การส่งออกข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือ “จีทูจี” เป็นเครื่องมือในการระบายข้าวจากสต็อกรัฐบาล ผ่านการเจรจาโดยตรงของหน่วยราชการหรือผู้นำรัฐบาลทั้งสองประเทศ ด้วยระบบ “มิตรภาพ” คือ การตั้งราคาที่ไม่แพงกว่าราคาตลาด ถูกกว่าการซื้อจากบริษัทเอกชน
ที่ผ่านมา มีหลายประเทศที่ทำการค้าจีทูจีกับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ โกตดิวัวร์ เกาหลีเหนือ และมาเลเซีย ฯลฯ โดยจะต้องมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ก่อน จากนั้นจึงเซ็นสัญญาการซื้อขายอย่างเป็นทางการ
การค้าข้าวแบบจีทูจียังเป็นเรื่องการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ให้แก่ประเทศที่ผลิตข้าวได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการภายใน ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา หรือบางประเทศที่ผ่านภาวะศึกสงคราม ถูกคว่ำบาตรจากองค์กรสหประชาชาติ ก็มาขอซื้อข้าวจากไทยเช่นเดียวกัน
ประเทศไทยนับเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก มีปริมาณผลผลิต 37 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี มีการส่งออกสูงสุดถึง 10 ล้านตันข้าวสาร แต่ก็ไม่สามารถควบคุมราคาข้าวในตลาดโลกได้เบ็ดเสร็จ เมื่อราคาแกว่งตัวลดลง รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต้องอาศัยการ “จำนำข้าว” เป็นเครื่องมือในการดึงราคาตลาดภายในประเทศขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือชาวนา
เมื่อเก็บสต็อกได้ระยะหนึ่ง รัฐบาลก็จะมีการระบายออกด้วยวิธีขายแบบจีทูจี หรือไม่ก็เปิดให้เอกชนมาประมูลซื้อไป เพราะการเก็บข้าวไว้นานยิ่งทำให้ข้าวในสต็อกเสื่อมสภาพ แต่การขายแบบจีทูจี ซึ่งเป็นการค้าทางตรง ตัดวงจรพ่อค้าคนกลาง ทำให้ผู้ซื้อเชื่อว่าจะได้ข้าวในราคาที่เหมาะสม
ในยุคหลัง การค้าแบบจีทูจีถูก “แปรเจตนา” ไป เนื่องจากฝ่ายการเมืองมองเห็นผลประโยชน์ก้อนมหาศาลจากสินค้าข้าว จึงมีการดึงเอกชนเข้ามาเป็นตัวกลางรับซื้อข้าวในโกดังรัฐบาล เพื่อส่งมอบให้กับรัฐบาลต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง ผ่านทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด กล่าวคือ เป็นนโยบายที่เชื่อกันว่ามีการตกลงกันมาเรียบร้อยแล้ว
เป็นวิธีการเปิดทางให้เอกชนเข้ามาแทรกกลาง โดยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้บริหารประเทศไม่ต้องแปดเปื้อน ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูล และอาศัยกลเม็ดทุกรูปแบบ อาทิ หาประโยชน์จากส่วนต่างราคาที่เอกชนไปตกลงไว้ล่วงหน้า บางครั้งข้าวไม่ได้มีการส่งออกจริง แต่ถูกนำมาเวียนขายในประเทศ เป็นต้น
การส่งออกแบบจีทูจีที่น่าจะโปร่งใสที่สุด จึงกลายเป็นวิธีที่หมกเม็ดมากที่สุด และตรวจสอบได้ยากที่สุด
ย้อนหลังกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การขายแบบจีทูจีมีปริมาณเบ็ดเสร็จทั้งสิ้น 1.8 ล้านตัน โดยพุ่งสูงสุดในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ช่วงปี 2545-2547 เบ็ดเสร็จแล้วขายออกไปมากกว่า 7 แสนตัน
ในช่วงที่นายอดิศัย โพธารามิก เป็น รมว.พาณิชย์ มีการถูกตรวจสอบพบความไม่โปร่งใสในการขายข้าวให้รัฐบาลเกาหลีเหนือ จนถูกฝ่ายค้านเปิดโปงหลักฐานในสภาผู้แทนราษฎร
ต่อมาในยุคนายวัฒนา เมืองสุข เป็น รมว.พาณิชย์ มีเรื่องอื้อฉาวการประมูลข้าวของ บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ที่ได้รวมแล้วกว่า 1 ล้านตัน ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด เรียกเสียงฮือฮาจากคนในวงการถึงความกล้าบ้าระห่ำของ “เสี่ยเปี๋ยง-อภิชาติ จันทร์สกุลพร”
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเวลาต่อมา ทำให้เรื่องราวกลับหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อพบว่า รัฐบาลกับเพรซิเดนท์อะกริฯ มีการ กระทำที่เชื่อได้ว่ามีการวางแผนในการผูกขาดการค้าข้าวในประเทศและส่งออก
เพราะหลังจากเพรซิเดนท์อะกริฯกวาดสต็อกข้าวรัฐได้มากที่สุดแล้ว รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณในขณะนั้น ก็ประกาศขึ้นราคาจำนำ ทำให้ข้าวหายไปจากตลาด และผู้ส่งออกทุกรายต้องวิ่งไปซื้อข้าวจากบริษัทเพรซิเดนท์อะกริฯ เพียงรายเดียว
อย่างไรก็ตาม ความไม่เชี่ยวชาญของเพรซิเดนท์อะกริฯ และราคาข้าวในตลาดโลกที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้บริษัทต้องพบกับความยากลำบากในการระบายข้าวในมือ สุดท้ายตกอยู่ในสภาพล้มละลาย ไม่สามารถรับมอบข้าวจากรัฐบาลตามที่ประมูลได้ และถูกสถาบันการเงินฟ้องล้มละลาย พร้อมพบหลักฐานตามมาอีกมาก
ในช่วงที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2550-2551 ก็เป็นอีกช่วงที่พบว่ามีการระบายสต็อกข้าวได้จำนวนมาก เนื่องจากหลังปัญหากรณีบริษัทเพรซิเดนท์อะกริฯ แล้ว กระทรวงพาณิชย์ไม่กล้าขายข้าวในสต็อกเพราะถูกสังคมจับตามอง ถ้าขายถูกกว่าตลาดก็เกิดข้อครหา ถ้าขายแพงก็ไม่มีคนซื้อ สต็อกข้าวจึงคาราคาซังเป็นจำนวนมาก
รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์จึงได้อาศัยจังหวะนี้ โละข้าวที่มีมากมายในโกดังรัฐออกไปใน 3 รูปแบบ รวมเฉียดๆ 8 แสนตัน เป็นการขายข้าวจีทูจีไปกว่า 6.53 แสนตัน, การนำระบบซื้อขายในตลาดล่วงหน้าเข้ามาช่วยสร้างความโปร่งใสในการขาย และยังใช้วิธีการขายให้แก่พ่อค้า หรือผู้ส่งออกประมูลโดยตรง ปรากฏว่า ราคาข้าวที่ขายออกไปในช่วงนั้นสูงถึงกว่า 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน
ขณะที่ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แม้ราคาข้าวในตลาดโลกจะสูงมากเป็นประวัติการณ์ แต่แทบจะไม่ได้ระบายข้าวในสต็อกเลยด้วยซ้ำ ทำให้ราคาข้าวในประเทศพุ่งไปถึงตันละ 30,000 บาท ในตอนนั้นมีหลายชาติและองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งยื่นหนังสือขอซื้อข้าวในสต็อกของไทย แต่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนมองว่าราคาข้าวในตลาดโลกน่าจะสูงได้อีก ทำให้มีการ “ดึง” ผลผลิตเอาไว้ แต่สุดท้ายราคาข้าวก็ตกลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน
สต็อกที่สะสมจากรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ถูกส่งผ่านมาถึงรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมีนางพรทิวา นาคาศัย เป็น รมว.พาณิชย์ แม้จะมีข้าวในมือมาก แต่กลับมีการขายข้าวแบบจีทูจีไปได้เพียง 2.67 แสนตัน ส่วนหนึ่งเนื่องจากปัญหาการเมืองภายในพรรคร่วมรัฐบาล คือ ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ที่ลึกๆ แล้วมีการยื้อกันไปยื้อกันมา ไม่ลงตัวโดยเฉพาะการขายข้าวในลอตหลัง ที่นางพรทิวาเสนอขายแบบจีทูจีให้กับอินโดนีเซีย แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากนายอภิสิทธิ์ ไม่ยอมเซ็นอนุมัติ กระทั่งมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่
สุดท้ายแล้ว ข้าวที่จะขายให้อินโดนีเซียลอตดังกล่าว จึงตกมาอยู่ในมือของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ปี 2554 และกลายเป็นหนึ่งในข้าวลอตที่อื้อฉาว ด้วยตัวละครเดิมที่ย้อนกลับมาแสดงในอีก 10 ปีต่อมา?(อ่านต่อตอนต่อไป)