ThaiPublica > เกาะกระแส > มติ ครม. ยื่นศาล ปค. ขอพิจารณา “คดีคลองด่าน” ใหม่ ผ่านงบประมาณปี ’60 วงเงิน 2.73 ล้านล้าน – นายกฯ ยันจำเป็นใช้ “ศาลทหาร”

มติ ครม. ยื่นศาล ปค. ขอพิจารณา “คดีคลองด่าน” ใหม่ ผ่านงบประมาณปี ’60 วงเงิน 2.73 ล้านล้าน – นายกฯ ยันจำเป็นใช้ “ศาลทหาร”

16 พฤษภาคม 2016


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

นายกฯ แจงจำเป็นใช้ “ศาลทหาร” ยันให้โอกาสจำเลยสู้คดีเต็มที่

พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม. ถึงการเดินทางไปชี้แจงปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนภายในไทยต่อที่ประชุมคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ตามกลไก Universal Periodic Review (UPR) ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ว่า ไม่ใช่ไทยไปชี้แจงประเทศเดียว ยังมีประเทศอื่นๆ อีกว่า 130 ประเทศต้องไปชี้แจง ซึ่งเป็นการชี้แจงตามวงรอบทุกๆ สี่ปีครึ่ง ซึ่งรัฐบาลไทยชุดที่ผ่านมาก็แก้ปัญหาได้เพียง 20% ส่วนรัฐบาลไทยชุดนี้แก้ได้กว่า 70% มากกว่ารัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วบางชาติที่แก้ได้ไม่ถึง 50% อย่างไรก็ตาม ไทยจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนต่อไป

สำหรับข้อห่วงใยที่ประเทศต่างๆ ซักถาม พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวชี้แจงว่า เรื่องการเรียกคนมารายงานตัว ถ้าไม่มีคดีความก็ปล่อยตัวกลับไปหมด แต่ถ้ามีคดีร้ายแรงก็จะปล่อยให้เป็นเรื่องของศาล ที่ต้องพาตัวบางคนไปที่ค่ายทหาร ก็ไม่ได้คุมขัง แค่มาให้กินข้าว ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็จะปล่อยตัวออกมา, เรื่องการใช้ศาลทหาร ได้ชี้แจงว่าศาลทหารก็เป็นศาลธรรมดา ผู้พิพากษาทุกคนต้องจบกฎหมาย การดำเนินคดีก็เปิดโอกาสให้จำเลยมีทนายและได้รับการประกันตัว เหตุที่ต้องใช้ศาลทหาร เพราะบางคนไม่ยอมทำตามกฎหมายปกติ จึงใช้ศาลอาญาทั่วไปไม่ได้ ฯลฯ เป็นต้น

“ผมได้มอบหมายให้ทีมโฆษกไปรวบรวมข้อมูลว่าสื่อใดที่บิดเบือนข้อเท็จจริงมากๆ อาจจะต้องดำเนินการทางกฎหมาย” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

เตรียมแถลงผลงาน 2 ปี คสช. – ลดเบี้ยคนชรายังแค่แนวคิด

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่ครบรอบ 2 ปีการรัฐประหารของ คสช. ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 นี้ว่า จะมีการแถลงผลงานถึงสิ่งที่ คสช. ทำไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา ถ้าอยากรู้อะไรก็ให้ไปสอบถามเอาในวันนั้น ยืนยันว่ารัฐบาลทำงานทุกอย่างตามยุทธศาสตร์ หากไม่สำเร็จก็จะส่งต่อไปให้รัฐบาลชุดต่อไป หลายอย่างเป็นการแก้ปัญหาตามที่มีการร้องเรียนมาผ่านศูนย์ดำรงธรรม ยืนยันว่าทำทุกอย่างเพื่อแก้ปัญหา ตนไม่เคยไปสร้างปัญหาให้กับใคร มีคนแต่อื่นที่จะมาสร้างปัญหาให้กับตน

ส่วนกรณีที่เอกอัครราชทูตบางประเทศมักออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทย พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า แค่คนคนหนึ่งพูดทำไมต้องไปให้ความสนใจมาก เราไม่ใช่เมืองขึ้นของใคร ถึงไทยจะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ก็จำเป็นต้องทำตัวเป็นผู้ใหญ่บ้าง หากเขาวิพากษ์วิจารณ์อะไรมา ถ้าจำเป็นก็แค่ชี้แจงไป

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการประกาศยกเลิกสัมปทานเหมืองทองทั่วประเทศสิ้นปี 2559 นี้ว่า ครม. เพียงแค่รับทราบมติของคณะกรรมการร่วม 4 กระทรวงเท่านั้น ไม่ได้ไปสั่งการอะไร เป็นเพียงการรับทราบมติของหน่วยงานที่มีอำนาจ ส่วนกรณีที่นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมยื่นลาออกจากตำแหน่งกะทันหัน ตนไม่รู้ว่านายอาทิตย์ลาออกเพราะอะไร เพราะไม่มีใครรายงานมาให้ทราบ แต่อย่านำมาโยงกับเรื่องนี้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องแนวคิดในการลดการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุว่า ยังเป็นแค่แนวคิด ที่จะไปลดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพราะเขาศึกษามาแล้วพบว่าบางคนมีรายได้มากพอแล้ว จะไปใช้เกณฑ์แค่อายุเพียงอย่างเดียวไม่ได้ คนที่จะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอีก เขาก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุก็มีแค่เดือนละ 600-1,000 บาทเท่านั้น ถ้าลดการใช้งบในส่วนนี้จะได้นำงบไปใช้ในการพัฒนาประเทศส่วนอื่นอีก

เยือนรัสเซีย หวังเพิ่มการค้า 5 เท่า – ซื้ออาวุธดูความเหมาะสม

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการเดินทางทางไปเยือนประเทศรัสเซียอย่างเป็นทางการ พร้อมร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม 2559 ว่า เป็นการเดินทางไปพูดคุยเพื่อเพิ่มการลงทุนและการค้าอีก 5 เท่าให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ ยังหวังกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-รัสเซียให้แนบแน่นยิ่งขึ้น ที่มีข่าวว่าอาจมีการเจรจาซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากรัสเซีย เป็นเพราะอาวุธยุทโธปกรณ์บางอย่าง เช่น เฮลิคอปเตอร์ ไทยผลิตเองไม่ได้ ต้องจัดซื้อจากต่างประเทศ แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องซื้อจากรัสเซียเท่านั้น เพราะเราจะมีโอกาสได้คุยกับอีกหลายประเทศ ใครที่เสนอราคาถูกที่สุดก็อาจจะซื้อจากประเทศนั้น

“สาเหตุที่ต้องมีการเจรจาซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์กับรัสเซีย เพราะไทยต้องการขายสินค้าให้กับรัสเซียด้วย หากเราไม่ซื้อแล้วเขาจะซื้ออะไรเรา เป็นเรื่องการค้าต่างตอบแทน” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ครม. อนุมัติงบปี 60 วงเงิน 2.73 แสนล้าน – ขาดดุล 3.9 แสนล้าน

สำหรับวาระการประชุม ครม. ที่สำคัญอื่นๆ มีดังนี้

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. นี้ คือกำหนดให้งบประมาณรายจ่ายของปี 2560 อยู่ที่ 2.73 ล้านล้านบาท (เมื่อเทียบกับปี 2559 ลดลง 1.5%) แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 2.10 ล้านล้านบาท (ลดลง 1.1%) รายจ่ายลงทุน 5.47 แสนล้านบาท (ลดลง 3.0%) และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 8.10 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 31.0%) โดยประมาณการณ์รายได้เท่าเดิม คือ 2.34 ล้านล้านบาท หรือขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท

สำหรับกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) 5.19 แสนล้านบาท งบกลาง 3.98 แสนล้านบาท กระทรวงมหาดไทย (มท.) 3.23 แสนล้านบาท กระทรวงการคลัง 2.18 แสนล้านบาท และกระทรวงกลาโหม 2.14 แสนล้านบาท

ส่ววนกระทรวงที่ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น 5 ลำดับแรก ได้แก่ กระทรวงการคลัง เพิ่มขึ้น 1.94 หมื่นล้านบาท กระทรวงคมนาคม (คค.) เพิ่มขึ้น 1.66 หมื่นล้านบาท กระทรวงแรงงาน เพิ่มขึ้น 1.35 หมื่นล้านบาท กระทรวงกลาโหม (กห.) เพิ่มขึ้น 8.22 พันล้านบาท และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพิ่มขึ้น 7.18 พันล้านบาท

“ทั้งนี้ ให้ส่งร่าง พ.ร.บ. นี้ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน และส่งกลับมาขอความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. ในวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ก่อนส่งไปยังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป” นายสมศักดิ์กล่าว

ไฟเขียวให้คลังยื่นศาลปกครอง ฟื้น “คดีคลองด่าน”

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย ได้รายงานถึงการแก้ไขปัญหากรณีการจ่ายค่าโง่บ่อบำบัดน้ำเสีย อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ หลังจากที่คณะกรรมการธุรกรรมของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีมติอายัดสิทธิของบริษัทเอกชน ได้แก่ กิจการร่วมค้า NVPSKG ในการเรียกร้องเงินค่าโง่จากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ที่เหลืออีก 2 งวด รวมกว่า 6 พันล้านบาท จากที่ ครม. มีมติให้จ่ายเงินไปทั้งหมด 3 งวด รวมกว่า 9.6 พันล้านบาท โดยนายวิษณุเสนอให้มีมติใน 3 ประเด็น

  1. รับทราบกรณีที่คณะกรรมการธุรกรรมของ ปปง. มีมติอายัดสิทธิของกิจการร่วมค้า NVPSKG
  2. เห็นชอบให้ คพ. ชะลอการจ่ายเงินค่าโง่งวดที่ 2 และ 3 จนกว่ากิจการร่วมค้า NVPSKG จะมาชี้แจงกับคณะกรรมการธุรกรรมของ ปปง. ภายใน 30 วันตามกรอบของกฎหมาย หากชี้แจงได้ ก็ให้ คพ. ต้องจ่ายค่าโง่ แต่ถ้าชี้แจงไม่ได้ก็ให้อายัดสิทธิในการจ่ายเงินค่าโง่ต่อไป
  3. เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอให้พิจารณาคดีที่มีคำพิพากษาให้จ่ายเงินค่าโง่ใหม่ หลังจากปลายปี 2558 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาให้จำคุกนายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดี คพ. (ผู้ทำสัญญาว่าจ้างให้กิจการร่วมค้า NVPSKG เป็นผู้ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน) กับพวก เป็นเวลา 20 ปี ฐานปฏิบัติต่อหน้าที่โดยมิชอบ โดยส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุว่า กิจการร่วมค้า NVPSKG มีส่วนสนับสนุนในการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้นายปกิตกับพวกการกระทำความผิดด้วย โดยจะใช้คำพิพากษาในคดีดังกล่าวเป็น “พยานหลักฐานใหม่” เพื่อขอให้ศาลปกครองพลิกฟื้นคดีเดิมขึ้นมาพิจารณาใหม่

(อ่าน ย้อนรอย “ค่าโง่คลองด่าน”)

จัดระเบียบตั๋วเครื่องบินเดินทางไปราชการ ตปท.

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พรฎ.ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขหลักการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเดินทางไปราชการชั่วคราวและราชการประจำในราชอาณาจักร โดยกำหนดชั้นโดยสารเครื่องบินในการเดินทางไปในและต่างประเทศ คือ

– กรณีเดินทางไปราชการภายในประเทศ ให้นั่งชั้นประหยัด (economy class) ทุกตำแหน่ง

– กรณีเดินทางไปราชการต่างประเทศ (1) หากระยะเวลาเดินทางมากกว่า 9 ชั่วโมง ปลัดกระทรวง ให้นั่งชั้นเฟิสท์คลาส (first class) ได้ ส่วนรองอธิบดีจนถึงรองปลัดกระทรวง ให้นั่งชั้นธุรกิจ (business class) ได้ ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ให้นั่งชั้นประหยัด (economy class) และ (2) หากระยะเวลาเดินทางต่ำกว่า 9 ชั่วโมง ให้นั่งชั้นประหยัด (economy class) ทุกตำแหน่ง

ควัก 61 ล้าน ช่วยลดหนี้ให้เกษตรกร 478 ราย

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกร จำนวน 478 ราย เป็นเงิน 61.88 ล้านบาท (เงินต้น 44.96 ล้านบาท และดอกเบี้ย 16.92 ล้านบาท) ตามโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) และโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร (ผกก.) โดยแนวทางการดำเนินการ คือ ลดต้นเงินกู้ให้กึ่งหนึ่ง และไม่ต้องชำระดอกเบี้ยค้างชำระโดยให้เป็นมูลหนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2547 ซึ่งเป็นการลดภาระหนี้สินของเกษตรกรเป็นเงินต้น 22.48 ล้านบาท และไม่ต้องชำระดอกเบี้ยค้างชำระ 16.92 ล้านบาท รวมเป็น 39.40 ล้านบาท ที่รัฐจะต้องรับภาระในการยกหนี้ให้กับเกษตรกร ตามแนวทางของมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 ทั้งนี้ กำหนดให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่ ครม. มีมติ