ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเมินประชานิยม “รัฐบาลพี่คนแรก” ใช้เงิน 6.71 แสนล้าน โอกาสในวันนี้ หรือหนี้ในวันหน้า?

ประเมินประชานิยม “รัฐบาลพี่คนแรก” ใช้เงิน 6.71 แสนล้าน โอกาสในวันนี้ หรือหนี้ในวันหน้า?

27 ธันวาคม 2012


เป็นประจำทุกปีที่นักข่าวสายทำเนียบจะโหวตให้ “ฉายา” รัฐบาลและนักการเมืองตามตัวตนและผลงาน “ฉายาปี 2555” รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงได้ชื่อว่า “รัฐบาลพี่คนแรก” ล้อเลียนนโยบายประชานิยมรถคันแรก และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายและอดีตนายกรัฐมนตรีผู้มีบทบาทให้มีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยที่ได้ฉายาว่า “ปูกันเชียง” (อ่านเพิ่มเติม “ฉายาปี 2554”)

หากดูนโยบายประชานิยม หลังจากได้รับเลือกตั้งในเดือน สิงหาคม 2554 รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข็นนโยบายประชานิยม ลด แลก แจก แถม ออกมาใช้ตามที่ได้สัญญาไว้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งโดยให้เหตุผลถึงความจำเป็นว่าเป็นการช่วยเหลือคนจน และผู้มีรายได้น้อย

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก - ภาพจาก siamintelligence
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก – ภาพจาก siamintelligence

ปี 2555 รัฐบาลเดินหน้าโครงการประชานิยมตามที่ได้สัญญาไว้ ดังนั้นกว่า 1 ปีรัฐบาลใช้เงินไปมากน้อยแค่ไหน ธนาคารโลก โดย ดร.กิริฎาเภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ได้ประเมินค่าใช้จ่ายโครงการประชานิยม คาดว่าในปี 2555 จะมีค่าใช้จ่าย หรือสูญเสียรายได้จากโครงการประชานิยมเหล่านี้สูงถึง 6.71 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.4 ของจีดีพี

โครงการที่ธนาคารโลกคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดคือ โครงการจำนำข้าว ที่ตั้งราคารับจำนำสูงกว่าราคาข้าวในตลาดโลกประมาณร้อยละ 50 หรือประมาณ 200 เหรียญสหรัฐฯ ต่อข้าวสาร 1 ตัน จึงคาดว่าโครงการนี้ต้องใช้เงิน 3.76 แสนล้านบาท คิดจากปริมาณข้าวที่เข้าโครงการจำนวน 25 ล้านตัน ในฤดูกาลเก็บเกี่ยว 2554/2555 และจากข้อเท็จจริงที่รัฐบาลยังไม่มีการขายข้าวออกจากคลังสินค้าได้เลย ตัวเลขขาดทุนโครงการของปีนี้จึงเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการ ที่ไม่มีการหักรายได้จากการขายข้าวออกจำนวน 3.76 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.8 ของจีดีพี

แต่ปีต่อๆไป ธนาคารโลกได้ตั้งสมติฐานว่า หากรัฐบาลสามารถขายข้าวที่รับจำนำได้ทั้งหมดเต็มจำนวนได้ในราคาตลาดโลก ผลขาดทุนของโครงการน่าจะลดลง อยู่ที่ระหว่าง 1.15 – 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.0 – 1.3 ของจีดีพี ต่อหนึ่งฤดูกาลเก็บเกี่ยว

ขณะที่โครงการประชานิยมอื่นๆ ธนาคารโลกได้ประเมินโดย นำตัวเลขเป็นทางการจากการถามหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านงบประมาณ เช่น กระทรวงการคลัง มาคิดคำนวณอาทิ

โครงการยกเว้นภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก ที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือน ก.ย. 2554 – ธ.ค. 2556 ที่คาดการณ์ว่ารัฐจะเสียรายได้จากทั้งโครงการ 12,000 ล้านบาท หากนำตัวเลขมาเฉลี่ยสำหรับปี 2555 คาดว่าจะอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท

โครงการลดภาษีรถยนต์คันแรก ที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 16 ก.ย. 2554 – ธ.ค. 2555 คาดว่าจะทำให้รัฐสูญรายได้ 80,000 ล้านบาท ขณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิตได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555 คาดว่าจะมียอดการใช้สิทธิในนโยบายรถคันแรกถึง 1.2 ล้านคัน คิดเป็นเงินภาษีที่ต้องคืนประมาณ 7.3 หมื่นล้านบาท

การเพิ่มรายได้ให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างทั่วไป ที่เริ่มมาตั้งแต่ 1 ม.ค. 2555 ธนาคารโลกคาดว่าต้องใช้งบประมาณอีก 18,000 ล้านบาทในปี 2555 และเพิ่มเป็น 23,000 ล้านบาทในปี 2556

โครงการพักชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ดี 3 ปี ที่เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 2555 – 31 ส.ค. 2558 คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณสนับสนุน 15,000 ล้านบาทต่อปี

ด้านมาตรการกระตุ้นภาคธุรกิจ และลดค่าใช้จ่าย การลดภาษีรายได้นิติบุคคล ที่เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2555 คาดว่ารัฐจะเสียรายได้ประมาณ 52,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2555 และ 74,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2556

การลดภาษีน้ำมันดีเซล ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2554 – ธ.ค. 2555 และมีมติ ครม. ให้ต่ออายุการลดภาษีอีกไปถึง ม.ค. 2556 มีการประเมินว่ารัฐจะเสียรายได้ประมาณ 9,000 ล้านบาทต่อเดือน ในปี 2555 ตลอดทั้งปี รัฐจึงสูญเสียรายได้จากการลดภาษีน้ำมันดีเซลประมาณ 1.08 แสนล้านบาท โดยการอุดหนุนด้านพลังงานอื่นๆไม่ถูกนำมาคิดรวมเนื่องจากการลดภาษีน้ำมันดีเซลมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดด้านพลังงาน

ขณะที่โครงการอื่นๆ คือ โครงการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้นประถมศึกษา ที่เริ่มแจกมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2555 คาดว่ารัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณในปี 2555 เป็นจำนวน 16,000 ล้านบาทและอีก 12,000 ล้านบาทจากงบประมาณปี 2556

ทั้งหมดคือตัวเลขที่ธนาคารโลกนำมาประเมินเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการประชานิยมสำคัญของรัฐบาลในปี 2555 เป็นเงินประมาณ 6.05 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.4 ของจีดีพี และคาดว่าจะลดลงเหลือร้อยละ 2.4 ของจีดีพีในปี 2556 และหลังจากปี 2556 เป็นต้นไปจะเหลือร้อยละ 2 ของจีดีพี และต่ำกว่าเรื่อยๆ หากไม่มีการประกาศนโยบายเพิ่มเติม หรือต่อเวลาโครงการใหม่ๆอีก (จีดีพี ปี2555 = 11,194,354 ล้านบาท, ปี2556 = 11,929,933 ล้านบาท)

ทั้งหมดเป็นประมาณการเบื้องต้นที่ธนาคารโลกทำในเดือนธันวาคม 2555 และจะมีการประเมินตัวเลขที่เป็นทางการอีกครั้งในรายงานของธนาคารโลก เดือนพฤษภาคม 2556

โดยผลจากค่าใช้จ่ายในโครงการประชานิยมดังกล่าว จะส่งผลให้ในปี 2555 หนี้สาธารณะของประเทศไทยจะอยู่ที่ 45% ของจีดีพี และเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 50% ในปี 2556 จากเงินกู้ส่วนใหญ่ของรัฐบาลในปี 2556 ที่เป็นการกู้เพื่อใช้ในโครงการเงินนอกงบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการบริหารจัดการน้ำที่จะมีมูลค่าสูงถึง 3.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.8 ของจีดีพี

ธนาคารโลกระบุว่า หนี้สาธารณะในระดับดังกล่าวยังไม่ถือว่าสูงมาก และโครงสร้างหนี้กว่า 90% เป็นหนี้ภายในประเทศ และเป็นหนี้ระยะยาว หากมีการบริหารจัดการอย่างรอบคอบ ธนาคารโลกเชื่อว่าจะยังไม่น่าเป็นห่วง

แต่การใช้จ่ายในโครงการประชานิยม แม้ว่าตัวเลขประมาณร้อยละ 1 ของโครงการจำนำข้าว อาจจะไม่สามารถทำให้ชาติล่มจมได้ในวันนี้ แต่ในอนาคตหากยังมีการใช้จ่ายในโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคตต่อไปเรื่อยๆ จะถือเป็นค่าเสียโอกาส หากนำเงินจำนวนนี้ไปใช้ในโครงการอื่นที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะทำให้เกิดรายได้ที่สามารถนำไปใช้หนี้ต่อได้ การใช้ในโครงการประชานิยมในลักษณะนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ดร.สมชัย จิตสุชน ได้ประเมินตัวเลขงบประชานิยม 2555 ของรัฐบาล ในจำนวนที่ต่ำกว่าธนาคารโลก อยู่ที่ประมาณ 4.47 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4 ของจีดีพี ในปี 2555

จากโครงการจำนำข้าวของธนาคารโลก ที่ ดร. สมชัยมองว่าเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป เนื่องจากฐานในการคิดที่ธนาคารโลกใช้เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยไม่ได้เป็นตัวเลขขาดทุน ซึ่งเป็นตัวเลขที่อยู่คนละฐานกัน

การประเมินตัวเลขขาดทุนโดยทีดีอาร์ไอ โครงการจำนำข้าวในปี 2555 จึงอยู่ที่ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท โดยหลังจากปี 2555 ตัวเลขขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวของทั้งสองสถาบันมีความใกล้เคียงกัน

และในการเพิ่มรายได้ให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างทั่วไป ที่ ดร.สมชัยเห็นว่าไม่ได้เป็นโครงการประชานิยม แต่เป็นการเพิ่มรายได้ตามปกติ จึงทำให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายในโครงการประชานิยม ที่ ดร.สมชัย ประเมิน ต่ำกว่าของธนาคารโลกในปีนี้ แต่ในปีต่อๆไป ตัวเลขการประเมินของทั้ง 2 สถาบันก็ไม่มีความแตกต่างกันมาก

ดร.สมชัย จิตสุชน นักเศรษฐศาสตร์ ทีดีอาร์ไอ
ดร.สมชัย จิตสุชน นักเศรษฐศาสตร์ ทีดีอาร์ไอ

ขณะที่จำนวนหนี้สาธารณะ ดร.สมชัย เห็นว่าจะต้องจับตาดูไปในระยะยาว 5 – 10 ปี ว่าจะไปจบที่ตรงไหน และจะน่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้นหากปล่อยให้จำนวนหนี้เพิ่มขึ้นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว

แม้ในปี 2555 การประเมินของทั้ง 2 สถาบัน อาจมีความแตกต่างกันในเรื่องตัวเลข แต่ประเด็นที่ ดร. สมชัยชี้และทั้ง 2 สถาบันประเมินเหมือนกันคือ”ขนาดของตัวเลข” ที่ถือเป็นประมาณการณ์ที่สูงมาก

หากมีการนำงบประมาณดังกล่าว ไปเปรียบเทียบกับการก่อสร้าง หรือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ งบประชานิยมที่รัฐใช้ไปในปี 2555 ที่ไม่ต่ำกว่า 4.5 แสนล้านบาท จะสามารถนำไปใช้ในการสร้างระบบรถไฟความเร็วสูง 4 สายทั่วประเทศ ตามที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ คำนวณว่าจะใช้งบประมาณประมาณ 4.8 แสนล้านบาทได้ทันที

หรือหากนำไปใช้ในการสร้างระบบสวัสดิการถ้วนหน้า ตามแบบที่ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้เคยเขียนในบทความ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ที่รัฐจะจัดสวัสดิการพื้นฐานให้กับประชาชนทุกชนชั้น โดยเฉพาะคนจน ตั้งแต่ก่อนเกิด จนถึงแก่ชรา ในด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ รวมไปถึงสวัสดิการเบี้ยยังชีพ ก็สามารถทำได้ทันทีเช่นกัน

ตามที่ ดร.สมชัยได้ประเมินในงานวิจัย “สู่ระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าภายในปี พ.ศ.2560” ไว้ว่า จะใช้งบประมาณ 2 แสนถึงกว่า 3 แสนล้านบาทในระยะ 3-4 ปีแรก จากนั้นจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นช้า ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและอัตราเงินเฟ้อ แต่จะทำให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างทั่วถึงได้ในระยะยาว

การนำงบประมาณจำนวนมหาศาลไปทุ่มกลับโครงการประชานิยมที่หวังผลในระยะสั้น จึงเป็นการใช้เงินด้านสังคมที่ไม่คุ้มค่า

ในอนาคตหากจะมีการพิจารณาเพิ่มงบประมาณโครงการ หรือขยายเวลาประชานิยมออกไปอีก รัฐบาลจะต้องคิดอย่างรอบคอบ และวางแผนบริหารจัดการงบประมาณให้ดี เพราะหากบริหารจัดการไม่ดี นอกจากจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ได้ช่วยเหลือคนจน และผู้มีรายได้น้อยแล้ว งบประมาณดังกล่าวจะกลายเป็นภาระทางการคลัง และเป็นค่าเสียโอกาสที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคต