ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ป.ป.ช. เร่งสาง 13 คดี พัวพัน 6 อดีตนายกรัฐมนตรี และบุคคลสำคัญทางการเมือง คดีม็อบแดง-เหลือง ทุจริตข้าว-โรงพักตำรวจ “พระสุเทพ-พรทิวา-บุญทรง” ติดร่างแห

ป.ป.ช. เร่งสาง 13 คดี พัวพัน 6 อดีตนายกรัฐมนตรี และบุคคลสำคัญทางการเมือง คดีม็อบแดง-เหลือง ทุจริตข้าว-โรงพักตำรวจ “พระสุเทพ-พรทิวา-บุญทรง” ติดร่างแห

27 สิงหาคม 2014


เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน พร้อมเอกสารประกอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีพ้นจากตำแหน่งครบ 1 ปี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2557 จำนวน 13 ราย 14 ตำแหน่ง ณ ห้องแสดงบัญชีฯ ป.ป.ช. สนามบินน้ำ ซึ่งมีทั้งกลุ่มนักการเมืองที่ทรัพย์สินเพิ่มขึ้น และลดลง

นอกเหนือจากการตรวจบัญชีทรัพย์สิน ป.ป.ช.ยังมีภารกิจในการติดตามคดีต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับคดีการเมือง-คดีอาญา คดีที่เกี่ยวพันกับอดีตนายกรัฐมนตรี และบุคคลการเมืองในตำแหน่งที่สำคัญ อีกหลายคดี ในวาระนี้ สำนักข่าวไทยพับลิก้า ติดตาม 13 คดีสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับ 6 อดีตนายกรัฐมนตรี

1) คดีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการทุจริตในการระบายข้าวของรัฐบาล และมีการยื่นคำร้องขอให้ถอดถอนนางพรทิวา นาคาศัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการทุจริตในการระบายข้าวเช่นเดียวกัน

จากที่นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. เคยกล่าวไว้เมื่อวันแถลงผลงานฯ ว่า จะทำการสรุปเรื่องเสนอไปยังคณะกรรมการไต่สวนภายใน 1 เดือน เมื่อตรวจสอบดูพบว่า คดียังคงอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง และพิจารณาหลักฐานที่รวบรวมได้ มีการสรุปข้อเท็จจริงเสนอคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ไป 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2555 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน และสอบปากคำพยานบุคคล

ส่วนคดีของนางพรทิวาที่แยกต่างหากอีก 1 คดีนั้น ทาง ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือแจ้งให้ผู้กล่าวหารับทราบการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะไต่สวน ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2557 และแจ้งครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ล่าสุด คดียังอยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐาน

คดีนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

2) คดีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีทุจริตต่อหน้าที่ในโครงการประกันรายได้เมื่อครั้งนายอภิสิทธิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)

ในคดีนี้ นายวิชา กล่าวว่า ป.ช.ช. เริ่มกระบวนการไต่สวนโดยเร่งด่วน ใช้การเทียบเคียงกับคดีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2557 นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผ่านนายวิทยา อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ช. เพื่อขอทราบผลการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงใน 7 คดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

นายวิชา ได้ออกมาชี้แจงถึงการดำเนินงานในคดีนี้ว่ามีการไต่สวนอยู่ตลอด โดยได้เชิญผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) มาให้ข้อเท็จจริง และเอกสารส่วนใหญ่ได้รับหมดแล้ว โดยเตรียมเชิญนายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีนี้มาให้ถ้อยคำ คาดว่าจะสามารถสรุปสำนวนได้เร็วๆ นี้

3) คดีถอดถอนและตรวจสอบการกระทำอันมิชอบของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง จากกรณีกู้เงินสำหรับแผนบริหารจัดการน้ำตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท

คดีนี้ นายวิชา ได้กล่าวไว้ว่า คดีนี้กำลังอยู่ระหว่างการไต่สวน และตรวจสอบพยานหลักฐาน โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2557 นั้น คดีมีการไต่สวนข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน จนถึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในการไต่สวนแล้ว ตรวจสอบล่าสุดพบว่า ได้มีการแจ้งมติของคณะกรรมการให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้วเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557

4) คดีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และข้าราชการประจำผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กรณีทุจริตโครงการสร้างสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง

วันที่ 15 พฤษภาคม 2557 นายวิชากล่าวว่า ได้ดำเนินการสอบสวนพยานไปแล้ว 27 ราย และทางอนุกรรมการฝ่ายเลขาธิการ ป.ป.ช. ก็ได้มีการลงไปตรวจสอบโรงพักในพื้นที่ต่างๆ โดยสุ่ม และคาดว่าใช้เวลาอีกไม่นานจะแจ้งข้อกล่าวหาได้นั้น

จากการตรวจสอบข้อมูลล่าสุด ยังไม่มีการระบุข้อมูลการดำเนินการใดๆ ในฐานข้อมูล ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าคดีอยู่ระหว่างขั้นตอนใด และกระทำการใดไปแล้วบ้าง

5) คดีกล่าวหานายสุเทพ เทือกสุบรรณ กรณีทุจริตในโครงการก่อสร้างแฟลตที่พักข้าราชการตำรวจ จำนวน 163 แห่งทั่วประเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

เมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา นายวิชากล่าวถึงการดำเนินงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในคดีนี้ว่า “เราไต่สวนทุกวัน ไต่สวนตลอด ขณะนี้สอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องแฟลตไปแล้ว 19 ราย และยังต้องสอบเพิ่มเติมอีก” แต่จากการตรวจสอบข้อมูลล่าสุด พบว่าเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2556 ได้มีการประชุมคณะกรรมการไต่สวนครั้งแรก

6) คดีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ในประเด็นเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

คดีนี้ นายวิชาแถลงต่อสาธารณะว่า “ขณะนี้เหลือสอบสวนอดีต ส.ส. ที่มาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คาดว่าจะเสร็จสิ้นและส่งเรื่องให้วุฒิสภาดำเนินการถอดถอนได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ คงไม่ช้าแล้ว เพราะว่าเรานำพยานเข้ามาที่เขาอ้างอิงมา สอบกันทุกวัน ก็ไม่ได้หยุดเลย ฉะนั้นก็คิดว่าคงจะทยอยได้ตั้งแต่สิ้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป”

ตามรายงานข่าวจากสื่อต่างๆ รายงานว่า เรื่องถอดถอนที่ ป.ป.ช. ส่งไปแล้วคือกรณีถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และ 36 ส.ว. และรอฟัง สนช. พิจารณาในกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.

โดยนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า สำหรับคดีเรื่องถอดถอนยังคงชะลออยู่ จะดำเนินการได้ต่อไปเมื่อมีความชัดเจนจาก สนช. ว่ามีความเห็นต่อเรื่องการถอดถอนนี้อย่างไร แล้วทางสำนักเลขาธิการ ป.ป.ช. จะได้นำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้พิจารณาอีกครั้งว่าจะสามารถพิจารณาต่อไปได้หรือไม่อย่างไร แต่ไม่เกี่ยวกับคดีอาญาที่ดำเนินการไต่สวนอยู่ตลอดเวลา เช่น กรณีที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่อง 308 ส.ส. และ ส.ว. คือประเด็นการเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งเป็นคดีอาญา ยังดำเนินการไต่สวนต่อไป โดยอยู่ในขั้นสอบพยานยังไม่แล้วเสร็จ

7) คดีกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวก เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าว

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 นายวิทยา อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ได้เปิดเผยความคืบหน้าในคดีนี้จากที่สำนักงาน ป.ป.ช. ส่งเจ้าหน้าที่ร่วมสังเกตการณ์ในการออกตรวจโกดังข้าวร่วมกับคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณข้าวคงเหลือ ได้มีผู้สื่อข่าวสอบถามข้อมูลถึงคดีของนายบุญทรงกับพวก

นายวิชา กล่าวว่า ขณะนี้ทาง ป.ป.ช. กำลังทำงานอยู่ตลอดโดยไม่ได้รอข้อมูลจากการตรวจโกดังแต่อย่างใด ข้อมูลเรื่องปริมาณข้าวที่หายนั้นเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่นำมาประกอบการพิจาณาคดีได้ แต่ไม่ใช่ประเด็นหลัก เนื่องจากมีการแยกประเด็นข้าวหายเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อ.ต.ก., อคส., เซอร์เวเยอร์ หรือเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควบคุมกำกับและตรวจสอบข้าวต่างๆ ในจุดที่หายไป

ในเบื้องต้น คดีของนายบุญทรงกับพวก ทาง ป.ป.ช. สามารถแจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องและผู้สนับสนุนไปหลายราย คาดว่าประมาณเดือนตุลาคม 2557 น่าจะสรุปเรื่องได้ และเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหามีจำนวนมากประมาณ 100 คน อาจจะต้องใช้ระยะเวลานานขึ้น ทั้งนี้ทาง ป.ป.ช. พยายามเร่งรัดอยู่ โดยขั้นตอนอยู่ในชั้นที่ผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหามาตรวจเอกสารและครบกำหนดชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา หลังจากที่ตรวจเอกสารแล้วก็ทำบันทึกชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว อีกไม่นานก็สามารถสรุปข้อเท็จจริงต่างๆ ได้ และสามารถนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการได้ ซึ่งจากข้อมูลทั้งหมดที่รวมรวบได้ทั้งพยานหลักฐาน และพยานบุคคล มีอยู่เพียงพอที่จะสามารถพิจารณาชี้มูลได้

คดีนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์

8) คดีอาญากล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการรับจำนำข้าว

การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในคดีนี้ถือว่ามีความคืบหน้ามากที่สุดเมื่อเทียบกับคดีอื่นๆ อีก 15 คดี ซึ่งเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ให้อดีตนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์มีความผิดตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนนำไปสู่การทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2557 นายวิทยา อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเดินการว่า ได้ส่งสำนวนชี้มูลความผิดคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาต่อ หลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงนามรับรองสำนวนครบหมดทุกคนแล้ว

โดยสำนวนที่ ป.ป.ช. นำส่งให้ อสส. มีประมาณ 10 แฟ้ม เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับสำนวนคดี และพยานเอกสารหลักฐานต่างๆ กว่า 1,000 แผ่น ซึ่งทาง อสส. จะมีเวลาพิจารณาภายใน 30 วัน ว่าจะสั่งฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยกับ ป.ป.ช. ก็จะตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการกับ ป.ป.ช. มาพิจารณาทบทวนสำนวนอีกครั้ง

9) คดีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 นายวิชาบอกสาเหตุที่ล่าช้าว่า “เรายังไม่ได้ชี้มูลเนื่องจากต้องรอคดีที่มีการชันสูตรพลิกศพ บัดนี้เราได้มาในบางคดีแล้ว ก็ต้องเร่งให้สุดสำนวน และเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในเดือนมิถุนายน”

จากการตรวจสอบฐานข้อมูลของทาง ป.ป.ช. ได้มีการแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะในการไต่สวนคดีนี้ แต่ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เรื่องนี้ยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการไต่สวน โดยนายอภิสิทธิ์มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมอยู่อีกหลายคดี ซึ่งคดีทั้งหมดอยู่ระหว่างการไต่สวนทั้งสิ้น ซึ่งคดีนี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับเป็นคดีพิเศษ และได้ร่วมกับอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่า และพยายามฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผล จากกรณีที่มีคำสั่ง ศอฉ. ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุม นปช. จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเมื่อปี 2553

ตามรายงานเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2557 ศาลอาญาได้นัดตรวจพยานหลักฐาน เบื้องต้นทางฝั่งจำเลยได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อกล่าวหาที่อัยการโจทก์ฟ้องมาเกิดจากการออกคำสั่งของจำเลย ซึ่งหากการออกคำสั่งต่างๆ ของจำเลยที่โจทก์ฟ้องนั้นไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติการควบคุมฝูงชนหรือไม่สมควรแก่เหตุ ก็อาจเข้าข่ายเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ กฎหมาย และเป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

และจากการออกคำสั่งนั้น ส่งผลให้มีผู้ถึงแก่ความตาย คดีนี้จึงถือเป็นคดีเกี่ยวเนื่องกับ “การใช้อำนาจโดยมิชอบ” โดยในประเด็นนี้มีการระบุว่า ป.ป.ช. ได้รับเรื่องไว้ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว ศาลจึงเห็นสมควรที่จะให้มีหนังสือสอบถาม ป.ป.ช. ในเรื่องนี้เพื่อให้ได้ความชัดเจนก่อน จึงนัดพิจารณาอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 ศาลได้นัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานอีกครั้ง ขณะเดียวกัน นายอภิสิทธิ์และพระสุเทพ หรือนายสุเทพ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีอำนาจสอบสวนคดีนี้หรือไม่ เนื่องจากเป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ซี่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไข ศาลจึงให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไป โดยนัดอีกครั้งในวันที่ 28 สิงหาคม 2557

เบื้องต้นจะเห็นได้ว่า ศาลอาญาทำหนังสือสอบถามไปยัง ป.ป.ช. ทำให้ความคืบหน้าในคดีนี้อาจติดตามเพิ่มเติมได้จากการสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานของศาลอาญาอีกครั้งในวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ซึ่งหากศาลอาญามีการตัดสินไปในทางใด อาจเห็นแนวทางการชี้มูลของ ป.ป.ช. อยู่ในนั้นเช่นกัน

10) คดีกล่าวหานายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพวก กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีสั่งการให้มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี 2551

นายวิชาเปิดเผยความคืบหน้าคดีนี้ในวันแถลงผลงานว่า “หลังจากสรุปสำนวนส่งให้อัยการ ปรากฏว่าอัยการไม่ฟ้องให้เพราะพยานหลักฐานไม่สมบูรณ์ และเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอให้ฟ้อง เราเห็นควรว่าให้ฟ้องเอง ดังนั้น ทางทนายความได้ส่งสำนวนการฟ้องและคำฟ้องมาให้นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. เป็นคนตรวจสอบแล้ว”

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557 นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรม ป.ป.ช. ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าในคดีนี้ว่าหลังจากทาง อสส. มีความเห็นไม่สั่งฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากพยานและหลักฐานไม่เพียงพอนั้น ขณะนี้เรื่องดังกล่าวกลับมาสู่การพิจารณาของ ป.ป.ช. ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าส่งฟ้องเอง แต่ยังไม่สามารถระบุกรอบเวลาที่แน่ชัดได้ว่าจะส่งฟ้องเมื่อใด

คดีอดีตนายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์

คดีดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางอาญาและวินัยร้ายแรงกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และพวก ได้แก่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่ง “ยกโทษ” ปลดออกจากราชการของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เนื่องจากศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกโทษปลดไปแล้ว เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557

11) คดีกล่าวหานายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ สมัยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณีการซื้อขายที่ดินวัดธรรมามิการาม

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ที่ทาง ป.ป.ช. ได้แถลงผลงานนั้นคดีนี้เป็นอีกหนึ่งคดีที่ทาง ป.ป.ช. ดำเนินการฟ้องเอง ซึ่งขณะนั้นระบุว่าคดีอยู่ระหว่าดำเนินการ

ตรวจสอบฐานข้อมูลของ ป.ป.ช. เบื้องต้นระบุว่า ได้ดำเนินการส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2542 มาตรา 92 และมาตรา 97 แล้ว วิเคราะห์แล้วคาดว่าเป็นรายงานข้อมูลเก่า ยังไม่มีการรายงานความคืบหน้าล่าสุดแต่อย่างใด

12) คดีถอดถอนคณะรัฐมนตรีรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีมติให้สนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

ตามรายงานในฐานข้อมูลระบุว่า ทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีหนังสือ ด่วนที่สุดที่ อส 0022/1452 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 แจ้งข้อไม่สมบูรณ์และขอให้แต่งตั้งคณะทำงานผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช.2. และสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีหนังสือ ด่วนที่สุดที่ อส 0022.5/542 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2552 แจ้งเปลี่ยนคณะทำงานผู้แทนอัยการสูงสุดบางคน

การดำเนินปัจจุบัน คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้แต่งตั้งทนายความฟ้องคดีแทน มติครั้งที่ 323-70/54 ลงวันที่ 27 กันยายน 2554 ขณะนี้อยู่ระหว่างการลงนามบันทึกข้อตกลงกับสภาทนายความเพื่อฟ้องคดีต่อศาลต่อไป

คดีนายกทักษิณ ชินวัตร

คดีอดีตนายกสุรยุทธ์ จุลานนท์

ดูเพิ่มเติม : คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงผลงานรอบ 6 เดือน และ 15 คดีสำคัญที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จ