ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > 3 ม็อบราชดำเนิน รวมพลังรุก “รัฐล้มเหลวFailed State” “สุเทพ” ไปไกลกว่ายุบสภา-เลือกตั้ง ทิ้งการเมืองในระบบ-วางตัวช่วยองค์กรอิสระ

3 ม็อบราชดำเนิน รวมพลังรุก “รัฐล้มเหลวFailed State” “สุเทพ” ไปไกลกว่ายุบสภา-เลือกตั้ง ทิ้งการเมืองในระบบ-วางตัวช่วยองค์กรอิสระ

27 พฤศจิกายน 2013


ผู้ชุมนุมบนถนนราชดำเนิน ที่มาภาพ : ThaiPBS
ผู้ชุมนุมบนถนนราชดำเนินเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 ที่มาภาพ : ThaiPBS

ทั้งๆ ที่เครื่องมือทางกฎหมาย และเครื่องมือทางการเมือง ของฝ่ายประชาธิปัตย์ มีอยู่ครบเครื่อง

ทั้งเครื่องมือในฝ่ายนิติบัญญัติ ผ่านวาระ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ กางแผนทุจริต บกพร่อง ในการบริหารสารพัด

และยังมีเครื่องมือในฝ่ายองค์กรอิสระ ที่รอทอดสะพาน ให้ฝ่ายค้านยื่นดาบให้อีกหลายดอกหลายกรณี

เฉพาะเครื่องมือที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็มีดาบคมๆ รอเชือดฝ่ายรัฐบาลค้างวาระอยู่ถึง 3 เรื่อง ทั้งการถอดถอน 2 คนที่ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาและรองประธาน ทั้งถอดถอน ส.ส. และ ส.ว. 312 คน และการรอชี้มูลกรณีการทุจริตการรับจำนำข้าว

ที่เป็นไม้เด็ดที่สุดที่ฝ่ายค้านงำประกายเอาไว้ ก็มีการรถอดถอน “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โทษฐานที่เป็นผู้ร่วมลงมติในวาระ 3 การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 111 และมาตรา 112 ว่าด้วยที่มาของ ส.ว. ซึ่งเป็น การร่วมลงมติเพียงครั้งเดียวเท่านั้นของนายกรัฐมนตรี

จึงเป็นที่มาของการ “ถอดถอน” และดำเนินคดี “อาญา” ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวในที่ลับและที่แจ้งว่า “พรรคประชาธิปัตย์ก็จะดำเนินการทั้งทางการเมืองและในทางกฎหมาย เพราะจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีบุคคลที่กระทำความผิด คือ จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และบางส่วนกระทำความผิดทางอาญาด้วย ฉะนั้น พรรคจะร้องขอให้มีการถอดถอนบุคคลที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินคดีอาญากับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย

กลุ่มแรก บุคคลที่เสนอและใช้เอกสารปลอมให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา จะถูกดำเนินคดีอาญา ได้แก่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ในฐานะประธานรัฐสภา, นายนิคม ไวยรัชพานิช ในฐานะรองประธานรัฐสภา และนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งสมาชิกรัฐสภาผู้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมทั้งหมด 312 คน เพราะทราบอยู่แล้วว่าไม่ใช่ร่างที่ตัวเองเสนอต่อสภา แต่ไม่มีการยับยั้งเอกสารปลอมดังกล่าว รวมทั้งกรณีการเสียบบัตรแทนกันของนายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กลุ่มนี้จะมีการยื่นถอดถอนและดำเนินคดีอาญา

กลุ่มที่สอง การถอดถอนนายสมศักดิ์ ในฐานะประธานรัฐสภา รวมถึงบุคคลที่ลงมติในมาตรา 11 และ 11/1 ข้อความที่ให้สามารถประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ฉบับใหม่ได้เลยโดยไม่ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบก่อน รวมถึงให้ความเห็นชอบในวาระ 3 ทั้งหมด 343 เสียง ซึ่งมีนางสาวยิ่งลักษณ์รวมอยู่ด้วย โดยจะยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ในวาระต่อไป

ปัจจัยชี้ขาดจึงอยู่ที่ หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ว่าข้อกล่าวหาใดมีมูลแล้ว นับแต่วันลงมติดังกล่าว “ผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้” จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ และประธานกรรมการ ป.ป.ช. จะส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมความเห็นไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการต่อไป กับทั้งส่งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้ฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

ขณะที่ฝ่ายเพื่อไทยและรัฐบาลอยู่ในดินแดนของความเพลี่ยงพล้ำจนเกือบแพ้ กรณีถอย-ถอนกฎหมายนิรโทษกรรม และการตอบโต้การใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และเพิ่มข้อหามาตรา 112 ให้กับตุลาการเสียงข้างมาก 5 คน ทำให้เกิดกระแสตีกลับ เกิดเสียงมหาชนออกสู่ท้องถนน ตอบโต้ฝ่ายเพื่อไทยอย่างกว้างขวาง พร้อมเป็นพวกกับฝ่ายประชาธิปัตย์

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มาภาพ :http://images.voicetv.co.th
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มาภาพ :http://images.voicetv.co.th

แต่เครือข่ายของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคลื่อนไหวอยู่นอกสภาผู้แทนราษฎร ในนามของ “ม็อบสุเทพ” และคณะกรรมการแกนนำทั้ง 9 คน ที่ลาออกจาก ส.ส. กลับ “หักมุม” การเคลื่อนไหวที่กำลังแหลมคมที่สุด ด้วยการนำต้นทุนที่เป็นเสียงของมหาชนมหาศาล ไปใช้จ่ายในนามของการ “ยึด-ยื้อ” ก้าวข้ามการต่อสู้แบบ “อหิงสา” สุ่มเสี่ยงก้าวข้ามไปสู่เขตแดนของการบุกรุก-รุนแรง

เหตุการณ์และเหตุผลการ “บุก-ยึด” ของสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ระบุว่าไร้ทางเลือก และหยุดไม่ได้ แม้นายกรัฐมนตรีจะลาออกหรือยุบสภา จึงไร้น้ำหนักกับมวลชนที่ก้าวหน้า ทว่ามีพลังสำหรับมวลชนสายฮาร์ดคอร์ ที่ยังปักหลักร่วมสู้กลางถนน

เบื้องหลังของเบื้องหลัง การเดินอารยะ 13 จุดหมาย จึงไม่เพียงต้องการแสดงอีเวนต์ทางการเมือง แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็น “รัฐที่ล้มเหลว” หรือ Failed State เพื่อเป็นเหตุตั้งต้นให้เกิด “สภาประชาชน” ตามแนวทางการปฏิรูปการเมือง ที่เคยมีการหารือลับร่วมกับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับแกนนำเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กับกลุ่มกองทัพธรรม และองค์กรพัฒนาเอกชน 45 องค์กร

การจัดตั้งสภาดังกล่าว และมีรายชื่อกรรมการ 16 คน มีที่ปรึกษากลุ่ม อาทิ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร, นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, นายพิภพ ธงไชย, นายสังศิต พิริยะรังสรรค์, นายวิชัย โชควิวัฒน และนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ

ตามดัชนีที่บัญญัติโดยกองทุนเพื่อสันติภาพ สหรัฐอเมริกา และนิตยสาร Foreign Policy ได้ตีพิมพ์รายงานประจำปีที่เรียกว่า “Failed States Index” ซึ่งเป็นการจัดอันดับสถานะของแต่ละประเทศ โดยประเทศที่ได้ถูกนำเสนอในรายงาน จะต้องเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ

พลิกดูตัวชี้วัดทางการเมือง มี 6 ประเด็นที่เข้าข่าย “รัฐที่ล้มเหลว” เช่น

1.การปกครองของรัฐที่ไร้ความเป็นธรรม

2.ความเสื่อมถอยของการให้บริการสาธารณะ

3. การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่แพร่หลาย

4. การใช้เครื่องมือที่ใช้รักษาความมั่นคง ที่เรียกว่า ‘state within a state’: เป็นลักษณะการปรากฏตัวของกลุ่มอำนาจสูงสุดของรัฐ โดยอาศัยการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่คุกคามฝ่ายตรงข้าม หรือพลเรือนที่มีความเห็นไม่ตรงกับรัฐ หรือมีความเห็นที่สนับสนุนกลุ่มตรงข้ามรัฐ เปรียบกับการสร้าง “กลุ่มกองกำลังภายในกองกำลังเดียวกัน” เพื่อรับใช้แสวงหาผลประโยชน์ให้กับกองทัพหรือกลุ่มการเมือง ซึ่งในที่สุดจะก่อให้เกิดกลุ่มต่อต้านทั้งในรูปของทหารพลเรือน กองโจร กองกำลังเอกชนติดอาวุธ หรือการใช้ปฏิบัติการต่างๆ ที่ทำให้ความรุนแรงแผ่ขยายออกไป เพื่อต่อต้านกับกองกำลังของรัฐ

5.การก่อตัวของกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิด

6. การแทรกแซงกิจการภายในจากรัฐอื่น หรือปัจจัยภายนอก

ปรากฏการณ์เช่นนี้ เคยเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2549 ซึ่ง นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวไว้ในเวลานั้นว่า

“พรรคประชาธิปัตย์ไปเหนือไม่ได้ คุณทักษิณไปใต้ไม่ได้ นี่มันประเทศอะไรกัน อย่างนี้ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศด้อยพัฒนาแล้ว ผมไม่อยากใช้คำที่ยูเอ็นใช้เพราะมันแรงและใช้กับประเทศในแถบแอฟริกา คือประเทศที่กำลังล้มเหลว หรือ Failing State หรือประเทศที่ล้มเหลวไปแล้ว หรือ Failed State เป็นประเทศที่ยูเอ็นต้องเข้าไปฟื้นฟู”

ดังนั้น การจัดกิจกรรมการเมืองของ “ม็อบสุเทพ-ม็อบ คปท.-กองทัพธรรม” ถูกสนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการจาก “ม็อบพันธมิตร” ภายใต้การโบกธงของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ให้กระจายวันแรก 13 จุด และวันถัดมาอีก 4 กระทรวง

ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ มหาดไทย คมนาคม เกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อต้องการตอกย้ำ ว่ารัฐบาลล้มเหลว ในการบริหารราชการแผ่นดิน

การประกาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เรื่อง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณทล จึงไร้ความหมาย ไร้สภาพบังคับ

แม้ในกฎหมายมาตรา ๑๘ จะระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ภายในพื้นที่ตามมาตรา ๑๕ ให้ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

(๑) ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการหรืองดเว้นการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด
(๒) ห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนดในห้วงเวลาที่ปฏิบัติการ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น
(๓) ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด
(๔) ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน
(๕) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
(๖) ให้บุคคลปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดอันเกี่ยวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน

ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่งจะกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนเวลาหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ด้วยก็ได้ ทั้งนี้ การกำหนดดังกล่าวต้องไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

และมีบทลงโทษตาม มาตรา ๒๔ ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา ๑๘ (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เครื่องมือทางการเมือง และเครื่องมือทางกฎหมาย ในการจัดการกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วันนี้ จึงไปไกลกว่าการเรียกร้องให้ยุบสภาหรือลาออก

ไม่อาจรอใช้เครื่องมืออาญาสิทธิ์ จากองค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงาน ป.ป.ช. ที่รอชี้มูลหลายคดีสำคัญ

แต่ “เลยธง” ไปถึงการจัดการ “นอกระบบ”

เมื่อถึงเวลานั้น กลุ่มคนที่ไม่ยอมรับแนวทางนอกระบบ จะไม่มีเพียงคนเสื้อแดงและฝ่ายเพื่อไทย แต่จะมีแนวร่วมออกมาถล่มตีกลับฝ่ายต้านรัฐบาลในระบบ และจะมีจำนวนมหาศาลไม่แพ้ “ม็อบสุเทพ” ในวันประวัติศาสตร์ 24 พฤศจิกายน 2556