ThaiPublica > คนในข่าว > “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” white lie โกหกสีขาว (อีกแล้ว) กรณีเงินกู้โปะจำนำข้าว 1.3 แสนล้าน

“กิตติรัตน์ ณ ระนอง” white lie โกหกสีขาว (อีกแล้ว) กรณีเงินกู้โปะจำนำข้าว 1.3 แสนล้าน

10 มกราคม 2014


หลังจากการแถลงข่าวของ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่าจะกู้เงินอีก 1.3 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวในฤดูการผลิต 2556/57 ซึ่งเงินกู้ 1.3 แสนล้านบาท ที่ว่านี้เป็นการก่อหนี้ใหม่ ก็มีคำถามตามมาทันทีว่ารัฐบาลรักษาการสามารถทำได้หรือไม่ จะมีการ “ลักไก่” ที่อาจจะเข้าข่ายผิดมาตรา 181 (3) และ (4) ของกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่

มาตรา 181 (3) ระบุว่า “กรณีรัฐบาลยุบสภา คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีจะปฏิบัติที่หน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขเท่าที่กำหนดคือ ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป”

มาตรา 181 (4) ระบุว่า “ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งและไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

ดังนั้น “โครงการรับจำนำข้าว” ที่รัฐบาลพยายามผลักดันหาเงินมาโปะโครงการรับจำนำข้าวนาปี ในฤดูการผลิต 2556/57 จึงต้องนำเข้า ครม. เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมาเพื่อรับทราบเท่านั้น และส่งเรื่องต่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่ออนุมัติการกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท

แต่ “นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง” รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พยายามชี้แจงว่า โครงการรับจำนำข้าวนาปีฤดูการผลิต 2556/57 สามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นโครงการต่อเนื่อง ไม่ใช่การอนุมัติโครงการใหม่ ด้วยการอ้างถึงมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 ที่กำหนดวงเงินของโครงการรับจำนำข้าวนาปี ฤดูการผลิต 2556/57 ไว้ที่ 2.7 แสนล้านบาท ฉะนั้นจึงถือว่าเป็นโครงการเดิมและเป็น กรอบวงเงินใหม่ ไม่เกี่ยวกับวงเงินเดิมที่กำหนดไว้ 5 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกัน ได้อ้างมติคณะกรรมการนโยบายกำกับและบริหารหนี้สาธารณะ(ประชุมเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2557 หลังจากรัฐบาลยุบสภาแล้ว) มีนายกิตติรัตน์นั่งเป็นประธานคณะกรรมการฯ วาระคือการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะใหม่ โดยให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ดำเนินการกู้เงินอีก 1.3 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าวนาปีฤดูการผลิต 2556/57

การปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะใหม่คือประเด็นหลักที่ไม่สามารถทำได้ในช่วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการ เพราะถือว่าผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) และ (4) ตามรายละเอียดข้างต้น

การปรับปรุงที่ว่าคือการปรับเปลี่ยนไส้ในการกู้เงิน โดยการสลับและปรับลดแผนการกู้เงินของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย วงเงิน 120,000 ล้านบาท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย วงเงิน 8,000 ล้านบาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ วงเงิน 10,000 ล้านบาท รวมวงเงินแล้วใกล้เคียงกับวงเงินกู้ 130,000 ล้านบาท ที่จะนำมาใช้สำหรับโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2556/57 ที่ชาวนากำลังประท้วงเพราะไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวในขณะนี้

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่สำนักบริหารหนี้อึดอัดเป็นอย่างมาก ว่าทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และได้แจกแจงให้คุณกิตติรัตน์ฟัง ซึ่งก็รับรู้แล้วว่าการปรับปรุงแบบนี้ทำไม่ได้ในภาวะที่เป็นรัฐบาลรักษาการ นอกจากนี้เป็นการใช้เกินวงเงิน 500,000 ล้านบาท สำหรับโครงการรับจำนำข้าวตามที่มีมติไว้ และการเร่งกู้ก้อนนี้เพราะรัฐบาลไม่มีเงินจ่ายค่าจำนำข้าว พร้อมระบุว่าถ้า กกต. อนุมัติก็พร้อมจะกู้ก้อนแรก 50,000 ล้านบาท ทันที” แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าว

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการอนุมัติวงเงินที่ใช้สำหรับโครงการรับจำนำข้าว 2 ปี ต้องไม่เกิน 500,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้รวมไม่เกิน 410,000 ล้านบาท บวกกับเงินของ ธ.ก.ส. อีก 90,000 ล้านบาท ที่ผ่านมามีการใช้ไปเต็มวงเงิน 500,000 ล้านบาทแล้ว และยังให้ ธ.ก.ส. ทดรองจ่ายเพิ่มอีก 180,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 680,000 ล้านบาท โดยมติ ครม. กำหนดให้ภายใน 31 ธันวาคม 2556 ต้องกดยอดเงินที่ใช้ในโครงการจำนำข้าว 2 ปี ให้เหลือ 500,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลไม่สามารถทำได้ ส่งผลให้ สบน. ไม่สามารถกู้เงินมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าว 2556/57 ได้ ทั้งๆ ที่วงเงินใหม่ในแผนการก่อหนี้เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 และที่สำคัญ วงเงินที่ใช้รับจำนำข้าวปี 2556/57 นั้นจะต้องอยู่ภายใต้กรอบวงเงิน 500,000 ล้านบาท

ดังนั้น ทั้งสองประเด็นที่ “กิตติรัตน์” ให้เหตุผลนั้น แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า เป็น “โกหกคำโต” เพราะความจริงรู้อยู่แล้วว่าทำไม่ได้ แต่ก็ดึงดันเสนอ ครม. และ กกต. นับเป็นการ white lie อีกครั้งของ “กิตติรัตน์” หลังจากที่เคยยอมรับว่า white lie เรื่องเป้าการส่งออกในปี 2555

ประเด็นแรก เรื่องกรอบวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท ที่นายกิตติรัตน์ระบุว่าเป็นโครงการใหม่ ถ้า “ย้อนรอย” ไปดูมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 จะพบว่า มติ ครม. เขียนเป็น กรอบกว้างๆ ไว้ว่า

“อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ภายใต้กรอบวงเงินของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 จำนวน 2.7 แสนล้านบาท ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้ให้ความเห็นชอบไว้…”

และมติ ครม. วันที่ 3 กันยายน 2556 มีข้อความต่อท้ายเพิ่มอีกว่า

“ให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) เกี่ยวกับแหล่งเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ในโครงการฯ….”

มติครม. วันที่ 3 กันยายน 2556 เรื่องโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ที่มา : http://www.cabinet.soc.go.th
มติครม. วันที่ 3 กันยายน 2556 เรื่องโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ที่มา : http://www.cabinet.soc.go.th

ดังนั้น เนื้อหาของมติ ครม. วันที่ 3 กันยายน 2556 ถ้าดูข้อความทุกองค์ประกอบ หมายความว่า แม้จะกำหนดกรอบวงเงินไว้ 2.7 แสนล้านบาท แต่ต้องรับฟังความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสภาพัฒน์ฯ ที่ได้เสนอไว้ด้วย

ทั้งนี้ “หนังสือ” แสดงความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสภาพัฒน์ฯ ที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีส่งให้กระทรวงพาณิชย์รับไปดำเนินการนั้น พบว่าความเห็นที่มีนัยสำคัญอยู่ที่ “หนังสือแสดงความเห็นของกระทรวงการคลัง” ที่ลงนามโดยนายกิตติรัตน์ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 ซึ่งระบุว่า

เพื่อให้การดำเนินการโครงการมีภาระค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงผลขาดทุนที่เกิดขึ้น และเพื่อรักษาวินัยการคลัง กระทรวงการคลังจึงมีข้อสังเกตเพิ่มเติมคือ วงเงินสำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 จะต้องอยู่ภายใต้กรอบสินเชื่อ 4.1 แสนล้านบาท และเงินทุน ธ.ก.ส. 9 หมื่นล้านบาท ตามที่ ครม. ได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 และวันที่ 10 มิถุนายน 2556

หนังสือจำนำข้าว

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า หนังสือแสดงความคิดเห็นของกระทรวงการคลัง เป็นหลักฐานยืนยันว่า กรอบวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท ไม่ได้เป็นกรอบวงเงินใหม่ แต่ต้องเป็นกรอบเดิมภายใต้วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพราะฉะนั้น กระทรวงการคลังจะกู้เงินเพิ่ม 1.3 แสนล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินใหม่ 2.7 แสนล้านบาท อย่างที่รักษาการรัฐมนตรีคลังบอกคงไม่ได้

“ดังนั้น ถ้าจะกู้ ต้องกู้ภายใต้กรอบวงเงินเดิมคือ 5 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีเพดานเหลือเพียงเล็กน้อย แสดงให้เห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวจะเดินต่อไม่ได้เพราะไม่มีเงินแล้ว” ดร.นิพนธ์กล่าว

ฉะนั้น แม้มติ ครม. วันที่ 3 กันยายน 2556 จะกำหนดเพียงกรอบวงเงินกว้างๆ แต่หากดำเนินการตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ก็ชัดเจนว่า กรอบวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท ไม่ใช่กรอบวงเงินใหม่ แต่อยู่ในกรอบวงเงินเดิม 5 แสนล้านบาท

ดังนั้น สบน. จึงดำเนินการกู้เพิ่มภายใต้กรอบวงเงินใหม่ไม่ได้ เนื่องจากอาจจะเป็นการสร้างภาระผูกพันให้คณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ซึ่งเสี่ยงจะเข้าข่ายผิดมาตรา 181 (3) และอาจมีผลต่อการเลือกตั้งตามมาตรา 181 (4)

ประเด็นที่สอง เรื่องการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ การกู้เงินเพิ่ม 1.3 แสนล้านบาท ที่คณะกรรมการนโยบายกำกับและบริหารหนี้สาธารณะมีมติให้ปรับปรุงแผนฯ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2557 ซึ่งดำเนินการหลังจากรัฐบาลยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 เป็นอีกเรื่องที่ไม่น่าจะสามารถดำเนินการได้ในขณะเป็นรัฐบาลรักษาการ เพราะเป็นการอนุมัติวงเงินกู้โครงการใหม่ที่อาจจะเข้าข่ายผิดมาตรา 181 (3) ได้เช่นกัน

เนื่องจากการปรับปรุงแผนบริหารหนี้ ทำให้มีการอนุมัติโครงการใหม่เพิ่มขึ้นคือเงินกู้ 1.3 แสนล้านบาทสำหรับโครงการจำนำข้าว ขณะเดียวกันก็ไปปรับเปลี่ยนเงินกู้โครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่วางแผนการกู้เงินไว้ก่อนหน้านี้ และผ่านมติ ครม. ไปแล้ว

ทั้งนี้ การปรับปรุงแผนบริหารหนี้ที่มีมติคณะกรรมการฯ ในวันที่ 3 มกราคม 2557 แม้จะมีการกู้เพิ่ม 1.3 แสนล้านบาท แต่หนี้สาธารณะโดยรวมลดลง 5,000 ล้านบาท ซึ่งถ้ามองในแง่ภาพรวมของหนี้สาธารณะก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

ทว่า ประเด็นไม่ใช่เรื่องของหนี้สาธารณะที่ลดลง แต่อยู่ที่มีการปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะใหม่ ซึ่งกรณีนี้แหล่งข่าวกระทรวงการคลังระบุว่าไม่สามารถกระทำได้ และเข้าข่ายผิดมาตรา 181 (3) อย่างดิ้นไม่ได้ และสุ่มเสี่ยงผิดมาตรา 181 (4) ด้วย เนื่องจากเป็นการนำทรัพยากรซึ่งก็คือเงินไปใช้ในโครงการจำนำข้าวที่อาจมีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง ทำให้เกิดการได้เปรียบในการสร้างคะแนนนิยมได้มากกว่าผู้สมัครพรรคอื่น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดย นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการ กกต. ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการรับจำนำข้าว 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีส่งเรื่องมาให้ กกต. พิจารณาว่ายังไม่มีการพิจารณาและเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาเพราะเป็นเรื่องใหญ่ ต้องดูข้อกฎหมายให้ดี โดยเฉพาะมาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญ ต้องดูให้ดีว่าไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการผูกพันต่อ ครม. ชุดต่อไป

“กกต. แต่ละท่านจึงขอไปศึกษาดูรายละเอียดก่อนว่าจะเชิญใครมาให้ข้อมูลหรือไม่เพื่อให้เกิดความชัดเจน หากจำเป็นจะให้ทางสำนักงาน กกต. เป็นคนเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง ซึ่งอาจจะมีการพิจารณาในสัปดาห์หน้า” นายธนิศร์กล่าว

ทั้งนี้ การพิจารณาของ กกต. ว่าจะอนุมัติให้กู้เงินเพิ่ม 1.3 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจำนำข้าวหรือไม่ มีนักกฎหมายตั้งข้อสังเกตว่า กกต. จะพิจารณาโดยยึดตามมาตรา 181 (4) เท่านั้น เพราะเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส่วนมาตรา 181 (3) เป็นเรื่องว่าด้วยการขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้น การตัดสินว่าทำได้หรือไม่ได้ต้องเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

เพราะฉะนั้น การส่งเรื่องให้ กกต. พิจารณาอนุมัติอาจไม่เพียงพอที่จะชี้ขาดว่าทำได้หรือไม่ได้ แต่ควรจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตัดสินเรื่องนี้ด้วย ไม่เช่นนั้น หากทำไปแล้วเกิดมีการไปฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความหรือพิจารณาว่าผิดมาตรา 181 (3) หรือไม่ ซึ่งหากปรากฏว่ามีความผิดขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบและรับโทษคือรัฐบาลและคณะกรรมการนโยบายกำกับและบริหารหนี้สาธารณะที่ดำเนินการในเรื่องนี้

ในที่สุดรัฐบาลจะเดินหน้าโครงการจำนำข้าวต่อได้หรือไม่ คงต้องรอฟังคำตอบจาก กกต. และอาจจะรวมไปถึงการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญด้วย

แต่ประเด็นในขณะนี้คือ จากข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ ทำให้เชื่อได้ว่า ลึกๆ แล้วรัฐบาลรู้อยู่แก่ใจว่าการกู้เงินอีก 1.3 แสนล้านบาท เพื่อมาโปะโครงการรับจำนำข้าวไม่น่าจะทำได้ เพราะติดขัดเรื่องกฎหมาย แต่ต้องเดินหน้าผลักดันเพื่อลดแรงกดดันทางการเมือง ซึ่งชาวนากำลังเปิดศึกกับรัฐบาล โดยยื่นคำขาดว่าหากไม่ได้รับเงินจากการจำนำข้าว จะรวมตัวกันชุมนุมประท้วงปิดถนน และอาจเดินทางบุกเข้ากรุงเทพฯ เพื่อกดดันรัฐบาลให้หาเงินมาจ่ายโดยเร็ว

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง

หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนั้น รัฐบาลคงลำบาก เจอศึกสองด้าน ทั้งกลุ่มมวลมหาประชาชน และกลุ่มชาวนา ดังนั้น เพื่อลดแรงกดดันจากกลุ่มชาวนาที่ไม่ได้รับเงินจำนำข้าว จึงส่งนายกิตติรัตน์ ซึ่งได้ฉายาว่า “มิสเตอร์ไวท์ ไล” ออกมา “โกหกสีขาว” ( white lies) อีกครั้ง ด้วยการบอกว่า “โครงการรับจำนำข้าวเดินหน้าต่อได้ตามมติ ครม. และรัฐบาลจะกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาทมาใช้ในโครงการรับจำนำเพื่อช่วยเหลือชาวนา”

สรุปประเด็นมติ ครม. เรื่องจำนำข้าวที่เกี่ยวข้องกับกรอบวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท ในฤดูการผลิต 2556/57

7 มกราคม 2557 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวนาปี ฤดูการผลิต 2556/57 ว่า ที่จะมีการใช้เงินหมุนเวียนในการดำเนินโครงการดังกล่าว จำนวน 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาได้เห็นชอบกรอบวงเงินดังกล่าวไปแล้ว โดยแบ่งออกเป็น วงเงินกู้ 130,000 ล้านบาท และเงินจากการระบายข้าวของทางกระทรวงพาณิชย์ 140,000 ล้านบาท

3 กันยายน 2556 อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ภายใต้กรอบวงเงินของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 วงเงิน 270,000 ล้านบาท ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้ให้ความเห็นชอบไว้ เพื่อให้ข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นไปตามคุณภาพมาตรฐานที่กำหนด และเกษตรกรได้เข้าร่วมโครงการฯ อย่างทั่วถึงและได้รับราคาจำนำอย่างเป็นธรรมตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ ให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกี่ยวกับแหล่งเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ในโครงการฯ ควรประกอบด้วยเงินทุนที่กระทรวงการคลังจัดหาให้แก่ ธ.ก.ส. ตลอดจนเงินที่ได้รับจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ตามความจำเป็นและเหมาะสม และให้ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายเงินเพื่อดำเนินโครงการฯ ไปก่อน ในช่วงระยะเวลาที่รอการจัดหาเงินทุนของกระทรวงการคลัง หรือเงินที่ได้รับจากการระบายข้าว

10 มิถุนายน 2556 กรณีมีความจำเป็น ให้ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อนระหว่างรอเงินจากการระบายข้าว หรือเงินจากแหล่งอื่น ๆ ให้กระทรวงพาณิชย์ตกลงกับ ธ.ก.ส. เป็นคราว ๆ ไป โดย ธ.ก.ส. จะได้รับอัตราชดเชยต้นทุนเงินและค่าบริหารโครงการในอัตราเดิมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 (เรื่อง รายงานผลการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 และพิจารณาปริมาณและวงเงินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56)

ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 กระทรวงพาณิชย์ต้องดำเนินการในกรอบวงเงินหมุนเวียนของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/55 และ 2555/56 ไม่เกินจำนวน 500,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินทุนของ ธ.ก.ส. จำนวน 90,000 ล้านบาท และเงินกู้ที่กระทรวงการคลังจัดหาให้ จำนวน 410,000 ล้านบาท

2 ตุลาคม 2555 ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้ของ ธ.ก.ส. ที่เกิดจากการกู้เงินและการบริหารจัดการหนี้ของ ธ.ก.ส. โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ในแต่ละครั้งตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 วงเงินกู้ไม่เกิน 161,000 ล้านบาท ได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น

รวมทั้งการบริหารจัดการหนี้ร่วมกับ ธ.ก.ส. ด้วยการ Refinance หรือ Roll over หรือ Prepayment โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันจนกว่าจะมีการชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้น รัฐบาลรับภาระชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยจากการกู้เงินและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากโครงการทั้งหมด