ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. ควักงบกลาง 2 พันล้าน ร่วมทุนตั้ง AIIB – แจง 17 คดีสำคัญจับตาข้อสงสัย สตง. ปมคิงเพาเวอร์ – “ประยุทธ์” สั่งเตรียมรับฤดูฝน

ครม. ควักงบกลาง 2 พันล้าน ร่วมทุนตั้ง AIIB – แจง 17 คดีสำคัญจับตาข้อสงสัย สตง. ปมคิงเพาเวอร์ – “ประยุทธ์” สั่งเตรียมรับฤดูฝน

25 พฤษภาคม 2016


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 มีการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่ทำเนียบรัฐบาลโดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เป็นประธาน

“ประยุทธ์” สั่งเตรียมการรับทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้ง ห่วงฝนตก กทม.

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำก่อนลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ว่า ต้องดูปริมาณน้ำฝนก่อน เพราะฝนที่ตกลงมาก่อนหน้านี้มีปริมาณเพียง 50 ล้าน ลบ.ม. และตกลงในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก น้อยที่สุด และได้สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องไปหาวิธีแก้ปัญหากรณีที่ฝนไม่ตกหรือฝนตกลงใต้เขื่อนด้วย เพราะเขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนที่มีความสำคัญ เชื่อมโยงกับการบริหารจัดการน้ำในหลายพื้นที่ และได้ให้จัดเตรียมแก้มลิงไว้ในหลายพื้นที่เพื่อรองรับน้ำฝนที่จะตกลงมาด้วย ขณะเดียวกันได้เตรียมแก้ปัญหาน้ำหลากด้วย รัฐบาลนี้ได้เตรียมแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำไว้ 2 แบบ ทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วม

“นอกจากนี้ ได้หารือกับทางกรุงเทพมหานครว่า ถ้าฝนตกลงมามากจะทำอย่างไรไม่ให้น้ำหลาก แต่คงจะแก้ปัญหาได้ยาก เพราะระบบระบายน้ำใน กทม. ไม่ได้มีขนาดที่ใหญ่เพียงพอจะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ได้มอบหมายให้ตำรวจ ทหาร และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหากรณีที่อาจจะเกิดปัญหาการจราจรแล้ว” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ยันไม่ล้มประชามติ รธน. – ปัดคุยซื้ออาวุธรัสเซีย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ ว่า ตนจะไม่ตอบแล้วว่า หากประชามติไม่ผ่าน จะมีการเลือกตั้งในปี 2560 หรือไม่ เพราะตอบไปแล้วหลายครั้ง ยืนยันว่าไม่กังวลเรื่องการทำประชามติ ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้จะผ่านประชามติหรือไม่ก็เรื่องของท่าน แล้วจะไปบอกว่าถ้าไม่ผ่านเพราะคนไม่รัก คสช. คงไม่ได้ เพราะเป็นคนละเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แล้วอย่ามาพูดว่าถ้าไม่ผ่านก็เพราะรัฐบาลนี้ต้องการอยู่ต่อ เพราะตนจะอยู่แค่มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาเท่านั้น ที่มีคนบอกว่าจะไม่มีการทำประชามตินั้น อยากถามกลับว่าบ้าหรือเปล่า มาคิดอะไรไม่เป็นเรื่อง

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่เปรยว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อาจจะลาออกจากตำแหน่ง ว่า เป็นการคุยกันเล่นๆ ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้รองนายกฯ ทุกคนไปสรุปมาภายในสิ้นเดือนนี้ว่า งานเรื่องการปฏิรูปประเทศที่ตนเองรับผิดชอบ ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันมีความคืบหน้าไปถึงไหนบ้าง งานปฏิรูปจะต้องทำต่อเนื่องจะให้เห็นผลในพริบตาทันทีคงจะไม่ได้ นอกจากนี้ ยังจะต้องบูรณาการการทำงานระหว่างกัน ส่วน คสช. จะสรุปผลการทำงานในรอบ 2 ปีหรือไม่ก็เป็นเรื่องของ คสช. ที่รับผิดชอบด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นคนละส่วนกับรัฐบาล ที่รับผิดชอบด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงผลการเดินทางเยือนประเทศรัสเซียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ไปเจรจาเพื่อการค้าการลงทุนของประเทศ ไม่ได้ไปพูดคุยเรื่องการซื้อยุทโธปกรณ์ เพราะเป็นเรื่องที่กระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพจะต้องไปเจรจากันเอง ซึ่งจริงๆ ก็มีความต้องการที่จะซื้อมานานแล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้ก็ไม่ได้

ยุคนมีข้อมูลซื้อขายตำแหน่ง ตร. ฟ้องศาล

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีเหตุไฟไหม้หอพักที่ จ.เชียงราย ทำให้มีเด็กเสียชีวิต 17 คน ว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งการหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอัคคีภัย รวมถึงวางแผนเผชิญเหตุ และให้หาวิธีแก้ไขปัญหาหากเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นในตึกสูง

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่ระบุว่าให้ผู้ที่จะออกมาเปิดเผยเรื่องการซื้อขายตำแหน่งระมัดระวังการถูกฟ้องร้องว่า ไม่ใช่การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น เพียงแต่ต้องการเตือนว่าถ้าพูดไปอาจจะถูกฟ้องได้ ถ้าใครเห็นการทุจริตซื้อขายตำแหน่งก็อยากให้นำพยานหลักฐานไปฟ้องร้องต่อศาล เชื่อว่าคนที่ทำผิดจะต้องถูกลงโทษ เพราะตนไม่ใช่ศาลไม่สามารถไปลงโทษใครได้

ยังไม่ทบทวนมติปิดเหมืองทอง “อัครา”

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา หลังจากคณะกรรมการร่วม 4 กระทรวง มีมติปิดเหมืองทองใน จ.พิจิตร ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในสิ้นปี 2559 นี้ และที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ว่า กรณีพนักงานของบริษัทอัคราฯ กว่า 1,000 คน จะให้กระทรวงแรงงานเข้าไปแก้ไขปัญหา ด้วยการรับผิดชอบหางานใหม่ให้ ส่วนที่มีเสียงเรียกร้องให้ทบทวนมติ ขณะนี้ยังไม่มีเหตุจำเป็นในการทบทวนมติคณะกรรมการร่วม 4 กระทรวงดังกล่าว

ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน ที่ประชุม ครม. ยังมีมติแต่งตั้งให้นายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ แทนนายอาทิตย์ วุฒิคะโร

“วิษณุ” แจงคืบหน้า 17 คดีสำคัญ – จับตาข้อสงสัย สตง. ปม  King Power

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย กล่าวว่า ได้รายงานความเคลื่อนไหวคดีสำคัญ รวม 17 คดีให้ที่ประชุม ครม. รับทราบ โดยมีคดีใหม่ๆ ที่เพิ่มจากเดิมซึ่งมีเพียง 12 คดี อาทิ คดีที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น คดีที่เกี่ยวข้องกับการคืนท่อก๊าซของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คดีระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ไร่ส้ม จำกัด หรือคดีไร่ส้ม  ฯลฯ รวมไปถึงเรื่องที่ยังไม่เป็นคดี อย่างข้อสงสัยเรื่องสัญญาสัมปทานการขายสินค้าปลอดภาษี (duty free) ของบริษัท คิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งหนังสือไปสอบถามข้อเท็จจริงจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ ทั้งเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายการร่วมทุน และการวางระบบตรวจสอบสินค้าเข้า-ออก ซึ่งนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะประธานบอร์ด ทอท. ได้ชี้แจงว่า ได้ส่งหนังสือตอบกลับข้อสงสัยของ สตง. และ ป.ป.ช. ไปแล้วครบทุกประเด็น ทั้งนี้ รัฐบาลจะยังไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกรณีนี้ เพียงแต่ติดตามเนื่องจากอยู่ในความสนใจเท่านั้น

“หลายคดีรัฐไม่ได้เป็นทั้งโจทย์หรือจำเลย อย่างคดีไร่ส้ม แต่ที่ต้องรายงาน ก็เพื่อให้คนที่เกี่ยวข้องใน ครม. ได้รับทราบความเคลื่อนไหว เช่น คดีไร่ส้ม ก็บอกเพื่อให้ อสมท. ดูว่ายังจะมีคดีอะไรที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งมูลค่าคดีความเสียหายในคดีทั้ง 17 คดี ถ้ารวมกันเกือบจะเท่างบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุยังกล่าวถึงข้อสงสัยเรื่องการใช้ระบบอนุญาโตตุลาการมาระงับข้อพิพาทเรื่องสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน ที่รัฐมักเสียเปรียบและแพ้ข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตฯ อยู่บ่อยครั้ง ว่า จริงๆ ก็มีกรณีที่รัฐทั้งชนะและแพ้ ทั้งนี้ ครม. เคยมีมติตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อกว่า 20 ปีก่อน ว่าสัญญาใดที่หน่วยงานรัฐทำกับเอกชน ไม่ต้องระบุไว้ในสัญญาว่าหากมีข้อพิพาทให้ไปที่ศาลเลย อย่าใช้อนุญาโตฯ ตุลาการ ยกเว้นกรณีทีเอกชนเป็นบริษัทต่างประเทศซึ่งยืนยันว่าถ้าไม่ให้ใช้อนุญาโตฯ จะไม่ยอมเซ็นสัญญา ก็ให้เสนอเรื่องมายัง ครม. เพื่อพิจารณาเป็นครั้งๆ ไป

“ในต่างประเทศ อนุญาโตฯ มีความเข้มแข็งมาก จนกลายเป็นสถาบันไม่ต่างจากศาล ทำให้เอกชนเขาเชื่อใจ แต่ในไทย การทำงานของอนุญาโตฯ ยังไม่ประสิทธิภาพเพียงพอ นอกจากนี้ ยังดำเนินการล่าช้าเกินควร ทำให้คนยังไม่มั่นใจในระบบนี้” นายวิษณุกล่าว

เห็นชอบหลักการ กม.ห้ามซ้อมทรมานและอุ้มบุคคลให้สูญหาย

สำหรับวาระการประชุม ครม. ที่สำคัญอื่นๆ มีอาทิ

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากที่ประชุม ครม. เคยมีมติเห็นชอบให้สมัครเข้าเป็นภาคีสมาชิกและลงนามในสัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯ เมื่อปี 2550 แต่สำหรับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ แม้ที่ประชุม ครม. จะเคยมีมติให้สมัครเข้าเป็นภาคีสมาชิกไปแล้ว เมื่อปี 2554 แต่ยังไม่เคยมีมติให้สัตยาบัน ทำให้การสมัครเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ ในการประชุม ครม. วันนี้จึงมีมติเห็นชอบในการให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ดังกล่าว

นอกจากนี้ เพื่ออนุวัติกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ที่ประชุม ครม. จึงมีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ซึ่งสาระสำคัญของร่างนี้ก็เช่น กำหนดบทลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมานหรือบังคับให้สูบหาย, ไม่ให้นำเหตุว่าอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรืออยู่ในภาวะสงครามมาเป็นข้อยกเว้นในการซ้อมทรมานหรือบังคับให้สูญหายได้, กำหนดอายุความของผู้ที่กระทำผิดเกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมานหรือบังคับให้บุคคลสูญหายไว้ที่ 20 ปี, ไม่ให้หน่วยงานของรัฐส่งตัวบุคคลออกนอกราชอาณาจักร ถ้าเชื่อได้ว่าเมื่อส่งไปแล้วบุคคลดังกล่าวจะถูกซ้อมทรมานหรือทำให้สูญหาย ฯลฯ เป็นต้น

“หลายคนอาจสงสัยว่ารัฐบาลทหารจะไม่กล้าออกร่าง พ.ร.บ. เช่นนี้ แต่รัฐบาลนี้ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เรากล้าที่จะเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. นี้ เพื่อให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าจะไม่มีการซ้อมทรมานหรือบังคับบุคคลให้สูญหาย ที่หลายคนอาจสงสัยว่าหากร่าง พ.ร.บ. นี้มีผลบังคับใช้จะทำให้การทำงานของ คสช. ยากลำบากขึ้นหรือไม่ ขอยืนยันว่าจะไม่กระทบกับการทำงานของ คสช. เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยซ้อมทรมานหรือบังคับให้บุคคลใดสูญหาย ที่บอกว่าเวลาไปเชิญตัวบุคคลใดแล้วมีการอุ้มไปโดยไม่บอกใคร ขอยืนยันว่าได้มีการแจ้งกับญาติของบุคคลนั้นตลอดว่ามีการเชิญตัวบุคคลนั้นไป คสช. ไม่เคยเชิญใครมารายงานตัวโดยไม่แจ้งกับญาติของบุคคลเหล่านั้น” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรมแจ้งว่า การเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. นี้ของที่ประชุม ครม. เป็นเพียงการเห็นชอบในหลักการเท่านั้น ยธ. ยังจะต้องไปหารือกับกฤษฎีกาเพื่อปรับแก้เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. นี้ ก่อนจะส่งกลับไปให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาอีกครั้ง

อนุมัติสร้างบ้านหลวงให้ ขรก.กองทัพ 1.1 พันล้าน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) ประจำปี 2559 รวม 783 ยูนิต วงเงิน 1,114 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนที่สร้างให้กับข้าราชการใน 5 เหล่าทัพ ทั้งกองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมพื้นที่ก่อสร้าง 18 จังหวัด โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระหว่างปี 2559-2568 รวม 5,099 ยูนิต วงเงิน 7,000 ล้านบาท ทั้งนี้ นายกฯ ได้เน้นย้ำเรื่องการหมุนเวียนกำลังพลที่จะอยู่อาศัยในบ้านหลวง ให้ข้าราชการที่เกษียณอายุไปแล้วต้องออกจากบ้านหลวงทันที เพื่อให้ข้าราชการที่ยังไม่เกษียณอายุและมีสิทธิได้เข้าอยู่ตามสิทธิ จะไม่มีข้าราชการคนใดได้อยู่ในบ้านหลวงดังกล่าวค้ำฟ้า

ควักงบกลาง 2 พันล้าน ประเดิมตั้ง AIIB

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบจัดสรรงบกลางจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 เพื่อชำระเงินทุนงวดแรกในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) ในส่วนของประเทศไทย 2,027 ล้านบาทถ้วน ซึ่งคำนวณจากสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของแต่ละประเทศ และเงินงวดแรกที่ไทยต้องชำระมากกว่าที่สิงคโปร์และมาเลเซียต้องชำระ แสดงให้เห็นถึงการได้รับการยอมรับจากต่างชาติมากขึ้น ส่วนการชำระเงินงวดที่ 2 ยังไม่ได้กำหนดวงเงินและระยะเวลาที่ต้องชำระ

ทั้งนี้ AIIB ที่จีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จะเป็นแหล่งเงินทุนในการกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชีย ต่อจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ซึ่งมีญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยไทยจะเปลี่ยนบทบาทจากลูกค้ามาเป็นผู้ให้กู้แทน

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบให้แจ้งสงวนสิทธิไม่ยกเว้นการจัดเก็บภาษีจากพนักงานคนไทยที่ทำงานให้กับ AIIB ซึ่งมาตั้งสาขาในประเทศไทย

แก้ ป.แพ่งและพาณิชย์ ช่วย startup

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อให้การจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลเป็นไปได้ง่ายขึ้น สนับสนุนการจัดตั้ง startup หรือเอสเอ็มอี ทั้งลดจำนวนผู้ยื่นขอจดทะเบียนจาก 3 คนเหลือ 2 คน, ให้การแจ้งโอนย้ายหนี้สามารถทำผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้จากเดิมที่ต้องแจ้งเป็นหนังสือเท่านั้น, ให้ทุกบริษัทไม่จำเป็นต้องมีตราประทับ, ให้บริษัทที่จะควบรวมมีทางเลือกว่าจะใช้ชื่อบริษัทใหม่หรือยังคงชื่อบริษัทเดิมไว้ จากเดิมที่ต้องเปลี่ยนไปใช้ชื่อบริษัทใหม่เพียงอย่างเดียว ฯลฯ เป็นต้น ทั้งนี้ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับนี้เป็นไปตามผลงานวิจัยเรื่อง Doing Business 2016 ของธนาคารโลก

“อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม. ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการแก้ไขปัญหานอมินี โดยเฉพาะกรณีที่บุคคลหนึ่งมีชื่อเป็นกรรมการผู้มีสิทธิออกเสียงหลายๆ บริษัทในคราวเดียวกัน ซึ่งเข้าข่ายว่าอาจเป็นนอมินีให้กับชาวต่างชาติ จึงให้กระทรวงพาณิชย์และกฤษฎีกาไปหาทางอุดช่องโหว่นี้” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

เห็นชอบเซ็น MOU ร่วมมือสิงคโปร์พัฒนาด้านไอที

พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MoU) ระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ของไทยกับกระทรวงไอซีทีของสิงคโปร์ ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยสาระสำคัญของ MoU นี้ก็เช่น แบ่งปันความรู้ด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ แบ่งปันความรู้เรื่องธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยกระดับระบบนิเวศเพื่อให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีดิจิทัล เสริมความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ในการลงนามความร่วมมือกันในการประชุมรัฐมนตรีไอซีทีนานาชาติ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 นี้ที่สิงคโปร์

พล.ต. วีรชน กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 2 ที่ตัวแทนรัฐบาลไทยจะนำไปใช้ในการประชุมที่สำนักงานใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ระหว่างวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2559 นี้ โดยหัวข้อหลักในการประชุมนี้คือแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างปี ค.ศ. 2015-2030 โดยร่างปฏิญญานี้จะกล่าวถึงการบูรณาการใน 3 มิติ ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เป็นครั้งแรก