้เกิดการปฏิรูปให้ได้เสียก่อน อย่ามาเพื่อประท้วง แต่ให้ดูว่าเขาจะทำอย่างไรกันต่อไป เรื่องกรรมการ สปช. ที่มีการกล่าวกันว่าเกิดความไม่เป็นธรรม ไม่ต้องการให้เอาเรื่องเหล่านี้มาเป็นประเด็นสำคัญจนทำให้รัฐบาลทำงานไม่ได้

“คนไทยต้องร่วมมือกัน รักกัน มีความสามัคคี ให้กำลังใจรัฐบาล ทุกคนเข้ามาโดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น เข้ามาแบกภาระของชาติบ้านเมือง ทำเพื่ออะไรล่ะครับ ผมถามหน่อยซิ ถ้าเป็นท่านๆ จะเสี่ยงอันตรายอย่างพวกผมมั้ยที่มาทำแบบวันนี้” นายกรัฐมนตรีกล่าวและบอกต่อไปว่า

“ขอทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน ผมทำอะไรให้ท่าน มันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จแต่ผมก็คิดจะทำ คาดหวังว่ามันจะสำเร็จด้วย แต่ทั้งหมดต้องได้รับความร่วมมือจากพวกท่านทุกคน ถ้าเอาเรื่องเล็กเรื่องน้อยเข้ามามันจะทำงานได้หรือไม่ ถ้าจะมาอ้างว่าเหตุการณ์ปกติ ก็มันไม่ปกติ ไม่อย่างนั้นผมบริหารราชการแผ่นดินโดย คสช. อย่างเดียวไม่ง่ายกว่าหรือ ไม่ต้องมีรัฐบาล ฉะนั้น อย่ามาตีผมตรงนี้ ต่างชาติเขาเข้าใจ ซึ่งเราไปชี้แจงทุกครั้งว่ามีความก้าวหน้าอย่างไร”

“หลังจากวันที่ 22 พ.ค. ทุกคนพอใจ เว้นแต่คนไทยบางส่วนที่ไม่พอใจ ไม่เข้าใจว่าเขาคิดอะไรอยู่ สื่อต้องช่วยผม สร้างความเข้าใจให้หน่อย อย่าให้ผมนอนไม่หลับกินไม่ได้ ทุกคนเหนื่อยทั้งนั้น รองนายกฯ ทุกคน รัฐมนตรีทุกระทรวง ข้าราชการทุกคนทำงานอยู่ หากจะมาติติงกันทุกอย่าง พอเริ่มทำงานก็มาแตะ ผมถามว่าที่ผ่านมาเขาทำงานกันบ้างมั้ย มีผลสัมฤทธิ์มั้ย กำหนดยุทธศาสตร์ได้มั้ยว่าประเทศชาติจะเดินไปอย่างไร วันนี้ประเทศไทยกว่า 200 ปี ก็เดินไปอย่างนี้ เราต้องการมาแก้และมาปฏิรูป นั่นคือรัฐบาลเรา ให้โอกาสพวกเราหน่อย ผมไม่กลัวอะไรทั้งสิ้นอยู่แล้ว ถ้ากลัวไม่เข้ามา” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.  ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.
ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/

ผู้สื่อข่าวถามว่า จุดอ่อนที่ประเมินว่ายังทำไม่ถึงเป้าหมายในช่วงที่ผ่านมาคืออะไร พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ได้มองเป้าหมายว่าต้องสำเร็จ ที่บอกไปว่าอะไรเสร็จภายใน 1 เดือน อะไรเสร็จเดี๋ยวนี้ อะไรเสร็จภายใน 3 เดือน เราจะมีคำตอบให้ท่าน แต่ไม่ใช่ปัญหาที่มีกว่า 40 ปี จะมาแก้ภายใน 4 เดือน ถามว่าจะแก้ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้แล้วจะถามทำไม

เมื่อถามว่า คิดว่า 4 เดือนที่ผ่านมา คสช. สำเร็จมากน้อยแค่ไหน พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า สำเร็จตามที่ตั้งใจ แต่อาจจะไม่ทันใจสังคม ซึ่งไม่รู้ ต้องเดินอย่างนี้เพราะเขากันงานกันอย่างนี้ อะไรที่เป็นระยะยาวต้องสร้างความเข้มแข็ง สร้างพื้นฐาน สร้างรากฐานไว้ในอนาคต และต้องเดินไปอย่างนั้น

ต่อคำถามที่ว่า คสช. และรัฐบาล ประเมินสถานการณ์ความมั่นคงขณะนี้อย่างไร พล.อ. ประยุทธ์กล่าวสวนทันทีว่า มั่นคง… เว้นแต่พวกเราทำให้มันไม่มั่นคงกันเอง วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับเรา ให้โอกาสในการทำงาน แต่มีส่วนน้อย ตอนนี้ยังควบคุมสถานการณ์ได้ เพราะมีกฎหมายอยู่

สำหรับกฎอัยการศึก ที่ยังไม่มีการพิจารณายกเลิกการบังคับใช้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ถ้ามีการปฏิรูปได้จะผ่อนคลายไปตามลำดับ อย่าเพิ่งเร่งรัด” ส่วนเหตุผลที่ยังคงกฎอัยการศึกไว้เพื่ออะไรนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องความมั่นคง พูดไม่ได้ คุณ (สื่อ) ต้องไปถามไอ้คนพูดนู่น” เมื่อถามย้ำว่า จะทำอย่างไรให้ฝ่ายที่เห็นต่างมาเห็นด้วยและสนับสนุนรัฐบาล นายกรัฐมนตรีตอบว่า ต้องไปถามเขา แค่สมัคร สปช. ยังไม่มาเลย แต่เขามาตีทุกวันเรื่องปฏิรูปไม่เป็นธรรม ไม่เลือกคนนั้นคนนี้ แต่เวลาเชิญเข้ามาทำไมไม่มา เพราะวันนี้มีการประชุมร่วม คสช. และ ครม. เป็นครั้งแรก ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้ คสช. ประเมินรัฐบาลอย่างไร นายกรัฐมนตรีตอบว่า

“ประเมินเองไม่ได้ต้องให้ประชาชนประเมิน แต่อย่าให้ต่ำนัก ดูว่าอะไรทำแล้ว อะไรกำลังทำ อะไรเป็นอนาคต คนส่วนใหญ่เขาต้องการอะไร ส่วนน้อยต้องการอะไร ทุกคนต้องลดบทบาทตัวเอง ผมไม่ได้อะไรสักอย่าง และไม่ต้องการอะไร อยากจะไปพักผ่อนจะตายอยู่แล้ว”

ผู้สื่อข่าวถามทิ้งท้ายว่า การประเมินเช่นนี้ จะเป็นสัญญาณหรือไม่ว่ารัฐบาลจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ใน 1 ปี ตามที่กำหนดไว้ในโรดแมป พล.อ. ประยุทธตอบสวนว่า “ผมไม่ได้บอกว่าแก้ปัญหาไม่ได้ คุณไม่เข้าใจ ปัญหามีทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ อะไรที่เร่งด่วนเราแก้ก่อน อันนี้แก้ไม่ได้ก็ส่งรัฐบาลต่อไป รัฐบาลต่อไปต้องมาทำ ถ้าไม่ทำก็กลับมาแบบเดิม”