ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกเผย “เศรษฐกิจดิจิทัล” เป็นมากกว่าเทคโนโลยี ชี้ “ธุรกิจ-ภาครัฐ” ยังไม่เปิดรับดิจิทัลมากเท่าผู้คนในภูมิภาค

ธนาคารโลกเผย “เศรษฐกิจดิจิทัล” เป็นมากกว่าเทคโนโลยี ชี้ “ธุรกิจ-ภาครัฐ” ยังไม่เปิดรับดิจิทัลมากเท่าผู้คนในภูมิภาค

11 มิถุนายน 2019


นางสาวนาตาชา เบสชอร์เนอร์ (คนที่ 2 จากขวา) ผู้เชี่ยวชาญนโยบายไอซีทีอาวุโส ธนาคารโลก

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562 ธนาคารโลกเผยแพร่รายงาน “เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: เสริมรากฐานในอนาคตให้เข้มแข็ง” โดย นางสาวนาตาชา เบสชอร์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายไอซีทีอาวุโส ธนาคารโลก กล่าวสรุปประเด็นสำคัญของรายงานดังกล่าวว่า เรื่องของดิจิทัลในภูมิภาคนี้เป็นอะไรที่เราเจอกันอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายของออนไลน์ การใช้บริการทางการเงิน การพยายามเริ่มทำธุรกิจ การใช้บริการเดินทาง การเช่าจักรยาน ทั้งหมดเกี่ยวกับดิจิทัลในชีวิตประจำวันของเรา

อย่างไรก็ตาม รายงานนี้จะไม่เน้นไปที่เทคโนโลยี แต่จะเน้นไปที่นโยบายสำคัญเกี่ยวกับดิจิทัลที่จะช่วยส่งเสริมเกี่ยวกับการเข้าถึงอย่างทั่วถึง (inclusiveness) หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ขณะที่ข้อมูลจากภาคธุรกิจยังพบว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลกดิจิทัล ได้แก่ e-commerce, ธุรกิจเกี่ยวกับการเดินทางออนไลน์ สื่อออนไลน์ และบริการ ride-hailing อย่าง Grab หรือ Uber สามารถเติบโตได้สูง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2558-2561 สามารถเติบโตเฉลี่ยปีละ 32% ขณะที่คาดการณ์ว่าในระยะอีก 7 ปีต่อไป รวมเป็น 10 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2568 จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 22% โดยธุรกิจ e-commerce นับเป็นธุรกิจที่เติบโตได้มากที่สุดในช่วงทีผ่านมา โดยเฉลี่ยเติบโตปีละ 62% ขณะที่ถ้ารวมอีก 7 ปีต่อมาจะเติบโตได้เฉลี่ยปีละ 34%

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูเป็นรายประเทศ ธุรกิจ e-commerce ยังมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยจีนมีสัดส่วนของประชากรที่ซื้อของออนไลน์สูงถึง 45% เนื่องจากสภาพแวดล้อมของประเทศที่เอื้ออำนวย ขณะที่ประเทศอย่างไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ มีสัดส่วนี้ลดลงไปตามลำดับ ในมุมของการใช้งานระบบดิจิทัลของธุรกิจ โดยวัดจากสัดส่วนของธุรกิจที่ซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การมีเว็บไซต์ของตัวเอง และการใช้อีเมลของบริษัทในการติดต่อธุกิจ ก็พบว่ามีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และยังสามารถพัฒนาได้อีกมากเช่นเดียวกัน

“ภาพรวมของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้คือยังมีศักยภาพอีกมาก ผู้คนในภูมิภาคนี้ใช้เวลาจำนวนมากในโลกออนไลน์ อย่างฟิลิปปินส์ผลสำรวจเราบอกว่าเขาใช้เวลาทั้งวันทำงานและมีสัดส่วนการใช้สื่อสังคมออนไลน์ขนาดมหาศาล แต่ประเด็นสำคัญที่เราค้นพบคือเราต้องทำงานมากกว่านี้ มันยังมีบางพื้นที่เฉพาะสำหรับนโยบายสาธารณะรัฐบาลน่าจะดำเนินการได้ ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของการเข้าถึงดิจิทัล (digital divide) ของแต่ละพื้นที่ แม้ว่าจะค่อยๆ ถูกปิดลง แต่ยังมีช่องว่างอยู่ หรือการใช้งานระบบดิจิทัลที่มากขึ้นของบริษัทหรือธุรกิจ คือเป็นส่วนของเอกชนและเป็นภาพส่วนใหญ่ของโลกดิจิทัล ซึ่งรัฐบาลอาจจะไม่สามารถเข้ามาจัดการได้โดยตรง แต่สิ่งที่จะสำคัญสำหรับภาครัฐคือนโยบายระหว่างภาครัฐด้วยกัน เช่น เรื่องของความปลอดภัยของข้อมูล ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เป็นสิ่งที่ต้องคิดถึงความสอดคล้องกันของสิ่งเหล่านี้ระหว่างประเทศ และจากดัชนีการใช้ดิจิทัล (Digital Adoption Index) ที่ประกอบไปด้วยหลายตัวชี้วัด แต่เมื่อแยกออกมาเป็นประเภทของผู้ใช้งานก็สะท้อนให้เห็นว่าแม้ว่าประชาชนรายบุคคลจะใช้เวลาวันละ 7-9 ชั่วโมงในโลกดิจิทัล แต่สำหรับธุรกิจหรือรัฐบาลยังคงน้อยกว่ามาก ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่ายังมีศักยภาพให้พัฒนาได้อีกมาก และเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นอะไรที่มากไปว่าการออนไลน์ของผู้คน” นางสาวนาตาชากล่าวสรุป

รายงานนี้ได้ระบุประเด็นสำคัญ 6 ประการเพื่อพัฒนาด้านดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มจากการขยายการเชื่อมต่อ ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจดิจิทัล แม้ว่าประชากรในภูมิภาคนี้เกินกว่าครึ่งสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งเท่ากับค่าเฉลี่ยของโลก แต่ก็ยังสามารถที่จะขยายเพิ่มได้อีกหากมีนโยบายและการดำเนินงานที่ช่วยให้ราคาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถูกลง เพิ่มความเร็ว และมีสัญญาณบอรดแบนด์ที่เชื่อถือได้ในพื้นที่ที่ควรได้รับ สำหรับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางนั้น ประชากรเพียง 2 ใน 5 เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (4G) ได้ ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้ต่ำกว่ากลุ่มนี้มีประชากรเพียง 1 ใน 5 คนที่เข้าถึงได้เท่านั้น หากภาครัฐและภาคเอกชนสามารถร่วมมือกันได้อย่างแข็งขัน และใช้ระเบียบข้อบังคับเชิงรุก จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่จำเป็น และช่วยสร้างการแข่งขันในภาคโทรคมนาคมอย่างสมบูรณ์

การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในทุกภาคส่วนของแต่ละประเทศนั้น จำเป็นต้องเดินหน้าสร้างกำลังแรงงานที่มีทักษะอย่างต่อเนื่อง ระบบการศึกษาเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาความรู้ด้านเทคนิคและทักษะด้านสังคมที่จำเป็นสำหรับการแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก ทั้งนี้ การปรับตัวและการเรียนรู้ตลอดชีวิตทวีความสำคัญมากกว่าที่เคย รวมถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้สอดคล้องไปกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

การชำระเงินแบบดิจิทัลเป็นอีกเรื่องสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หากแต่รายงานนี้พบว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังพัฒนาเรื่องนี้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่ยังชำระเงินด้วยเงินสดอย่างแพร่หลาย รายงาน Global Financial Inclusion (Findex) ของธนาคารโลกพบว่ามีผู้ถือบัญชีเงินเพียงร้อยละ 19 เท่านั้นที่เข้าถึงข้อมูลในบัญชีผ่านอินเทอร์เน็ต

ดังนั้น การใช้กฎระเบียบข้อบังคับที่เข้มแข็งและการใช้ระบบการกำหนดอัตลักษณ์ดิจิทัลที่ทันสมัยสามารถช่วยสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการเงินดิจิทัลได้ ในขณะเดียวกัน การทำให้ระบบการชำระเงินของภาครัฐเป็นระบบดิจิทัลในด้านการจ่ายเงินบำนาญ การโอนเงินสด และการจ่ายเงินโครงการด้านสังคมอื่นๆ จะทำให้เกิดแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างแรงกระเพื่อมในเรื่องนี้ได้

รายงานยังเน้นว่า การพัฒนาด้านดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่สามารถพึ่งพาแค่การมีรากฐานเสมือนจริง ภาคโลจิสติกส์ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับภูมิภาคนี้ กรอบกฎระเบียบข้อบังคับเรื่องโลจิสติกส์ที่ทันสมัยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ และปรับปรุงคุณภาพบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการปรับระเบียบพิธีการด้านศุลกากรให้ความคล่องตัวมากขึ้นเพื่อให้การขนส่งสินค้าเป็นไปอย่างรวดเร็ว ค่าใช้จ่ายลดลง และคาดการณ์เวลาได้ รวมถึงจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจการค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมาก

นอกจากนี้ การรวมตัวของภูมิภาค รวมถึงการประสานกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ และการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกรรมระหว่างประเทศในอาเซียนสามารถช่วยผสานประโยชน์ที่จะได้รับจากตลาดดิจิทัลทั้งในส่วนของธุรกิจและลูกค้าได้

สุดท้ายรายงานนี้นำเสนอว่า ในการจัดลำดับความสำคัญในเรื่องมาตรฐานและกฎระเบียบข้อบังคับที่มีประสิทธิภาพสำหรับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กระแสข้อมูลระหว่างประเทศ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ข้อมูลส่วนตัว และการปกป้องลูกค้านั้น จะต้องมีการระบุความเสี่ยงและความเปราะบางที่จะมาพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลด้วย มาตรการที่เข้มแข็งในประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความเชื่อใจในแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงสร้างความปลอดภัย เพื่อให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีความยั่งยืน