ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. ตั้ง “วิรไท สันติประภพ” เป็นผู้ว่าฯ ธปท. ไฟเขียว พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ – “บิ๊กตู่” อ้างมีสมาคมประมงห้ามเรือออกหาปลา หวังกดดันรัฐบาล

ครม. ตั้ง “วิรไท สันติประภพ” เป็นผู้ว่าฯ ธปท. ไฟเขียว พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ – “บิ๊กตู่” อ้างมีสมาคมประมงห้ามเรือออกหาปลา หวังกดดันรัฐบาล

7 กรกฎาคม 2015


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำสัปดาห์ โดยมีวาระสำคัญคือการพิจารณารายชื่อผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ และมาตรการแก้ปัญหาภายแล้ง รวมถึงการทำประมงผิดกฎหมาย

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม. ว่า การแก้ไขปัญหาทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated fishing: IUU) ซึ่งเป็นที่มาของการให้ใบเหลืองโดยสหภาพยุโรป (อียู) จะต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก เรือประมงทุกลำต้องมีใบอนุญาตและอาชญาบัตร หากไม่มีก็ออกเรือไปจับปลาไมได้ ยอมรับว่าในช่วงการแก้ไขปัญหาอาจมีคนได้รับผลกระทบ แต่ยืนยันว่าจะส่งผลดีระยะยาว อยากเรียกร้องให้สมาคมประมงทั้ง 7-8 สมาคมมาช่วยกัน ไม่ใช่มาต่อต้าน เพราะเราไม่ทำตาม IUU ไม่ได้ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงที่มียอดปีละ 200,000 ล้านบาท และส่งไปอียูปีละ 30,000 ล้านบาท

“ผมทราบมาว่ามีบางสมาคมไปห้ามเรือที่ถูกกฎหมายไม่ให้ออกหาปลา เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาล จึงขอให้ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และผู้เกี่ยวข้อง เรียกผู้ประกอบการมาทำความเข้าใจ หากถูกกฎหมายแล้วก็ให้ออกหาปลาได้ แต่ถ้าจะไม่ออกก็ช่วยไม่ได้ หากยังไม่ถูกกฎหมาย ก็ต้องแก้ไขให้ถูกกฎหมาย” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาในวันนี้ จะต้องตีเส้นก่อน จากนั้นค่อยไปไล่ดูว่า IUU ทั้ง 15 ข้อ จะแก้ไขปัญหาอย่างไร จะใช้กฎหมายฉบับใดหรือใช้อำนาจตน ที่เรียกร้องให้ผ่อนผันไปก่อน ถึง 3 เดือนนี้จะออกหาปลาได้ แล้วอีก 3 เดือนต่อไปขายปลาใครไม่ได้จะทำอย่างไร ตลาดส่งออกที่เสียไปแล้วจะหาตลาดใหม่หรือเรียกคืนมาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนสมาคมประมงที่ห้ามเรือที่ถูกกฎหมายไม่ให้ออกหาปลา แม้ตนไม่มั่นใจว่าผิดกฎหมายหรือไม่ แต่เชื่อว่าสุดท้ายเรือประมงจะไม่ยอมเอง เพราะทำให้ขาดรายได้

สั่ง “คลัง-มหาดไทย” หาวิธีช่วยผู้มีรายได้น้อย

ส่วนการแก้ปัญหาภัยแล้ง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ในวันนี้มีน้ำเหลือใช้เพียง 23 วันเท่านั้น รัฐบาลก็ทำได้เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ขุดน้ำบาดาลมาใช้ไปก่อน อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ขุดลอกทางน้ำทั้งเหนือเขื่อนและใต้เขื่อน เพื่อที่เมื่อฝนตกลงมาจะได้ดักน้ำได้มากกว่าเดิม นอกจากนี้ยังเป็นการทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริม ทั้งนี้ ต้องขอบคุณชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ชะลอการปลูกข้าวออกไป 2 เดือนตามคำแนะนำของรัฐบาล แต่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังมีการปลูกข้าวกันอยู่ ถ้าเกิดความเสียหายขึ้น ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะตนเคยเตือนไปแล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยว่า รัฐบาลจะจัดให้มีตลาดนัด 4 มุมเมืองของ กทม. คล้ายตลาดนัดข้างทำเนียบ ที่ถนนอักษะ พุทธมณฑล, ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ ทุ่งครุ, กรมอุตุนิยมวิทยา บางนา และห้างสรรพสินค้าไอทีสแควร์ หลักสี่ โดยจะให้ผู้มีรายได้น้อยจริงๆ นำสินค้ามาวางขาย ขณะเดียวกันได้เจรจากับผู้ประกอบการรายใหญ่ ให้ช่วยลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคลง 5% จากราคาท้องตลาด นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้กระทรวงการคลังไปหาวิธีปล่อยเงินกู้โดยไม่มีดอกเบี้ย ว่าจะทำได้หรือไม่ และให้กระทรวงมหาดไทยไปดูเรื่องหนี้สินของชาวนา ที่มียอดรวม 3-4 แสนล้านบาท ว่าจะหาวิธีช่วยเหลืออย่างไร

14 นักศึกษาให้ว่าตาม กม. วอนสื่ออย่าจุดชนวนขัดแย้ง

นายกฯ ยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลทหารอนุมัติให้ปล่อยตัวนักศึกษา 14 คน ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ ว่า ศาลว่าอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น รัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังอะไร กฎหมายก็คือกฎหมาย แต่สิ่งที่ศาลเมตตา จะทำอีกหรือไม่ เพราะหลักการของกฎหมายคือเรื่องของความหลาบจำ อย่ามาดื้อรั้นในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ตนกลัวว่าหากอีกฝ่ายลุกขึ้นมาต่อต้าน จะเกิดการตีกันอีก รออีกสักหน่อยไม่ได้หรือ เพราะการเลือกตั้งต้องรอให้รัฐธรรมนูญเสร็จก่อน ทุกวันนี้ก็เดินตามโรดแมปอยู่แล้ว และอยากขอร้องสื่อด้วยว่าอย่าจุดชนวนขึ้นมาอีก

“วันนี้ที่งานเดินได้ช้า เพราะมีการต่อต้านจากคนที่เสียประโยชน์ กลับบ้านไปผมก็นอนคิดทุกคืนว่าวันนี้ได้ทำอะไรสำเร็จหรือไม่ ผมไม่ต้องการเป็นศัตรูกับใคร และไม่อยากให้ใครมาอยู่ข้างผม อยากให้เก็บความเกลียดชังอาฆาตเอาไว้วันข้างหน้า ผมก็พยายามก้าวข้ามความขัดแย้งทั้งหมด เดินหน้าทำงานเพื่อประเทศ” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

แจงซื้อ “เรือดำน้ำ” เพิ่มศักยภาพกองทัพ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่กองทัพเรือ (ทร.) เตรียมขอจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน จำนวน 3 ลำ รวมมูลค่า 36,000 ล้านบาทว่า เป็นแผนงานพัฒนากองทัพที่วางเอาไว้นานแล้ว ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนภายในของ ทร. ยังไม่มีการเสนอมายัง ครม. หากถามว่าจำเป็นหรือไม่ ก็อยากให้มองหลายๆ ด้าน ไม่ใช่ว่าเราต้องมีเรือดำน้ำเพื่อไปยิงกับใคร แต่ต้องมีไว้เพื่อให้เขาเกรงใจ มีไว้เป็นศักยภาพของกองทัพไทยเท่านั้นเอง

ตั้ง “วิรไท” เป็นผู้ว่าฯ ธปท. คนใหม่ “อำพน-สมหมาย” ยันเหมาะสม

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้งนายวิรไท สันติประภพ เป็นผู้ว่าฯ ธปท. คนใหม่ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นชื่อที่กระทรวงการคลังคัดกรองมาแล้ว จากเดิมที่มีอยู่ 2 คน เขาก็เสนอเข้า ครม. มาเพียง 1 คนเท่านั้น ตนก็ตอบรับ ไม่ได้ไปแก้ไขอะไร เพราะ ธปท. เป็นองค์กรอิสระ มีหน้าที่ในการดูแลนโยบายการเงินของประเทศ รัฐบาลเข้าไปสั่งการอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ใครจะเป็นก็เหมือนกัน หากทำงานไมได้ผู้เกี่ยวข้องก็คงปลดออกจากตำแหน่ง

ด้านนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงมติ ครม. ที่รับรองนายวิรไทเป็นผู้ว่าฯ ธปท. ด้วยวัยเพียง 46 ปี ว่า อายุเป็นเพียงแค่ตัวเลข ตอนตนเองเมื่ออายุ 45 ปีก็ได้เป็นเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้วเช่นกัน ส่วนประเด็นคนนอกนั้นไม่เป็นปัญหากับการตำรงตำแหน่งในครั้งนี้ เพราะคนของ ธปท. ทุกคนเป็นมืออาชีพอยู่แล้ว และนายวิรไทก็ไม่ใช่คนนอกคนแรกที่มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท. ประเด็นสำคัญคือการร่วมมือกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดยตนเชื่อว่านายวิรไทจะสามารถรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้

“คณะกรรมการสรรหาต่างเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งนั้น อดีตปลัดกระทรวงการคลังก็อยู่ในคณะกรรมการฯ ทราบดีว่าแบงก์ชาติต้องทำงานอย่างไร คณะกรรมการฯ ได้คัดเลือกจากคุณสมบัติ การแสดงวิสัยทัศน์ และนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้นำชื่อเสนอต่อ ครม. เรียบร้อยแล้ว ถือว่าผ่านขั้นตอนทุกอย่างอย่างสง่างาม และนายวิรไทก็ไม่ใช่คนนอกคนแรกที่มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติ” นายอำพนกล่าว

ด้านนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นว่าเหมาะสมแล้ว เพราะทำงานร่วมกันกับนายวิรไทมากว่า 20 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิรไท ว่าที่ผู้ว่าฯ ธปท. คนที่ 23 ไม่ใช่ ผู้ว่าฯ ธปท.ที่มีอายุน้อยที่สุดในวันเข้ารับตำแหน่ง โดยนายวิรไท ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 46 ปี เป็นผู้ว่าฯ ธปท. มีอายุน้อยที่สุดเป็นลำดับที่ 5 ต่อจาก นายเสริม วินิจฉัยกุล (39 ปี) นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ (43 ปี 2 วัน) พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย (43 ปี 6 เดือน) นายเสนาะ อูนากูล (43 ปี 10 เดือน) และนายวิรไท

สำหรับมติ ครม. อื่น ที่สำคัญ

ไฟเขียว พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบ “ร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ….” ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการยกระดับจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 โดยมีสาระสำคัญคือ จะให้มีผลบังคับทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ (ที่ไม่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง) และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยจะเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เช่นเดียวกับการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม และกำหนดตั้งคณะกรรมการ 5 คณะ ขึ้นมาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างทั้งกระบวนการให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“มีการกำหนดการจัดซื้อจัดจ้างอย่างชัดเจนใน 3 กรณี ได้แก่ การจัดซื้อจัดจ้างในระบบ e-aunction, e-bidding และ e–market ซึ่งการปรับระบบให้หน่วยงานรัฐดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในระบบ e-bidding และ e–market นี้หากหน่วยงานใดยังไม่พร้อมก็ยังสามารถใช้การจัดซื้อจัดจ้างในระบบ e-aunction ได้จนกว่าจะประสานงานกับกรมบัญชีกลางเรียบร้อยแล้วจึงปรับระบบเป็นระบบ e-bidding และ e–market แต่อาจมีข้อยกเว้นสำหรับวิธีคัดเลือกสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างที่ผู้ประกอบการมีความชำนาญเฉพาะทาง ทั้งหมดนี้ รวมถึงบทลงโทษที่ชัดเจนจะถูกกำหนดไว้ในร่างกฎหมายฉบับนี้ ” พล.ต. สรรเสริญกล่าว

เพิ่ม “สินบน-เงินรางวัล” คดียาเสพติด

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ “ร่าง พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง พ.ศ. ….” ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการกำลังพลสำรอง (คกส.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกฯ มอบหมายเป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเสนอแนะนโยบาย ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และกำหนดแนวทางการปฏิบัติและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกิจการกำลังพลสำรอง โดยผู้ที่เข้าข้อกำหนดเป็นกำลังพลสำรองจะต้องเข้ารายงานตัวตามกำหนด หากไม่ปฏิบัติตามถือว่าทำผิดกฎหมาย โดยราชการจะต้องจ่ายค่าสวัสดิการต่างๆ ให้ตามข้อกำหนด และขณะเข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นกำลังพลสำรองนายจ้างจะต้องจ่ายค่าแรงตามปกติ

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า มีมติเห็นชอบ “ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลคดียาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….” โดยสาระสำคัญ คือการลดความยุ่งยากในการยื่นขอเงินสินบนหรือเงินรางวัลจากคดียาเสพติด จากเดิมที่ต้องรอให้สิ้นสุดในขั้นตอนของอัยการก่อน มาเป็นให้ยื่นขอได้เมื่อพนักงานสอบสวนสั่งฟ้องหรือผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และเพิ่มจากเดิมคดีละ 200 บาท เป็นคดีละ 360 บาท และเพิ่มเงินช่วยเหลือเจ้าหน้าที่กรณีประสบเหตุอันตรายในการปฏิบัติหน้าที่ กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ จาก 2 แสนบาท เป็น 3 แสนบาท กรณีบาดเจ็บจนเสียอวัยวะ จาก 1 แสนบาท เป็น 2 แสนบาท กรณีบาดเจ็บสาหัสจาก 4 หมื่นบาท เป็น 6 หมื่นบาท กรณีบาดเจ็บทั่วไปไม่สาหัส จากไม่ได้เลย มาเป็นได้ 1 หมื่นบาท

เร่งหามาตรช่วยหนี้นอกระบบภาคเกษตร

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้รายงานต่อที่ประชุม ครม. ถึงผลสำรวจหนี้สินของเกษตร จากกรณีที่เกษตรหลายรายนำที่ดินไปจำนองแก่เจ้าหนี้นอกระบบแล้วไม่สามารถชำระหนี้เหล่านั้นได้ ต้องสูญเสียที่ดินที่เป็นปัจจัยการผลิตไปหลายราย โดยพบว่าเกษตรกรที่ประสบปัญหาดังกล่าวเป็นหนี้นอกระบบประมาณ 149,000 ราย คิดเป็นวงเงินประมาณ 21,000 ล้าน และเป็นเกษตรกรที่เป็นหนี้อยู่ในระบบสถาบันการเงินอีกจำนวน 140,000 ราย คิดเป็นวงเงินหนี้ประมาณ 360,000 ล้านบาท

“ทั้งหมดนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในกระบวนการแก้ไขหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงยุติธรรม มีศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่มีกองทุนต่างๆ อาทิ กองทุนพัฒนาฟื้นฟูเกษตรกร ด้านกระทรวงการคลังก็มีคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินภาคประชาชน นายกฯ จึงมอบหมายให้หน่วยงานตามที่กล่าวข้างต้นต้องเร่งรัดหารือประสานแนวทางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่กำลังประสบปัญหา”

โดยพบว่าหนี้นอกระบบมีเรื่องที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องคดีประมาณ 90,000 ราย วงเงินมูลหนี้ประมาณ 31,000 ล้านบาท ส่วนนี้นายกรัฐมนตรีเสนอเป็นแนวทางโดยให้กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบไม่ให้ที่ดินของประชาชนตกไปอยู่ในมือของนายทุนที่เป็นเจ้าหนี้ ขณะเดียวกันกองทุนทั้งหลายก็ต้องพิจารณาความเหมาะสมว่าจะช่วยเหลือในลักษณะอย่างไร จะดำเนินการในลักษณะของการซื้อหนี้ แล้วให้ประชาชนทำการผ่อนจ่ายกับภาครัฐได้หรือไม่ โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เป็นผู้รับผิดชอบในภาพรวม

ขู่ตัด “งบลงทุน” หน่วยงานราชการที่ดำเนินการล่าช้า

ด้าน นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยภายหลังประชุม ครม. ว่า นายกฯ ได้สั่งการให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2558 โดยกำหนดให้รัฐมนตรีเร่งรัดให้หน่วยงานในสังกัดลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างในงบลงทุนภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 รวมทั้งงบกลางด้วย

“คราวนี้นายกรัฐมนตรีเอาจริง หากทำสัญญาไม่ได้ตามกำหนดให้ระงับโครงการและยึดคืนงบประมาณมาเลย เพื่อนำงบประมาณไปช่วยเหลือเกษตรกร ภัยแล้ง และแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน แต่หากโครงการใดมีความจำเป็นอย่างแท้จริงให้ทำเรื่องเสนอของบประมาณมาใหม่”

สำหรับการเบิกจ่ายงบลงทุนล่าสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ผู้อำนวยการสำนักงบฯ ระบุว่า มีงบลงทุนที่ทำการเบิกจ่ายแล้ว 48% และทำสัญญาไปแล้วอยู่ระหว่างรอเบิกจ่าย 15% รวมงบลงทุนที่ดำเนินการไปแล้ว 63% มีโครงการที่รอลงนามในสัญญาประมาณ 50,000 ล้านบาท ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 1.2% โดยยังมีงบประมาณที่รอเบิกจ่าย 45% ซึ่งเหลือเวลาอีก 3 เดือนที่ต้องเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จ จึงต้องเร่งหามาตรการมาเร่งการเบิกจ่าย

รายงานข่าว เปิดเผยว่า จะมีรายการที่ดำเนินการผูกพันงบประมาณไม่ทันในเดือนกรกฎาคม 2558 จำนวน 120 รายการ วงเงิน 1,864.01 ล้านบาท โดยคณะติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ให้ความเห็นสำหรับรายจ่ายลงทุนที่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ที่ดำเนินการไม่ทันกำหนดให้ส่วนราชการส่งคืนงบประมาณ แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้งบดังกล่าวดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลให้โอนย้ายไปในส่วนงานในสังกัดที่ต้องการใช้

ตำหนิ “หม่อมอุ๋ย” กระตุ้น ศก.ล่าช้า

รายงานข่าวยังเปิดเผยว่า ในการประชุม ครม. หลังจากมีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจจากหน่วยงานต่างๆ และรายงานงบกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 ระบุว่าตอนนี้เบิกจ่ายไม่ได้ถึง 50% ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ตั้งคำถามว่า อย่างนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 เดือนแรกได้อย่างไร หากเบิกจ่ายได้เท่านี้ อย่างนี้เป็นการกระตุ้น 3 เดือนหลังแล้ว และในการรายงานตัวเลขติดลบต่างๆ ควรที่จะชี้แจงให้ทราบด้วยว่ามีการดำเนินการถึงขั้นตอนใด ติดขัดในเรื่องใดประชาชนจะได้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดย ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ไม่ได้ตอบรับอะไร เพียงระบุว่าจะทำการชี้แจงต่อสื่อมวลชนด้วยตนเอง

รู้จัก “วิรไท สันติประภพ” ว่าที่ผู้ว่าฯ ธปท. หนุ่ม

ดร.วิรไท สันติประภพ
ดร.วิรไท สันติประภพ

นายวิรไท เป็นนักเศรษฐศาสตร์ด้านการเงิน การธนาคาร ที่มีประสบการณ์ทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติ ผ่านการทำงานทั้งในภาครัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินเอกชน

เริ่มทำงานในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ กรุงวอชิงตัน ดีซี

เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2540 นายวิรไทได้กลับมาเป็นผู้อำนวยการร่วมสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มีบทบาทสำคัญในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงิน ในปัจจุบัน นายวิรไทเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน และที่ปรึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ในด้านการธนาคารและตลาดทุน นายวิรไทได้ร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี พ.ศ. 2543–2551 โดยดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์ลูกค้าธุรกิจ และได้ร่วมงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2552–2556 โดยดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้จัดการสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร

ในด้านกิจกรรมเพื่อสังคม นายวิรไทเป็นกรรมการของมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล กรรมการและเหรัญญิกของมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ และกรรมการบริหารของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

นายวิรไทได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการกำกับดูแลกิจการ (Oversight Committee) ขององค์การอนามัยโลก ณ กรุงเจนีวา ระหว่างปี พ.ศ. 2553–2556 และกรรมการบริหารของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

นายวิรไทสำเร็จการศึกษาเศรษฐศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับพระราชทานรางวัลทุนภูมิพล และได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ไปศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Harvard ในปี พ.ศ. 2551 โดยในปี พ.ศ. 2557 ได้รับเลือกเป็น Eisenhower Fellow