ThaiPublica > คอลัมน์ > Finding Vivian Maier: คลี่ปริศนาภาพถ่ายวิเวียน ไมเออร์

Finding Vivian Maier: คลี่ปริศนาภาพถ่ายวิเวียน ไมเออร์

31 ตุลาคม 2014


1721955

Finding Vivian Maier B

ปี 2007 ชายหนุ่มชื่อ จอห์น มาลูฟ ประมูลกล่องฟิล์มเนกาทีฟมาหนึ่งกล่อง หวังจะเจอภาพเก่าๆ ที่เอามาใช้ประกอบหนังสือประวัติศาสตร์ที่เขากำลังเขียนอยู่ได้ มาลูฟไม่เจอภาพที่ต้องการ แต่สิ่งที่เขาเจอคือรูปภาพจำนวนมหาศาลจากช่วงยุคทศวรรษ 50 ที่ผู้หญิงคนหนึ่งถ่ายทิ้งเอาไว้ ผู้หญิงที่ทุกวันนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ช่างภาพสตรีทผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ได้รับการค้นพบในศตวรรษที่ 21”

แค่เรื่องย่อก็น่าสนุกแล้ว…จากไม่กี่บรรทัดของเศษเสี้ยวที่เล่าเกี่ยวกับสารคดีเรื่องแรกที่ทาง Documentary Club กำลังจะจัดฉายในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ “Finding Vivian Maier: คลี่ปริศนาภาพถ่ายวิเวียน ไมเออร์” อันเป็นครั้งแรกในโรงเมืองไทย!

Finding Vivian Maier

สารคดีเล็กๆ ที่เคยเปิดตัวในเทศกาลหนังยิ่งใหญ่ระดับโตรอนโตและเบอร์ลินมาแล้ว ก่อนจะคว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากอีกหลายเทศกาล อาทิ เทศกาลหนังพอร์ตแลนด์, เทศกาลหนังแทรเวิร์ส เทศกาลหนังไมอามี และรางวัลผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังปาล์มสปริง

สารคดีเรื่องแรกที่ทำให้โลกรู้จักฝีมือชั้นเซียนในทางถ่ายภาพแนวสตรีทยุคทศวรรษ 50-60 นับแสนๆ รูป ของ ไมเออร์ ผู้หญิงบ้านๆ ที่ตลอดชีวิตเธอยึดอาชีพเป็นพี่เลี้ยงเด็กมาเกือบ 40 ปี โดยเธอไม่ยอมให้ใครได้เห็นฝีมืออันเก่งกาจ และซุกซ่อนตัวตนด้านนี้เอาไว้ในกล่องใบนั้นที่มาลูฟประมูลมาได้

และอีกเช่นกันสำหรับครั้งแรก เพราะนี่คือสารคดีเรื่องแรกที่มาลูฟและ ชาร์ลี ซิสเกล โดดขึ้นมาเป็นผู้กำกับจากที่ไม่เคยทำหนังกันมาก่อน แม้ว่าซิสเกลจะเคยบ่มเพาะประสบการณ์มาบ้างจากการเป็นโปรดิวเซอร์ภาคสนามให้กับสารคดีเกี่ยวกับการสังหารหมู่ในโรงเรียนฝีมือกำกับของ ไมเคิล มัวร์ เรื่อง Bowling for Columbine (2002)

Finding Vivian Maier

“ความประทับใจแรกที่เห็นภาพของเธอเป็นความตื่นเต้นยินดี เธอมีดวงตาที่หยั่งถึงความจริงแท้ เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงธรรมชาติของมนุษย์ ภาพถ่ายชีวิตบนท้องถนนของวิเวียนมีความเข้าใจมนุษย์ อบอุ่น และขี้เล่น ผมคิดว่า นี่ล่ะตากล้องตัวจริง” – โจเอล เมเยอโรวิตส์

นี่คือคำยืนยันเกี่ยวกับฝีมือของไมเออร์จากช่างภาพแนวสตรีทมืออาชีพ เมเยอโรวิตส์ ผู้เป็นครูสอนช่างภาพมานับไม่ถ้วนตั้งแต่ยุคทศวรรษ 70 ในนิวยอร์ก เมืองแห่งการเป็นผู้นำด้านศิลปะสมัยใหม่ ที่บรรดานักถ่ายภาพแนวสตรีทรู้จักกันในฐานะ “เมืองแห่งต้นกำเนิดสตรีทโฟโตแบบกลุ่มสกุลช่างนิวยอร์ก”

Finding Vivian Maier

[กลุ่มสกุลช่างนิวยอร์ก หรือ New York School เป็นกลุ่มที่ไม่เคยจัดตั้งอย่างเป็นทางการ แต่สังคมใช้เรียกขานช่างภาพในนิวยอร์คยุคปลายทศวรรษ 30-60 ที่นิยมบันทึกภาพตามสภาพความเป็นจริง โดยไม่ก้าวก่ายหรือจัดฉากเหตุการณ์ภายในภาพ ความโดดเด่นของช่างภาพกลุ่มนี้คือการให้ความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์มากเสียจนมุมมองไม่ได้ยืนอยู่บนความเป็นกลาง พวกเขาสนใจความแปลกแยกอันสับสนวุ่นวายภายในสังคมเมือง จึงมักแสดงความบังเอิญแบบเฉียบพลัน, ดิบ, หยาบ, ลึกลับ หรือพร่าเลือน อันขัดแย้งกับแนวคิดแบบช่างภาพดาษๆ ทั่วไปที่ยึดถือแต่ความคมชัดสวยงามเป็นสำคัญ เพราะสกุลช่างนิวยอร์กยึดหลักว่าพวกตนเป็นศิลปินภาพถ่าย ไม่ใช่แค่คนเดินถนนทั่วไป พวกเขานิยมปรัชญาแบบ Existentialism อย่างนักเขียนยุคเดียวกัน เช่น อัลแบร์ กามูร์, ชอง ปอล ซาร์ต]

ไม่เพียงเท่านั้น บทวิจารณ์ยังยืนยันถึงผลงานของไมเออร์ว่า “เธอมีดวงตาพิเศษ ที่ไม่ใช่แค่โดดเด่นด้วยการจัดองค์ประกอบเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยอารมณ์ขันเสียดสี ผลงานของเธออาจทำให้นึกไปถึงช่างภาพอเมริกันดังๆ ซึ่งล้วนอยู่ในกลุ่มสกุลช่างนิวยอร์กอย่าง Weegee, Robert Frank, Diane Arbus, Gary Winogrand, Saul Leiter และ Lisette Model

วิเวียน ไมเออร์ มักจะสวมหมวกปีกกว้าง เสื้อโค้ททะมัดทะแมงแบบผู้ชาย สะพายกล้อง Rolleiflex (กล้องทรงสี่เหลี่ยมแนวตั้งกะทัดรัดเลนส์คู่ นิยมกันในยุคทศวรรษ 30 ที่ให้ภาพขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัส ใช้ฟิล์มขนาด 120 ซึ่งใหญ่กว่าขนาด 35 มม. ที่ใช้กันในปัจจุบันหลายเท่า จึงเก็บรายละเอียดภาพได้ดีเยี่ยม และเป็นกล้องที่แม้แต่ช่างภาพหนังสือพิมพ์ก็ยังใช้กัน)

Finding Vivian Maier

มาลูฟเล่าว่า “ผมประมูลกล่องเก็บฟิล์มของไมเออร์มาด้วยราคา 380 เหรียญ แต่ด้วยขนาดฟิล์มที่ไม่มีแล็บไหนล้างได้แล้ว ก็เลยปล่อยมันทิ้งไว้อย่างนั้น จนได้ไปร่ำเรียนคอร์สสั้นๆ เกี่ยวกับการล้างอัดรูปแล้วก็เลยทำห้องมืดในบ้านของผมเอง แล้วทันทีที่ภาพถ่ายของเธอปรากฏขึ้น มันก็ทำให้ผมทึ่งในฝีมือ ผมเลยอัปโหลดขึ้นเว็บแล้วต่อมาก็กลายเป็นไวรัล แชร์ต่อๆ กันไป ยิ่งตอนหลังพอผมรู้ชื่อเจ้าของฟิล์มจากคนจัดประมูล ก็ลองเสิร์ชดูตามอินเทอร์เน็ตแต่กลับไม่มีข้อมูลอะไรเลย ทำให้ผมรู้สึกว่านี่น่าจะเวิร์กกว่าหนังสือที่ผมกำลังเขียนอยู่เสียอีก แต่จากนั้นไม่นานผมก็ไปเจอข่าวร้ายของเธอทางอินเทอร์เน็ตในปี2009 ทำให้ผมได้ที่อยู่ของครอบครัวที่เธอเคยทำงานด้วย”

ด้วยความที่ไมเออร์ไม่มีทายาท และในฐานะที่มาลูฟประมูลฟิล์มเหล่านั้นมาได้ ลิขสิทธิ์ภาพนับแสนรูปจึงตกเป็นของมาลูฟโดยชอบธรรม มาลูฟตีพิมพ์หนังสือรวมภาพถ่ายและเอกสาร (monograph) เกี่ยวกับไมเออร์ออกมาสองเล่ม คือ “Vivian Maier: Self Portraits” กับ “Vivian Maier: Street Photographer” รวมถึงจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Howard Greenberg ที่เชี่ยวชาญทางการแสดงงานสกุลช่างนิวยอร์ก ในปลายปี2011

Finding Vivian Maier

แต่ก่อนหน้านั้น ในปี 2010 มาลูฟเคยเปิดเผยเรื่องราวของไมเออร์ในรายการทอล์คโชว์ทางทีวีท้องถิ่นของชิคาโก ซึ่งก็บังเอิญว่า เจฟฟ์ การ์ลิน โปรดิวเซอร์ของอีกรายการกำลังดูอยู่พอดี การ์ลินผู้นี้คือเพื่อนซี้ของ ไมเคิล มัวร์ ทำให้ในที่สุดก็ได้ซิสเกลมากำกับร่วม ด้วยเหตุผลว่าซิสเกลเป็นคนชิคาโกโดยกำเนิด แถมเติบโตมาในย่านไฮแลนด์ปาร์ค ที่ซึ่งวิเวียนเคยทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กในละแวกนั้นพอดี

ความตื่นตาตื่นใจของสารคดี Finding Vivian Maier ไม่ได้มาจากภาพถ่ายอันเฉียบคมที่ถูกค้นพบโดยบังเอิญเท่านั้น แต่มันยังมาจากชีวิตส่วนตัวของไมเออร์เองอีกด้วย

ซิสเกลเล่าว่า “บรรดาเจ้านายที่จ้างเธอล้วนเป็นพวกฐานะดี ส่วนตัวไมเออร์จะว่าไปก็เหมือนสาวใช้ในบ้าน เธอจึงมีระยะห่างกับผู้คนรอบข้าง อันทำให้คนอื่นคิดว่าเธอเป็นพวกมีโลกส่วนตัวสูง หรือปกป้องตนเองจากอดีตอันคลุมเครือที่เธอไม่เคยเล่าให้ใครฟังเลย แต่ที่น่าสนใจจากที่เราสัมภาษณ์มาก็คือ วิเวียนไม่ใช่พวกปลีกตัวออกจากสังคม ไม่ใช่คนขี้อายเก็บเนื้อเก็บตัวเลยด้วยซ้ำ แถมยังไม่ใช่พวกแปลกแยก อันที่จริงเธอออกจะติดตลก มีไหวพริบ มีมุมมองความคิดแปลกใหม่ เป็นพวกช่างจ้อ มีไอเดียบรรเจิดมาฝอยให้ฟังเสมอ แถมยังเป็นนักอ่านหนังสือและดูหนังอาร์ตตัวยงด้วย และเธอไม่ใช่พวกเปลืองเวลาไปกับการเที่ยวเตร่เสเพล แต่อดออมเงินมาทำในสิ่งที่ตัวเองรัก”

Finding Vivian Maier

ไมเออร์คือศิลปินตกสำรวจผู้มีชีวิตลึกลับ เหมือนมีตัวตนอยู่ระหว่างโลกของการเป็นศิลปินภาพถ่ายชั้นเยี่ยมกับโลกของพี่เลี้ยงเด็กบ้านๆ ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตัวตนของเธอเพิ่งจะถูกเปิดเผยหลังจากเวลาผ่านไปกว่า 60 ปี แต่ก็ใช่จะมีแต่เรื่องดีงามเท่านั้นที่ถูกขุดกลับมาให้โลกยกย่อง

มาลูฟเล่าว่า “ตอนที่ผมได้ดูฟุตเทจภาพเคลื่อนไหวของอิงมาร์ เด็กคนหนึ่งที่ไมเออร์เคยเลี้ยงมา ซึ่งเป็นคนแรกที่บอกเราเกี่ยวกับความพิลึกของไมเออร์ จนไปเจอผู้ให้สัมภาษณ์รายอื่นๆ ที่ให้ข้อมูลตรงกัน เราก็เริ่มมาคิดว่า เราต้องเคารพต่อตัวตนของวิเวียนและทำความเข้าใจเธอด้วย แม้ว่ามันจะเป็นด้านมืดของเธอก็ตาม”

อะไรคือด้านมืดของวิเวียน มาลูฟจะเก็บกู้ข้อมูลแบบไหนออกมาให้คนดูเห็น แล้วความลับสำคัญว่าทำไมไมเออร์จึงซุกซ่อนพรสวรรค์ของเธอเอาไว้ในกล่องอย่างเงียบงัน

ซิสเกลทิ้งท้ายว่า “วิเวียนถ่ายภาพออกมาอย่างพิถีพิถัน และเก็บรักษาไว้อย่างทะนุถนอม นั่นแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงของวิเวียนที่ปรารถนาจะให้มีใครสักคนเห็นคุณค่าของผลงานของเธอ และคนนั้นต้องมีศักยภาพมากพอที่จะเล่าเรื่องราวของเธอออกมาให้โลกประจักษ์ได้ด้วย”

Finding Vivian Maier

Finding Vivian Maier: คลี่ปริศนาภาพถ่ายวิเวียน ไมเออร์ ซึ่งกำลังจะเข้าฉายปลายพฤศจิกายนนี้ ติดตามข่าวสารได้ที่ http://www.facebook.com/DocumentaryClubTH
และสำหรับผู้สนใจร่วมประกวดภาพถ่ายสตรีท เพื่อชิงตั๋วหนัง หรือหนังสือรวมภาพถ่ายของวิเวียน ไมเออร์ สามารถดูรายละเอียดที่ http://www.streetphotothailand.com/news/125
หรือหากสนใจจะร่วมระดมทุนกับ Documentary Club โครงการเฟ้นหาหนังสารคคีดีๆ มาเข้าโรงบ้านเรา ก็สามารถดูรายละเอียดได้ที่ http://taejai.com/projects/9315

Finding Vivian Maier

ป้ายคำ :