ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช. ฟ้อง “บุญทรง เตริยาภิรมย์” และพวกรวม 15 คน ขายข้าว G to G เป็นเท็จ และไต่ส่วนเพิ่ม “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ข้อหาเพิกเฉยจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหาย

ป.ป.ช. ฟ้อง “บุญทรง เตริยาภิรมย์” และพวกรวม 15 คน ขายข้าว G to G เป็นเท็จ และไต่ส่วนเพิ่ม “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ข้อหาเพิกเฉยจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหาย

17 มกราคม 2014


ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ ตั้งข้อกล่าวหา “บุญทรง เตริยาภิรมย์” และพวกรวม 15 คน กรณีระบายขายข้าว G to G ให้รัฐบาลจีนเป็นเท็จ และพบหลักฐานไม่มีการส่งออกข้าวจริง แต่ขายพ่อค้าในประเทศ 17 บริษัท นำไปลงบัญชีต้นทุนค่าใช้จ่ายหักภาษี ชงสรรพากรไล่เช็คบิลทวงภาษีคืน ขณะที่ “ยิ่งลักษณ์” ถูกตั้งอนุกรรมการไต่สวน ข้อหาเพิกเฉยจนทำให้เกิดความเสียหายมหาศาล

วันที่ 16 มกราคม 2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษก ป.ป.ช. แถลง “ผลสรุป” การไต่สวนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวของรัฐบาลว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์แจ้งข้อกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกข้าราชการ และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการทุจริตจำนำข้าว รวม 15 ราย

นายวิชากล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว และมีการไต่สวนเพิ่มเติมในประเด็นของการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี (G to G) ในภายหลัง ซึ่งได้มีผู้ที่เกี่ยวข้อง “เพิ่มเติม” อีกหลายราย เช่น นายภูมิ สาระผล ในขณะที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และเป็นผู้ดำเนินการเจรจาทั้งสองฝ่าย รวมถึงผู้รับมอบอำนาจของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เข้ามาเจรจาด้วย

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ที่มาภาพ : http://www.bangkokpost.com
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ที่มาภาพ : http://www.bangkokpost.com

โดยอนุกรรมการไต่สวนมีมติเป็น “เอกฉันท์” เห็นว่ากรณีที่มีการอ้างว่าการทำจีทูจีกับจีน ยังไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ สนับสนุนว่าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งที่เข้ามาทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐได้รับมอบหมายจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และไม่มีการส่งข้าวออกนอกราชอาณาจักรจริงตามที่กล่าวอ้าง

“ดังนั้น ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้แจ้งข้อกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกข้าราชการ และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการทุจริตจำนำข้าว รวม 15 ราย ทั้งนี้ ความผิดที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเป็นเรื่องทุจริตการระบายข้าวที่อ้างว่าเป็นแบบรัฐต่อรัฐแต่ปรากฏว่าเป็นเท็จและมิชอบ รวมทั้งเป็นความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ โดยขั้นตอนหลังจากแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว จะให้ผู้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน” นายวิชากล่าว

นอกจากนี้ นายวิชาระบุว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนได้ความว่า ข้าวที่อ้างอิงว่าเป็นการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐความจริงแล้วเป็นการขายข้าวให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศ เนื่องจากมีพยานหลักฐานที่ปรากฏไปถึงบริษัทที่รับซื้อรายย่อยและรายใหญ่อีก 17 ราย ที่ชัดเจนคือมีการจ่ายเช็คเงินสดให้กรมการค้าต่างประเทศ ไม่ได้จ่ายแบบรัฐต่อรัฐ ดังนั้น กรณีที่จ่ายให้กรมการค้าต่างประเทศเป็นกรณีที่ไม่สามารถจะอ้างอิงเพื่อยกเว้นภาษีอากรได้ เพราะเอกสารไม่ชอบ เป็นความเท็จ

เพราะฉะนั้น อนุกรรมการไต่สวนจึงมีมติส่งเรื่องนี้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจและปฏิบัติหน้าที่อย่างเด็ดขาด เช่น กรมสรรพากรในการเรียกเก็บภาษี และกรมการค้าต่างประเทศ ให้ยุติการบิดเบือนทันที ถ้าไม่ดำเนินการจะมีมาตรการต่อไป เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีอาการจำนวนมหาศาล

นายวิชากล่าวถึงประเด็นที่นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ได้ร้องเรียนมายัง ป.ป.ช. ให้ดำเนินการไต่สวนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งชุด เกี่ยวกับนโยบายรับจำนำข้าว โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ว่า อนุกรรมการไต่สวนเห็นว่ามีเหตุที่ควรสงสัยตามมาตรา 66 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

เพราะการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้ทราบถึงข้อท้วงติง แต่ไม่ได้ดำเนินการยับยั้งจนเกิดความเสียหายมหาศาลในโครงการจำนำข้าวครั้งนี้ ถือว่าเป็นกรณีที่อาจมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงเสนอให้กรรมการ ป.ป.ช. สั่งไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วน

“และมีการนำเข้าที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช. วันนี้ (16 ม.ค. 2557) และกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตามที่อนุกรรมการไต่สวนเสนอ และมอบให้ให้อนุกรรมการชุดเดิมดำเนินการไต่สวนต่อไป ซึ่งจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินการภายหลัง แต่ขณะนี้จะต้องรีบแจ้งคำสั่งของกรรมการ ป.ป.ช. ให้ทางนายกรัฐมนตรีได้ทราบเพื่อใช้สิทธิคัดค้านอนุกรรมการไต่ส่วนได้” นายวิชากล่าว

นอกจากนี้ นายวิชาได้ปฏิเสธกรณีมีกระแสข่าวตั้งข้อสังเกตว่า ป.ป.ช. เร่งดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพราะต้องปลดล็อกการเมืองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันเลย ป.ป.ช. พิจารณาตามกฎหมาย ทุกอย่างว่ากันไปตามหลักฐาน โดยสำนวนนี้ ป.ป.ช. ใช้ระยะเวลาในการพิจารณากว่า 1 ปี

ส่วนกรณีที่ น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่ามีความพยายามในการล็อบบี้ไม่ให้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น นายวิชาเชื่อว่าไม่มี เพราะ ป.ป.ช. ดำเนินการแบบตรงไปตรงมา มีการลงมติ และตนไม่มีสิทธิที่จะไปชักจูงใคร ที่สำคัญ มีการอ้างอิงหลักฐานชนิดที่ว่าครอบคลุมทุกด้าน

ที่มาภาพ : http://image.mcot.net
ที่มาภาพ : http://image.mcot.net

“วันนี้ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ทุกประเด็น เว้นแต่เพียงมติที่ว่าจะแจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปพร้อมกันเลยหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควร เรื่องนี้จึงถือว่า ป.ป.ช. ให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่” นายวิชากล่าว

ทั้งนี้ ทาง ป.ป.ช. มีอำนาจในการอายัดเงินที่มีการซื้อขายแล้วหรือไม่ นายวิชาระบุว่า ถ้าตรวจสอบพบในกระแสการเงินว่ามีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินอันเนื่องมาจากการทุจริต ก็สามารถตั้งกระบวนการในการยึดและอายัดชั่วคราวได้ แต่ขณะนี้ยังไม่ไปถึงขั้นตอนนั้น เพราะดูแต่เฉพาะการเรื่องการค้า เนื่องจากเป็นกระบวนการที่จะต้องตั้งใจตรวจสอบเป็นพิเศษ ส่วนต่อไปจะไปขยายผลไปถึงการยักย้ายถ่ายเทหรือไม่จะพิจารณาดูอีกที

ขณะที่แหล่งข่าวกรมสรรพากรเปิดเผยถึงกรณีมีหลักฐานว่า ไม่ได้มีการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และไม่ได้ส่งออกข้าวแต่นำข้าวมาขายในประเทศให้ผู้ประกอบการค้าข้าว 17 ราย และผู้ประกอบการค้าข้าวมีการนำข้าวที่ซื้อมาไปบันทึกบัญชีต้นทุน รวมถึงการชำระภาษี ว่า กรณีข้าวไม่ถูกขายให้จีนแต่กลับไปอยู่ในมือผู้ประกอบการค้าข้าว 17 ราย ทางผู้ประกอบการค้าข้าวจะต้องนำหลักฐานมาแสดงกับกรมสรรพากรว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในข้าวลอตนี้ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาซื้อขายกับกระทรวงพาณิชย์ หลักฐานการจ่ายเงิน

“ถ้ามีหลักฐานก็ไม่มีความผิด แต่ถ้าไม่มีหลักฐานว่าข้าวลอตนี้ได้มาได้อย่างไร ก็ถือเป็นความผิดมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ไม่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายหักกับรายได้จากการขายข้าวก่อนคำนวณภาษี” แหล่งข่าวกรมสรรพากรกล่าว

แหล่งข่าวกรมสรรพากรยกตัวอย่างว่า กรณีปกติ ถ้าบริษัทซื้อข้าวมา 80 บาท จะสามารถบันทึกบัญชีต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ และเมื่อนำออกไปขาย สมมติได้ราคา 100 บาท ในการคำนวณเพื่อเสียภาษีสามารถนำข้าวที่ซื้อมา 80 บาท ไปหักรายรับที่ได้จากการขายข้าวก่อน แล้วรายได้หรือกำไรที่หักค่าใช้จ่ายแล้วถึงจะนำไปคำนวณภาษีนิติบุคคล แต่ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีกรรมสิทธิ์ในข้าวที่ซื้อมา ก็ไม่สามารถนำข้าวที่ซื้อมา 80 บาทบันทึกบัญชีต้นทุนค่าใช้จ่าย และนำมาหักก่อนคำนวณภาษีนิติบุคคลไม่ได้

“แต่ถ้าเอกชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐสมรู้ร่วมคิดกันทำให้กรมสรรพากรเก็บภาษีได้น้อยลง หรือทำรัฐสูญรายได้ อาจเข้าข่ายมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร จะมีโทษจำคุก 3-7 ปี โทษปรับ 2,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” แหล่งข่าวกรสรรพากรกล่าว

อ่านเพิ่มเติม 1 ทศวรรษขายข้าวจีทูจี