ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์ฯชี้พิษโควิดฯ คนจนเพิ่มขึ้น

สภาพัฒน์ฯชี้พิษโควิดฯ คนจนเพิ่มขึ้น

3 พฤศจิกายน 2020


นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สภาพัฒน์ ฯเผยปี 2562 คนจนลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน ผลจากการขยายกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่ม จาก 11.4 ล้านคน เป็น 14.5 ล้านคน แต่พิษโควิดฯ-ปี 2563 หวั่นคนจนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)  เปิดเผยว่า สศช. ได้จัดทำรายงานสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำเป็นประจำทุกปี  ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เพื่อนำเสนอสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งการวิเคราะห์ลักษณะของปัญหาและนโยบายหรือโครงการสำคัญของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของ สศช. เพื่อให้สาธารณชน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้

รายงานสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำในปี 2562 ซึ่งเป็นการรายงานสถานการณ์ล่าสุดของ สศช. พบว่า สัดส่วนคนยากจนลดลงจากร้อยละ 9.85 ในปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.24 ในปี 2562 หรือมีคนจนจำนวน 4.3 ล้านคน ลดลงจาก 6.7 ล้านคนในปีก่อนหน้า ซึ่งจำนวนลดลงประมาณ 2.4 ล้านคน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแนวโน้มของความยากจน ในระหว่างปี 2541-ถึงปัจจุบัน สัดส่วนและจำนวนคนจนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนคนยากจน 25.8 ล้านคนหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.63 ในปี 2541 ลดลงเหลือ 11.6 ล้านคน หรือ ร้อยละ 17.88 ในปี 2552 และลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน หรือ ร้อยละ 6.24 ในปี 2562

สำหรับสถานการณ์ความยากจนในระยะ 5 ปีหลัง (ปี 2558 – 2562) พบว่า สัดส่วนคนจนอยู่ในระดับต่ำ โดยมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 และมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 ครั้ง คือ ปี 2559 และ 2561 โดยสัดส่วน คนยากจนที่เพิ่มขึ้นในปี 2559 เกิดจากผลกระทบของปัญหาภัยแล้ง ขณะที่ในปี 2561 เกิดจากการชะลอตัว ของเศรษฐกิจต่างประเทศ เงินบาทแข็งค่า และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ซึ่งส่งผลสืบเนื่อง ต่อผู้มีรายได้น้อยซึ่งสอดคล้องกับการรายงานของธนาคารโลก (World Bank, 2019. “Taking The Pulse of Poverty and Inequality in Thailand”)

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ความยากจนในระยะหลัง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)และธนาคารโลก ระบุว่า อาจเกิดจากความยากจนของไทยลดลงมากจากอดีตที่ผ่านมา จนทำให้ครัวเรือนที่มีสถานะยากจนอยู่ในปัจจุบันเป็นครัวเรือนที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง หรืออยู่ในกับดักของความยากจน ซึ่งต้องมีนโยบายแก้ปัญหาความยากจนอย่างตรงจุด

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์กลุ่มคนยากจนในระยะหลัง พบว่า ครัวเรือนยากจน 1 ใน 3 เป็นผู้ไม่ปฏิบัติงานในเชิงเศรษฐกิจ (Economically Inactive Household) มีการพึงพิงสูงโดยมีเด็กและผู้สูงอายุจำนวนมากในครัวเรือน และจบการศึกษาในระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า (คนจนร้อยละ 79.18 จบการศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า) อีกทั้งผู้มีงานทำที่ยากจนส่วนใหญ่ทำงานในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีรายได้น้อย สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยากจนมีความสามารถในการสร้างรายได้ได้น้อย

การปรับตัวลดลงของคนจนในปี 2562 สาเหตุสำคัญเกิดจากการขยายความครอบคลุมมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในปี 2562 โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยโดยตรง โดยในปี 2562 มีผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนทั้งหมด 14.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาจากปี 2561 ที่มี 11.4 ล้านคน จากการที่รัฐบาลได้เปิดการลงทะเบียนรอบพิเศษ (ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2561) สำหรับกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนในรอบก่อนหน้า

โดยผู้ที่มีบัตรฯ จะได้รับการช่วยเหลือด้านภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันรายเดือน ได้แก่ วงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 200 – 300 บาท/เดือน ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะวงเงินรวมสูงสุด 1,500 บาท/เดือน และค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท/3 เดือน อีกทั้งคนยากจนบางส่วนยังได้รับการเงินช่วยเหลือจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ , คนพิการ และเงินอุดหนุน เพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พบว่า โดยเฉลี่ยรัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือคนยากจนทั้งสิ้น 1,079 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 39.1 ของเส้นความยากจน (เส้นยากจนปี 2562 เฉลี่ยเท่ากับ 2,763 บาท/เดือน)

อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนคนจนในปี 2562 จะมีแนวโน้ม “ลดลง” แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจนให้อยู่ในระดับต่ำยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากในปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นวงกว้าง และยังมีความไม่แน่นอนว่าการแพร่ระบาดจะต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ความยากจนในปี 2563 กลับไป “แย่ลง” อีกครั้ง

รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ขอเรียนว่าการนำเสนอสถานการณ์ และการวิเคราะห์ข้อมูล สำนักงานฯ ยึดหลักวิชาการ และความถูกต้องเป็นหลัก เพื่อสะท้อนผลการพัฒนาที่แท้จริงสู่ประชาชน และใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแนวทางการพัฒนาให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศมีการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน