ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รัฐบาล “ดิ้นสุดซอย” หาเงินจ่ายชาวนา

รัฐบาล “ดิ้นสุดซอย” หาเงินจ่ายชาวนา

28 มกราคม 2014


นาข้าว

โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ฤดูการผลิต 2554/55 ฤดูการผลิต 2555/56 ซึ่งใช้เงินไปแล้วประมาณ 6.8 แสนล้านบาท และฤดูการผลิต 2556/57 ที่อยู่ระหว่างการรับจำนำคือ 1 ตุลาคม 2556 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2557 กำลังประสบปัญหา “ไม่มีเงินจ่าย” จำนำข้าวให้ชาวนามาเป็นเวลา 3-4 เดือนแล้ว และอาจจะยืดเยื้อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามา

เพราะช่วงแรกของโครงการจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/57 รัฐบาลมีเงินเหลือเพียง 54,950 ล้านบาท จึงจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาได้บางส่วนเท่านั้น ส่วนแหล่งเงินที่คาดหวังจะได้จากการระบายขายข้าวคงไม่เพียงพอจ่ายชาวนาทุกคน โดยเฉพาะการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ที่ตั้งเป้าว่าจะต้องขายได้เดือนละ 10,000 ล้านบาท ขณะที่การหาแหล่งเงินอื่นโดยเฉพาะการกู้เงินก็สุ่มเสี่ยงจะผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการ

ปัญหารัฐบาลจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาไม่ได้ครบทุกราย ทำให้ชาวนาที่ไม่ได้เงินเดือดร้อนออกมาชุมนุมปิดถนนปะท้วงเรียกร้องขอเงินจำนำข้าวและพร้อมจะยกระดับการชุมนุมขึ้นเรื่อยๆจนกว่าจะได้รับเงิน ส่งผลให้รัฐบาลต้อง “ดิ้น” หาเงินทุกวิถีทางเพื่อนำมาจ่ายให้ชาวนา และสัญญากับชาวนาว่าจะหาเงินมาจ่ายให้ได้ภายในวันนั้นวันนี้ แต่รัฐบาลผิดสัญญาเลื่อนการจ่ายเงินมาแล้วหลายครั้ง

“ครั้งแรก” สัญญาว่าจะหาเงินกู้มาจ่ายให้ได้ภายในสิ้นปี 2556 แต่ก็ทำไม่ได้เลื่อนมาเป็น “ครั้งที่สอง” โดยบอกว่าจะจ่ายเงินให้ชาวนาครบทุกคนภายใน 15 มกราคม 2556 พอใกล้จะถึงกำหนดที่สัญญาไว้ก็ออกมาสารภาพว่า “ทำไม่ได้” โดยอ้างว่าติดขัดเรื่องขั้นตอนและวิธีการต่างๆ จึงขอเลื่อนออกไปอีกเป็น “ครั้งที่สาม” ซึ่งสัญญาว่าจะเร่งระบายขายข้าวและหาเงินกู้มาจ่ายชาวนาครบทุกรายวันที่ 25 มกราคม 2557 แต่สุดท้ายก็ยอมรับว่า “จ่ายไม่ทัน” เพราะระบายขายข้าวไม่ได้

เมื่อถูกรัฐบาลเบี้ยวถึง 3 ครั้ง 3 คราว ทำให้ชาวนาเดือดร้อนมากยิ่งขึ้นและสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมาก โดยชาวนาในหลายจังหวัดรวมตัวกันชุมนุมเพิ่มมากขึ้นและมีการปิดถนนสายหลักพร้อมขู่จะยกระดับการชุมนุมเคลื่อนไหวเข้ากรุงเทพฯ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้หน่วยงานภาครัฐออกมาเจรจาให้สัญญาว่าจะจ่ายเงินให้ชาวนาได้ภายใน “สิ้นเดือนมกราคมนี้” แต่คงเป็นเพียง “ยาหอม” ที่โปรยให้ความหวังชาวนาเท่านั้น เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะ “เบี้ยว” เป็นครั้งที่สี่

ชาวนาพิจิตรประท้วง จำนำข้าวนาปีฤดูผลิต 2556/57 ยังไม่ได้รับเงินจากรัฐบาล
ชาวนาพิจิตรประท้วง จำนำข้าวนาปีฤดูผลิต 2556/57 ยังไม่ได้รับเงินจากรัฐบาล

เพราะจากข้อมูลของ “กรมการค้าภายใน” ล่าสุด ณ วันที่ 26 มกราคม 2556 รายงานผลการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูการผลิต 2556/57 ว่า ได้ออกใบประทวนให้ชาวนาไปแล้วจำนวน 1.85 ล้านสัญญา และปริมาณรับจำนำข้าว 10.7 ล้านตัน โดย ธ.ก.ส. รายงานผล ณ วันที่ 19 มกราคม 2557 ว่าได้จ่ายเงินให้เกษตรกรที่จำนำข้าวเปลือกไปแล้วจำนวน 407,600 ราย จำนวน 456,936 สัญญา เป็นเงิน 50,083.464 ล้านบาท

ดังนั้น หากดีดลูกคิดคำนวณคร่าวๆ จะพบว่า วงเงินที่มีอยู่ 54,950 ล้านบาท ซึ่งทยอยจ่ายให้ชาวนามาตั้งแต่เริ่มโครงการจำนำข้าวกำลังจะหมดลง และอาจไม่พอจ่ายถึงสิ้นเดือนมกราคมนี้ด้วยซ้ำไป ดังนั้น หากรัฐบาลกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาทไม่ได้ และกระทรวงพาณิชย์ระบายขายข้าวไม่ได้ หรือได้น้อย ก็จะไม่มีเงินมาจ่ายให้ชาวนาที่เหลือทันภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะกู้เงินได้ แต่คงจ่ายเงินให้ชาวนาได้ไม่ครบทุกรายภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้อย่างที่ตกปากรับคำไว้ เนื่องจากสถานการณ์ล่าสุดปรากฏว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2557 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) “ร่อนหนังสือ” ถึงสาขาทั่วประเทศว่า หากรัฐบาลสามารถจัดหาเงินกู้ได้ 1.3 แสนล้านบาท มีแผนจะจัดหาเงินกู้มาใช้โครงการจำนำข้าวสัปดาห์ละ 20,000 ล้านบาทจนครบสัญญา รวมกับเงินระบายขายข้าว เมื่อ ธ.ก.ส. ได้เงินดังกล่าวมาคาดว่าจะสามารถดำเนินการจ่ายเงินให้ชาวนาได้ทั้งหมดภายในกลางเดือนมีนาคม 2557

ข้อความบางส่วนของหนังสือที่ธ.ก.ส. ส่งถึงสาขาทั่วประเทศ  ลงนามโดยนายสัมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการและโฆษกธนาคาร ธ.ก.ส.
ข้อความบางส่วนของหนังสือที่ ธ.ก.ส. ส่งถึงสาขาทั่วประเทศ ลงนามโดยนายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการและโฆษกธนาคาร ธ.ก.ส.

ทั้งนี้ ทุกครั้งที่เลื่อนจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนา รัฐบาลมักจะอ้างว่า ไม่ใช่ปัญหาเรื่องเงิน แต่อ้างเรื่องติดขัดขั้นตอนการดำเนินงานที่ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาอนุมัติ และบ้างก็อ้างว่ากระทรวงการคลัง สำนักงบฯ ถูกปิดล้อมจากกลุ่ม กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) จึงทำให้การจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาล่าช้า

แต่รัฐบาลไม่เคยชี้แจงเรื่อง “การระบายขายข้าว” ซึ่งเป็นแหล่งเงินสำคัญของโครงการจำนำข้าวว่า ทำไมถึงระบายขายข้าวได้เงินมาไม่เพียงพอสำหรับหมุนเวียน หรือการระบายขายข้าวที่ผ่านมาได้ราคาเท่าไร ขายไปจำนวนเท่าไร และขาดทุนมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้อาจสะท้อนว่าการขายข้าวของรัฐบาลมีปัญหาที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ

โดยล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติตั้งคณะอนุกรรมการ “ไต่สวน” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ ในข้อหาว่าได้ทราบถึงการท้วงติงและความเสียหายจากการดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วแต่กลับละเลยไม่ดำเนินการระงับหรือยับยั้ง

เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐบาลบริหารจัดการระบายขายข้าวอย่างโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ เชื่อได้ว่าจะมีเงินมาหมุนเวียนเป็นสภาพคล่องในโครงการจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/57 หรือหากจะขาดสภาพคล่องก็คงไม่มากถึงขนาดที่รัฐบาลต้องดิ้นรนวิ่งหาเงินจากแหล่งอื่นๆ ซึ่งขัดกับที่รัฐบาลบอกว่ามีเงินจ่าย

ทั้งนี้ นอกจากการระบายขายข้าวที่รัฐบาลต้องพยายามเร่งระบายขายให้เร็วเพื่อให้ได้เงินมาแล้ว รัฐบาลได้พยายามหาเงินจากช่องทางอื่นๆ มาโปะโครงการจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/57 ตั้งแต่การเสนอ “ปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ” ขยายวงเงินกู้ใหม่ 1.3 แสนล้านบาท แต่เมื่อส่อมีปัญหาผิดกฎหมายมาตรา 181 (3) ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงเล็งจะใช้ “สภาพคล่องของ ธ.ก.ส.” ให้สำรองจ่ายไปก่อน แต่ถูก “ต่อต้าน” จากสหภาพแรงงาน ธ.ก.ส. จากนั้นก็จุดประกายแนวคิด “ให้รัฐวิสาหกิจไปฝากเงินกับ ธ.ก.ส.” เพื่อนำเงินฝากนั้นไปหมุนเวียนจ่ายเงินจำนำข้าวก่อน สุดท้ายเรื่องนี้ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐวิสาหกิจ และเรื่องก็เงียบไป

แต่หลังจากที่ กกต. มีมติว่า ไม่รับพิจารณาและให้รัฐบาลตัดสินใจเองในกรณีที่รัฐบาลขอให้ กกต. อนุมัติขยายวงเงินกู้ 130,000 ล้านบาท เพื่อไปชำระหนี้ชาวนา ทำให้รัฐบาลยิ่งดิ้นรนวิ่งหาเงินให้วุ่นจนกระทั่งมีกระแสข่าวว่า คิดจะนำเงินจาก “กองทุนประกันสังคม” 1 แสนล้านบาท มาจ่ายหนี้จำนำข้าว แต่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยไหวตัวทันออกแถลงการณ์คัดค้านเบรกไว้ก่อนเรื่องจะบานปลาย

นอกจากนี้ เมื่อ กกต. ไม่รับพิจารณาและให้รัฐบาลตัดสินใจเองเรื่องการกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท ทางรักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” จึงส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความ ซึ่งล่าสุดมีกระแสข่าวออกมาว่า กฤษฎีกา “ไฟเขียว” มีความเห็นให้กระทรวงการคลังกู้เงินใช้จ่ายจำนำข้าว 1.3 แสนล้านบาทได้ ทางกระทรวงการคลังจึงเตรียมพร้อมเดินหน้ากู้เงิน 33 สถาบันการเงินในประเทศ ด้วยการให้สถาบันการเงินยื่นเสนออัตราดอกเบี้ย โดยคลังจะเลือกจากธนาคารที่เสนอ อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดก่อน

เพราะฉะนั้น การกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ น่าจะเป็นทางเลือกที่รัฐบาลเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เพราะยืนยันมาตลอดว่าโครงการจำนำข้าวเป็นนโยบายต่อเนื่อง และยังมีความเห็นของกฤษฎีการับรองอีกด้วย ดังนั้น ถ้ารัฐบาลเดินหน้ากู้เงินได้เมื่อไร ก็คงจะเคลียร์หนี้เงินจำนำข้าวให้ชาวนาได้ครบทั้งหมดภายในกลางเดือนมีนาคม 2557 ตามที่ ธ.ก.ส. คาดการณ์ไว้ ทำให้สถานการณ์ชุมนุมประท้วงของชาวนาคลี่คลายลง แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้รัฐบาลต้อง “เบี้ยว” ชาวนาอีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลอาจเจอวิกฤติทางการเมืองที่รุนแรงกว่าการชุมนุมของ กปปส.

ทั้งนี้ ความพยายามดิ้นรนหาเงินมาจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนา น่าจะเป็นการลงโทษรัฐบาลอย่างที่ ดร.อัมมาร สยามวาลา เคยบอกว่า วิธีทำโทษรัฐบาลเรื่องจำนำข้าวคือ “จับรัฐบาลขังอยู่กับโครงการจำนำข้าว” เพราะสร้างปัญหาเอง ก็ต้องแก้ปัญหาเอง

แต่ความพยายามแก้ปัญหาของรัฐบาลด้วยการ “ดิ้นสุดซอย” ยอมกู้เงินสถาบันการเงินในประเทศวงเงิน 1.3 แสนล้านบาท มาโปะจำนำข้าว อาจทำให้รัฐบาลไม่ใช่แค่ “ถูกขังอยู่ในโครงการจำนำข้าว” แต่อาจ “ถูกขังอยู่ในคุก” เพราะการแก้ปัญหาด้วยวิธีการดังกล่าวยังมีความสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 181 หากมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

เพราะฉะนั้น การดิ้นสุดซอยของรัฐบาลครั้งนี้ยังไม่จบ เนื่องจากอาจเป็นการแก้ปัญหาหนึ่ง แต่ไปสร้างอีกปัญหาให้ตัวเอง ดังนั้น รัฐบาลต้องพร้อม “รับผิด” และ “รับชอบ” ในฐานะผู้ตัดสินใจทำนโยบาย

ลำดับเหตุการณ์ชาวนาประท้วง กดดันรัฐบาลจ่ายเงินจำนำข้าว

เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของชาวนาในหลายๆ จังหวัดจากกรณีรัฐบาลไม่จ่ายเงินจำนำข้าวเปลือกนาปีฤดูการผลิต 2556/57 (ตุลาคม 2556 – กุมภาพันธ์ 2557) ซึ่งล่วงเลยมาเกือบ 4 เดือนเต็มแล้ว ทั้งๆ ที่ปกติการรับจำนำข้าวในฤดูกาลก่อนๆ ใช้เวลาเพียงไม่เกิน 7-15 วันก็จะได้เงินครบตามวงเงินที่ระบุไว้ในใบประทวน

การที่ชาวนาในหลายๆ จังหวัดจากทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน ออกมาชุมนุมประท้วงถี่มากขึ้นแทบจะวันต่อวันแบบนี้ คงบอกได้ถึงความเดือดร้อนของชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากโครงการจำนำข้าวไม่มากก็น้อย เพราะนอกจากจะรอเงินสำหรับการนำไปเลี้ยงชีพแล้ว ยังมีเงินอีกส่วนหนึ่งที่ต้องนำไปลงทุนในการปลูกข้าวฤดูกาลถัดไปอีก ทำให้ชาวนาที่เดือดร้อนต้องหันหน้าไปกู้หนี้ยืมสินจากทั้งในและนอกระบบเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลสัญญาว่าจะจ่ายเงินให้ชาวนาตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2556 แต่ทำไม่ได้ และผลัดผ่อนขอเลื่อนการจ่ายเงินมาตลอด จนล่าสุดสัญญาว่าจะจ่ายเงินได้ภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ ซึ่งทุกครั้งที่รัฐบาลผิดสัญญา ชาวนาก็จะยกระดับการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบมากขึ้น

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้รวบรวมเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงและข้อเรียกร้องจากชาวนาในหลายๆ จังหวัด ที่เริ่มมีปัญหาจากการไม่ได้รับเงินจำนำข้าวตั้งแต่เริ่มโครงการรับจำนำข้าวนาปีฤดูการผลิต 2556/57 จนถึงล่าสุดที่รัฐบาลรับปากว่าจะจ่ายเงินจำนำข้าวได้ครบทุกรายภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ ดังนี้

ก่อน 31 ธันวาคม 2556

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 กลุ่มชาวนาในเขตลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำยม จังหวัดพิจิตร ได้ออกมาประกาศจะนัดชุมนุมในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 และปิดถนนสาย 117 นครสวรรค์-พิษณุโลก บริเวณสี่แยกหนองโสน อ.สามง่าม จ.พิจิตร เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งจากการออกมาส่งสัญญาณในครั้งนั้น ทางนักการเมืองจากฝั่งรัฐบาลใน จ.พิจิตร ได้ออกมาชี้แจงพร้อมประชาสัมพันธ์ว่าชาวนาจะได้รับเงินภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556

ต่อมา วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย ออกมาเปิดเผยว่า มีการรับเรื่องร้องเรียนมาจากชาวนาจำนวนมากในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี อยุธยา ชัยนาท พิจิตร อุตรดิตถ์ และเขตมีนบุรี ในกรุงเทพฯ เนื่องจากได้รับความเดือดร้อน จากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เพราะยังไม่ได้รับเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้งๆ ที่ชาวนานำข้าวไปจำนำตามขั้นตอนปกติ ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินให้ชาวนา ในขณะที่เวลาก็ผ่านมาเดือนกว่าแล้ว

และแล้วการชุมนุมประท้วงก็เกิดขึ้นในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ที่บริเวณสี่แยกโพธิ์ไทรงาม บนถนนทางหลวงหมายเลข 117 นครสวรรค์-พิษณุโลก อ.บึงนาราง จ.พิจิตร ได้มีเกษตรกรชาวนา จาก 3 อำเภอ ประกอบไปด้วย อ.โพทะเล อ.บึงนาราง อ.โพธิ์ประทับช้าง กว่า 300 คนทำการปิดถนนสายเอเชียขาล่องเหลือช่องทางเดียว โดยมีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลรักษาการให้เร่งดำเนินการจ่ายเงินให้ชาวนาตามโครงการรับจำนำข้าวภายใน 10 วัน และขอให้ ธ.ก.ส. ยกเลิกติดตามทวงหนี้จนกว่าจะได้รับเงินจากการจำนำข้าว ซึ่งถ้าหากไม่ได้เงินภายในวันที่กำหนดก็จะออกมาชุมนุมอีกครั้งและยกระดับขึ้นเป็นการปิดถนนทั้ง 4 เลน

จากนั้น ในวันที่ 23 ธันวาคม 2556 ก็เกิดการออกมาชุมนุมประท้วงของชาวนากลุ่มเดิมจริงตามที่ประกาศ โดยการปิดถนนสาย 117 บริเวณสี่แยกโพธิ์ไทรงาม อ.บึงนาราง จ.พิจิตร ของชาวนาจาก 3 อำเภอในจังหวัดพิจิตร เนื่องจากยังไม่ได้รับเงินตามข้อเรียกร้องที่ให้ไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนี้มีชาวนาออกมาชุมนุมกว่า 1,000 คน พร้อมเรียกร้องให้จ่ายเงินจำนำข้าวทั้งหมดภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2556

ในขณะที่วันที่ 24 ธันวาคม 2556 นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ขณะนี้ชาวนาได้รับความเดือดร้อนมากจากการที่เอาข้าวไปจำนำแล้วยังไม่ได้รับเงิน ทำให้ชาวนาจำนวนมากมีความเห็นตรงกันในเรื่องที่จะออกมาประท้วง เรียกร้องให้รัฐบาลชำระเงิน แต่ทางสมาคมเห็นว่าควรรอรัฐบาลที่ระบุว่าจะจ่ายเงินให้ครบภายในสิ้นปีนี้ แต่หากรัฐบาลไม่สามารถจ่ายเงินได้ ทางชาวนาก็พร้อมจะออกมาเดินขบวนเรียกร้อง และเรื่องนี้อาจมีการฟ้องร้องถึงศาลได้ ในขณะเดียวกัน ปัญหาดังกล่าวอาจลุกลามไปถึงการลงคะแนนเสียง และอาจไม่มีการเลือกตั้งในที่สุด

ก่อน 15 มกราคม 2557

เมื่อครบกำหนดตามที่รัฐบาลสัญญาว่าจะจ่ายเงินจากโครงการรับจำนำข้าวภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ซึ่งจนผ่านสิ้นปี 2556 มาชาวนาก็ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2557 เป็นต้นมา เกิดการลุกฮือประท้วงมากมายในหลายจังหวัด โดยเกิดการชุมนุมอย่างต่อเนื่องและถี่มากขึ้นเรื่อยๆ ตามความเดือดร้อนของชาวนาที่เริ่มไม่มีเงินเพื่อดำรงชีพและขาดทุนหมุนเวียนเพื่อทำกิน

วันที่ 6 มกราคม 2557 นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ประธานเครือข่ายชาวนาภาคเหนือตอนล่าง 5 จังหวัด ซึ่งประกอบไปด้วย พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิษณุโลก สุโขทัย มีมตินัดชุมนุมใหญ่วันที่ 7 มกราคม โดยจะมีชาวนาทั้ง 5 จังหวัด นับหมื่นคนนัดกันมาชุมนุมใหญ่ปิดถนนประท้วงที่บริเวณถนนทางหลวง 117 นครสวรรค์-พิษณุโลก สี่แยกปลวกสูง อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินค่าข้าวให้กับชาวนา ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่เร่งดำเนินการ คงมีการประท้วงยืดเยื้อต่อไป ในขณะที่วันเดียวกันได้มีชาวนากว่า 1,000 คน จากเครือข่ายชาวนา 17 อำเภอ ในจังหวัดสุรินทร์ ออกมาชุมนุมบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ เรียกร้องให้รัฐบาลรีบจ่ายเงินจำนำข้าวโดยด่วน

หลังจากนั้นรัฐบาลได้ให้สัญญาอีกครั้งหนึ่งว่าจะจ่ายเงินจำนำข้าวทั้งหมดภายในวันที่ 15 มกราคม 2557 ทำให้ชาวนาบางส่วนได้ยุติการชุมนุมและรอว่ารัฐบาลจะทำตามสัญญาหรือไม่ ซึ่งต่อมานายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ได้ออกมาประกาศเลื่อนกำหนดการจ่ายเงินออกไปเป็นวันที่ 25 มกราคม 2557 จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงในหลายพื้นที่ และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

หลังวันที่ 15 มกราคม 2557

16 มกราคม 2557 ชาวนาหลายจังหวัดเริ่มเคลื่อนไหวปิดถนนประท้วง หลังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งครบกำหนดต้องจ่ายเมื่อวันที่ 15 มกราคม โดยชาวนาจากอำเภอต่างๆ ใน จ.เพชรบูรณ์ ได้ปิดถนนศึกษาเจริญ บริเวณวงเวียนนครบาลเพชรบูรณ์ ย่านเศรษฐกิจการค้าของจังหวัด เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมารับผิดชอบ หลังเกษตรกรยังไม่ได้รับเงินจากโครงการจำนำข้าว ซึ่งบางรายเดือดร้อนมากว่า 4 เดือนแล้ว

ในขณะที่อำเภอบึงสามัคคี จ.กำแพงเพชร มีชาวนารวมตัวทวงเงินซึ่งยังไม่ได้รับ ทำให้ผู้อำนวยการของ ธ.ก.ส. ต้องโทรศัพท์ประสานนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ยืนยันว่ารัฐบาลจะเร่งจ่ายเงินให้ครบภายในสิ้นเดือนมกราคม 2557 ทำให้เกษตรกรพอใจแยกย้ายกันกลับ

ส่วนชาวนาบุรีรัมย์ ได้บุกศูนย์ราชการจังหวัด เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินจำนำข้าวที่ค้างกว่า 4,173 ล้านบาท โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดมารับข้อเรียกร้อง พร้อมรับปากจะนำเรื่องเสนอรัฐบาลหาแนวทางช่วยเหลือ ทำให้เกษตรกรพอใจสลายตัวกลับโดยไม่มีเหตุวุ่นวาย เช่นเดียวกับที่อ่างทอง สภาเกษตร 10 จังหวัดภาคกลาง ได้ล่ารายชื่อผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าว เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง หลังรัฐยังค้างเงินกว่า 600 ล้านบาท พร้อมเตรียมเคลื่อนไหวปิดถนนในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างต่อไป

17 มกราคม 2557 กลุ่มฅนทำนาจังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นเครือข่ายชาวนา 3 อำเภอ (อ.โพทะเล อ.บึงนาราง และอ.โพธิ์ประทับช้าง) ในจังหวัดพิจิตร ได้ออกมาปิดถนนหมายเลข 117 นครสวรรค์-พิษณุโลก บริเวณสี่แยกโพธิ์ไทรงาม อ.บึงนาราง จ.พิจิตร เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่าจะจ่ายเงินจำนำข้าวเมื่อไหร่และอย่างไร โดยประกาศจะชุมนุมไปจนกว่าจะได้เงิน และถ้าหากไม่มีการตอบสนองจากรัฐบาล ก็พร้อมจะยกระดับการชุมนุมขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต่อมาวันที่ 19 มกราคม 2557 ชาวนากลุ่มดังกล่าวได้เคลื่อนที่กระจายออกไปประท้วงตามจุดต่างๆ ในหลายอำเภอของจังหวัดพิจิตร โดยส่วนหนึ่งได้ไปล้อมบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดพิจิตรด้วย

20 มกราคม 2557 การประท้วงยังคงมีขึ้นเรื่อยๆ ในหลายพื้นที่ เช่น ชาวนากว่า 2,000 คน จากจังหวัดอุตรดิตถ์ ปิดถนนทางหลวงสาย 11 อุตรดิตถ์-พิษณุโลก บริเวณสี่แยกหนองกวาง อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ โดยเรียกร้องว่าต้องการพบนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้จ่ายเงินตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่รอมานานกว่า 4 เดือนแล้ว โดยจะไม่คุยกับตัวแทนคนอื่นๆ ที่รับปากว่าจะจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2557 โดยยื่นข้อเสนอว่าจะปิดถนนจนกว่าจะได้พบ

ในขณะที่ชาวนาจังหวัดเพชรบูรณ์กว่า 400 คน ได้รวมตัวกัน บริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินค่าจำนำข้าวภายใน 25 มกราคม 2557 หากไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง ชาวนากลุ่มดังกล่าวก็พร้อมจะยกระดับการชุมนุมเป็นการปิดถนนสายสระบุรี-หล่มสัก โดยมีตัวแทนชาวนา 15 คน ได้มอบหมายให้ทนายความไปยื่นฟ้องร้อง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ฐานฉ้อโกงประชาชน

22 มกราคม 2557 ได้มีตัวแทนชาวนาจาก 32 อำเภอ จังหวัดนครราชสีมา มายื่นหนังสือเปิดผนึกฝากต่อไปให้รัฐบาล บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา หลังจากยังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว โดยมีข้อเรียกร้องให้รัฐรับผิดชอบดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมกับสถาบันการเงินและบัตรเครดิตเกษตรกรของชาวนาที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 พร้อมกับดอกเบี้ยที่เกิดจากความล่าช้าของรัฐบาลในการจ่ายเงินจากโครงการดังกล่าว

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้สถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนรับจำนองใบประทวนในกรอบวงเงิน 70% ของเงินในใบประทวน พร้อมให้จ่ายดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินนั้นๆ สุดท้าย ยังเรียกร้องให้คืนข้าวเปลือกทั้งหมดแก่เกษตรกรในกรณีที่ไม่มีเงินจ่าย เพื่อนำไปขายในราคาตลาดและให้รับผิดชอบส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากการนำไปขายในราคาตลาดด้วย

ในขณะที่ชาวนา 6 จังหวัดภาคกลาง คือ สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง ชัยนาท สุพรรณบุรี ได้รวมตัวกันปิดถนนสายเอเชียขาขึ้น กม.ที่ 68-69 อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ซึ่งต่อมาชาวนากลุ่มดังกล่าวได้เคลื่อนที่ไปปิดถนนสายเอเชียอีกจุดคือ กม. 104-105 อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี โดยให้เหตุผลว่าเดือดร้อนมากจริงๆ เพราะยังไม่ได้รับเงินมาตั้ง 4 เดือนแล้ว พร้อมเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ หนึ่ง ขอให้รัฐบาลคืนข้าวเปลือกให้กับชาวนาทั้งหมด สอง รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบดอกเบี้ยจากใบประทวนทั้งหมด สาม ให้รัฐบาลรับผิดชอบดอกเบี้ยจากที่ไปกู้ยืมมาลงทุนในรอบใหม่

23 มกราคม 2557 กลุ่มชาวนาจากจังหวัดพิษณุโลกได้ออกมารวมตัวประท้วงและปิดถนนบริเวณสี่แยกอินโดจีน พร้อมข้อเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินจำนำข้าวภายในวันที่ 31 มกราคม 2557 พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมเงินในระหว่างที่รอรับเงินจำนวนดังกล่าว และถ้าไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง ชาวนากลุ่มดังกล่าวก็จะไม่ไปเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และพร้อมจะเข้าไปชุมนุมกดดันขับไล่รัฐบาลกับกลุ่ม กปปส. ในทันที

25 มกราคม 2557 กลุ่มชาวนาภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง จากจังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี และสิงห์บุรี ได้ออกมาชุมนุมประท้วงโดยการปิดถนนพหลโยธินทั้งขาขึ้นและขาล่อง บริเวณ กม. ที่ 310-311 อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ พร้อมข้อเรียกร้องจากรัฐบาล 3 ข้อ คือ หนึ่ง ให้รัฐบาลจ่ายเงินจากการรับจำนำข้าวภายในวันที่ 31 มกราคม 2557 สอง ถ้ายังหาเงินไม่ได้ ให้ทำการกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆ มาชำระทั้งหมดเต็มจำนวน โดยไม่เสียดอกเบี้ย สาม รัฐบาลต้องรับผิดชอบทุกความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดชำระเงินตั้งแต่เริ่มโครงการ นอกจากนี้ ชาวนากลุ่มดังกล่าวยังพร้อมยกระดับการชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาลต่อไป ซึ่งอาจจะเข้ามากดดันในกรุงเทพฯ ด้วย

26 มกราคาม 2557 ชาวนาบุรีรัมย์ 1,000 คน เคลื่อนขบวนจากการประท้วงหน้าหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าไปปิดตายถนนสาย 226 ลำปลายมาศ-ห้วยแถลง เชื่อมต่อบุรีรัมย์-โคราช ทั้ง 4 ช่องจราจร กดดันรัฐเร่งจ่ายเงินจำนำข้าว และขู่ว่าหากไม่คืบหน้าจะยกระดับการชุมนุมโดยไปร่วมชุมนุมครั้งใหญ่กับเกษตรกร 20 จังหวัดภาคอีสาน ที่จะเดินทางมาชุมนุมปิดถนนมิตรภาพ บริเวณเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา ในวันที่ 27 มกราคม 2557 หรือไปร่วมชุมนุมกับ กปปส. เพื่อขับไล่รัฐบาลต่อไป

ทั้งนี้ ยังมีการชุมนุมประท้วงของชาวนาอีกจำนวนมาก ทั้งการชุมนุมขนาดเล็กและการชุมนุมขนาดใหญ่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยังไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ จนกว่ารัฐบาลจะจ่ายเงินจำนำข้าวที่ยังค้างอยู่ให้ชาวนาทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2557 ว่ารัฐบาลจะผิดสัญญาเป็นครั้งที่ 4 หรือไม่