ThaiPublica > เกาะกระแส > ชาวนาฝันสลาย กกต. ไม่รับพิจารณาแผนกู้เงินใช้หนี้จำนำข้าว 1.3 แสนล้านบาท รัฐบาลตัดสินใจเอง ถ้าละเมิด กม. ต้องรับผิด

ชาวนาฝันสลาย กกต. ไม่รับพิจารณาแผนกู้เงินใช้หนี้จำนำข้าว 1.3 แสนล้านบาท รัฐบาลตัดสินใจเอง ถ้าละเมิด กม. ต้องรับผิด

22 มกราคม 2014


ถึงแม้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 มอบอำนาจให้กระทรวงพาณิชย์ใช้จ่ายเงินรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ภายใต้กรอบวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท แต่หลังจากรัฐบาลประกาศยุบสภา ปรากฏว่ากระทรวงการคลังไม่ได้เตรียมจัดหาแหล่งเงินสนับสนุนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ที่มีเกษตรกรกว่าล้านรายนำข้าวเปลือกมาจำนำ แต่ยังไม่ได้รับเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำมาซึ่งการปิดถนนประท้วงในหลายพื้นที่ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินค่าจำนำข้าวที่ติดค้าง

วันที่ 6 มกราคม 2557 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับหนี้สาธารณะ เพื่อปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2557 โดยมีการบรรจุแผนกู้เงินเพื่อนำไปชำระหนี้ให้ชาวนาวงเงิน 1.3 แสนล้านบาท เข้าไปอยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะฯ

วันที่ 7 มกราคม 2557 กระทรวงการคลังบรรจุวาระแผนการบริหารหนี้สาธารณะฯ ฉบับปรับปรุงใหม่ให้ ครม. พิจารณา โดยเป็นการแจ้งเพื่อทราบ จากนั้นสั่งการให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำหนังสือสอบถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่ง กกต. ใช้เวลาพิจารณาประเด็นนี้ 15 วัน

วันที่ 21 มกราคม 2557 เวลา 10.00 น. กกต. เชิญนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนากยรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุม กกต. ณ อาคารโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต จากนั้นที่ประชุม กกต. สรุปผลการพิจารณาประเด็นดังกล่าว พร้อมกับแถลงข่าวในเวลา 17.30 น.

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า จากที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำหนังสือสอบถาม กกต. กรณีแผนการปรับปรุงบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2557 สอดคล้องกับหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 หรือไม่ หลังจากที่ประชุม กกต. รับฟังคำชี้แจงของนายกิตติรัตน์แล้ว ได้มีการลงมติในประเด็นดังกล่าวว่า “ไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาของ กกต.”

ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ให้อำนาจ กกต. พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการเอาไว้ว่ามี 3 กรณีที่ต้องขอความเห็นชอบจาก กกต. ก่อนดำเนินการ กล่าวคือ มาตรา 181 (1) การแต่งตั้ง โยกย้าย หรือปลดข้าราชการระดับสูงและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ มาตรา 181 (2) การใช้จ่ายงบกลาง มาตรา 181 (4) ไม่ให้ใช้ทรัพยากรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่อาจจะมีผลต่อคะแนนเสียงเลือกตั้ง

“กรณีที่นายกิตติรัตน์ปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะครั้งที่ 1 กกต. มีความเห็นว่า การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้ฯ ถือเป็นการปรับเปลี่ยนแผนระหว่างปี อยู่ภายใต้กรอบวงเงินที่ ครม. วันที่ 3 กันยายน 2556 เป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายและกำกับหนี้สาธารณะดำเนินการได้ตามมาตรา 35 (2) พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ 2548 จึงไม่เข้าข่ายเป็นการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตนรี และรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (1) และ (2) และ (4)”นายภุชงค์ กล่าว

โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) ระบุว่า ห้ามไม่ให้ ครม. หรือรัฐมนตรีรักษาการอนุมัติงานหรือโครงการที่มีผลผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป และไม่ได้กำหนดให้ กกต. ต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบ กรณีที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำเรื่องมาขอความเห็นการปรับปรุงแผนบริหารหนี้ จึงไม่อยู่ในข่ายอำนาจการพิจารณาของ กกต.

นายภุชงค์กล่าวต่อไปอีกว่า การปรับลดวงเงินกู้และลดภาระการค้ำประกันหนี้ของรัฐวิสาหกิจบางแห่งลง และนำวงเงินมาเพิ่มให้กับ ธ.ก.ส. นำเงินมาจ่ายให้กับเกษตรกรที่เข้าโครงการจำนำข้าว อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการเอง ไม่ใช่เรื่องที่ กกต. ต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ถึงแม้คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะฯ ไม่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) รัฐบาลจะดำเนินการต่อไปก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของรัฐบาล แต่ขอย้ำว่า หากมีผู้นำเรื่องไปให้องค์กรอิสระ อาทิ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณา หากสรุปผลการวินิจฉัยว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) อาจจะมีผลทำให้เกิดความรับผิดชอบในทางกฎหมายและทางการเมืองตามมาได้

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

คำต่อคำ”กิตติรัตน์”

ก่อนที่ กกต. สรุปผลการวินิจฉัย กรณีสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำหนังสือสอบถาม กกต. การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะใหม่ประจำปี 2557 วงเงิน 1.3 แสนล้านบาทที่จะกู้มาจ่ายในโครงการรับจำนำข้าวนาปีฤดูการผลิต 2556/57 ว่าขัดกับหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 หรือไม่

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า แผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2557 เคยผ่านการอนุมัติจาก ครม. มาแล้วก่อนรัฐบาลประกาศยุบสภา ส่วนการปรับปรุงหรือทบทวนแผนการบริหารหนี้ฯ ใหม่ ถือเป็นการดำเนินงานตามปกติของส่วนราชการ ทุกๆ ปีก็จะมีการทบทวนทุกๆ ไตรมาส มีหลายโครงการที่ถูกปรับเพิ่มและปรับลดวงเงินกู้ แต่ยังอยู่ภายใต้กรอบวงเงินตามที่ ครม. อนุมัติ จึงไม่ถือว่าเป็นการก่อหนี้ใหม่สร้างภาระรัฐบาลชุดต่อไป ขณะเดียวกันก็ช่วยลดภาระหนี้ของรัฐบาลที่ติดค้างชาวนา อย่างเช่น โครงการรับจำนำข้าวปี 2556/57 ก็ผ่านการอนุมัติจาก ครม. มาแล้วตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2556 ไม่ถือว่าเป็นโครงการใหม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลรักษาการกู้เงินมาจ่ายชาวนา 1.3 แสนล้านบาท เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) หรือไม่ นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ผมเห็นว่าไม่ได้เป็นการอนุมัติแผนงานหรือโครงการใหม่ โครงการรับจำนำข้าวเป็นมาตรการต่อเนื่องซึ่งผ่านการอนุมัติแล้ว รัฐบาลรับจำนำข้าวมาแล้ว ก็ต้องหาเงินมาจ่ายให้ชาวนา

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แผนการกู้เงินจะมีผลผูกพันถึงรัฐบาลชุดต่อไปหรือไม่ นายกิตติรัตน์กล่าวว่า รัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือกมาแล้ว ก็ต้องจ่ายเงินให้ชาวนา

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า จะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลชุดต่อไปหรือไม่ และคนอาจจะรู้สึกว่ารัฐบาลจัดสรรงบประมาณดูแลเกษตรกรมากเกินไปหรือไม่ นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ต้องเรียนว่าเกษตรกรมีจำนวนมาก ต้องใช้งบฯ มากหน่อย กลุ่มคนสังคมเมืองก็ดูแล เช่น ขับเคลื่อนระบบขนส่งมวลชนของประเทศให้ดำเนินการได้ ราคาไม่สูงจนเกินไป ก็ใช้เงินกู้เข้าดูแล อย่าเข้าใจว่ารัฐบาลเลือกดูแลเฉพาะคนบางกลุ่ม ไม่ดูแลคนอีกกลุ่ม โครงการจำนำข้าวก็ไม่ใช่โครงการใหม่ รัฐบาลดำเนินการมาตั้งแต่ผ่านการเลือกตั้งได้เข้ามาบริหารประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า กรอบวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท ครอบคลุมโครงการจำนำข้าวตลอดทั้งปีการผลิต 2556/57 หรือไม่ นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ไม่ครอบคุลมข้าวนาปรัง เพราะ ครม. ยังไม่ได้อนุมัติ และในขณะนี้รัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจที่จะอนุมัติโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง คงต้องรอนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า เกษตรกรเริ่มลงมือปลูกข้าวนาปรังแล้ว ทำอย่างไร นายกิตติรัตน์ยืนยันว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ โครงการจำนำข้าวนาปรังยังไม่ผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลชุดนี้

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า กรณีที่แบงก์รัฐหรือแบงก์เอกชนปล่อยกู้ให้ชาวนา โดยใช้ใบประทวนมาเป็นหลักประกัน กรณีนี้ทำได้หรือไม่ นายกิตติรัตน์กล่าวว่า “อันนี้แล้วแต่แบงก์ ผมไม่ทราบ ต้องไปถามแบงก์ แต่ถ้าเป็นการปล่อยสินเชื่อตามปกติของแบงก์ก็อาจจะทำได้”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หาก กกต. วินิจฉัยว่าการกู้เงินมาใช้ในโครงการจำนำข้าวเข้าข่าย มาตรา 181 (3) จะทำอย่างไร นายกิตติรัตน์กล่าวว่า “ผมหวังว่า กกต. จะเมตตา รัฐบาลรักษาการมีหน้าที่ดำเนินโครงการที่ผ่านการอนุมัติไปแล้ว ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้สิทธิจำนำข้าวเท่านั้นเอง”