ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > เงินกู้ 1.3 แสนล้านโปะจำนำข้าว เสี่ยงผิด รธน. มาตรา 181 (3) – ครม. โยนเผือกร้อนให้ กกต.

เงินกู้ 1.3 แสนล้านโปะจำนำข้าว เสี่ยงผิด รธน. มาตรา 181 (3) – ครม. โยนเผือกร้อนให้ กกต.

8 มกราคม 2014


ภายใต้สถานการณ์รัฐบาล “รักษาการ” หากจะดำเนินนโยบายอะไร ถ้ารัฐบาลไม่แน่ใจว่าเป็นนโยบายต่อเนื่องหรือไม่ ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาเห็นชอบก่อน เพราะถ้าดำเนินนโยบายอย่างไม่ระมัดระวังอาจมีความ “สุ่มเสี่ยง” กระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) ที่ระบุว่า

“กรณีรัฐบาลยุบสภา คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีจะปฏิบัติที่หน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขเท่าที่กำหนดคือ ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป”

กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3)

ฉะนั้น “นโยบายรับจำนำข้าว” ที่รัฐบาลรักษาการ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยายามเดินหน้าต่อในโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/57 ด้วยเพิ่มกรอบ “วงเงิน” ใหม่จำนวน 2.7 แสนล้านบาท และให้กระทรวงการการคลังปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ “กู้เงิน” จำนวน 1.3 แสนล้านบาท ก็อาจ “เข้าข่าย” ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3)

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า รัฐบาลไม่สามารถดำเนินโครงการรับจำนำข้าวต่อไปได้ เพราะเป็นโครงการใหม่ ดังนั้นอาจจะผิดมาตรา 181 (3) ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงเขียน “จดหมายเปิดผนึก” ถึง กกต. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาว่าขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังเห็นท่าทีของกระทรวงการคลังที่จะเดินหน้ากู้เงินเพิ่ม 1.3 แสนล้านบาท เพื่อนำไปโปะโครงการจำนำข้าว

หนังสือจำนำข้าว

ขณะที่ทางฟากรัฐบาล หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 มกราคม 2556 แม้ว่ารักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง “นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง” ออกมาระบุว่า โครงการจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/57 เป็นนโยบายต่อเนื่องที่ดำเนินการได้ เพราะเป็นเรื่องต่อเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี ( ครม. ) เดิมที่ให้เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 ก่อนที่จะมีการยุบสภา แต่ก็ไม่กล้าผลีผลามดำเนินการทันทีจึงมีการส่งเรื่องนี้ให้ กกต. พิจารณาก่อน เหมือนกรณีระบายขายข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ได้ทำเรื่องส่งให้ กกต. พิจารณาไปก่อนหน้านี้แล้ว

นายกิติรัตน์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า กระทรวงการคลังได้รายงานให้ ครม. ทราบว่า สำหรับฤดูการรับจำนำนาปี 2556/2557 ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 จะสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ในการดำเนินการตรงนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีกรอบงานเอาไว้ก็คือรับจำนำไม่เกินวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท เป็นการพิจารณาอนุมัติไว้ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นเรื่องที่ดำเนินการมาต่อเนื่อง และคณะกรรมการนโยบายหนี้สาธารณะได้คำนวณแล้วว่าวงเงินที่จะใช้คงจะไม่เกิน 1.3 แสนล้านบาท

“ความจริงได้ดำเนินการขอความเห็นส่วนราชการที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ซึ่งก็ยืนยันเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้ เพราะว่าเป็นเรื่องต่อเนื่องจากมติ ครม. เดิมที่ให้ไว้เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจจะได้ทำเรื่องนี้ขอความเห็นชอบจาก กกต. เสียก่อน แล้วก็เมื่อ กกต. เห็นชอบแล้ว ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป ก็เรียนว่าทั้งหมดก็จะมีการคืบหน้าที่ดี” นายกิตติรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ นายกิตติรัตน์ยืนยันว่า การดำเนินการทุกอย่างทำตามมติ ครม. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรอบวงเงินโครงการจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/57 จำนวน 2.7 แสนล้านบาท และการปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะด้วยการกู้เงินเพิ่มจำนวน 1.3 แสนล้านบาท

“การขอกรอบวงเงิน 2.7 แสนล้านบาทเป็นกรอบวงเงินใหม่ไม่เกี่ยวกับกรอบวงเงินเดิม 5 แสนล้านบาท เพราะการเสนอเรื่องให้ ครม. ครั้งนั้น เป็นการเสนอโดยกระทรวงการคลัง และความเห็นของกระทรวงการคลังก็ลงนามโดยตัวเอง” นายกิตติรัตน์กล่าว

พร้อมกล่าวว่า มติ ครม. ได้ระบุไว้ว่าการดำเนินโครงการรับจำนำขอให้อยู่ในกรอบ 5 แสนล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 เดิมเขามีเจตนาเพื่อให้แน่ใจว่าตอนสิ้นปี 2556 จะไม่มีเหตุผลต้องใช้เงินเกินกรอบที่กำหนดไว้ 5 แสนล้านบาท ดังนั้น การจะดำเนินการต่อจากตอนนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันของฤดูการผลิต 2556/57

ส่วนประเด็นการปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท สำหรับใช้ในโครงการรับจำนำข้าว 2556/57 ซึ่งมีการประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2557 หลังมีการยุบสภานั้น แหล่งข่าวจาก สบน. เปิดเผยว่า ทางการเมืองได้มีการสั่งการให้หาแหล่งเงินที่สามารถปรับลดเพื่อมาทดแทนวงเงินกู้ 1.3 แสนล้านบาทให้ได้ จากการดำเนินการของ สบน. ก็ได้มีการปรับลดวงเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ โครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 120,000 ล้านบาท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 8,000 ล้านบาท และธนาคารอาคารสงเคราะห์ 10,000 ล้านบาท เมื่อรวมกันแล้ววงเงินจะใกล้เคียงกับวงเงินกู้ 1.3 แสนล้านบาท

ต่อประเด็นนี้ นายกิตติรัตน์กล่าวว่าสามารถทำได้ เพราะจริงๆ แล้วแผนบริหารหนี้สาธารณะจะประกอบไปด้วยการดำเนินการทั้งลด ทั้งชำระคืนเงินกู้ ทั้งต่อเงินกู้ และอะไรต่างๆ อย่างไรก็ตาม แผนบริหารหนี้สาธารณะก็ต้องเสนอให้ ครม. ทราบอยู่ดี แล้วก็เป็นการเสนอโดยผ่านการกลั่นกรองของอนุกรรมการ เพราะฉะนั้น จะไม่ใช่เรื่องข้าวอย่างเดียว จะเป็นเรื่องอื่นด้วย แล้วก็อาจจะมีเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจแห่งอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้เท่านั้น

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“ตอนนี้ผมทำตามมติ ครม. คือ ฤดูกาลใหม่จะต้องอยู่ในวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท แล้วไม่ต้องใช้ถึง เพราะใช้แค่ 1.3 แสนล้านบาท” นายกิตรัตน์กล่าว

ขณะที่ นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ชี้แจงการปรับแผนหนี้สาธารณะกู้เงินเพิ่ม 1.3 แสนล้านบาทสำหรับโครงการรับจำนข้าวฤดูการผลิต 2556/57 ว่า โดยในสถานการณ์ปกติ ทุกๆ ปี สบน. จะมีการประชุมเพื่อทบทวนแผนการบริหารหนี้ 3-4 ครั้ง หรือทุกไตรมาส การพิจารณามีทั้งการปรับวงเงินกู้เพิ่ม หรือลดวงเงินกู้ของหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้แจ้งความประสงค์เข้ามาที่ สบน.

ตัวอย่างเช่น โครงการที่เคยบรรจุไว้ในแผนการกู้เงิน วันนี้อาจจะไม่ต้องกู้แล้ว เพราะว่าตอนนี้มีรายได้เพียงพอ จึงไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงิน สบน. จะส่งให้คณะกรรมการชุดนี้ปรับวงเงินลดลง หากโครงการใดมีความจำเป็น คณะกรรมการชุดนี้ก็ปรับวงเงินกู้เพิ่มขึ้น อันนี้เป็นการดำเนินการในสถานการณ์ปกติตาม พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ที่กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะมีหน้าที่จัดทำแผนงานบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ

“แต่กรณีที่ไม่ปกติคือเป็นรัฐบาลรักษาการ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะต้องส่งเรื่องไปขอความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน หากไม่ทำเกรงจะเป็นการละเว้นปฏิบัติ เรื่องการหารือเป็นหน้าที่ของเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเรื่องไปหารือ กกต. ในส่วนของ สบน. เราทำตามหน้าที่ของเราตาม พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ 2548” นางสาวจุฬารัตน์กล่าว

เพราะฉะนั้น โครงการรับจำนำข้าวนาปีฤดูการผลิต 2556/57 ของรัฐบาลรักษาการ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กับการเดินหน้ากู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินใหม่ 2.7 แสนล้านบาท จะเดินหน้าต่อได้หรือไม่ ต้องรอฟังคำตอบจาก “กกต.” ก่อน

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาทนี้ในข้อเท็จจริงทั้งหมดนั้นไม่สามารถทำได้ และเจ้าหน้าที่ สบน. ได้มีการท้วงติงไปแล้วว่าผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) ทั้งนี้เนื่องจากโครงการรับจำนำข้าว 2 ปีที่ผ่านมา มีการอนุมัติวงเงินว่าต้องใช้ไม่เกิน 500,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้รวมไม่เกิน 410,000 ล้านบาท และเงินของ ธ.ก.ส. 90,000 ล้านบาท ที่ผ่านมามีการใช้ไปเต็มวงเงิน 500,000 ล้านบาท และยังให้ ธ.ก.ส. ทดรองจ่ายเพิ่มอีก 180,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 680,000 ล้านบาท โดยมติ ครม. กำหนดให้ภายใน 31 ธันวาคม 2556 ต้องกดยอดเงินที่ใช้ในโครงการจำนำข้าว 2 ปีให้เหลือ 500,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลไม่สามารถทำได้ ส่งผลให้ สบน. ไม่สามารถกู้เงินมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวครอปใหม่ 2556/57 ได้ ทั้งๆ ที่วงเงินใหม่ในแผนการก่อหนี้เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 และที่สำคัญ วงเงินที่ใช้รับจำนำข้าวปี 2556/57 นั้นจะต้องอยู่ภายใต้กรอบวงเงิน 500,000 ล้านบาท (ตามเอกสารประกอบข้างต้นไม่ใช่การก่อหนี้กรอบวงเงินใหม่)

ขณะเดียวกัน แผนการก่อหนี้วงเงิน 130,000 ล้านบาท ยังไม่เคยบรรจุในแผนการก่อหนี้ 2557 ฉบับก่อนการยุบสภา และแผนการปรับปรุงการก่อหนี้นี้เพิ่งประชุมกันเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา

คำต่อคำ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ยืนยัน โครงการจำนำข้าวทำได้ต่อเนื่อง

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี 7 มกราคม 2556 ว่า ทางกระทรวงการคลังก็ได้เสนอเรื่องให้ ครม. รับทราบว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติไว้ว่ากรอบวงเงินรับจำนำข้าวทั้งในส่วนที่เป็นสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. ทั้งส่วนที่กระทรวงการคลังโดยสำนักบริหารหนี้จัดวงเงินให้ จะต้องไม่เกิน 5 แสนล้านบาท

“ผมก็ได้รายงาน ครม. ให้ทราบว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 ก็มียอดในวงเงินที่ได้รับจำนำไว้ทั้งหมดประมาณ 4.6 แสนล้านบาทเศษๆ ก็ต่ำกว่ายอด 5 แสนล้านบาท ก็เป็นการแจ้ง ครม. ให้ทราบว่าการปฏิบัติของหน่วยปฏิบัติต่างๆ ในการรับจำนำก็เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว”

จากนั้นก็ได้รายงานให้ ครม. ทราบว่า สำหรับฤดูการรับจำนำนาปี 2556/2557 ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ก็คงจะสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เรามีการปฏิบัติที่แตกต่างไปจากการรับจำนำของสองฤดูกาลนาปีนาปรังช่วงแรกๆ คือเราจำกัดวงเงินต่อรายเอาไว้ รับจำนำไม่เกิน 3.5 แสนบาท ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าจำนวนข้าวที่เราได้รับจำนำมีปริมาณแนวโน้มที่ลดลง

เพราะว่าแต่เดิมนั้นข้าวนาปีเราก็เคยรับจำนำอยู่ที่ประมาณ 14 ล้านตันเศษๆ แต่ในครั้งนี้จากการคำนวณเป้าหมายที่จะมีการรับจำนำไม่เกิน 11 ล้านตัน ก็น่าจะอยู่ในกรอบนี้เพราะว่าขณะนี้ก็อยู่ในช่วงปลายๆ ของการรับจำนำแล้ว ยอดก็ยังอยู่ที่ 9 ล้านตันเศษๆ

เพราะฉะนั้น เมื่อจบฤดูกาลก็คงจะมีการรับจำนำที่ไม่เกินเป้าหมายที่วางไว้ แล้วก็จะเป็นเป้าหมายที่น้อยลงกว่านาปีปีก่อนๆ ในการดำเนินการตรงนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีกรอบงานเอาไว้ก็คือรับจำนำไม่เกินวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท เป็นการพิจารณาอนุมัติไว้ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2556 เป็นเรื่องที่ดำเนินการมาต่อเนื่อง ซึ่งก็เรียนว่าขณะนี้กำลังดำเนินการจ่ายเงินค่าจำนำให้กับเกษตรกรอยู่ อาจจะช้าไม่ทันบ้าง

“ผมได้เรียนเหตุผลไปข้างต้นว่ากระทรวงการคลังเอง สำนักงบประมาณเอง หน่วยงานทางระทรวงการคลังเองก็ถูกปิดล้อมอยู่เป็นระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ นี่ก็มีข้อติดขัดในการปฏิบัติ”

ในขณะเดียวกัน เมื่อเข้าสู่การปฏิบัติปกติ ก็มีการออกใบประทวนคงค้างไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ก็กำลังเร่งที่จะดำเนินการกัน ซึ่งต้อง “ขออภัย” เพราะว่ากำลังในการให้บริการของหน่วยงานที่จะชำระอย่าง ธ.ก.ส. ยังมีกำลังจำกัด อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องที่จะดำเนินการได้ก็มีอยู่พอสมควรทีเดียว

“ตรงนี้อย่างที่ผมเรียนไปแล้วว่า ถ้าพูดถึงกรอบ 5 แสนล้านบาทเดิมใช้ไป 4.6 แสนล้านเศษๆ ก็จะมีกรอบเดิมเหลืออยู่ ในส่วนที่ทางกระทรวงการคลังมีหน้าที่ตามมติ ครม. ที่จะจัดเงินให้ก็จะไม่เป็นเงินมากมายถึง 2.7 แสนล้านบาทแต่ประการใด เพราะว่าได้มีการทำงานประสานกับส่วนงานต่างๆ นะครับ”

แล้วคณะอนุกรรมการรวมทั้งคณะกรรมการนโยบายหนี้ได้คำนวณแล้วว่าวงเงินที่จะใช้คงจะไม่เกิน 1.3 แสนล้านบาท ความจริงได้ดำเนินการขอความเห็นจากส่วนราชการสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานกฤษฎีกา แล้วก็สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ฯ ซึ่งก็ยืนยันเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้ เพราะว่าเป็นเรื่องต่อเนื่องจากมติ ครม. เดิม เมื่อเดือนกันยายน 2556

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจจะได้ทำเรื่องนี้ขอความเห็นชอบจาก กกต. เสียก่อน แล้วก็เมื่อ กกต. เห็นชอบแล้ว ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป ก็เรียนว่าทั้งหมดก็จะมีการคืบหน้าที่ดี

“แล้วก็ไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการใช้วงเงินที่เกินกว่ากรอบที่ได้เคยมีการอนุมัติ ไม่ว่าจะเป็นกรอบ 5 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2556 หรือว่าเป็นกรอบในการรับจำนำรอบที่กำลังดำเนินการอยู่แล้วก็ได้อนุมัติจาก ครม. เมื่อเดือนกันยายน การใช้เงินกู้ก็จะใช้น้อยกว่าที่ได้วางแผนไว้เป็นจำนวนที่มีนัยสำคัญ”

ส่วนเงินที่จะเอาไปให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินจะเอามาจากไหนนั้น จะใช้จากในส่วนของทาง ธ.ก.ส. ที่ใช้เงินที่เคยได้รับอนุมัติ 9 หมื่นล้านบาทจำนวนหนึ่ง แล้วก็ในส่วนที่กระทรวงการคลังหาให้ยังไม่ครบ 4.1 แสนล้านอีกจำนวนหนึ่ง แล้วรวมทั้งในกรอบที่เป็นสภาพคล่องส่วนเกินของ ธ.ก.ส. เอง

ที่แต่เดิมนั้น ครม. ได้เคยมีมติไว้เป็นหลักการว่า ในระหว่างที่รอเงินระบายข้าว ถ้าหากว่ามีความจำเป็นจะต้องสำรองไปก่อน ก็ต้องสำรองไปตามสภาพคล่องของตัวเอง (ธ.ก.ส.) รวมทั้งเงินระบายซึ่งก็กำลังเข้ามาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนมาถึงช่วงนี้ก็มีเงินเข้ามาเรื่อยๆ เป็นเงินทุนที่จะใช้ในการส่งมอบให้กับเกษตรกรในระหว่างที่กำลังรอการพิจารณาจาก กกต.

ผู้สื่อข่าวถามชี้ว่าเป็นการขอสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. เพิ่มขึ้น นายกิตติรัตน์กล่าวว่าก็เป็นสภาพคล่องที่เขาเคยได้รับอนุมัติไปแล้วด้วย แล้วก็เป็นสภาพคล่องที่เขามีเอง คือบางทีก็มีสภาพคล่อง คือสถาบันการเงินมีสภาพคล่องแต่ก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปปล่อยที่ไหน ต้องส่งเข้าไปในระบบ inter bank ระหว่างธนาคาร คือถ้าเขาจะดำเนินการในส่วนนี้ ณ หน้าที่ที่เขาทำได้นะครับ ในกรอบของการที่ได้การอนุมัติไว้แต่เดิม ไม่ใช่วันนี้นะครับ

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าขณะนี้เงินจากการระบายขายข้าวเป็นอย่างไรบ้าง นายกิตติรัตน์กล่าวว่าก็เข้ามาดีขึ้น เร็วขึ้น ต้องเรียนว่า ในช่วงที่มีการยุบสภานั้น ทางกระทรวงพาณิชย์ก็ทำเรื่องขอไปที่ กกต. เรื่องการขายข้าวในสต็อก ก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ก็คาดว่าทาง กกต. คงจะให้ความเห็นชอบมาในเร็วๆ นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ดร.นิพนธ์จาก TDRI มีข้อโต้แย้งว่าเอกสารแนบท้ายในวาระเข้า ครม. ซึ่งเป็นความเห็นของกระทรวงการคลังระบุว่า วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท ต้องมาจากกรอบเดิม 5 แสนล้านบาท นายกิตติรัตน์กล่าวว่า “ดร.นิพนธ์ก็เป็นผู้ที่ติดตามเรื่องนี้ การเสนอเรื่อง ครม. ครั้งนั้น เป็นการเสนอโดยกระทรวงการคลัง ความเห็นของกระทรวงการคลังก็ลงนามโดยผมเอง การขอวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท ได้ระบุไว้ว่าการปฏิบัติเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ขอให้อยู่ในกรอบ 5 แสนล้านบาทอยู่ ณ วันที่ 31 ธันวาคม ถามว่าทำเพื่ออะไร เพื่อให้แน่ใจว่า เดิมเขามีเจตนาว่า ตอนสิ้นปี 2556 เขาแน่ใจว่าเขาจะไม่มีเหตุผลจะต้องเกิน ดังนั้น การจะดำเนินการต่อจากตอนนี้ก็เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันของฤดูการ 2556/2557”

ผู้สื่อข่าวถามว่า การกู้เพิ่มแล้วกระทบแผนหนี้สาธารณะกระทรวงการคลังที่ค้ำไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ นายกิตติรัตน์กล่าวว่า จริงๆ แล้วแผนบริหารหนี้สาธารณะมันจะประกอบไปด้วยการดำเนินการทั้งลดทั้งชำระคืนเงินกู้ทั้งต่อเงินกู้ทั้งอะไรต่างๆ ยังไงก็ตาม แผนบริหารหนี้สาธารณะก็ต้องเสนอให้ ครม. ทราบอยู่ดี แล้วก็เป็นการเสนอโดยผ่านการกลั่นกรองของอนุกรรมการ เพราะฉะนั้น จะไม่ใช่เรื่องข้าวอย่างเดียว จะเป็นเรื่องอื่นด้วย แล้วก็อาจจะมีเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจแห่งอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้เท่านั้น

“ตอนนี้ผมทำตามมติ ครม. คือ ฤดูกาลใหม่จะต้องอยู่ในวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท แล้วไม่ต้องใช้ถึง เพราะใช้แค่ 1.3 แสนล้านบาท”

ผู้สื่อข่าวถาม ถ้ากู้ใหม่เรื่อยๆ แล้วจะทำอย่างไรต่อไป จะกู้ไปเรื่อยๆ ไม่จบหรือไม่ นายกิตติรัตน์กล่าวว่า จริงๆ แล้วคุณก็รู้ว่าที่จริงแล้วท่าทีของเราก็ชัดเจนว่าการจำนำในนาปีปีนี้ก็เป็นการดำเนินการไปส่งสัญญาณไปพอกันสมควรแล้วว่าเรื่องสภาวะตลาดโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไป การช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกข้าว ก็อาจจะไม่ได้ดำเนินการด้วยวิธีรับจำนำในนาปรัง พอมีการยุบสภานี่ก็ยิ่งมีความชัดเจนเข้าไปใหญ่ว่าจะไม่มีรัฐบาลที่จะสามารถมาอนุมัติโครงการรับจำนำข้าวนาปรัง เพราะฉะนั้น วงเงินที่จะใช้ก็คงลดลงไปเรื่อยๆ ตอนนี้ก็จะเหลือในช่วงระบายแล้ว เพราะในช่วงนาปรังก็คงจะไม่มีการรับจำนำ เมื่อจบตรงนี้ก็จำเป็นต้องหยุด

“ผมก็เรียนว่าจำเป็นต้องหยุดเพราะว่าไม่มีรัฐบาลที่จะมีอำนาจในการมาอนุมัตินโยบายในสมัยนาปรัง ผมเรียนไว้ว่าก่อนหน้าเราก็ได้ส่งสัญญาณกันพอสมควรแล้ว คุณก็คงรับสัญญาณใช่ไหมครับว่าเราไม่ได้มีวิธีที่จะต้องทำอย่างนี้ต่อเนื่องแล้ว”

ผู้สื่อข่าวถามว่าคิดอย่างไรกับเรื่องที่ TDRI พูดว่ารัฐบาลจะมีการ refinance หนี้ ธ.ก.ส. แล้วนำเงินมาใช้โครงการจำนำข้าว

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า “ผมฟังนิพนธ์เขาพูดไม่รู้เรื่อง แล้วเขาก็ฟังผมพูดไม่รู้เรื่อง ผมก็ฟังเขาพูดไม่รู้เรื่อง เอาเป็นว่าผมพูดชัดเจนแบบนี้นะครับว่า มติ ครม. เคยมีว่า 5 แสนล้านบาท แต่มันไม่ถึง มันมีแค่ 4.6 แสนล้านเศษๆ นะครับ แล้วก็ในเรื่องของการรับจำนำนาปีปีนี้นะครับ ว่าอยู่ในกรอบว่าจะไม่เกิน 2.7 แสนล้านก็ไม่จำเป็นต้องใช้ถึงขนาดนั้นนะครับ แล้วก็แง่ของการพิจารณาบรรจุไปในแผนบริหารหนี้สาธารณะ ว่าจะไม่เกิน 1.3 แสนล้านบาท”