ThaiPublica > เกาะกระแส > “ยรรยง พวงราช” ชู 7 ประเด็นแก้ต่างแทน “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กรณีข้อกล่าวหาป.ป.ช.คดีจำนำข้าว

“ยรรยง พวงราช” ชู 7 ประเด็นแก้ต่างแทน “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กรณีข้อกล่าวหาป.ป.ช.คดีจำนำข้าว

10 เมษายน 2014


นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูคลังสินค้า เอส. เอ็ม จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2557 เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งมอบข้าวสาร 1 ล้านตันให้ COFCO Corporation รัฐวิสาหกิจจีนตามสัญญาซื้อ-ขายข้าว แบบ G to G ก่อนเดินทางไปให้ปากคำกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน โดยนายยรรยงเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึง กรณีป.ป.ช.ตั้งประเด็นข้อกล่าวหารัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการจำนำข้าวจนเกิดความเสียหาย

นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายยรรยง กล่าว่าการตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าวนั้น ไม่น่าถูกต้อง มีเหตุผลดังต่อไปนี้ 1. ขณะนี้สังคมมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าว 3 ประเด็น คือ 1. เชื่อว่ากลไกตลาดข้าวเป็นกลไกที่ไม่สมบูรณ์ทั้งตลาดในประเทศและลาดโลก เพราะฉะนั้นรัฐบาลไม่ควรบิดเบือนกลไกตลาดข้าว 2. เชื่อว่ามาตรการรับจำนำข้าวเป็นมาตรการประชานิยมที่เปิดช่องทางให้ทุจริตและหาเสียง 3. เชื่อว่ามาตรการจำนำข้าวของรัฐบาลเป็นการทำธุรกิจการค้าที่เสียหาย ทำแล้วมีแต่ขาดทุนเพียงอย่างเดียว

2. รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จัดทำนโยบายรับจำนำข้าวอย่างถูกต้อง และชอบธรรม ทั้งในทางกฎหมายและการเมือง โดยยึดตามนโบบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดเป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในการคุ้มครอง และรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิตและการตลาด ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด ตามมาตรา 84 (8) และยังเป็นการสนับสนุน ให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ตามมาตรา 84(1) ซึ่งไม่ใช่กิจการที่มีการแข่งขันกับเอกชน แต่มุ่งที่จะยกระดับรายได้ของเกษตรกรชาวนาให้มากกว่าระดับความยากจน และค่าแรงขั้นต่ำ และต้องการเพิ่มความเข้มแข็งให้กลไกตลาดข้าวที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งสะท้อนออกมาจากราคาข้าวที่ตกต่ำมาหลายสิบปี เช่น ในปี 2543-2550 ราคาข้าวเปลือกในประเทศอยู่ที่ตันละ 4,200-6,200 บาท ขณะที่ราคาส่งออกข้าวสารอยู่ที่ตันละ 200-300 เหรียญสหรัฐ รัฐบาลจึงต้องเพิ่มรายได้และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยเร็ว

3.นายกรัฐมนตรีไม่สามารถระงับ ยับยั้ง หรือยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวได้ เพราะนโยบายหาเสียงของรัฐบาลจนชนะการเลือกตั้ง และแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา ถือเป็นสัญญาประชาคมที่ผูกมัดรัฐบาล หากไม่ดำเนินการ หรือ ยกเลิกโครงการ ก็เสมือนเป็นการหลอกลวงประชาชน และมีความผิดทางการเมือง การปฏิบัติตามสัญญาประชาคมดังกล่าว ถือเป็นปทัสถาน (Norm) หรือมาตรฐานทางการเมืองที่จะช่วยพัฒนาระบบการเมืองไทย ซึ่งชาวนาเองก็คาดหวังอย่างเต็มที่ว่ารัฐบาลต้องปฏิบัติตามสัญญาที่เคยให้ไว้ช่วงหาเสียง ซึ่งจะเห็นได้จากในช่วงที่รัฐบาลลดราคารับจำนำข้าวจากตันละ 15,000 บาท เหลือ 13,000 บาท ถูกชาวนาต่อต้านอย่างรุนแรง จนต้องปรับราคารับจำนำขึ้นเป็นตันละ 15,000 บาท เหมือนเดิม

4. โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดนี้ เป็นการปรับปรุงโครงการรับจำนำข้าวที่มีมาทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ์ รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ รัฐบาลนายสมชาย และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ดำเนินการต่อมา และจำเป็นต้องใช้ยาแรง โดยปรับราคาให้สูงขึ้นและขยายปริมาณรับจำนำ เพราะต้องการยกระดับรายได้ และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา รวมทั้งลดปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชน ไม่ได้มุ่งที่จะเปิดช่องให้มีการทุจริตตามที่กล่าวหา แต่มุ่งให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิผล คือทำให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้

นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 2

“ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ตลาดไม่สมบูรณ์ ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ ทุกรัฐบาลใช้โครงการจำนำข้าวเป็นกลไกเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าว แต่รัฐบาลชุดนี้ใช้ยาแรงขึ้น เป็นยาขนานเดิมไม่ได้ผ่าตัด มีครั้งเดียว คือ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เปลี่ยนมาใช้การประกันรายได้ ก่อนหน้านี้ก็รับจำนำข้าวมาโดยตลอด รวมทั้งรัฐบาลชวน 1 ชวน 2 จะสังเกตเห็นว่าเป็นยาขนานเดิม แต่เพิ่มโดส หรือจ่ายยาแรงขึ้น เนื่องจากราคาข้าวตกต่ำมาก ชาวนาติดหนี้สิน จึงจำเป็นต้องเพิ่มความแรงของยา ผมจึงอยากจะชี้ให้คณะกรรมการป.ป.ช. และชี้ให้สังคมมองเห็นในประเด็นนี้ด้วย”นายรรยง กล่าว

5. โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการขนาดใหญ่และสำคัญ (Mega project) เพราะมีผลกระทบ และมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) จำนวนมาก อาทิ ชาวนากว่า 15.3 ล้านคน โรงสี ผู้ส่งออก ผู้ค้าปลีกค้าส่ง รวมทั้งผู้บริโภคข้าว โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับรายได้ของคนส่วนใหญ่ และยกระดับราคาข้าวให้สูงขึ้น ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ในหลายขั้นตอนและหลายรูปแบบ แต่อย่างไรก็ตามน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงดำเนินการป้องกัน ตรวจสอบและปราบปรามการทุจริตอย่าต่อเนื่อง จึงไม่ได้ละเว้นปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่เกิดความเสียหายตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

6.การกำหนดราคารับจำนำข้าว สูง หรือ ต่ำขึ้นอยู่กับคุณภาพข้าว เช่น ถ้าเป็นข้าวเต็มเม็ดมียาวตั้งแต่ 7 มิลลิเมตรครบ 100% รัฐบาลรับจำนำข้าวจากชาวนาตันละ 15,000 บาท หากมีปลายข้าวผสม 5% ราคาจะลดลง เหลือตันละ 14,800 บาท ตรงนี้เป็นมาตรการป้องกันการสวมสิทธิ์ และไม่ให้มีการปลอมปน

นอกจากนี้ยังมีมาตรการป้องกันการทุจริตมากมาย เช่น การลงโทษผู้กระทำผิด กรณีแจ้งข้อมูลเป็นเท็จ ควบคุมการออกทะเบียนการทำประชาคม,กำหนดระยะเวลาในการใช้หนังสือรับรองให้ตรงกับระยะเวลาเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว,กำหนดให้ติดตั้งกล้องวงจรปิด 3 จุด ,การตรวจสอบรับรองเครื่องชั่ง และเครื่องวัดความชื้นก่อนรับจำนำข้าวในระหว่างที่รับจำนำ, เพิ่มเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยรับจำนำจากเดิม 4 คนเป็น 8 คน,นำระบบไอทีมาใช้ในการออกใบประทวน,กำหนดให้โรงสีแปรสภาพและส่งมอบข้าวสารทุก 7 วัน เข้มงวดในการคัดเลือกโรงสีและโกดังกลาง รวมทั้งบริษัทเซอร์เวย์เยอร์ และเปลี่ยนจากการเช่าโกดังเป็นฝากเก็บ เพื่อให้เจ้าของโกดังเป็นผู้รับผิดชอบด้วย

7. รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรมีการกำกับดูแลโครงการรับจำนำข้าว ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างต่อเนื่อง แต่ข้อกล่าวหาที่ว่ามีการทุจริตในโครงการดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาลนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติใดๆเลย เกี่ยวกับการทุจริต และความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้จะมีรายงาน แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปหรือข้อยุติจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

“ดังนั้นข้อล่าวหาที่ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ละเว้น หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหาย จึงไม่ถูกต้อง หวังว่าป.ป.ช.คงเข้าใจ หลังจากที่ได้รับทราบข้อมูลจากผม นายกรัฐมนตรีไม่ได้ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ และพยายามปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอด”นายยรรยงกล่าว

มั่นใจระบายข้าว 2 หมื่นล้าน คืนงบกลางก่อน 31 พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2557 กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นำคณะสื่อมวลชนเข้าร่วมเปิดคลังสินค้ากลางของบริษัท เอส เอ็ม ณ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่เก็บรักษาข้าวสารของรัฐบาล การเปิดให้สื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมคลังสินค้าข้าวสารครั้งนี้ เพื่อตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพข้าว เพื่อเตรียมส่งมอบแก่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีน (COFCO)

ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว

กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับ ผู้แทนบริษัท ซีซีไอซี ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าวที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนให้ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพข้าว ณ โกดังสินค้าดังกล่าวก่อนการส่งมอบลอตแรกภายในเดือนนี้ 1 แสนตัน โดยรัฐบาลไทยทยอยส่งมอบให้จนครบจำนวน 1 ล้านตัน ตามสัญญาที่ได้ทำการตกลงระหว่างกันไว้ก่อนหน้านี้

การชำระเงินจะเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า นายช่วงโชติ เหล่าตรงจริง พนักงานตรวจสอบคุณภาพของบริษัท ซีซีไอซี เผยว่า ตามมาตรฐานที่กำหนด ในการตรวจวัดความชื้นอยู่ที่ 13 เปอร์เซ็นต์ ไม่เกิน 14เปอร์เซ็นต์ ในการเปิดกระสอบโดยสุ่ม นอกจากจะตรวจความชื้นแล้ว ยังมีการตรวจข้าวว่าข้าวเต็มเมล็ด เมล็ดเหลือง หรือข้าวเมล็ดเสียหรือไม่ ผลการตรวจสอบข้าวโดยสุ่มตรงตามสเปค ค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ยังมีพนักงานตรวจคุณภาพที่คอยตรวจสอบข้าวแต่ละกระสอบ ก่อนลำเรียงขึ้นสายพานเพื่อความแน่นอน

ตรวจสอบคุณภาพข้าวจากซีซีไอซี ตรวจสอบข้าวก่อนลำเลียงขี้นสายพาน

ในช่วงบ่าย นายบรรยง พวงราช รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดให้ผู้ประกอบการค้าข้าว และโรงสีที่สนใจยื่นซองเสนอราคาซื้อข้าวสารในคลังสินค้าข้าวของรัฐบาลตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 (รอบ1) และ (รอบ2) และปีการผลิต 2556/57 ณ โรงแรมศรีอู่ทอง แกรนด์ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวจะทำการเปิดซองเสนอราคา และเจรจากับผู้เสนอราคาซื้อจะทำภายในบ่ายวันนี้

การเปิดให้ผู้ประกอบการค้าข้าว และโรงสี ยื่นซองเสนอราคา เพื่อนำข้าวไปจำหน่ายภายใน หรือส่งออกต่างประเทศ ใน 7 ชนิดข้าว ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิ 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 2 ข้าวหอมจังหวัด ข้าวหอมปทุมธานี ข้าวปุทมธานี 5 เปอร์เซ็นต์ ข้าว 5 เปอร์เซ็นต์ ข้าวเหนียว และปลายข้าวขาวเอวันเลิศ รวมประมาณ 169,327.99 ตัน (แบบยกคลัง)

บรรยากาศการยื่นซองประมูล

โดยมีผู้ประกอบการค้าข้าว และโรงสีที่เข้ายื่นซองเสนอราคาทั้งสิ้น 8 ราย ประกอบด้วย 1)หจก.สุพรรณบุรีอะกริจัลเนอร์รอลเพอร์เฟ็คท์ 2)มิตรนำชัยไรท์ 3)หจก. ทรัพย์แสงทอง 4) โรงสีไฟศรีกรุง ลาดกระบัง 5) บริษัทไทยฟ้า (2511) จำกัด 6) นครหลวงค้าข้าว จำกัด 7) เอเชียโกลเด้น ไรซ์ 8) หจก.ข้าว ซีพี

ผลสรุปการรับซองเสนอราคาซื้อข้าวในคลังข้าวของรัฐบาลนั้น มีผู้สนใจยื่นซองเสนอราคา ข้าวหอมมะลิ 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้นสอง จำนวน 2 ซอง (2บริษัท) ข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 3 ซอง (3 บริษัท) ปลายข้าวขาวเอวันเลิศ จำนวน 3 ซอง (3บริษัท)

ทั้งนี้มีผู้ยื่นซองเสนอราคาซื้อข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 จำนวน 5 ราย ส่วนที่เหลือ 3 ราย ยื่นซองเสนอราคาข้าวจากปีการผลิต 2555/56 (รอบ2) จากทั้งหมด 7 ชนิดข้าว ไม่มีผู้ยื่นซองเสนอราคาข้าว 4 ชนิดข้าว คือ ข้าวหอมจังหวัด ข้าวปทุมธานี ข้าวปทุมธานี 5 เปอร์เซ็นต์ และข้าวเหนียวขาว 10 เปอร์เซ็นต์

โดยนายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรณีรัฐบาลต้องเร่งระบายข้าว เพื่อหาเงินไปชำระคืนงบกลาง 20,000 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 ตอนนี้จ่ายไปเกินครึ่งแล้ว และภายในเดือนเมษายน 2557 ต้องส่งมอบให้ COFCO 1 แสนตัน ส่วนที่เหลือ 9 แสนตันจะทยอยส่งเป็นลอตๆ ต่อไป ส่วนกรณีประเทศอีรักยกเลิกการเลิกนำเข้าข้าวไทย แต่มีแนวโน้มจะนำเข้าเป็นจีทูจีแทน ซึ่งอาจช่วยเพิ่มช่องทางระบายข้าวเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 600,000 ตัน ไม่นับรวมกรณีที่มีการสั่งซื้อข้าวโดยตรง ในวันที่10 เมษายน 2557 จะเปิดให้เข้ายื่นซองเสนอราคาอีกครั้ง เป็นข้าว 7 ชนิดเช่นกัน จำนวนประมาณ 424,000ตัน และมีการต่อรองราคาในวันที่ 11 เมษายน เป็นข้าวเสื่อมสภาพ 13,000 ตัน

โกดังข้าว

และในวันที่ 15 เมษายน 2557 จะมีการประมูลข้าวที่ฟิลิปปินส์ โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการเข้าร่วมประมูล และอาจมีการขยายตลาดไปยังตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมทั้งมีผู้ต่างประเทศเดินทางมาเจรจาซื้อข้าว ทำให้การระบายข้าวมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ

ด้านนายทิฆัมพร นาทวรทัต รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในการจำหน่ายข้าวสารว่า ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลมีรายได้จากการระบายข้าวทั้งสิ้น 216,000 ล้านบาท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2557 ได้มีการนำเงินไปชำระคืนงบกลางแล้วทั้งสิ้น 10,700 ล้านบาท ส่วนที่เหลือมั่นใจว่าจะสามารถหาเงินมาชำระคืนงบกลางได้จนครบภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 เนื่องจากก่อนที่จะมีการยืมเงินงบกลางมาจ่ายให้แก่ชาวนา กรมการค้าต่างประเทศได้มีการทำสัญญาซื้อขายข้าวกับต่างประเทศไว้แล้ว เพียงแต่รอการส่งมอบข้าว จึงจะได้รับเงินมาเท่านั้น โดยจะมีประเทศที่จะเป็นตลาดระบายสินค้าข้าวเพิ่มคือ อีรัก มาเลเซีย และฟิลิปปินส์