ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธนาคารโลกมองส่งออกไทยโตบวก 0.8% สวนทางค่ายอื่นคาดติดลบหมด – ชี้การก้าวข้าม “New Normal” ต้องแก้ 3 ประเด็น

ธนาคารโลกมองส่งออกไทยโตบวก 0.8% สวนทางค่ายอื่นคาดติดลบหมด – ชี้การก้าวข้าม “New Normal” ต้องแก้ 3 ประเด็น

5 ตุลาคม 2015


ชาบีห์ อาลี โมฮิบ ธนาคารโลก world bank eap2015_oct_worldbank
นายชาบีห์ อาลี โมฮิบ ผู้นำกลุ่มงานด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง การเงิน และสถาบัน ธนาคารโลก (ขวา)

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 ธนาคารโลกได้เผยแพร่รายงานเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific Update) ฉบับที่ 2 ของปี 2558 ปรับลดประมาณการจีดีพีของไทยลงจาก 3.5% ในการคาดการณ์เดือนเมษายน 2558 เหลือ 2.5% สืบเนื่องจากการส่งออกและอุปสงค์ภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ โดยมูลค่าการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 0.8% ปรับลดลงจากการคาดการณ์ในเดือนเมษายน 2558 ที่ 3.5% แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงและการอ่อนค่าของเงินบาทจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวได้ แต่ราคาสินค้าส่งออกหลักที่ลดลง รวมไปถึงอุปสงค์จากประเทศจีนและอาเซียนที่อ่อนแอลง อาจจะขัดขวางการขยายตัวดังกล่าวได้

ทั้งนี้ การบริโภคและการลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยว ยังถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ เช่นเดียวกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ที่ฟื้นตัวขึ้น ขณะเดียวกัน ธนาคารโลกได้ประมาณการเศรษฐกิจในปี 2559 และ 2560 ว่าจะเติบโตได้เพียง 2% และ 2.4% ตามลำดับ

นายชาบีห์ อาลี โมฮิบ ผู้นำกลุ่มงานด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง การเงิน และสถาบัน กลุ่มธนาคารโลก กล่าวเพิ่มเติมถึงเหตุผลของการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจครั้งนี้ รวมไปถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจในปี 2 ปีข้างหน้าว่าเป็นผลมาจากการส่งออกของไทยที่ปรับลดลงตามเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ในตลาดโลกที่อยู่ในระดับไม่สูงมาก นอกจากนี้ การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนที่ยังต่ำ ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปรับลดประมาณการครั้งนี้ลงด้วย ส่วนมาตรการกระตุ้นภาครัฐที่กำลังทยอยออกมานั้น คาดว่าจะส่งผลเพียงระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถคาดการณ์เป็นตัวเลขได้ เนื่องจากต้องคำนึงถึงการเบิกจ่ายในแต่ละระยะ

อย่างไรก็ดี นายชาบีห์ กล่าวถึงประมาณการส่งออกที่ธนาคารโลกปรับลดเหลือเพียง 0.8% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สวนทางกับสถาบันทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ทยอยปรับการคาดการณ์ส่งออกจนติดลบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ว่า เมื่อคาดการณ์ไปข้างหน้า ธนาคารโลกพบว่าเศรษฐกิจโลกยังมีโอกาสฟื้นตัวกลับมาในช่วงปลายปีและจะช่วยสร้างอุปสงค์ในสินค้าโดยเฉพาะจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกนี้

อย่างไรก็ตาม การส่งออกของแต่ละประเทศยังขึ้นอยู่กับ “ประเภทสินค้า” ที่ผลิตจะต้องสอดคล้องกับอุปสงค์ของโลกด้วย ซึ่งในกรณีของประเทศไทย ธนาคารโลกคาดว่าสินค้าหลายชนิดจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงปลายปี

“เรื่องการส่งออก ผมอยากจะทิ้งประเด็นเอาไว้ว่า การเข้าไปสู่ห่วงโซ่การผลิตของโลกเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะว่า การผลิตสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลกนั้น ประเทศต้องอาศัยเทคโนโลยีการผลิตที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหมายความว่าเมื่อเวลาผ่านไปประเทศโดยรวมจะเกิดการเพิ่มระดับทักษะและเทคโนโลยีต่างๆ มากขึ้น และสุดท้ายจะส่งผลไปถึงการส่งออกที่มากขึ้นด้วย ตรงนี้เราจึงมองในมุมบวกเกี่ยวกับการค้าและเศรษฐกิจโลก เรามองว่าไทยยังมีโอกาสอีกมากมายที่สามารถทำได้ ทำให้เรายังค่อนข้างมองโลกในแง่ดีกว่าหลายสำนักเรื่องการส่งออก อย่างไรก็ตาม 0.8% มันก็ไม่ได้เป็นตัวเลขที่เรียกว่าสูงนะ” นายชาบีห์ กล่าว (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

จีดีพีไทย

ดัชนีเศรษฐกิจไทย

นายชาบีห์ ยังกล่าวถึง “บริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ” ของไทยที่หลายฝ่ายกังวลว่าไทยจะเติบโตในระดับเพียง 2-3% ว่า ธนาคารโลกคิดว่าประเทศไทยยังมีโอกาสมากมายที่สามารถจัดการ เพื่อช่วยเพิ่มระดับของการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะกลางได้ อย่างน้อยใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิด ดังนั้น การรวมกลุ่มเศรษฐกิจโลกมากขึ้นจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ ผ่านการค้าและการส่งออกมากขึ้น 2) การพัฒนาทักษะและนวัตกรรม เนื่องจากการผลิตสินค้าในปัจจุบันต้องการเทคโนโลยีที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เพื่อสร้างโอกาสจากแนวโน้มโน้มตรงนี้ของประเทศไทย การพัฒนาทักษะและนวัตกรรมจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะผ่านระบบการศึกษาที่สร้างแรงงานที่สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีจนไปถึงการสร้างเทคโนโลยีได้เองในท้ายที่สุด 3) การเชื่อมโยงผ่านการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน

“ดังนั้น เมื่อพูดถึงบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ ธนาคารโลกกลับรู้สึกว่าไทยมีโอกาสอีกมากมายในอนาคตที่สามารถสร้างการเติบโตให้สูงกว่าระดับที่เป็นอยู่นี้ได้ ที่กล่าวไปคือ 3 ตัวอย่างที่เราหยิบขึ้นมาเน้นย้ำ ขณะที่การคาดการณ์เศรษฐกิจควรจะต้องมองลักษณะสัมพันธ์กัน อย่างที่กล่าวว่าไทยโตต่ำที่สุดในอาเซียน ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไทยไม่ดี แต่หมายความว่าประเทศอื่นๆ ทำงานมากกว่า เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สร้างทักษะแรงงาน สร้างความรู้ต่างๆ ดังนั้น ไทยเองก็สามารถทำได้มากกว่าในประเด็นพวกนี้ และเมื่อเราดูย้อนกลับไป 30-40 ปี เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจว่าเราเป็นประเทศที่เน้นภาคเอกชน เน้นการส่งออก เน้นการรวมกลุ่ม ดังนั้น คำถามคือทำไมไม่รวมกลุ่มมากขึ้น เชื่อมโยงมากขึ้น และเพิ่มทักษะและเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อสร้างสินค้าประเภทต่างๆ ไปขายในประเทศต่างๆ มากขึ้น เรื่องทั้งหมดจึงเกี่ยวกับการทำงานมากขึ้นเพื่อให้เติบโตได้สูงขึ้น สิ่งนี้ทำให้เรามองในแง่ดีว่า ในระยะกลางไทยยังมีอะไรให้ทำได้ใน 3 ประเด็นดังกล่าว เพื่อให้การเติบโตกลับมาสูงเหมือนเดิม” นายชาบีห์ กล่าว

ทั้งนี้ โดยรวมภูมิภาคเอเชียตะวันออกยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ โดย 2 ใน 5 ของการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมาจากภูมิภาคนี้  โดยรวมแล้วเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะเติบโตระดับปานกลางที่ 6.5%  ลดลงเล็กน้อยจาก 6.8% ในปีที่แล้ว ประเทศจีนจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 7% ในปีนี้ และจะชะลอตัวลงอยู่ในระดับปานกลางหลังจากนี้  เนื่องจากเศรษฐกิจจีนกำลังปรับตัวไปสู่การเติบโตจากการบริโภคในประเทศและจากภาคบริการ ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกคาดว่าจะเติบโต 4.6% ในปี 2558

อ่านเพิ่มเติม รายงานฉบับเต็ม และ รายงานประเทศไทย