ThaiPublica > เกาะกระแส > มติป.ป.ช. ให้ข้อกล่าวหาตกไป ทั้ง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” กรณีสั่งซื้อเรือเหาะ และ ” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ” ทุจริตจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีอาญา

มติป.ป.ช. ให้ข้อกล่าวหาตกไป ทั้ง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” กรณีสั่งซื้อเรือเหาะ และ ” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ” ทุจริตจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีอาญา

24 ธันวาคม 2015


วันที่ 24 ธันวาคม 2558 นายสรรเสริญ พลจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้แถลงมติคณะกรรมการป.ป.ช.ว่า

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

1. คำร้องขอให้ถอดถอน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้กองทัพบกสั่งซื้อเรือเหาะในราคาสูงกว่าความเป็นจริง โดยเรื่องนี้จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่ากระบวนการจัดหายุทโธปกรณ์ดังกล่าว ได้มีการดำเนินการขออนุมัติแผนจัดหายุทโธปกรณ์สำหรับภารกิจหาข่าว เฝ้าตรวจพื้นที่และเส้นทางในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งการจัดซื้อนั้นได้ทำการจัดซื้อทั้งตัวเรือเหาะและอุปกรณ์ตรวจการ ได้แก่

1. เรือเหาะ Aeros 4oD จำนวน 1 ลำ
2. กล้องตรวจการณ์เวลากลางวัน / กลางคืน Axsys V14 MS II จำนวน 2 กล้อง
3. รถหุ้มเกราะกันกระสุน Grizzy เพื่อใช้เป็นรถ Command Control
4. ชิ้นส่วนซ่อมควบคู่ การบำรุงรักษา การฝึกอบรม การรับประกันชิ้นส่วนที่สำคัญ ระบบการติดต่อสื่อสารตามมาตรฐานของผู้ผลิต และระบบรับ – ส่ง และถ่ายทอดสัญญาณ (Uplink/Downlink)

ดังนั้น จึงทำให้มีมูลค่าสูงกว่าการจัดซื้อเพียงเรือเหาะอย่างเดียว และเรือเหาะที่ทำการจัดซื้อนั้นเป็นกรณีจำเป็นและเร่งด่วน จึงได้ดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ และเป็นเรือเหาะที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบออกใบอนุญาตรับรองและกำกับดูแลความปลอดภัยของอากาศยานทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลังจากทำการจัดซื้อแล้วได้มีการใช้งานมาระยะหนึ่ง แต่เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและอากาศมีฝนตกชุก จึงได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนอุปกรณ์เปลือกนอกของเรือเหาะ เพื่อเพิ่มคุณภาพจากมาตรฐานเดิมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ จากการไต่สวนไม่ปรากฏพฤติการณ์หรือพยานหลักฐานว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับการบริหารราชการ ในสังกัดกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยการปล่อยให้กองทัพบกสั่งซื้อเรือเหาะ ในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริงตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/Y.Shinawatra
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/Y.Shinawatra

2. กรณีกล่าวหา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี กรณีปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติต่อหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตกรณีจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีอาญา ที่มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ใช้เป็นหลักประกันการปล่อยตัวชั่วคราว

เรื่องนี้คณะอนุกรรมการไต่สวนได้ดำเนินการไต่สวนแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในการจ่ายเงินนั้นได้มีการนำเงินกองทุนยุติธรรมมาใช้ดำเนินการโดยเป็นไปตามข้อเสนอแนะคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ แต่ปรากฏว่าเงินงบประมาณกองทุนยุติธรรมมีจำกัดไม่เพียงพอต่อการดำเนินการ จึงได้ของบประมาณเพิ่มเติมจากงบกลางรายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นมาใช้ในการดำเนินการ ซึ่งทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 19 และมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติวิธีงบประมาณ พ.ศ.2502 ประกอบกับการนำเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ได้มีการปฏิบัติเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติกรณีการขออนุมัติใช้เงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามหนังสือสำนักงบประมาณ ด่วนที่สุด ที่ นร 0704/195 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 แล้ว

และในการจ่ายงบประมาณเพื่อเป็นหลักประกันในครั้งนี้ ได้มีการนำไปช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีอาญาที่มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งในทางการเมือง มิได้เฉพาะเจาะจงกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะมีทั้ง นปช. และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่างก็ได้รับเงินสนับสนุนเพื่อใช้ในการปล่อยชั่วคราวดังกล่าวนี้ด้วย และการประกันตัวผู้ต้องขังต้องผ่านการพิจารณาจากศาล ที่อนุญาตให้ประกันตัวและกำหนดวงเงินไว้ จากนั้น ต้องผ่านคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมตามหลักเกณฑ์ ของระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยกองทุนยุติธรรม พ.ศ.2553 และระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสนับสนุนหลักทรัพย์เป็นหลักประกันในการปล่อยชั่วคราว พ.ศ.2554 ก่อน จึงจะสามารถนำเงินงบประมาณมาใช้เป็นหลักประกันตัวได้

หลังจากได้รับการประกันตัวแล้ว คณะกรรมการบริหารกองทุนยุติธรรมยังได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมจากที่มีในระเบียบฯ เมื่อได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้วต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลในการรายงานตัวตามกำหนดนัด หากสัญญาประกันของศาลสิ้นสุดลง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจะได้ดำเนินการขอรับหลักประกันคืนจากศาลต่อไป หากผู้ต้องขังหลบหนีจนเป็นเหตุให้ศาล มีคำสั่งริบประกันผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดทางแพ่ง ชดใช้เงินตามหลักประกันที่กองทุนยุติธรรมให้การสนับสนุน แก่ผู้ต้องขังกรณีดังกล่าวนี้จึงไม่ปรากฏว่าก่อให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด

คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่ให้แจ้งกระทรวงยุติธรรมติดตามเรื่องเงินที่ผู้ต้องหาหลบหนีให้กลับคืนมาเป็นของทางราชการด้วย