ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธนาคารโลกหวัง “ส่งออก-ลงทุน” ดันจีดีพี ’57 โต 4% ด้าน ธปท. พร้อมใช้ดอกเบี้ยดูแลเศรษฐกิจ

ธนาคารโลกหวัง “ส่งออก-ลงทุน” ดันจีดีพี ’57 โต 4% ด้าน ธปท. พร้อมใช้ดอกเบี้ยดูแลเศรษฐกิจ

13 กุมภาพันธ์ 2014


ธนาคารโลกประเมินเศรษฐกิจไทยท่ามกลางปัญหาการเมืองยังเติบโตได้ 4% จากแรงหนุนการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงที่สูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การบริโภคยังแผ่ว หวังชาวนาได้เงินจำนำข้าว 1.2 แสนล้านบาท ช่วยเพิ่มการจับจ่ายใช้สอย ขณะที่แบงก์ชาติลุ้นการเมืองจบเร็ว เอื้อเศรษฐกิจฟื้นครึ่งหลังของปีนี้ และส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อประคองเศรษฐกิจ

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 ธนาคารโลกเปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับล่าสุด ซึ่งวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยปี 2556 และแนวโน้มในปี 2557 รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง

“ส่งออก-ลงทุนเอกชน” หนุนจีดีพีปีนี้โต 4%

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก ที่มา : www.bangkokbiznews.com
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก
ที่มา : www.bangkokbiznews.com

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 2557 อยู่ที่ประมาณ 4% ซึ่งรวมปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองไว้แล้ว รวมถึงผลกระทบด้านการท่องเที่ยวที่เกิดจากการประท้วงในกรุงเทพฯ เป็นหลัก อย่างไรก็ดี การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ยังขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการประท้วงในกรุงเทพฯ

สำหรับปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2557 ให้เติบโตได้ 4% เทียบกับคาดการณ์จีดีพีปี 2556 จะโต 3% โดยธนาคารโลกระบุว่า จะมาจากการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยจีดีพีโลกปีนี้คาดกว่าจะขยายตัว 3.2% เพิ่มขึ้นจาก 2.4% ในปีก่อน

“แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้คาดหมายทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอกว่านั้น จะกระทบไทยค่อนข้างมาก เพราะจะกระทบการส่งออกที่จะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ ทั้งนี้ธนาคารโลกคาดการณ์ส่งออกสินค้าของไทยปีนี้ขยายตัว 5.6% จากปีก่อนที่หดตัว 0.4%” ดร.กิริฎากล่าว

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า อีกปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในปีนี้คือ การลงทุนภาคเอกชนที่จะกลับมาดีขึ้น โดยคาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้ในอัตรา 5% เนื่องจากปีที่แล้วมีการชะลอตัวลงทำให้การลงทุนเอกชนโตเพียง 1.1% เพราะมีการเร่งลงทุนไปก่อนหน้ามากหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 แต่การลงทุนของภาคเอกชนที่ซบเซาเมื่อปี 2556 พบว่ามาจากนักลงทุนไทยเป็นส่วนใหญ่

การลงทุนโดยตรงสูงเป็น “ประวัติการณ์”

แต่เมื่อมาดูนักลงทุนที่เป็นต่างชาติ หรือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) พบว่ามีการลงทุนสูงเป็น “ประวัติการณ์” คือสูงกว่าปี 2555 และปีที่ผ่านมาทั้งหมด โดยนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังครองสัดส่วนมากที่สุด และแนวโน้มนี้จะยังดำเนินต่อไป เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน ต่างชาติยังให้ความสนใจมาก

นอกจากนี้ เมื่อดูตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่อนุมัติโครงการลงทุนตั้งแต่ปี 2555 พบว่ามีโครงการอนุมัติเพิ่มขึ้นอย่าง “ก้าวกระโดด” โดยมีการอนุมัติให้ต่างชาติครึ่งคนไทยครึ่ง ฉะนั้นเป็นตัวชี้วัดที่ดีว่าแนวโน้มการลงทุนในภาคเอกชนน่าจะดีขึ้น เนื่องจากเมื่อภาคเอกชนมาขออนุมัติส่งเสริมการลงทุน ก็จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี กว่าจะลงทุนจริง ดังนั้น ปีไหนเห็นการอนุมัติก็คาดการณ์ได้ว่าอีก 2 ปี การลงทุนจริงจะเพิ่มขึ้น”

“การได้รับ BOI สูงขึ้นเป็นเท่าตัวเป็นสัญญาณว่านักลงทุนต่างชาติยังสนใจเข้ามาลงทุนโดยตรงในไทย และแสดงว่าปัญหาการเมืองไม่ได้กระทบต่อการลงทุนโดยตรงมากนัก ตราบใดที่ท่าเรือ สนามบิน ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าสามารถใช้งานได้ จึงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และทั้งปีจะโตที่ 4%” ดร.กิริฎากล่าว

ปัจจัยเสี่ยงปี ’57 “การเมือง” มากที่สุด

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยปีนี้ ดร.กิริฎากล่าวว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในปีนี้คล้ายๆ กับปีที่แล้ว คือปัจจัยการเมืองน่าจะเป็นปัจจัยลบอันดับหนึ่งในเรื่องเศรษฐกิจ โดยความไม่แน่นอนทางการเมืองกระทบต่อการท่องเที่ยวแน่นอนอยู่แล้ว เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะยืดเยื้อแค่ไหน

เมื่อกลับไปดูการประท้วงในปี 2553 ซึ่งมีความใกล้เคียงที่สุดกับครั้งนี้ พบว่าการท่องเที่ยวจะลดลงเฉพาะในเดือนนั้นๆ ที่มีการประท้วง และการท่องเที่ยวก็จะกลับมาเหมือนเดิมภายในหนึ่งเดือนที่ไม่มีการประท้วง ทำให้การท่องเที่ยวปีนี้จะโตได้แค่ 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่โต 20%

“ตัวเลขการท่องเที่ยวเป็นการคาดการณ์ในระยะสั้นเท่านั้น หากการชุมนุมมีการยืดเยื้อ การปรับตัวเลขการส่งออกด้านบริการก็อาจจะเกิดขึ้นได้” ดร.กิริฎากล่าว

“หนี้ครัวเรือน-จำนำข้าว” ฉุดการบริโภค

ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียง 1.8% จาก 1.3% ในปีก่อน แต่ธนาคารโลกถือว่ายังคงชะลอตัวต่อเนื่องมาจากปีก่อน สาเหตุหนึ่งเป็นผลจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และมาจากเงินค่าจำนำข้าวที่รัฐบาลค้างจ่ายเกษตรกรอยู่จำนวน 120,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นจีดีพีจะอยู่ที่ประมาณ 1% ของจีดีพี

ดร.กิริฎากล่าวว่า คงต้องยอมรับว่าการที่เกษตรกรยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าวนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การบริโภคชะลอตัวลง ซึ่งจะเห็นได้มาตั้งแต่ 2 เดือนสุดท้ายของปีที่ผ่านมา เพราะวงเงินที่ค้างอยู่ค่อนข้างสูงคือกว่าแสนล้าน ดังนั้น ถ้าหากชาวนาเขาได้รับเงินตรงนี้ก็จะมีเงินอีก 1% ของจีดีพีที่เขาเอาไปจับจ่ายใช้สอยได้ แม้อาจจะไม่ได้จับจ่ายใช้สอยทั้งหมดก็ตาม

“แต่ถ้าเงินจำนวนนี้ไปถึงมือชาวนาแล้ว การบริโภคของชาวนาก็จะเพิ่มขึ้น คือช่วยครอบครัวชาวนาและเศรษฐกิจกิจได้มากขึ้น” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย กล่าว

ขณะที่การลงทุนภาครัฐค่อนข้างล่าช้าทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำและโครงการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ถ้าล่าช้ามากอาจทำให้การขยายตัวของการลงทุนภาครัฐโตแค่ 1% จาก 2.5% ในปีก่อน นอกจากนี้ หากความไม่แน่นอนทางการเมืองลากยาว รัฐบาลอาจไม่มีเวลามาดูแลการพัฒนาประเทศในระยะยาวเท่าใดนัก เพราะต้องมาแก้ปัญหาระยะสั้น ดังนั้น ความสำคัญที่ภาครัฐให้กับการพัฒนาประเทศในระยะยาว เช่น การศึกษา หรือสาธารณสุข จะไม่มากเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ (ดูข้อมูลเพิ่มเติม)

ลุ้นการเมืองจบเร็ว ดันเศรษฐกิจฟื้นครึ่งปีหลัง

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธปท.
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส โฆษก ธปท.

ขณะที่ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าจีดีพีปี 2557 จะขยายตัวประมาณ 3% ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของธนาคารโลก แต่ ดร.รุ่ง มัลลิกกะมาส โฆษก ธปท. ไม่ปฏิเสธว่ามีความเป็นไปได้ที่จีดีพีจะขยายตัวได้ 4% แต่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คือ ภาคการคลังจะต้องเบิกจ่ายได้เร็วและมีประสิทธิภาพ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วกว่าครึ่งหลังของปีนี้

ทั้งนี้ ตัวเลขของ ธปท. ที่คาดการณ์จีดีพีปี 2557 โตประมาณ 3% ดร.รุ่งระบุว่า เป็นการคาดการณ์ในกรณีกลางๆ คือ การเมืองไม่ยืดเยื้อ เศรษฐกิจจะฟื้นครึ่งหลังของปีนี้ โดยการส่งออกจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนจะทำให้การส่งออกของไทยได้รับประโยชน์ ซึ่ง ธปท. คาดการณ์การส่งออกสินค้าปีนี้จะขยายตัวประมาณ 7% นอกจากนี้ ฐานะของภาคธุรกิจเอกชนที่แข็งแรง เป็นอีกปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย เพราะฐานะการเงินที่แข็งแกร่งทำให้มีความพร้อมจะลงทุนเมื่อสถานการณ์พร้อม

หากสถานการณ์การเมืองยุติลง ดร.รุ่งกล่าวว่า ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็วที่สุดคือ การท่องเที่ยว โดยจากข้อมูลในอดีตพบว่า หลังเหตุการณ์การเมืองจบประมาณหนึ่งเดือน การท่องเที่ยวจะขยายตัวได้ตามปกติ

ส่วนการอุปโภคบริโภคจะใช้เวลาประมาณหนึ่งไตรมาสถึงจะกลับมาขยายตัวได้ปกติ โดยเฉพาะการจับจ่ายซื้อสินค้าที่ไม่คงทน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 75% ของการบริโภคทั้งหมด ส่วนสินค้าคงทน เช่น รถยนต์และบ้าน จะฟื้นตัวได้ช้า เพราะการกู้ยืมจะต้องใช้เวลาผ่อนชำระนานกว่า 5 ปี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาขยายตัวได้ตามปกติช้าที่สุดคือประมาณ 2-3 ไตรมาส สำหรับการลงทุนภาครัฐ สามารถเร่งดำเนินการใช้จ่ายได้เร็วอยู่แล้วถ้าการเมืองมีความชัดเจน

ส่งสัญญาณดอกเบี้ยผ่อนคลาย ประคองเศรษฐกิจ

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โฆษก ธปท. กล่าวว่า เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงระหว่างภาคการส่งออกดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่อีกด้านในประเทศมีความไม่แน่นอน ดังนั้น ในระยะสั้น นโยบายอัตราดอกเบี้ยคงให้น้ำหนักกับการดูแลเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะสั้นคงไม่ปรับขึ้นแน่นอน แต่จะปรับลดลงหรือไม่ขึ้นอยู่กับทิศทางของภาวะเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยผ่อนคลายต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และในระยะสั้นอาจมีทิศทางดอกเบี้ยไปคนละทางกับดอกเบี้ยต่างประเทศที่มีบางประเทศเริ่มขยับสูงขึ้นเพื่อดูแลเสถียรภาพการเงิน แต่ในระยะยาวแนวโน้มดอกเบี้ยของไทยจะปรับไปในทิศทางเดียวกับต่างประเทศ” ดร.รุ่งกล่าว